เกี่ยวกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières (MSF) หรือ Doctors Without Borders เป็นองค์การมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้านการแพทย์ เราดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข
เราทำงานด้านสุขภาพกับกลุ่มผู้เปราะบางในพื้นที่กว่า 70 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่แอฟริกาเหนือไปจนถึงอเมริกาใต้ เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ดำเนินงานในหมู่บ้านที่ไม่ปรากฏบนแผนที่ ในค่ายผู้ลี้ภัย ในโรงพยาบาล และคลินิกในโครงการ
ผู้ป่วยต้องมาก่อน
ผู้ป่วยเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจและการดำเนินงานของเรา เราทำงานเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตเพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพ
เจ้าหน้าที่ภาคสนามขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ให้การรักษาพยาบาลในชุมชนที่โครงสร้างสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อช่วยให้ผู้คนรอดพ้นจากสถานการณ์ภัยพิบัติ นอกจากนี้ MSF ยังได้จัดทำโครงการวิจัยภาคสนามในหลายพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่มีผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขหรือองค์กรช่วยเหลืออื่นๆ ในภาคสนามอีกด้วย ส่วนพื้นที่อื่นนั้น MSF ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นหรือพันธมิตรต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยของเราจะได้รับการดูแลที่ดีที่สุด
อัฟกานิสถาน © Kadir Van Lohuizen/Noor
ความเป็นมาของเรา
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก่อตั้งขึ้นในฝรั่งเศสเมื่อปี 1971 โดยกลุ่มแพทย์และนักข่าวในช่วงที่เกิดสงครามและความอดอยากในเบียฟรา ไนจีเรีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระที่เน้นการส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินในภาคสนาม – อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิผล และเป็นกลาง
อาสาสมัคร 300 คนรวมตัวกลายเป็นองค์การตอนที่เริ่มก่อตั้ง มีทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมถึงแพทย์และนักข่าวผู้ก่อตั้ง 13 คน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ถูกตั้งขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่าคนทุกคนควรเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลได้โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ หรือความเกี่ยวพันทางการเมือง และความต้องการทางการแพทย์นั้นมีน้ำหนักมากกว่าการเคารพในพรมแดนประเทศ ทั้งนี้มีการอธิบายหลักการปฏิบัติขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ไว้ในกฎบัตรของเราซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับภารกิจและกิจกรรมของเราทั่วโลก
เราทำอะไร
ภารกิจขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) คือ การให้การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพแก่ผู้ป่วยของเราทุกคน แม้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่ท้าทายและมีทรัพยากรที่จำกัดในภาคสนาม
ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ภาคสนามของเราให้บริการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ทำการผ่าตัด ต่อสู้กับโรคระบาด ฟื้นฟูและบริหารจัดการโรงพยาบาลและคลินิก รณรงค์การฉีดวัคซีน ดำเนินการศูนย์โภชนาการ ให้บริการดูแลสุขภาพจิตและทรัพยากรบุคคล และให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ท้องถิ่น บางครั้งเราจำเป็นต้องสร้างโรงบำบัดน้ำแบบพิเศษหรือช่วยจัดหาอุปกรณ์จ่ายไฟ หรือบางครั้งโครงการของเราเปิดโอกาสให้สร้างหน่วยวิจัยภาคสนาม MSF และตีพิมพ์ผลการวิจัยของเรา เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินของเราได้รับการฝึกอบรมและได้รับทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตได้ทันที
เราได้ให้การรักษาพยาบาลและการสนับสนุนด้านจิตใจแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยืดเยื้อ เช่น ผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง โรคระบาดหรือภัยพิบัติผ่านเจ้าหน้าที่ต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ที่ถูกจัดจ้างในพื้นที่ นอกจากนี้โปรแกรมของเรายังได้รักษาผู้ป่วยจากโรคติดต่อ เช่น วัณโรค เอชไอวี/เอดส์ และคาลาอาซาร์อีกด้วย
และหากมีความจำเป็น เราจะสร้างบ่อน้ำ จัดหาน้ำดื่มที่ปลอดภัย และแจกจ่ายวัสดุเพื่อสร้างที่พักพิงและสิ่งของบรรเทาทุกข์อื่นๆ เช่น ชุดทำอาหารและซักล้างเช่นกัน
อัฟกานิสถาน © Kadir Van Lohuizen/Noor
สาธารณรัฐแอฟริกากลาง © Alexis Huguet/MSF
บังกลาเทศ © Vincenzo Livieri/MSF
อินโดนีเซีย © Muhamad Suryandi/MSF
ฟิลิปปินส์ © Hannah Reyes Morales
ดำเนินการว่องไว
ทีมองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) มักเป็นทีมแรกที่ไปถึงพื้นที่ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภัยพิบัติและวิกฤต แต่ละภูมิภาคมีศูนย์โลจิสติกส์ของตนเองที่พร้อมจะจัดหาอุปกรณ์ ยา และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ทีมภาคสนามที่ได้รับภารกิจด้านการประเมินมักจะมาถึงก่อนเพื่อกำหนดประเภทของสิ่งของ ความรู้ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่จำเป็น เนื่องจากคนที่เราช่วยเหลือมักมีปัญหาสุขภาพแตกต่างกันไป เช่น สุขภาพจิต อาการบาดเจ็บ การขาดน้ำ ภาวะทุพโภชนาการ และโรคภัยต่างๆ
