กาซา: เมื่อชีวิตประชาชนตั้งอยู่บนวงล้อชะตากรรม
ตึกอาคารที่ถูกทำลายลงราบคาบในพื้นที่กาซา - ดินแดนปาเลสไตน์ ตุลาคม 2566 © Mohammed Baba
ในเดือนพฤศจิกายน องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ส่งทีมงานเจ้าหน้าที่นานาชาติเพื่อปฏิบัติการสนับสนุนการทำงานด้านศัลยศาสตร์และการดูแลแผลไหม้ หนึ่งในนั้นคือริคาร์โด มาร์ติเนซ (Ricardo Martinez) ผู้ประสานงานโครงการฝ่ายโลจิสติกส์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ผู้เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการทำงาน 4 สัปดาห์ในกาซา
องค์การฯ ทราบว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซามันย่ำแย่มาก ประสบการณ์ส่วนตัวของคุณเป็นเช่นไรบ้าง
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการหยุดยิงทันทีและถาวรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความขัดแย้งในกาซาครั้งนี้ ส่วนสิ่งที่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเรียกร้องควบคู่กันไปคือการย้ำเตือนเรื่องการขาดแคลนน้ำประปาและการสุขาภิบาลในพื้นที่ ผมค่อนข้างมั่นใจว่าหากความขาดแคลนเกิดขึ้นในระยะยาว เมื่อประกอบเข้ากับการโจมตีด้วยระเบิดจะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนจำนวนมาก
ระบบการประปาไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป มันถูกทำลายลงอย่างสมบูรณ์ ผู้คนถูกบีบให้ต้องกระเสือกกระสนเพื่อเอาชีวิตรอด ผู้คนเกือบทั้งหมดได้รับน้ำเพียงแค่หนึ่งลิตรต่อวันสำหรับใช้ดื่ม ซักล้าง และทำอาหาร มันมีสถานที่อาบน้ำเพียงแค่หนึ่งแห่งต่อคน 500 คน คนที่ยังสามารถชำระร่างกายตัวเองได้ถือว่าเป็นคนที่โชคดี ในทางตอนใต้ของกาซา ทีมงานขององค์การฯ ได้ส่งต่อน้ำราว 50-60 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมันไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้คนแม้แต่น้อย
ประชาชนในกาซาตามเก็บสะสมเชื้อเพลิง ซึ่งมีปริมาณเพียงน้อยนิดในกาซา - ดินแดนปาเลสไตน์ พฤศจิกายน 2566 © Mohammed ABED
ทางตอนใต้ของกาซา หลายพื้นที่มันแน่นหนาจนราวกับว่าคุณถูกอัดอยู่ในสนามฟุตบอลที่เต็มไปด้วยผู้คน คนจำนวนมากต้องใช้ห้องน้ำที่มีเพียงไม่กี่ห้อง และไม่มีเชื้อเพลิงหรือน้ำมันสำหรับการสูบน้ำ ผมเห็นสิ่งปฏิกูลไหลตามพื้นถนนซึ่งมีพ่อค้ากำลังขายของ มีเด็กกำลังวิ่งเล่นและเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำสีโคลนสกปรก มันฉายภาพให้เห็นชัดว่าสุขภาพของคนตรงนั้นได้รับผลกระทบแค่ไหน
