เวสต์แบงก์: การอบรมเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บในตุลคาเรม
ที่ค่ายลี้ภัย นูร์ ชามส์ ในตุลคาเรม เหล่าผู้หญิงได้ฝึกลงมือปฏิบัติเทคนิควิธีการห้ามเลือด และหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมเผยว่า “ทุกคนในค่ายจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่อยู่ตรงหน้าได้” - ดินแดนปาเลสไตน์ ตุลาคม 2567 © Oday Alshobaki/MSF
- สงครามกาซาที่ยังคงดำเนินอยู่ยิ่งยกระดับความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์
- การุกรานครั้งนี้ยิ่งกดทับบาดแผลทางจิตใจของประชาชนให้ลึกลงไปอีก พวกเขาต่างทนทุกข์และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่มั่นคงและความรุนแรง
- องค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้การฝึกสอนในส่วนของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ให้มีความรู้ขั้นพื้นฐานก่อนที่จะสามารถส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลได้
เป็นเช้าที่สดใสในค่ายลี้ภัยนูร์ ชามส์ (Nur Shams) ในพื้นที่ตุลคาเรม (Tulkarem) เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ผู้หญิงกว่า 20 คน ทยอยเข้ามาในห้องที่เจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières – MSF) ได้จัดเตรียมไว้ให้ พวกเธอนั่งจับกลุ่มเป็นวงกลม พูดคุยกันพร้อมกับดื่มกาแฟอาหรับ บริเวณส่วนกลางของห้อง ปรากฏโต๊ะที่มีผ้าก๊อซ อุปกรณ์สายรัดห้ามเลือด และแผนผังอธิบายการไหลเวียนของเลือดในร่างกายของมนุษย์วางอยู่ และนี่คือการฝึกอบรม“การห้ามเลือด” ที่องค์การฯ ได้จัดขึ้น
ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มารวมตัวกันในห้องนี้ มีความรู้ด้านการแพทย์น้อยมากหรือไม่มีเลย แต่การเห็นบาดแผลและเลือดไหลจำนวนมากไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเธอ พวกเธอมาเพื่อเรียนรู้การดูแลรักษาบาดแผล การใช้สายห้ามเลือด และการปฐมพยาบาลสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนบ้านจนกว่าพวกเขาจะได้รับการรักษาทางการแพทย์ ในช่วงที่มีการรุกรานทางทหารอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังอิสราเอล (Israel) เช่นนี้
พวกเราต้องทนทุกข์ทรมานกับการโจมตี การทิ้งระเบิด และบาดแผลจากการถูกยิง พวกเรามักจะพบกับผู้บาดเจ็บที่อยู่ตรงหน้า และในสถานการณ์เช่นนั้น การมีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานในการปฐมพยาบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการโจมตี เป็นเรื่องยากมากที่รถพยาบาลจะเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกคนในค่ายแห่งนี้จำเป็นต้องมีความรู้ในการปฐมพยาบาล เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ด้วยตัวเองซาอิดา อาห์มัด ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
หนึ่งในตึกของค่ายลี้ภัยนูร์ ชามส์ ในตุลคาเรม ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์ ถูกโจมตีอย่างหนักจากการยิงของกองกำลังอิสราเอล ซึ่งจากข้อมูลของ UNRWA ค่ายนี้เป็นค่ายที่มีประชากร 13,000 คนอาศัยอยู่ - ดินแดนปาเลสไตน์ ตุลาคม 2567 © Oday Alshobaki/MSF
ที่นี่ การโจมตีทางทหารจากกองกำลังอิสราเอลปรากฎความถี่ขึ้นเรื่อยๆ และการขัดขวางการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการ ถนนถูกปิดกั้น รถพยาบาลไม่สามารถใช้งานได้ บุคลากรทางการแพทย์ถูกคุกคามและตกเป็นเป้าหมาย หรือถูกขัดขวาง และบ่อยครั้งที่ผู้ได้รับบาดเจ็บเดินทางไปไม่ถึงโรงพยาบาล