ในเดือนแรกๆ ของการระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกในปี 2557 (2014) ในหลายพื้นที่เราให้การรักษาพยาบาลและเป็นเสียงสำคัญที่ช่วยเรียกร้องความสนใจจากทั่วโลก
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงที่เฮติเมื่อปี 2553 (2010) ทีมภาคสนามของเราทีมหนึ่งได้รักษาผู้รอดชีวิตกลุ่มแรกภายในไม่กี่นาที
ภัยพิบัติมักส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ เช่น ประเทศในแอฟริกาที่มีพรมแดนติดกัน ประเทศในตะวันออกกลางที่มีความขัดแย้งกัน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โดนสึนามิและซูเปอร์ใต้ฝุ่นถล่ม ในสถานการณ์เช่นนี้เราได้ให้ความช่วยเหลือในสถานที่ที่ไม่มีใครหาเจอบนแผนที่ทุกปี
เนปาล © Brian Sokol/Panos Pictures
- เรื่องเล่าจากสนาม: การทำงานในคลินิกเคลื่อนที่
ภัยพิบัติสามครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของแพทย์ชาวอินโดนีเซีย อัคหมัด ยูซุฟ โทบาที่ได้ทำงานร่วมกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เขาพูดถึงประสบการณ์ภาคสนามไว้ดังนี้
“เมื่อผมรู้ว่าพวกเขากำลังหาแพทย์เพื่อรับมือกับโศกนาฏกรรม ผมก็อาสาทันที เมื่อผมมาถึงพื้นที่ ก็ได้รู้ว่าเราได้ให้การดูแลรักษาสำหรับเหยื่อผู้ประสบภัยพิบัติในปาลูและดองกาลามาตลอด พวกเขาทำมาตั้งแต่วันที่สองหลังจากมาถึงภูมิภาคนี้ หน้าที่หลักของผมคือการรักษาผู้ป่วยโดยใช้คลินิกเคลื่อนที่ งานของผมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยบาดเจ็บ เช่น กรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกน้ำร้อนลวกตอนที่วิ่งออกจากบ้านขณะเกิดแผ่นดินไหว ผมยังเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากกระดูกหักและบาดแผลที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน มีตั้งแต่รอยฟกช้ำ การฉีกขาด และการบาดเจ็บ งานส่วนหนึ่งที่ผมทำคือการประเมินศูนย์อพยพหรือศูนย์อนามัยที่ทีมตั้งขึ้น และทำการเฝ้าระวังโรคและติดตามผู้ป่วยรายบุคคลเพื่อให้แน่ใจว่าโรคติดต่อ เช่น ท้องเสีย ปัญหาผิวหนัง และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จะได้รับการป้องกัน”
- เรื่องเล่าจากผู้ป่วย: เอลิสและปูร์วันโต
เอลิสและครอบครัวของเธออยู่ที่บ้านตอนที่สึนามิพัดเข้าชายฝั่งของช่องแคบซุนดาในวันแห่งโชคชะตานั้น บ้านของพวกเขาตั้งอยู่บนชายฝั่งของลาบา คัมปง หมู่บ้านซิกนดังในลาบวน พวกเขาอาศัยอยู่ติดกับบ้านพ่อแม่ของเธอ
เมื่อคลื่นลูกแรกซัดเข้ามา ปูร์วันโต สามีของเอลิส ตะโกนเตือนเอลิสและรีบไปหาลูกสาวและญาติซึ่งอยู่บ้านข้างๆ เพื่อไปหาที่ปลอดภัยคลื่นแรงสูงกว่าเสาไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ๆ สูงประมาณ 7 ถึง 12 เมตร ได้ทำลายบ้านของพวกเขาเหลือเป็นเพียงเศษเล็กเศษน้อย ปูร์วันโต วัย 35 ปีได้รับบาดเจ็บที่ต้นขาซ้ายหลังจากถูกหลังคาดีบุกหล่นทับ เอลิสติดอยู่ในบ้านระหว่างตู้และโต๊ะทำงาน และเศษซากปรักหักพังที่เหลืออยู่ในบ้าน
โชคยังดีที่แม้จะได้รับบาดเจ็บ ปูร์วันโตก็ช่วยชีวิตเอลิสไว้ได้ ทั้งคู่ได้เดิน 2 กิโลเมตรไปยังศูนย์สุขภาพในลาบวน
เอลิสและสามีของเธอได้รับการรักษาโดยทีมขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ที่ศูนย์สุขภาพลาบวน “พวกเขาตรวจสภาพร่างกายของฉันและลูก ฉันมีรอยฟกช้ำและรอยบวมเกือบทั่วร่างกาย แต่ต้องขอบคุณพระเจ้า ลูกของฉันไม่เป็นไร”
ทีมงานที่ดูแลเอลิสจัดให้เธอได้รับการดูแลทางการแพทย์ เธอจะอยู่ที่ศูนย์สุขภาพลาบวนอีกสามวัน ในขณะเดียวกันพวกเขาส่งปูร์วันโตและแม่ของเอลิสไปโรงพยาบาลในปันเดกลังเนื่องจากอาการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง ส่วนพ่อของเธอถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเดียวกันเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่มือซ้าย
สนับสนุนอินโดนีเซียท่ามกลางภัยพิบัติหลายครั้ง
ช่วยเหลืออินโดนีเซียจากภัยพิบัติซ้ำซ้อนในปี 2561 (2018)
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 (2018) เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้งในสุลาเวสีตอนกลางของอินโดนีเซีย แผ่นดินไหวทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และสึนามิก็ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มและกลายเป็นกระแสน้ำโคลนที่กลืนหมู่บ้านทั้งหมด โดยรวมแล้วภัยพิบัติสามครั้งคร่าชีวิตผู้คนไป 4,340 คน
ทีมแรกของแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ที่ไปถึงพื้นที่ประกอบด้วยผู้ประสานงาน พยาบาล และนักจิตวิทยา รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตสามคน ส่วนทีมภาคสนามทีมที่สอง มีเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ด้านภัยธรรมชาติมุ่งหน้าจากปานามาไปอินโดนีเซียในวันเดียวกันจำนวนสามคน ซึ่งศัลยแพทย์ พยาบาล นักโลจิสติกส์ และแม้แต่นักจิตวิทยาก็เข้าร่วมภารกิจนี้ด้วย ถุงยังชีพและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ถูกส่งโดยเครื่องบินจากบรัสเซลส์และบอร์โดซ์ไปยังอินโดนีเซียเช่นกัน
ในวันที่ 22 ธันวาคมปีเดียวกัน พื้นที่ขนาดใหญ่ด้านใต้ของภูเขาไฟอะนัก กรากะเตาได้เลื่อนลงสู่มหาสมุทร ทำให้เกิดสึนามิที่กวาดล้างทุกอย่างบนเกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนีเซีย ภายในวันที่ 28 ธันวาคม สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย (BNPB) รายงานว่ามีผู้พลัดถิ่น 40,386 คน โดยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้พลัดถิ่นมาจากเขตปันเดกลังในจังหวัดบันเตน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 426 ราย โดยมีผู้บาดเจ็บ 7,202 ราย สูญหาย 23 ราย และบ้านเรือนเสียหาย 1,296 หลัง