หากพวกเขาต้องการจะทำอะไรสักอย่าง พวกเขาต้องเตรียมตัวและเผื่อเวลาไว้อย่างดี พวกเขาจะต้องคิดทบทวน วางแผน และจัดเตรียมการล่วงหน้า จากนั้นพอออกไปข้างนอกเขาก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของโชคชะตา คุณต้องการไปห้องน้ำอย่างนั้นเหรอ คุณจะเข้าห้องน้ำช่วงกี่โมงหรือว่าห้องน้ำตรงไหนระหว่างที่ผู้คนหลายร้อยกำลังยืนเข้าคิวเพื่อเข้าห้องน้ำที่มีเพียงแค่หนึ่งห้อง ผมคิดว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียดไปมากกว่าเพื่ออธิบายสถานการณ์จริงตรงนั้น"
ผู้คนในกาซายังมีเชื้อเพลิงหรือว่าไฟฟ้าสำหรับใช้งานหรือไม่
“ในบางพื้นที่ มันไม่มีเชื้อเพลิง น้ำมัน หรือว่าไฟฟ้า และมันส่งผลกระทบกับทุกมิติในชีวิต เมื่อเราไม่มีเชื้อเพลิง เครื่องโม่ก็ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถผลิตข้าวสาลีได้ เมื่อไม่มีข้าวสาลีมันก็ไม่มีอาหารตามมา รถบรรทุกหลายคันเดินทางผ่านเส้นทางของประเทศอียิปต์เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือเข้ามาในกาซา แต่หากไม่มีน้ำมัน รถเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้งานได้เพื่อขนส่งความช่วยเหลือเหล่านี้ได้
ทีมงานขององค์การฯ เห็นความสูญเสียเป็นประจักษ์จากการขาดแคลนเชื้อเพลิงภายในโรงพยาบาล เมื่อเครื่องปั่นไฟไม่สามารถใช้งานได้และทีมแพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตของผู้คนได้อีกต่อไป โรงพยาบาลหลายแห่งกลายเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนอาศัยอยู่ตามระเบียง”
พื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาลอัล อักซอ (Al Aqsa) ในตอนกลางของกาซา - ดินแดนปาเลสไตน์ พฤศจิกายน 2566 © Mohammed ABED
กองทัพอิสราเอลออกคำสั่งให้ผู้คนในกาซาอพยพจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง วันที่ 3 ธันวาคม องค์การฯ ต้องปิดคลินิกของตัวเองในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของเมืองข่าน ยูนิส (Khan Younis) หลังจากได้รับคำสั่งออกจากพื้นที่ คุณช่วยบรรยายบรรยากาศตอนนั้นได้หรือไม่
“กองทัพอิสราเอลประกาศคำสั่งอพยพผ่านเว็บไซต์ทางการทหารที่เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ภายในเวลาหนึ่งวันพื้นที่ตรงนั้นถูกประกาศให้เป็น ‘พื้นที่สีแดง’ ในแผนที่ ซึ่งหมายความว่ามันเป็นพื้นที่ที่จะมีการดำเนินการปฏิบัติการทางการทหาร ผมขอย้ำว่ามันแทบไม่มีไฟฟ้าในกาซา หมายความว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แล้วคุณจะทราบได้อย่างไรว่าคุณจะต้องหนีออกจากพื้นที่
องค์การฯ ทราบดีว่าคำสั่งอพยพจะมาถึงคนที่ทำงานอยู่ตรงนั้นไม่ช้าก็เร็ว ก่อนคำสั่งอพยพในวันที่ 3 ธันวาคมเพียงไม่กี่วัน ทีมงานยังพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอยู่เลย จากนั้นเราถูกบังคับให้ปิดคลินิกและเคลื่อนพลออกจากเมืองข่าน ยูนิส โดยเข้าวันนั้นผมได้รับหน้าที่ในการขนส่งผู้คนออกจากพื้นที่ไปทางภาคตะวันตก มันเป็นวันที่แสนเจ็บปวดที่สุดที่ผมได้รับระหว่างที่ทำงานอยู่ในกาซา