การรุกรานของกองกำลังอิสราเอลทวีความโหดร้ายและรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 มีผู้เสียชีวิต18 ราย จากการโจมตีทางอากาศในค่ายลี้ภัยตุลคาเรม การโจมตีโดยใช้โดรน การโจมตีทางอากาศ และการทิ้งระเบิดในรูปแบบอื่น ๆ ของกองกำลังอิสราเอลที่มักจะโจมตีพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและค่ายลี้ภัยนั้น กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างปกติ การรุกรานยังได้ยืดเยื้อออกไปเป็นเวลานาน และไม่เพียงแต่ที่นี่เท่านั้น ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองกำลังอิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีที่ยาวนานถึง 9 วัน ในพื้นที่เจนิน (Jenin) ทางตอนเหนือของตุลคาเรม
ใต้สภาวะความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องนี้ ผู้คนในค่ายได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ ถึงผลกระทบทางจิตใจที่รุนแรงของการโจมตีเหล่านี้ การรุกรานทางทหารโดยกองกำลังอิสราเอลพลิกชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทำให้พวกเขาสูญเสียชีวิตปกติและความรู้สึกปลอดภัย ประชาชนจำต้องฟื้นฟูตัวเองจากการถูกโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า มีการซ่อมแซมถนนที่ขาดและบ้านเรือนที่ถูกทำลาย ในขณะที่ต้องคอยระวังว่าจะมีการโจมตีครั้งต่อไปเมื่อไหร่ องค์การฯ ยังได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่ผู้พักอาศัยในค่ายในการรับมือกับปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดจากผลกระทบของการรุกรานทั้งหลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกคนโดยเฉพาะเด็ก ๆ
“สถานการณ์กำลังเลวร้ายลง เด็กๆ ในค่ายไม่กล้าที่จะไปโรงเรียน เนื่องจากกลัวว่าอาจมีการโจมตีเกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขาอยู่ที่นั่น” วิทยากรสาธารณสุขชุมชนขององค์การฯ ในตุลคาเรมกล่าว
ในชีวิตความเป็นอยู่ที่บ้านของพวกเขา ไม่มีความปลอดภัยอีกแล้ว ผู้คนต้องอยู่อย่างระหวาดระแวง เด็กหยุดเล่นตามตรอกซอกซอย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้านและไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ พวกเขาไม่แม้แต่จะสามารถออกไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นได้ เนื่องจากพ่อแม่ของพวกเขาห้ามเพราะกลัวว่าจะมีการโจมตีหรือเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นขณะที่พวกเขาอยู่ข้างนอก มีเด็กบางส่วนที่เวลาการเล่นของพวกเขาทั้งหมดต้องกลายเป็นการเตรียมรับมือกับความรุนแรงที่พวกเขาเจอมาวิทยากรสาธารณสุขชุมชนขององค์การฯ
ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความกลัวและความไม่ปลอดภัยเช่นนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้คนจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือวางแผนอนาคตของพวกเขาได้ การฝึกอบรม “การห้ามเลือด” จะช่วยบรรเทาความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ โดยเป็นการมอบเครื่องมือการปฏิบัติให้แก่ผู้อาศัย เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงที่มีการรุกราน แต่การที่มีการฝึกอบรมอยู่ก็เน้นย้ำถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายในเวสต์แบงก์
ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในห้องนี้ได้ฝึกการพันผ้าก๊อซให้กัน และบาดแผลทางจิตใจก็ถูกเผยให้เห็น ผู้เข้าร่วมต่างแบ่งปันเหตุการณ์ที่พวกเธอได้เผชิญมา ทั้งในรูปแบบการสนทนา เรื่องเล่า และรูปภาพของสมาชิกครอบครัวที่เสียชีวิตบนหน้าจอโทรศัพท์ บาดแผลทางจิตใจเหล่านี้ก็ฝังลึกเช่นกัน และการเยียวยาแผลเหล่านี้ต้องใช้เวลานานกว่าการกดและรัดสายห้ามเลือดเสียอีก