เราระดมทีมสามทีม ได้แก่ ทีมหนึ่งสนับสนุนศูนย์สุขภาพคาริต้า และทีมที่สองสนับสนุนศูนย์สุขภาพลาบวน ในทั้งสองศูนย์เราให้การสนับสนุนแก่บุคลากรด้านสุขภาพที่ดูแลผู้บาดเจ็บในภาคสนาม ทีมที่สามเป็นทีมเคลื่อนที่ซึ่งจะไปเยี่ยมชุมชนต่างๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่บาดเจ็บและไม่สามารถไปโรงพยาบาลหรือศูนย์สุขภาพ มีการจัดการเคสไม่ได้หยุดหย่อนโดยผู้ป่วยหนักจะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาล
ในศูนย์สุขภาพเราได้ให้การดูแลทางการแพทย์และทำให้มั่นใจได้ว่ามีระเบียบปฏิบัติด้านการป้องกันและการควบคุมการติดเชื้อ ทีมงานยังริเริ่มการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid – PFA) สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและจัดตั้งโปรแกรมสุขภาพจิต
ทีมเคลื่อนที่ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา และนักโลจิสติกส์เดินทางโดยเรือไปยังหมู่บ้านชายฝั่งห่างไกลซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ทางถนนและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และมนุษยธรรม © Florian Lems
- เรื่องราวจาก ภาคสนาม: ความท้าทายด้านโลจิสติกส์ในการช่วยเหลือฉุกเฉิน
สิบวันหลังจากพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้น แคโรไลน์ เซกวิน ผู้ประสานงานเหตุฉุกเฉิน ได้อธิบายถึงความท้าทายด้านโลจิสติกส์และทรัพยากรมนุษย์ครั้งใหญ่ในการขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉินและจัดหาสิ่งของไปยังจุดที่จำเป็นที่สุด
“ในช่วงหลายวันนับตั้งแต่เกิดพายุไต้ฝุ่น เราได้จัดการนำเจ้าหน้าที่กว่า 150 คนและเสบียงหลายร้อยตันเข้าประเทศ เนื่องจากสถานพยาบาลจำนวนมากได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพความเป็นอยู่ทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวม และโรคที่มากับน้ำมากขึ้น ในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เราทำงานอย่างปาไน กียวน ออร์ม็อก ตักโลบัน และบูราเวน บริการด้านสุขภาพหยุดชะงักอย่างรุนแรงและเรากำลังมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูบริการดูแลสุขภาพเบื้องต้นและโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ในกียวนมีการจัดเตรียมเต็นท์โรงพยาบาลแบบเป่าลมไว้ภายในโรงพยาบาลรับผู้ป่วยส่งต่อที่เสียหาย ส่วนในตักโลบันเต็นท์เป่าลมจะถูกจัดตั้งขึ้นในสัปดาห์นี้และจะให้บริการทุกอย่างรวมถึงห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยใน และห้องผ่าตัด ทีมจะจัดตั้งหน่วยสุขภาพแม่ หน่วยสูติศาสตร์และหน่วยนรีเวชวิทยาอย่างเร่งด่วน ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ ความต้องการบริการด้านสุขภาพจิตมีสูง ทีมงานทั้งหมดของเราจะต้องมีเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตหรือนักจิตวิทยา นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการรับมือและลงมือทำได้ทันทีเมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ ที่ท้าทายกว่าด้านโลจิสติกส์”
ทีมแพทย์เดินทางถึงฟิลิปปินส์หนึ่งวันหลังเกิดพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน
ในปี 2013 พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนซึ่งเป็นหนึ่งในซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 6,300 คนและคนพลัดถิ่น 4 ล้านคนในฟิลิปปินส์ โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นซึ่งรวมถึงสถานพยาบาล ถนนและท่าเรือได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย และของใช้ยามฉุกเฉินถูกกวาดหายไป ความต้องการทางการแพทย์จึงมีสูงมากและความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดต่อก็สูงเช่นกัน
กิจกรรมบรรเทาทุกข์เบื้องต้นหลังเกิด พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนมีทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัด 11,624 ครั้ง การฉีดวัคซีน 29,188 ครั้งสำหรับป้องกันบาดทะยัก หัด โปลิโอ และตับอักเสบ การดูแลสุขภาพจิตและ/หรือการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย 27,044 คน การทำคลอดทารก 2,445 คน คลินิกเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ 133 จุด การสร้างโรงพยาบาลกึ่งถาวรหนึ่งแห่ง การฟื้นฟูโรงพยาบาลเจ็ดแห่ง การจัดหาและแจกจ่ายชุดบรรเทาทุกข์ 71,979 ชุด ชุดอาหารสำหรับ 50,000 คน และการแจกจ่ายน้ำ 14,473,500 ลิตร
โดยรวมแล้วเราส่งสินค้า 1,855 ตันและส่งเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เกือบ 800 คนไปยังฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นการรับมือครั้งใหญ่ การดำเนินการภาคสนามที่ใหญ่ขนาดนี้เป็นไปได้ด้วยความเอื้อเฟื้อและความเห็นอกเห็นใจของผู้บริจาคและผู้สนับสนุนรายบุคคลทั่วโลก ในระดับนานาชาติเราระดมทุนได้ทั้งหมด 32.4 ล้านยูโรสำหรับการรับมือไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน
เราทำงานเพื่อผู้เปราะบาง
ทุกๆ ปีในฐานะองค์การมนุษยธรรมระหว่างประเทศทางการแพทย์ ภารกิจขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในค่ายผู้ลี้ภัยและศูนย์กักกันทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราทำงานเพื่อให้การดูแลสุขภาพแก่ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก
หลังจากทางการเมียนมาร่วมกันรณรงค์ให้ใช้ความรุนแรงสุดขั้วต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 (2017) ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังเขตค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ
© Mohammad Ghannam/MSF
- เรื่องเล่าจากสนาม: ปล่อยให้อดกลางทะเล
คนถูกลำเลียงเหมือนสินค้าจนแน่นในเรือไม้ที่ใช้ลากอวนหาปลา มีคนราว 500 คนที่พยายามออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศไปมาเลเซียถูก ลักลอบค้ามนุษย์ ปล่อยให้หิวโหยและทุบตีระหว่างการเดินทางสองเดือนในปี 2563 (2020) ผู้โดยสารทั้งหมดเป็นชาวโรฮิงญาจากเมียนมา ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 12 ถึง 20 ปีและมีเด็กเล็กด้วย
คนเหล่านี้ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่งในมาเลเซีย แต่ในที่สุดผู้รอดชีวิตราว 400 คนก็ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยยามชายฝั่งบังกลาเทศ
อมีนา* เด็กหญิงชาวโรฮิงญาอายุ 14 ปีจากเมืองตลาดเล็กๆ ทางตะวันตกของเมียนมาอธิบายถึงการนั่งบนดาดฟ้าเรือภายใต้แสงแดดที่แผดเผาร่วมกับผู้คนนับร้อยเป็นเวลานานกว่าสองเดือน “เราต้องนั่งแบบนี้” เธอพูดพร้อมกับกอดเข่าแนบอก “ขาของผู้คนบวมและเป็นอัมพาต บางส่วนเสียชีวิตและถูกโยนลงทะเล เราลอยอยู่ในทะเลโดยมีคนตายทุกวัน เรารู้สึกเหมือนอยู่ในนรก”
ผู้ลี้ภัยกล่าวว่าพวกเขาถูกทุบตีจากการยั่วยุเพียงเล็กน้อยและได้รับอาหารและน้ำน้อยมากๆ ”อากาศร้อนอย่างที่สุดและไม่มีข้าวไม่มีน้ำ” อมีนากล่าว “เราได้ดาลหนึ่งฝ่ามือและน้ำหนึ่งฝาต่อวัน” ผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ กล่าวว่าบ่อยครั้งที่พวกเขาไม่ได้รับอาหารหรือน้ำเลยเป็นเวลาหลายวัน ผู้คนจำนวนมากต้องหันไปดื่มน้ำทะเลด้วยความกระหายน้ำอย่างช่วยไม่ได้
เรือลำดังกล่าวถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นฝั่งในมาเลเซียหรือที่อื่นๆ และในที่สุดก็หันกลับไปที่บังกลาเทศ ไม่กี่วันก่อนถึงบังกลาเทศ ผู้ลักลอบขนคนส่วนใหญ่ทิ้งเรือและผู้โดยสารที่หิวโหยไว้ หน่วยยามชายฝั่งบังกลาเทศช่วยชีวิตผู้รอดชีวิตที่เหลือราว 400 คนไว้ เราส่งทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสุขภาพจิตเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือและให้การดูแลฉุกเฉินแก่ผู้รอดชีวิตที่ผอมแห้งเมื่อพวกเขากลับมาถึงบังกลาเทศ แพทย์เข้ารักษาผู้ที่ไม่สบายอย่างรุนแรงอย่างใกล้ชิดและส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลของ MSF เพื่อรักษาภาวะทุพโภชนาการและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงกับอาการอื่นๆ ส่วนทีมสุขภาพจิตของเราก็จะให้คำปรึกษาแก่ผู้รอดชีวิต
“คนส่วนใหญ่เครียดและบอบช้ำทางใจ ตกใจกลัว และรู้สึกไม่มั่นคง พวกเขาโศกเศร้ากับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว และมีเด็กๆ ที่สูญเสียพ่อแม่” ฮานาดี คาเทอจี พยาบาลและหัวหน้าทีมรักษาพยาบาลกล่าว
“ลูกเรือบอกเราว่า ‘ไม่ว่าจะไปที่ไหน คุณก็เป็นผู้ลี้ภัย’” อมีนากล่าว “ในเมียนมาคุณเป็นผู้ลี้ภัย ในบังกลาเทศคุณเป็นผู้ลี้ภัย ในเรือและในมาเลเซียก็มองว่าคุณเป็นผู้ลี้ภัยเช่นกัน คุณต้องตายไม่ว่าจะไปที่ไหน”
เรารับมือกับวิกฤตทางสุขภาพ
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เริ่มรับมือกับการระบาดของโรคอีโบลาในปี 2557 (2014) และยังคงทำงานต่อเนื่องในการระบาดหลายครั้ง แต่ยังมีการระบาดและโรคระบาดอื่นๆ การระบาดของอหิวาตกโรค หัด และไข้เหลืองสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ มาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่นในกว่า 100 ประเทศ ส่วนอีกหลายล้านคนกำลังติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และวัณโรค
สาธารณรัฐกินี ทวีปแอฟริกาตะวันตก © Julien Rey/MSF
- คนทำงานบ้านชาวต่างชาติในฮ่องกง
ในฮ่องกงเรามีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับสภาพจิตใจของประชาชนในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางที่อาจมีความยากลำบากในการขอความช่วยเหลือ ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 72% ของคนทำงานบ้านชาวต่างชาติที่ตอบแบบสำรวจเคยมีอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า และ 47% ที่ทำสำรวจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานในฮ่องกง
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) จัดโปรแกรมฝึกอบรมผู้นำชุมชนในฮ่องกงโดยฝึกพวกเขาเรื่องทักษะการฟังอย่าง ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ/ใส่ใจและการปฐมพยาบาลทางใจ จุดมุ่งหมายคือเพื่อทำให้พวกเขาช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้นและเข้าใจขอบเขตของตนเองเมื่อต้องช่วยเหลือผู้อื่น
คาเรน เลา หัวหน้าฝ่ายสุขภาพจิตขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) กล่าวว่า “มีทรัพยากรจำกัดสำหรับการดูแลสุขภาพจิตของคนทำงานบ้านชาวต่างชาติในฮ่องกง ทั้งนี้เราอธิบายได้ว่าจิตสำนึกร่วมชุมชนของคนแต่ละที่และเครือข่ายเพื่อนที่ขยายออกไปจะช่วยสร้างการสนับสนุนทางสังคมและแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้อย่างไร สิ่งนี้จะทำให้คนทำงานบ้านชาวต่างชาติสามารถปกป้องตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทาย”
นอกจากนี้เรายังจัดทำกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับ COVID-19 ในฮ่องกง มีการแจกจ่ายแผ่นพับเป็นภาษาตากาล็อก บาฮาซาอินโดนีเซีย และภาษาอื่นๆ จัดกิจกรรมการเรียนรู้และตอบคำถาม ทีมแพทย์ฉุกเฉินได้เข้าไปช่วยประชากรกลุ่มเปราะบางในฮ่องกง ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนทำความสะอาดถนน ผู้พิการทางสายตา คนไร้บ้าน ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ และผู้ขอลี้ภัย นอกเหนือจากการแบ่งปันข้อมูลสุขศึกษาแล้ว ยังมีการจัดช่วงตอบคำถามเป็นพิเศษเพื่อตอบข้อกังวลที่ต้องจัดการด่วนที่สุด
