กาซา : สงครามเต็มรูปแบบของอิสราเอลต้องยุติ และพันธมิตรของอิสราเอลต้องยุติการสนับสนุน
ราชา มิสเบห์ (Rasha Misbeh) เป็นผู้พลัดถิ่นในพื้นที่อัล มาวาซี (Al Mawasi) เมืองข่าน ยูนิส (Khan Younis) พื้นที่กาซา เธอเรียกร้องให้มีการให้ความช่วยเหลือในส่วนของน้ำดื่มอย่างเร่งด่วน เนื่องจากบรรดาบุตรของเธอกำลังเผชิญกับโรคทางผิวหนัง "เด็กทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่มีเด็กคนไหนที่พ้นจากโรคติดต่อเหล่านี้" - ดินแดนปาเลสไตน์ สิงหาคม 2567 © Nour Daher
เยรูซาเลม (Jerusalem) 2 ตุลาคม 2567 - เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มแล้วที่อิสราเอล (Israel) ยังคงก่อการสังหารหมู่ในฉนวนกาซา (Gaza) ดินแดนปาเลสไตน์ (Palestine) อย่างไม่ลดละ นับตั้งแต่ที่กลุ่มฮามาส (Hamas) เริ่มต้นการกระทำอันโหดร้ายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 1,200 คน และจับตัวประกันอีกประมาณ 250 คน กองกำลังอิสราเอล (Israeli Forces) ได้ทำสงครามเต็มรูปแบบกับประชาชนในฉนวนกาซา คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 41,500 คน (แหล่งที่มา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ The United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs - OCHA) และบาดเจ็บกว่า 96,000 คน ผู้คนจำต้องพลัดถิ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและถูกบังคับให้เข้าไปอาศัยในเขตแดนที่เล็กลงเรื่อยๆ ท่ามกลางการโจมตีด้วยระเบิดและสถานการณ์ที่ไร้มนุษยธรรมที่มากขึ้น
เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่อิสราเอล กลุ่มฮามาส และพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงถาวร (Sustained Ceasefire) ในฉนวนกาซา ขณะที่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่ใหญ่หลวงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อิสราเอลต้องหยุดการสังหารพลเรือนในฉนวนกาซาโดยไม่เลือกเป้าหมายทันที และส่งมอบความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ภายในฉนวนกาซาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเปิดจุดผ่านแดนที่สำคัญอีกครั้งตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ออกคำสั่ง
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ให้การรักษาผู้ป่วยจากบาดแผลระเบิดรุนแรง ผู้บาดเจ็บมีแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง กระดูกหัก และแขนขาขาด นับตั้งแต่เกิดสงคราม องค์การฯ รักษาผู้ป่วยกว่า 27,500 รายจากอาการบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรง โดยมากกว่าร้อยละ 80 ของบาดแผลมาจากการถล่มด้วยอาวุธสงครามชนิดหนัก
ภาพตึกในพื้นที่อัล ซิฟา (Al-Shifa) ที่ถูกทำลายจากมุมสูงช่วงเดือนมิถุนายน 2567 โดยพื้นที่นี้อยู่ห่างจากคลินิกทำการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเมืองกาซาซิตี้ไม่ไกลนัก ความเสียหายที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ © MSF
การโจมตีด้วยระเบิดของอิสราเอลในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นทำให้ผู้คนบาดเจ็บเป็นจำนวนมากซ้ำแล้วซ้ำเล่า องค์การฯ ถูกบีบบังคับให้ทำการผ่าตัดโดยไม่ใช้ยาสลบ เจ้าหน้าที่องค์การฯ เห็นเด็กเสียชีวิตต่อหน้าต่อหน้าบนพื้นโรงพยาบาลเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งต้องรักษาเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาเองใต้บริบทการรักษาแบบเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ระบบสาธารณสุขในฉนวนกาซาก็พังทลายทั้งหมดจากน้ำมือของกองกำลังอิสราเอลพญ. แอมเบอร์ อาเลย์ยาน ผู้จัดการโครงการ
