คารัมวัย 17 ปี เข้ารับกายภายบำบัดในโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเมืองอัมมาน เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้าและส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณแขน ภายหลังจากที่บ้านของเขาถูกถล่มจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพอิสราเอล - จอร์แดน สิงหาคม 2567 © Moises Saman/Magnum Photos
แสงอาทิตย์กำลังสาดส่องผ่านหน้าต่างบานเล็กของห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาล แสงตะวันสีส้มอ่อนๆพาดตกบนใบหน้าของคารัม (Karam) วัย 17 ปี เน้นให้เห็นรอยแผลเป็นสีขาวบนแก้มซ้ายของเขา คารัมค่อยๆ ลุกขึ้นนั่ง ขณะเดียวกันเขาก็ใช้มือขวารัดแถบพลาสติกสีเนื้อเส้นยาวเข้ากับแขนซ้ายส่วนบน ตอนนี้คารัมพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ดำเนินการโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières - MSF) เมืองอัมมาน (Amman) ประเทศจอร์แดน (Jordan)
“ผมได้ยินมาว่า ถ้าคุณตาย คุณยังคงได้ยินเสียงผู้คนขณะที่พวกเขาฝังร่างคุณ คุณจะได้ยินคำอธิษฐานและเสียงฝีเท้าของพวกเขาที่กำลังเดินออกจากหลุมฝังศพ” คารัมกล่าว
“ในรถพยาบาล ผมรู้สึกได้ถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นแต่ผมไม่สามารถลืมตาได้ ผมยังได้ยินเสียงเหล่านั้นอยู่เลย ผมกลัว กลัวว่าผมอาจจะตายไปแล้ว”
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลได้ทำลายบ้านของคารัมในกาซา (Gaza) สังหารทุกคนในครอบครัว ยกเว้นกีนา (Ghina) น้องสาววัย 7 ขวบ และ เซียด (Ziad) พ่อของคารัม คารัมได้รับบาดเจ็บสาหัส มีแผลไหม้ทั่วใบหน้าและร่างกาย
ในวันนั้น มีผู้เสียชีวิตล้นโรงพยาบาลอัล-อักซอ (Al-Aqsa hospital) หลังจากกองกำลังอิสราเอลทิ้งระเบิดที่ค่ายผู้ลี้ภัยนูเซรัต (Nuseirat) ทางตอนกลางของกาซา เมื่อคารัมมาถึงโรงพยาบาล ทีมห้องฉุกเฉินพยายามช่วยชีวิตเขาไว้แต่ไม่สำเร็จ
หากหนึ่งชั่วโมงต่อมา ลุงของคารัมซึ่งเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลอัล-อักซอ ได้เข้ามาในห้องฉุกเฉินและพบว่าหลานชายของเขายังคงหายใจอยู่ เขารีบพาคารัมไปที่ห้องผ่าตัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่องค์การฯ ทำการกู้ชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation - CPR) และผ่าตัดฉุกเฉิน ซึ่งในที่สุดสามารถช่วยชีวิตคารัมไว้ได้
คารัมวัย 17 ปี เข้ารับกายภายบำบัดในโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเมืองอัมมาน - จอร์แดน สิงหาคม 2567 © Moises Saman/Magnum Photos
เซียด ผู้เป็นพ่อของคารัม เป็นนักจิตวิทยาของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (The United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East – UNRWA) กำลังทำงานในศูนย์ลี้ภัยขณะที่บ้านของครอบครัวเขาในเมืองนูเซรัตถูกโจมตี
“เมื่อผมรู้เรื่องการโจมตี ผมก็รีบไปที่เมืองอัลอักซอ (Al-Aqsa) เพราะเพื่อนบ้านบอกว่ากีนาและคารัมถูกส่งตัวไปที่นั่น” เซียดกล่าว “ผมไปถึงห้องฉุกเฉินและเห็นร่างคนตายเกลื่อนทั่วพื้น ผมเจอกีนาลูกสาวในสภาพมีรอยไหม้ระดับหนึ่งบนใบหน้า ไหล่ และหลัง”
Tผลกระทบของระเบิดที่ทิ้งใส่บ้านของเซียดนั้นรุนแรงมากจนพื้นที่บางส่วนของบ้านถูกดูดลงไปในพื้นดิน ระเบิดดังกล่าวคร่าชีวิตสมาชิกในครอบครัวของเซียดไป 13 คน รวมถึงภรรยาของเขา ทาเร็ก (Tareq) ลูกชายคนโต และโมฮัมเหม็ด (Mohammed) ลูกชายคนเล็ก ทาเร็กกำลังเรียน
ทันตแพทยศาสตร์อยู่ที่รัสเซียแต่ต้องติดอยู่ในกาซาเนื่องจากภาวะสงครามหลังกลับมาเยี่ยมครอบครัว