- ผู้นำชุมชนในอินโดนีเซีย
ในช่วงแรกที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด ความตื่นตระหนกได้แพร่กระจายไปทั่วชุมชนต่างๆ ในอินโดนีเซียเนื่องจากมีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากหน่วยงานสาธารณสุข ข่าวลือ ความรู้ความเข้าใจผิดๆ และข่าวปลอมแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐถูกกระหน่ำด้วยคำถามจากสมาชิกในชุมชนซึ่งเรียกร้องขอความจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับโควิด-19 เนื่องจากมีข้อมูลมากมายที่มาจากแหล่งข่าวนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มสนทนาออนไลน์ รวมทั้งการรายงานข่าวในโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ สถานการณ์ตึงเครียด เกิดขึ้นเมื่อหมู่บ้านกาลิบาตาในเขตปันจอรัน ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทีมเจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้ประเมินสถานการณ์ในหมู่บ้านกาลิบาตา ทีมงานพบว่าความสับสนและความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา และพบว่าเป็นเรื่องยากที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่จะหาแหล่งข้อมูลโควิด-19 ที่เชื่อถือได้"เราค้นพบว่าศูนย์อนามัยชุมชน หรือ Puskesmas ตั้งหน้าตั้งตารอความช่วยเหลือของเรา" ดร. เดียร์นา มายาซารี ผู้ช่วยผู้ประสานงานทางการแพทย์ในอินโดนีเซียกล่าว ศูนย์อนามัยชุมชนได้เชิญให้ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และผู้จัดการฝึกอบรม เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากังวล
"ชุมชนต้องการคำแนะนำที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะสามารถป้องกันตนเองจากโควิด-19 ได้อย่างไร แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการพูดคุย เพราะข้อมูลที่พวกเขาได้รับล้วนแต่เป็นข้อมูลด้านเดียว" ดร.มายาซารีกล่าว "พวกเขาอยากมีโอกาสได้ซักถาม พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กังวล และหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ พวกเขายังต้องการแบ่งปันวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารภายในชุมชนของตนเอง" ด้วยเหตุนี้ จึงตัดสินใจทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นและเริ่มจัดการอบรมที่ให้หัวหน้าครอบครัวของทั้งชุมชนได้มาพบปะกัน
- ผู้อพยพและคนเมืองที่ยากจนในฟิลิปปินส์
เป็นที่แน่ชัดว่าโควิด-19 คือความท้าทายของระบบสาธารณสุขไม่ว่าจะในบริบทใด แต่เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าในพื้นที่ที่กำลังฟื้นตัวจากปัญหาความขัดแย้งและในชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ประเด็นเรื่องสุขอนามัยเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในกรณีที่มีน้ำสะอาดใช้อย่างจำกัด การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อมีอุปสรรคมากกว่าเมื่อการรักษาระยะห่างทางกายภาพนั้นแทบไม่สามารถทำได้
ในปี 2560 (2017) กลุ่มติดอาวุธโจมตีเมืองมาราวีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว การบุกยึดเมืองกินเวลากว่าห้าเดือน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 370,000 คนต้องหลบหนีออกจากบ้านเกิด หลังจากนั้นเป็นเวลามากกว่าสามปี ผู้คนประมาณ 70,000 คน ยังคงใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นในที่พำนักชั่วคราว คาดว่าอีกประมาณ 50,000 คนที่เหลือไปอยู่อาศัยที่บ้านของญาติพี่น้อง หลังจากการเข้ายึดเมือง เจ้าหน้าที่ภาคสนามขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ได้ดำเนินงานเพื่อทำให้ผู้อพยพเข้าถึงน้ำสะอาดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลังจากนั้น ได้ขยายการให้ความช่วยเหลือไปยังการดูแลสุขภาพจิต ต่อด้วยการสนับสนุนศูนย์อนามัยสามแห่งในพื้นที่เพื่อรักษาโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน และให้บริการยารักษาโรคโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดและเริ่มมีการใช้มาตรการกักกันชุมชน การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลจึงถูกระงับไปด้วย การเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดทำให้เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสอย่างมาก ทีมงานของเราได้ออกเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างต่อเนื่องและแจกใบปลิวให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสและวิธีการป้องกันตนเองและครอบครัวจากไวรัส
ชุมชนแออัดในเขตทอนโดของกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์
เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ทำให้การรักษาระยะห่างเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ และเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายพื้นที่และธุรกิจที่ปิดตัวลง คนจำนวนมากจึงไม่มีงานทำ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่กักกันตัวอยู่ที่บ้าน ทีมงานของเราจึงได้จัดเตรียมชุดอุปกรณ์สุขอนามัยสำหรับป้องกันโควิด-19 มากกว่า 2,000 ชุด ประกอบด้วยหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง เครื่องวัดอุณหภูมิ แอลกอฮอล์ สบู่ล้างมือ และนามบัตรสำหรับติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ ทีมงานของเรายังมอบชุดอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่ผู้ที่ติดต่อสัมผัสกับพวกเขาซึ่งภายในชุดมีอุปกรณ์แบบเดียวกัน และเนื่องจากคนที่อยู่ในช่วงกักกันตนเองจะไม่สามารถทำงานได้ เราจึงร่วมมือกับกลุ่มผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนา หรือคณะมิชชันนารีแห่งเมตตา เพื่อจัดเตรียมชุดอาหารยังชีพแจกตามความจำเป็นแต่เดิมโรงพยาบาลซานลาซาโรในกรุงมะนิลามีหน่วยดูแลพิเศษสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่สองหน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยสามารถดูแลผู้ป่วยได้สิบคน นอกจากนี้ยังมีหอผู้ป่วยซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ 20 เตียง ประกอบด้วยหอผู้ป่วยชายหนึ่งแห่ง มี 20 เตียง และหอผู้ป่วยหญิงหนึ่งแห่ง มี 20 เตียง เราได้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลซานลาซาโรในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการจัดการข้อมูล และการจัดการเคสผู้ป่วย ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ตลอดจนการฝึกอบรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ
เรายังให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากรบุคคลแก่โรงพยาบาลซานลาซาโร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในแผนกห้องปฏิบัติการและระบาดวิทยา หอผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ห้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 และหอผู้ป่วยวัณโรค นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ และยาแล้วนั้น เรายังช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่โรงพยาบาลนี้อีกด้วย
- เรื่องเล่าจากสนาม: การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในสถานการณ์โรคระบาด
ชิกา ซุเอฟุจิ ผู้ประสานงานโครงการในมาราวี บอกเล่าความยากลำบากที่ชุมชนต้องเผชิญเมื่อมีการใช้มาตรการกักกันชุมชนในเดือนมีนาคม 2563 (2020)
“คนไม่สามารถเดินทางไปมัสยิดหรือสุเหร่าได้ การไปสถานที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในช่วงรอมฎอน บางคนถึงกับไม่พอใจเมื่อรู้ว่าไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงรอมฎอนได้เหมือนเดิม บางคนไม่เข้าใจการตัดสินใจเช่นนี้ เนื่องจากมีกรณีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับรายงานเพียงไม่กี่รายเท่านั้นในพื้นที่ เราได้พูดคุยประเด็นนี้กับชุมชนและผู้นำศาสนา พร้อมอธิบายวิธีการที่ไวรัสแพร่ระบาด พวกเขาสามารถทำความเข้าใจได้ดีและออกแถลงการณ์ให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย วิธีนี้ช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและโน้มน้าวให้ผู้อาศัยในชุมชนปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งในภาพรวมนั้น ทุกคนเคารพกฎระเบียบของสังคมเพื่อปกป้องครอบครัวและชุมชนของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้ช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสในชุมชนได้”
- เรื่องเล่าจากสนาม: ชุดอาหารยังชีพและการปฐมพยาบาลทางใจเพื่ออยู่รอดในช่วงกักกันตัว
เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากอันเกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายครอบครัวในทอนโดจึงมีภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้า ไลก้า ลูเซนา ทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ด้านสุขภาพจิต เธอเล่าว่า “พวกเขากังวลว่าตนเองจะทำให้คนอื่นติดเชื้อ โดยเฉพาะคนที่พวกเขารัก พวกเขากลัวว่าจะป่วยหรือติดโควิด-19 อีกครั้ง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะต้องห่างครอบครัว หลายคนเล่าให้ฟังว่าพวกเขารู้สึกโกรธแค้น อึดอัดใจ และรู้สึกหมดหนทางกับสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญ”
ทีมเจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตทางไกลแก่ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้านคนเดียว “เราพยายามช่วยบรรเทาความทุกข์ของพวกเขาโดยชี้ให้เห็นและเน้นย้ำวิธีจัดการอารมณ์ที่ดีต่อสุขภาพจิต รวมทั้งหาวิธีการช่วยเหลือตนเอง เรายังช่วยให้พวกเขารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดจากการถูกแบ่งแยกและตีตรา นอกจากนั้น เรายังสนับสนุนให้ผู้ป่วยกลับไปสานสัมพันธ์กับคนที่รักอีกครั้ง” ลูเซนากล่าว
- ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในมาเลเซีย
มาเลเซียมีระบบการดูแลสุขภาพที่เข้มแข็ง แต่โควิด-19 แสดงให้เห็นว่านโยบายกีดกันคนบางกลุ่มออกจากสังคมและจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขสามารถสร้างผลกระทบต่อคนทั้งสังคมได้ แม้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมืองผิดกฎหมายยังคงใช้ชีวิตด้วยความกลัวว่าจะถูกจับกุมและควบคุมตัว ความหวาดกลัวที่ว่านี้มีอยู่ทั้งเวลาที่อยู่ในบ้านและบนถนน เนื่องจากการบุกตรวจคนเข้าเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้กระทั่งในสถานพยาบาล
นี่คือสาเหตุที่เราเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกหนังสือเวียนที่ 10/2001 ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องรายงานหากพบ “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” (pendatang asing tanpa izin หรือ PATI) ที่เข้าไปขอรับบริการด้านสาธารณสุขต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เรายังเรียกร้องให้คนเข้าเมืองผิดกฎหมายในมาเลเซียสามารถเข้าถึงประกันสุขภาพและได้รับสถานะทางกฎหมาย