องค์การฯ ช่วยรักษาชีวิตผู้คนที่ได้รับผลกระทบหลังการยึดครอง การปิดล้อม และการโจมตีในฉนวนกาซาที่ยาวนานถึง 17 ปีจากฝั่งอิสราเอล รวมถึงรักษาผู้ป่วยจากการบาดเจ็บเรื้อรัง สุขภาพจิต และแผลไหม้อย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 7 ตุลาคม นับตั้งแต่นั้นมาแม้ความต้องการรับความช่วยเหลือหลังจากอิสราเอลถล่มฉนวนกาซาจะเพิ่มขึ้นแค่ไหนก็ตาม แต่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็ลดลงเหลือเพียงเศษเสี้ยว
ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลเพียง 17 แห่งจาก 36 แห่งที่เปิดให้บริการได้บางส่วน (แหล่งที่มา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ The United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs - OCHA) ฝ่ายคู่สงครามเปิดการโจมตีใกล้กับสถานพยาบาล เป็นภัยคุกคามชีวิตผู้ป่วย ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่องค์การฯ 6 คนถูกสังหารเช่นกัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยขององค์การฯ จำเป็นต้องอพยพออกจากสถานพยาบาลต่างๆ 14 แห่ง เนื่องจากเหตุการณ์ร้ายแรงและการสู้รบที่ดำเนินอยู่ แต่ละครั้งที่มีการอพยพออกจากสถานพยาบาล ผู้คนหลายพันคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งผลต่อสุขภาพในช่วงสั้นๆ หากแต่มีผลต่อการรักษาในระยะยาวเช่นเดียวกัน
ภายในโรงพยาบาลอัล นาสเซอร์ (Al Nasser) พื้นที่กาซา แผนกผดุงครรภ์ดำเนินการคลอดบุตรอย่างปลอดภัยราว 25-30 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนสงครามเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถานพยาบาลแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานพยาบาลที่เหลือไม่กี่แห่งในพื้นที่ทางตอนใต้ของกาซาที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ - ดินแดนปาเลสไตน์ มิถุนายน 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF
เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลอัล นาสเซอร์ (Al Nasser) ทำความสะอาดเครื่องมืออย่างตั้งใจเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดสถานพยาบาลอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการในครั้งนี้เช่นกัน ภายหลังจากการซ่อมแซมเป็นเวลากว่า 6 สัปดาห์ ตอนนี้โรงพยาบาลกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง และเป็นเพียงสถานพยาบาลไม่กี่แห่งในกาซาที่ยังสามารถในการดูแลในระดับการบริการตติยภูมิได้ - ดินแดนปาเลสไตน์ มิถุนายน 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF
การไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้นยังมีสาเหตุจากการขาดแคลนสิ่งของบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ทางการอิสราเอลมักกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุมัติการนำเข้าสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ไม่ชัดเจนและคาดเดาไม่ได้ สิ่งของบรรเทาทุกข์เมื่อลำเลียงเข้าไปในฉนวนกาซามักจะไม่ถึงจุดหมายปลายทางอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากถนนหนทางอันตรายและยากที่จะเข้าถึง มีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง และการปล้นสะดมอาหารและสิ่งของจำเป็นพื้นฐาน
ในขณะที่ความต้องการทางการแพทย์ในฉนวนกาซาเพิ่มขึ้น ความสามารถในการตอบสนองขององค์การฯ ยังคงมีจำกัด องค์การฯ ไม่สามารถจัดหาสิ่งของด้านมนุษยธรรมและอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปในฉนวนกาซาได้เพียงพอ โรงพยาบาลสนามที่องค์การฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายนั้นเปรียบเสมือนผ้าพันแผลชิ้นเล็กที่ใช้บรรเทาทุกข์จากความพินาศที่เกิดจากสงครามและการทำลายระบบสาธารณสุข แม้แต่การตั้งโรงพยาบาลสนามยังถูกขัดขวางและทำให้ล่าช้าจากการที่องค์การฯ ถูกจำกัดการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ ดังนั้นสถานพยาบาลที่ยังเปิดให้บริการอยู่จึงไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่มากล้นได้พญ. แอมเบอร์ อาเลย์ยาน ผู้จัดการโครงการ