ตอนที่คารัมถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉิน ผมไม่ได้เอะใจว่าเป็นลูกชายของตัวเอง เขาไม่มีลักษณะของมนุษย์ที่มีชีวิตหลงเหลืออยู่เลย ไร้เสื้อผ้า ร่างกายเป็นสีดำตะโก ดวงตาปิดสนิทเซียด บิดาของคารัม
หลังจากสามารถทำให้สภาวะอาการของคารัมคงที่แล้ว เจ้าหน้าที่องค์การฯ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ประจำโรงพยาบาลอัลอักซอได้ทำการศัลยกรรมพลาสติก (plastic surgery) ร่างกายของคารัมที่ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงถึงหกรอบ คารัมอยู่ในอาการโคม่าเป็นเวลาเจ็ดวัน
ต่อมาคารัมถูกอพยพไปยังโรงพยาบาลลอยน้ำของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (The Emirati floating hospital) เมืองอัล-อาริช (Al-Arish) ประเทศอียิปต์ (Egypt) ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่ง (reconstructive surgery hospital) ขององค์การฯ ประจำเมืองอัมมาน ที่ซึ่งปัจจุบันคารัมกำลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร (comprehensive rehabilitation) ที่นั่นยังรับรักษาน้องสาวของคารัมและผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่อพยพด้วยเหตุผลทางการแพทย์มาจากกาซาด้วย
ประชาชนหลายพันคนที่ต้องการการรักษาพยาบาลเฉพาะทางยังติดอยู่ในกาซา
ผู้ป่วยจากกาซาเพียงหยิบมือที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นในโรงพยาบาลขององค์การฯ ประจำเมืองอัมมานนั้นเป็นเพียงคลื่นเล็กๆ กระเพื่อมบนผิวน้ำให้เห็นจากใต้มหาสมุทรลึกที่เทียบได้กับความต้องการความช่วยเหลือที่ยังมีมากล้นทั่วกาซา
“จากประสบการณ์ในโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งเมืองอัมมาน พวกเรารักษาผู้บาดเจ็บจากสงครามในภูมิภาคนี้มาเกือบ 20 ปี ปกติแล้วร้อยละ 4 ของผู้บาดเจ็บจากสงครามจะต้องได้รับการศัลยกรรมตกแต่ง” กล่าวโดย มูอีน มามูด ชาอีฟ (Moeen Mahmood Shaief) หัวหน้าคณะผู้แทนขององค์การฯ (MSF head of mission) ประจำประเทศจอร์แดน
“ในกรณีของกาซา เรากำลังพูดถึงตัวเลขเกือบ 100,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ดังนั้นมีผู้ป่วยมากถึง 4,000 คนในกาซาที่ต้องการศัลยกรรมตกแต่งและการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร” มูอีน มามูด ชาอีฟ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งต่อผู้บาดเจ็บไปรักษายังต่างประเทศนั้นใช้เวลาและซับซ้อน เกณฑ์การอนุมัติของทางการอิสราเอลยังไม่ชัดเจน และผู้ป่วยมักต้องรอคำตอบเป็นเวลาหลายเดือน องค์การอนามัยโลกระบุว่าเกือบร้อยละ 60 ของคำขออพยพทางการแพทย์จากกาซาถูกปฏิเสธ ตามข้อมูลขององค์การฯ ทางการอิสราเอลยังปฏิเสธการร้องขอให้อพยพเด็กที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ดูแลด้วย
“จาก 8 กรณีที่เรายื่นขออพยพทางการแพทย์ในเดือนสิงหาคม มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ทางการอิสราเอลอนุมัติให้อพยพพร้อมผู้ดูแล” ดร. ฮานี อิสลีม (Dr Hani Isleem) ผู้ประสานงานโครงการขององค์การฯสำหรับการอพยพทางการแพทย์ในกาซา (MSF project coordinator for Gaza medical evacuations) กล่าว
“เราจะส่งเรื่องอีกครั้งในรอบถัดไป แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าทางการอิสราเอลจะไม่อนุมัติการอพยพผู้ป่วยทั้งหมด ทางการอาจสงสัยและไม่อนุมัติให้ผู้ใหญ่เดินทางออกจากกาซา แต่การอ้างเรื่องความเคลือบแคลงใจไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่พวกเขาปฏิเสธการอพยพเด็กได้”