นอกจากนี้เรายังสนับสนุนให้รัฐบาลมาเลเซียยุติการมุ่งเป้าไปที่คนเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยในรูปแบบของการบุกตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง
นอกเหนือจากการเรียกร้องสถานะทางกฎหมายให้แก่ผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมืองผิดกฎหมายแล้วนั้น เรายังจัดให้มีการให้ความรู้สุขศึกษาเกี่ยวกับโควิด-19 ในหลากหลายภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาโรฮิงญาและพม่า และจัดให้มีการแปลภาษาในโรงพยาบาล เรายังดำเนินโครงการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 สำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาผ่านเครือข่ายข่าวออนไลน์โรฮิงญาอีกด้วย
ขณะนี้โรคโควิด-19
ขณะนี้โรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบแทบทุกประเทศและภูมิภาคบนโลก ทำให้ผู้คนติดเชื้อหลายสิบล้านคน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีกกว่าล้านคน เราได้
เราเป็นกระบอกเสียง
เนื่องจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ก่อตั้งโดยทั้งผู้สื่อข่าวและแพทย์ เราจึงไม่หยุดอยู่เพียงแค่การดำเนินงานด้านมนุษยธรรมเท่านั้น เรารู้สึกว่าการเป็นกระบอกเสียง หรือที่พวกเราเรียกว่าเป็น ‘พยานบอกเล่า’ นั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานเรา
การเป็นกระบอกเสียงนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สถานการณ์ของประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดีขึ้น เมื่อเราได้เป็นประจักษ์พยานของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาญกรรมสงคราม หรือการบังคับให้ผู้ลี้ภัยต้องเดินทางกลับถิ่นฐาน เราอาจเป็นกระบอกเสียงสู่สาธารณะได้ การเป็นกระบอกเสียงทำได้ด้วยการทำแคมเปญรณรงค์และเจรจาต่อรองเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เช่น การรณรงค์ให้ลดราคายารักษาวัณโรคซึ่งใช้เวลายาวนานหลายปี และการรณรงค์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศที่ยากจนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างเพียงพอ
อย่างไรก็ดี มีหลายกรณีที่อาจเป็นผลดีกับเหยื่อผู้ได้รับกระทบมากที่สุด หากองค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้การช่วยเหลือโดยไม่ต้องสื่อสารสถานการณ์ให้สาธารณชนรับทราบหรือออกมาประณามการกระทำโดยไม่ให้ความช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมนั้นมีการจัดการแบบมุ่งหวังผลประโยชน์
เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความยากลำบากในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งบางครั้งเราได้ทำผิดพลาด ด้วยเหตุนี้ เราจึงทบทวนการการดำเนินงานและหาวิธีปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง เรามุ่งมั่นที่จะประเมินผลการดำเนินงานของเราอย่างสม่ำเสมอและรับผิดชอบผลการกระทำทั้งต่อผู้ป่วยและผู้บริจาคของเรา
เราเป็นอิสระ
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เป็นสมาคมเอกชนระหว่างประเทศ ประกอบด้วยแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างสำหรับทุกวิชาชีพที่สามารถช่วยให้เราบรรลุจุดมุ่งหมายได้
เราแทบจะไม่รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับใช้ในการดำเนินงานของเรา แต่พึ่งพาเงินบริจาคของบุคคลทั่วไปเป็นหลัก เงินทุนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นของเรามาจากผู้บริจาครายบุคคลที่บริจาคเงินจำนวนเล็กน้อย ความเป็นอิสระทางการเงินของเรายังหมายความว่างานให้ความช่วยเหลือของเราจะไม่สามารถนำไปใช้ต่อยอดเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองหรือการทหารของรัฐบาลได้
เรามุ่งมั่นที่จะทำให้การประเมินความต้องการทางการแพทย์และการเข้าถึงผู้ป่วยไร้ซึ่งอุปสรรคใดๆ สิ่งนี้หมายความว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เราจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เงินทุนที่ได้จากการบริจาคของเอกชนเพื่อช่วยชีวิตผู้คน โดยพิจารณาจากผลการประเมินความจำเป็นของผู้ป่วยได้อย่างอิสระ
แนวทางดำเนินงานของเราไม่ใช่การนั่งรอรับเงินบริจาคสบายๆ เหมือนวิธีการขององค์กรการกุศลทั่วไป เราไม่เคยเปิดรับเงินบริจาคฉุกเฉินจนกว่าเราจะมั่นใจว่าเราจะสามารถใช้จ่ายเงินนั้นได้จริงในสถานการณ์วิกฤตนั้นๆ โดยเฉพาะ เราไม่ใช้เครื่องหมายดอกจันหรือซ่อนข้อจำกัดความรับผิดชอบเพื่อถ่ายโอนเงินบริจาคไปใช้ในส่วนอื่นๆ ขององค์กร
เราเสนอที่จะคืนเงินบริจาคเสียด้วยซ้ำเมื่อเงินที่ได้รับบริจาคจากสาธารณชนสูงกว่าจำนวนเงินที่เราจำเป็นต้องใช้รับมือกับสถานการณ์ หรือไม่เราก็จะต้องมั่นใจเสียก่อนว่าผู้สนับสนุนของเราไม่ขัดข้องที่จะให้นำเงินบริจาคของพวกเขาไปใช้เพื่อการอื่น เว้นแต่ในกรณีของการเรียกเงินบริจาคฉุกเฉินที่เราอาจร้องขอให้ผู้บริจาคสนับสนุนเงินทุนในกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อสมทบเป็นกองทุนฉุกเฉินที่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ
จากรายงานผลการดำเนินงานในปี 2562 (2019) ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลและองค์กรเอกชน (บริษัทและมูลนิธิเอกชน) มากกว่า 6.5 ล้านราย ได้มอบเงินบริจาคเป็นจำนวน 96.2 เปอร์เซ็นต์ของเงินบริจาคจำนวนทั้งสิ้น 1.63 พันล้านยูโร
เงินทุนของเราส่วนใหญ่ได้มาจากบุคคลทั่วไปที่บริจาคเงินคนละเล็กน้อย สิ่งนี้ช่วยให้เรารักษาความเป็นอิสระในการดำเนินงานและความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤตเร่งด่วนที่สุดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับการรายงานและถูกละเลยด้วย
นับแต่ปี 2559 (2016) เป็นต้นมา เราปฏิเสธไม่รับการสนับสนุนเงินทุนจากสหภาพยุโรป รวมทั้งจากรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปและประเทศนอร์เวย์ เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านนโยบายการป้องปรามการอพยพลี้ภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายและความพยายามผลักดันผู้อพยพออกจากชายฝั่งยุโรปที่เพิ่มขึ้นในประเทศเหล่านี้
นอกจากนี้ เรายังไม่รับการสนับสนุนจากบริษัทและอุตสาหกรรมที่มีกิจการหลักซึ่งอาจขัดแย้งโดยตรงหรืออาจจำกัดความสามารถในการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่รับเงินทุนจากบริษัทเภสัชกรรมและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ หรือเพชร) บริษัทยาสูบ และผู้ผลิตอาวุธ
Haiti. © Yann Libessart/MSF
Iraq © Mohammad Ghannam/MSF
Mediterranean Sea © Chris Grodotzki/Sea-Watch.org
เราเป็นกลางและ เป็นธรรม
เราให้การรักษาพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่มีความจำเป็นมากที่สุดไม่ว่าพวกเขาจะมาจากประเทศหรือภูมิภาคใด มีเชื้อชาติหรือเพศใด หรือมีจุดยืนหรือความสนใจทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือศาสนาเช่นไร เพราะเราให้ความสำคัญกับผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงที่สุดและฉุกเฉินที่สุด
เรามีความเป็นธรรมหรือไม่สนับสนุนวาระด้านความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ แต่เราจะเข้าไปสถานที่ที่มีความต้องการทางการแพทย์มากที่สุด บางกรณีเราไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ด้วยเหตุว่าการขอเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้รับการปฏิเสธ หรือเพราะการเข้าไปอาจไม่ปลอดภัย หรือเพราะความต้องการหลักๆ ของประชากรในพื้นที่นั้นได้รับการตอบสนองแล้ว
ในโรงพยาบาลสนามนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บจะนั่งนอนอยู่ข้างๆ ทหารจากฝ่ายตรงข้ามที่ได้รับบาดเจ็บ เพราะทุกคนจะต้องทิ้งอาวุธไว้ที่ประตูทางเข้า
เราปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างให้เกียรติ
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ดำเนินงานด้านการแพทย์เป็นหลัก เราปฏิบัติงานด้วยความเคารพในข้อปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะหน้าที่ในการรักษาพยาบาลโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลหรือกลุ่มคนใดๆ เราเคารพความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ความลับ และสิทธิในการให้ความยินยอมของผู้ป่วย เราปฏิบัติต่อผู้ป่วยของเราอย่างให้เกียรติและเคารพในความเชื่อทางวัฒนธรรมและศาสนาของพวกเขา ด้วยหลักการเหล่านี้ เราพยายามให้บริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงแก่ผู้ป่วยทุกคน
Lebanon. © Florian Seriex/MSF
Lebanon. © Joffrey Monnier/MSF
Mediterranean Sea © Federico Scoppa
ร่วมงานกับเรา
ในทุกปี องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) จะส่งผู้ปฏิบัติงานภาคสนามประมาณ 3,000 คนไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กว่า 32,000 คน ในประเทศต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินแก่ประชากรซึ่งต้องเสี่ยงชีวิตเพราะความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ โรคระบาด ภาวะทุพโภชนาการ การกีดกันจากบริการสาธารณสุข หรือภัยธรรมชาติ ในทุกๆวัน เราจะพบเห็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมนุษยธรรมด้านการแพทย์จากในทั่วทุกมุมโลกกำลังให้การช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤต
เจ้าหน้าที่เหล่านี้ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ นักระบาดวิทยา จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ วิศวกรน้ำและสุขาภิบาล นักบริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนและผู้ปฏิบัติงานภาคสนามอื่นๆ
เจ้าหน้าที่ของเรามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากการจัดหาในพื้นที่ พวกเขาทำงานในโครงการซึ่งมีเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
จากรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติงานภาคสนามประจำปี 2562 (2019) เจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ประมาณ 65,000 คนของได้ให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และมนุษยธรรมแก่ผู้คนในประเทศต่างๆ มากกว่า 70 ประเทศ
โครงการของเราได้รับการสนับสนุนจากบุคลากรในสำนักงานผู้บริหารของเรา รวมถึงทีมสื่อสารองค์กร ทีมโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทีมระดมทุน ทีมการเงิน และทีมทรัพยากรบุคคลที่ล้วนมีส่วนในการทำให้เรามั่นใจว่าเราจะสามารถให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ที่มีความจำเป็นมากที่สุดได้ โครงการวิจัยภาคสนามต่างๆ รวมทั้งแผนกการแพทย์เฉพาะทางและแผนกสนับสนุนด้านโลจิสติกส์นั้นช่วยให้นวัตกรรมและวิทยาการจากงานวิจัยได้รับการผนวกรวมเข้าในงานของเราในคลินิกและโรงพยาบาลทั่วโลก
เรารับสมัครบุคลากรทั้งที่เป็นบุคลากรด้านการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานภาคสนามที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ของเราทุกคนเป็นมืออาชีพที่เลือกทำงานกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดนเพราะความมุ่งมั่นและความตระหนักเรื่องสุขภาพและ การรักษาชีวิต