ผมเริ่มจัดเตรียมพื้นที่บนรถยนต์ของพวกเรา ดูแลเรื่องการขนส่ง และดูแลความเรียบร้อยในภาพรวม มันเป็นช่วงเวลาแห่งความแตกสลาย เรากำลังหนีออกจากพื้นที่โดยทิ้งเพื่อนร่วมงานชาวปาเลสไตน์และเพื่อนบ้านที่เคยอยู่เคียงข้าง คอยช่วยเหลือพวกเราตลอดเวลา มันเป็นเรื่องยากที่สุดที่ต้องยอมรับว่าผมอาจจะไม่มีโอกาสได้กลับมาเจอพวกเขาอีกต่อไป ผมไม่มีแม้กระทั่งช่วงเวลาที่จะเอ่ยคำขอบคุณให้กับพวกเขา ขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่พวกเขาทำเพื่อพวกเรา พูดโดยสัตย์จริงคือผมรู้สึกละอายกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหลือเกิน
ในความเป็นจริงคือไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในกาซา ผมเดินทางไปยังพื้นที่หนึ่งพร้อมกับโอมาร์ (Omar) เพื่อนร่วมงานในตำแหน่งหัวหน้างานโลจิสติกส์ชาวปาเลสไตน์ มันเป็นพื้นที่ที่องค์การฯ เพิ่งเดินทางมาสำรวจเมื่อไม่กี่วันก่อน และวันนี้มันถูกทำลายลงเสียแล้ว เขาบอกกับผมว่า “ดูสิ ริคาร์โด พวกเราเพิ่งมาที่นี่เมื่อวาน แต่ตอนนี้มันกลายเป็นซากปรักหักพังไปเสียแล้ว” ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในใจของผมคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานที่ที่เราจะไปในอนาคตมันจะมีอันตรายหรือระเบิดรออยู่หรือไม่ ไม่มีใครบอกผมได้เลย มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่าการที่เรายังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องของความโชคดีเท่านั้น มันเป็นเพียงหนึ่งในหกสถานที่ที่ถูกทำลายลงหลังจากที่องค์การฯ เข้าไปสำรววจ หกสถานที่แปรกลายเป็นเศษตึกชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่มีโรงเรียนอีกแล้ว ไม่มีสถานที่ทำงานอีกแล้ว ไม่มีบ้านเรือนอีกแล้ว ไม่มีโรงเก็บน้ำอีกแล้ว"
ภาพถ่ายจากหน่วยศัลยกรรมตกแต่งของโรงพยาบาลอัล อาวดา (Al-Awda) ทางตอนเหนือของกาซา หลังจากการโจมตีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งทำให้แพทย์เสียชีวิต 3 คน โดย 2 คนในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่องค์การฯ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ - ดินแดนปาเลสไตน์ พฤศจิกายน 2566 © Mohammed ABED
ปฏิกิริยาของผู้คนในกาซาต่อข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว (temporary truce) ในวันที่ 24-30 พฤศจิกายนเป็นอย่างไรบ้าง
“ผมจำได้ดีตอนที่มีการยุติการโจมตีด้วยระเบิดชั่วคราว ในเช้าวันนั้น ในวินาทีที่เข็มนาฬิกาขยับไปที่เลขเจ็ด ผมได้ยินเสียงตะโกน เสียงร้องเพลง และเสียงโห่ร้องปิติยินดี ภาพเหล่านั้นทำให้ผมร้องไห้ออกมาด้วยความสุข หากมันเป็นช่วงเวลาที่แสนสั้นเหลือเกิน เมื่อข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวสิ้นลงในเวลา 19.00 น. ประตูแห่งนรกก็คืบคลานเข้ามาใกล้อีกครั้งในเวลา 19.03 น.