องค์การฯ เรียกร้องให้ทางการอิสราเอลรับประกันการอพยพทางการแพทย์สำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการการดูแลทางการแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงผู้ดูแลของพวกเขาด้วย และรับรองว่าประเทศอื่นๆ จะรับผู้ป่วยและอำนวยความสะดวกในการรักษานอกกาซา ขณะเดียวกันต้องรับประกันว่าผู้ป่วยและผู้ดูแลทุกคนจะได้รับการรับรองความปลอดภัย เมื่อต้องกลับไปสู่กาซาอย่างสมัครใจและมีเกียรติ
ฮาเซมวัย 8 ขวบเดินเคียงข้างเอมานผู้เป็นมารดาและพี่สาวอย่างดีมาบริเวณโถงทางเดิน ภายในโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเมืองอัมมาน ฮาเซมได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เมื่อบ้านที่อยู่หลังถัดไปโดนโจมตีด้วยระเบิด ฮาเซมที่ยืนอยู่บนถนนโดนลูกหลงจากเศษโลหะตกลงมายังขาของเขา - จอร์แดน 2567 © Moises Saman/Magnum Photos
ดีมาและฮาเซม (Deema and Hazem)
ดีมาวัย 11 ปี และครอบครัวของเธอ อยู่ภายในบ้านในเมืองกาซาซิตี้ (Gaza City) ขณะที่บ้านของเพื่อนบ้านถูกโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ดีมาอยู่บนชั้นสี่กำลังอุ้มหลานชายตัวน้อยไว้ในอ้อมแขนเมื่ออาคารรอบตัวถล่ม โดยดีมาตกจากชั้นสี่ลงไปถึงชั้นล่างสุด
“ใต้ซากปรักหักพังมันเป็นสีดำมืดสนิท” ดีมากล่าว “ฉันลืมตาไม่ได้และหายใจไม่ออก ฉันไม่ได้ยินเสียงใครและพูดไม่ได้ มีฝุ่นและก้อนหินคลุมไปทั้งหน้า ฉันเชื่อว่ากำลังจะตาย”
“ฉันสามารถเคลื่อนไหวมือใต้ซากปรักหักพังได้ และใช้สายเคเบิลส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ว่าฉันอยู่ที่นั่น ฉันจำได้ว่าได้ยินเสียงคน และฉันรู้สึกได้ถึงอากาศสัมผัสที่ขา ไม่นานนักก็มีคนดึงฉันออกมาและรีบพาฉันไปที่รถพยาบาล จนถึงทุกวันนี้พวกเขายังไม่พบหลานชายของฉันเลย”
การโจมตีครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 75 ราย รวมถึงฮัมซา (Hamza) พี่ชายชายวัย 14 ปีของดีมาด้วย ส่วนฮาเซม น้องชายของดีมากำลังเล่นฟุตบอลอยู่ข้างนอก และได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกันจากตึกถล่ม หลังจากฝุ่นจางลงและทีมกู้ภัยมาถึงที่เกิดเหตุ ดีมาและฮาเซมก็ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลอัล-ชิฟา (Al-Shifa hospital) ซึ่งทั้งคู่ได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
เนื่องจากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องในเมืองกาซาซิตี้ ทำให้ดีมา ฮาเซม และเอมาน (Eman) แม่ของพวกเขาต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอัล-ชิฟาเป็นเวลาหกเดือน กิน นอน และรับการดูแลอยู่ที่นั่นพร้อมด้วยชาวปาเลสไตน์อีกหลายพันคนที่ใช้โรงพยาบาลเป็นที่พักพิง
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 กองกำลังอิสราเอลปิดล้อมโรงพยาบาล ส่งผลให้ผู้คนหลายพันคนในนั้นต้องหลบหนี ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของการอพยพ ดีมาถูกแยกจากแม่และฮาเซม ซึ่งทั้งสองถูกบังคับให้ย้ายไปทางใต้ ในขณะเดียวกันดีมาสามารถกลับมาหาพ่อของเธอได้อีกครั้ง และอาศัยในโรงเรียนอัสมา (Asma School) ในเมืองกาซาซิตี้กับพ่อ ซึ่งพวกเขาพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 45 วัน
“พวกเราพักอยู่ในห้องเรียนที่มีคนประมาณ 50 ครอบครัว” ดีมา กล่าว “เราแทบไม่มีอาหารหรือน้ำ และไม่มีไฟฟ้าหรือแก๊ส ดังนั้นเราจึงต้องก่อไฟแทน ไหล่ของฉันหัก ขยับไม่ได้เลย ตอนนั้นฉันเดินแทบไม่ได้”
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ในที่สุดดีมาก็สามารถเดินทางไปทางใต้ของกาซาได้ ซึ่งดีมาได้พบกับแม่และฮาเซม ในเมืองราฟาห์ (Rafah) อีกครั้ง สัปดาห์ต่อมา พวกเขาได้รับการอพยพทางการแพทย์ โดยไปที่อียิปต์เป็นจุดแรก จากนั้นจึงถูกส่งไปยังโรงพยาบาลขององค์การฯ ในเมืองอัมมาน ซึ่งดีมาและฮาเซมได้รับการศัลยกรรมตกแต่ง กายภาพบำบัด และการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตต่อ
ดีมาบาดเจ็บที่กระดูกโคนขา ไหล่ขวาหัก และมีบาดแผลเปิดที่หน้าผาก ซึ่งเป็นผลมาจากการโจมตีทางอากาศที่บ้านของเธอ ในเมืองอัมมานดีมาให้ความร่วมมือกับทีมกายภาพบำบัดขององค์การฯ ทุกๆ วันเพื่อรักษาให้กระดูกที่ร้าวหายดีก่อนจะถอดอุปกรณ์ยึดภายนอกที่ขาออก อีกไม่นานเธอหวังว่าแขนขาของเธอจะกลับมาใช้งานได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง
“ฉันไม่สามารถขยับข้อเท้าหรือแขนได้เมื่อมาถึงจอร์แดน แต่การผ่าตัดและกายภาพบำบัดช่วยให้สามารถขยับอวัยวะทั้งสองได้อีกครั้ง” ดีมาอธิบาย “สำหรับฉันเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงอนาคต ตราบใดที่ยังมีสงครามในกาซา”
ผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อผู้บาดเจ็บจากสงครามกาซา
ทีมสุขภาพจิตขององค์การฯ ที่ทำการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลอัมมานได้ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนที่สงครามจะเริ่มขึ้น ชาวปาเลสไตน์ในกาซาต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าและความคับข้องใจ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการว่างงาน ความยากจน และอัตราการติดยาเสพติดที่สูง ตลอดจนความพิการและการถูกตัดแขนขาซึ่งเป็นผลจากสงครามครั้งก่อนๆ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม สุขภาพจิตของชาวกาซาก็ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกมาก
“ผู้ป่วยจำนวนมากที่อพยพมาจากกาซาไปยังโรงพยาบาลอัมมาน ไม่เพียงแต่ประสบกับโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญเท่านั้น (post-traumatic stress disorder) แต่ยังรวมถึงกลุ่มอาการความเครียดเฉียบพลันด้วย” (acute-stress syndrome) ดร.อาหมัด มาห์มูด อัล ซาเลม (Dr Ahmad Mahmoud Al Salem) จิตแพทย์ขององค์การฯ (MSF psychiatrist) ที่โรงพยาบาลในเมืองอัมมาน กล่าว “สถานการณ์นี้บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมักเผชิญกับฝันร้ายเรื่องต่างๆและคิดย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตมากมาย รวมถึงภาวะหดหู่ นอนไม่หลับ และปฏิเสธการมีอยู่ของความทรงจำ”
ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากในกาซาเห็นการทำลายล้างบ้านเรือนและครอบครัวของตนเองถูกสังหาร และหลายคนทนทุกข์กับอาการบาดเจ็บที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังคงรับรู้ถึงการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นี่ไม่ใช่การเจ็บป่วยปกติ นี่เป็นหายนะครั้งใหญ่และทุกข์ทรมาน จิตใจของพวกเขาไม่สามารถแบกรับความเครียดทั้งหมดนี้ได้ดร.อาหมัด มาห์มูด อัล ซาเลม จิตแพทย์
ทีมสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลขององค์การฯ เมืองอัมมานให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันด้วยการบำบัดแบบครบวงจร เด็ก ๆ จะได้รับการสนับสนุนด้านจิตบำบัดแบบตัวต่อตัว รวมถึงกิจกรรมด้านการศึกษาและกิจกรรมบำบัด (occupational therapy) เพื่อช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงศักยภาพของตนเองมากขึ้น กรณีที่รุนแรงกว่านั้นจะถูกส่งต่อไปยัง ดร. อัล ซาเลม เพื่อขอรับความช่วยเหลือด้านจิตเวชและการใช้ยารักษา
วัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อความเครียดเฉียบพลันและการบาดเจ็บที่เปลี่ยนแปลงชีวิตมากเป็นพิเศษ ดร. อัล ซาเลมกล่าว
“วัยรุ่นสามารถทนความทุกข์ความทรมานได้ เพราะพวกเขาเพิ่งเริ่มสร้างบุคลิกภาพและอัตลักษณ์ของตนเอง” ดร. อัล ซาเลม กล่าว “พวกเขาเริ่มเข้าใจจุดยืนของตนในโลกนี้ และถามตัวเองว่า ‘วันหนึ่งฉันจะสร้างประโยชน์อะไรได้ไหม ฉันจะเป็นคนน่าสนใจไหม ฉันจะหาเงินได้หรือไม่’”
ดร. อัล ซาเลม ระบุว่า ผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีบาดแผลร้ายแรงและบาดแผลที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจะต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตในระยะยาว เนื่องจากไม่เพียงแต่พวกเขาต้องการแรงสนับสนุนในการรับมือกับความทรงจำอันแสนเจ็บปวดและความบอบช้ำทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังต้องการความช่วยเหลือในการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับความพิการ
“เด็กๆ เหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือเพื่อสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจในตนเองขึ้นมาอีกครั้ง” ดร. อัล ซาเลม กล่าว “เราพยายามทำงานร่วมกับพวกเขาเพื่อเพิ่มศักยภาพในตนเองผ่านกิจกรรมบำบัด และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเติบโตและฟื้นตัวได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา”
การรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับผู้ป่วยชาวปาเลสไตน์รุ่นเยาว์ในโรงพยาบาลอัมมานในสังกัดองค์การฯแล้วนั้น อนาคตพวกเขายังคงมืดมนและไม่ชัดเจน ยังไม่มีสถานที่ใดในกาซาที่ปลอดภัย และแม้ว่าวันใดวันหนึ่งพวกเขาอาจจะสามารถเดินทางกลับกาซาได้แต่อนาคตก็มืดมัว ทุกคนสูญเสียสมาชิกในครอบครัว บ้านและโรงเรียน
ฮาเซมวัย 8 ขวบ เล่นของเล่นในโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเมืองอัมมาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเข้ารับการรักษาภายหลังจากบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศในกาซา - สิงหาคม 2567 © Moises Saman/Magnum Photos
ดีมาอยากกลับไปเรียนหนังสือและพบครอบครัวของเธอ แต่คงไม่สามารถทำได้จนกว่าสงครามจะสิ้นสุดลงและกาซาได้รับการฟื้นฟู
“ฉันแค่อยากกลับไปเรียนหนังสือและเรียนให้จบ และอยากเป็นวิศวกร” ดีมากล่าว “ฉันหวังว่ากาซาจะกลับมาเป็นเหมือนเมื่อก่อนได้ พวกเราไม่ต้องการละทิ้งถิ่นฐานหรือถูกผลักดันออกจากบ้านเกิด พวกเราแค่อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบก่อนเกิดสงครามก็เท่านั้น”
ห้าเดือนหลังจากเหตุโจมตีครั้งร้ายแรงที่บ้านของคารัม คารัมก็เดินได้อีกครั้ง เขาสามารถขยับแขนซ้ายได้ และสามารถลืมตาซ้ายได้ช้าๆ ถือเป็นการฟื้นตัวที่เกือบจะเป็นปาฏิหาริย์จากเดิมทีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำโรงพยาบาลอัลอักซอ คิดว่าคารัมเสียชีวิตแล้ว
วันนี้คารัมกำลังยิ้มขณะที่เขาปล่อยไม้ค้ำยันในแผนกกายภาพบำบัด และจับราวจับที่ขนานกันเพื่อทรงตัวก้าวเดินไปข้างหน้าสองสามก้าว ก่อนสงครามเกิดขึ้นคารัมอยากเป็นหมอฟันเหมือนทาเร็กพี่ชาย แต่จากอาการบาดเจ็บ คารัมไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้อยู่หรือไม่
“ผมกำลังค่อยๆ ทำไปทีละอย่าง” คารัม กล่าว “ถ้าสงครามยุติลง และตามประสงค์ของพระเจ้า พวกเราจะกลับไปกาซา ที่นั่นคือประเทศของผม เป็นที่ที่ผมใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อนของผมอยู่ที่นั่น แต่ตอนนี้ผมอยู่ที่นี่และอยากจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้