มันเป็นช่วงเวลาแสนสั้นที่ผู้คนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของพวกเขา นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน บางคนเดินทางไปยังทางตอนเหนือของกาซาและใช้เวลาเหล่านั้นร่วมกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา
ขณะเดียวกัน ผู้คนหลายคนก็ใช้เวลานี้ในการส่งลาผู้วายชมน์เป็นครั้งสุดท้าย คนจำนวนมากนำร่างของผู้เสียชีวิตที่เน่าเปื่อยอยู่บนท้องถนนไปฝังให้เรียบร้อย ซึ่งบางร่างถูกทิ้งมาเป็นเวลามากกว่าสองเดือน คุณอยากลองจินตนาการกลิ่นและความเจ็บปวดเหล่านั้นดูไหม"
องค์การฯ ได้ให้บริการรักษาทางการแพทย์ฉุกเฉินและส่งต่อเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับหลายโรงพยาบาลและคลินิกในกาซา คุณช่วยเล่าการทำงานขององค์การฯ ให้ฟังหน่อยได้ไหม
“ตอนที่ผมเดินทางถึงกาซา ผมต้องสรรเสริญและขอบคุณเจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์ของเราจากก้นบึ้งของหัวใจ เพราะการทำงานโดยไม่หยุดพักของพวกเขาเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้การทำงานขององค์การฯ ยังคงดำเนินต่อไปได้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ พวกเขาทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาชีวิตของผู้คนเอาไว้ พวกเขา (เจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์) คือแสงสว่างในความมืดอย่างแท้จริง
เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ เกือบทั้งหมดคือผู้พลัดถิ่นจากบ้านและสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดตรงที่สถานการณ์การสูญเสียเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พวกเขาเคยบอกกับเราว่ามันเป็นเรื่องที่รู้อยู่แก่ใจว่าความตายอาจมารับพวกเขาได้ทุกวินาที แต่ทุกเช้าพวกเขาก็ยังคงทักทายทุกคนด้วยรอยยิ้ม หากคุณถามว่าพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบคือ ‘ฉันโอเคดีนะ ฉันยังมีชีวิตอยู่’
ผมไม่มีวันลืมช่วงเวลาที่ทีมงานขององค์การฯ ทำงานอยู่ในคลินิกภายในเมืองข่าน ยูนิส ผมตื่นราว 6 โมงเช้าและเดินทางไปยังคลินิก ทุกเช้าเจ้าหน้าที่ของเราอย่างอิชาค (Ishaq) จะเป็นคนเปิดประตูคลินิกแล้วทักทายผมด้วยรอยยิ้มกว้าง ผมจะขอโทษที่ต้องปลุกเขามาเปิดประตูให้เช่นนี้ แต่เขาก็จะตอบกลับมาว่า 'ไม่เป็นไรเลยริคาร์โด ผมตื่นมาสักพักและกำลังรอคุณอยู่ ยินดีตอนรับนะ'
ไม่เพียงแค่อิชาคเท่านั้นที่ต้อนรับผมเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คนอื่นต่างร่วมมือประสานงานกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่นานาชาติได้รับความสะดวกในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือพวกเราในการเปลี่ยนคบไฟสำหรับการทำอาหารหรือต้อนรับพวกกเราเป็นอย่างดี พวกเขาไม่ได้ดูแลเพียงแค่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่รวมถึงผู้คนรอบข้างทั้งหมด พวกเขามักจะบอก 'เรายินดีช่วยคุณ เราต้องช่วยเหลือคุณ เพราะเราต้องการช่วยเหลือพี่น้องของเรา'
ขณะเดียวกัน เขามักรำพันกับผมว่า 'เพราะอะไรพวกเราจึงต้องรับโทษทัณฑ์เหล่านี้ เหตุใดโลกถึงลืมการมีตัวตนของพวกเรา'”
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยังคงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีและถาวร เพื่อป้องกันความสูญเสียในกาซา และเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยุติการปิดล้อมเพื่ออนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสบียงด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมไปถึงน้ำประชาและเชื้อเพลิงเข้าไปยังพื้นที่กาซาได้โดยต่อเนื่องจะไร้เงื่อนไข การโจมตีโดยไม่ระบุเป้าหมายและไต่ระดับความรุนแรงจะต้องยุติลง การบังคับให้พลัดถิ่นจะต้องยุติลง การโจมตีโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะต้องยุติลง การปิดกั้นการส่งความช่วยเหลือจะต้องยุติลง
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้