เนื่องจากความพร้อมในการรักษาพยาบาลลดน้อยลง ประชาชนจึงยังคงแสวงหาการรักษาพยาบาลที่ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งในฉนวนกาซา คำสั่งอพยพซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ประชาชนร้อยละ 90 ต้องพลัดถิ่นไปอยู่ในเขตปลอดภัย (Safe Zone) อย่างไรก็ตามอิสราเอลยังคงทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประชาชนถูกผลักดันให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ ขนาด 41 ตารางกิโลเมตร (แหล่งที่มา สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ The United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs - OCHA) โดยมีที่พักพิง อาหาร และน้ำจำกัด มีความเสี่ยงการติดโรคเพิ่มขึ้นจากความเป็นอยู่ที่แออัดยัดเยียด จากประชากรสองล้านคนในฉนวนกาซา มีผู้ป่วยอย่างน้อย 12,000 คน จำเป็นต้องอพยพออกจากฉนวนกาซาด้วยเหตุผลทางทางการแพทย์ (แหล่งที่มา องค์การอนามัยโลก World Health Organization - WHO)
การอพยพผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์และตามสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการออกจากฉนวนกาซาเพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว จะต้องได้รับการปฏิบัติในทันทีโดยปราศจากเงื่อนไขที่กระทบสิทธิในการกลับมายังฉนวนกาซาอีกครั้งของพวกเขา
ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการทำลายล้าง และมีการเพิกเฉยที่น่าละอายเกิดขึ้นเช่นกัน
เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่พันธมิตรของอิสราเอลยังคงให้การสนับสนุนทางทหาร ในขณะที่เด็กถูกสังหารหมู่ รถถังยิงใส่ศูนย์พักพิงที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงนี้ เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดใส่เขตมนุษยธรรม (Humanitarian Zone) ความโหดร้ายนี้ยังเป็นผลมาจากการลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วยกันเองในฉนวนกาซาที่รับรู้โดยสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความล้มเหลวในการแยกแยะระหว่างเป้าหมายการโจมตีทางทหารและชีวิตพลเรือน วิธีเดียวที่จะหยุดการสังหารได้คือการหยุดยิงทันทีและถาวรคริส ล็อคเยียร์ เลขาธิการทั่วไป
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่อุดมการณ์ทางการเมืองมาก่อนชีวิตมนุษย์ แม้ว่าพันธมิตรของอิสราเอลจะแถลงต่อสาธารณชนถึงความสำคัญของการหยุดยิงและเปิดทางให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าถึงฉนวนกาซา แต่พวกเขาก็ยังคงจัดหาอาวุธให้กับอิสราเอลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีการสนับสนุนการเรียกร้องให้การหยุดยิงเกิดขึ้นแต่ก็มักจะพยายามปกปิด ขัดขวาง และบ่อนทำลายความพยายามหยุดยิงผ่านผู้แทนของสหรัฐฯ ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Security Council)
ขณะเดียวกัน สงครามในฉนวนกาซากำลังกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นมากในภูมิภาค กองทัพอิสราเอลโจมตีเขตเวสต์แบงก์ (Westbank) เพิ่มขึ้น และล่าสุดคือในพื้นที่เลบานอน (Lebanon) ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือนแล้วเช่นกัน
ข้อเรียกร้องขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน
- เริ่มข้อตกลงการหยุดยิงถาวรทันที
- ต้องยุติการสังหารหมู่พลเรือนทันที
- ต้องยุติการทำลายระบบสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน
- ต้องยุติการปิดล้อมฉนวนกาซา
- อิสราเอลต้องเปิดพรมแดนทางบกจุดสำคัญ รวมถึงเขตผ่านแดนราฟาห์ (Rafah Crossing) เพื่อให้มั่นใจว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่มีความต้องการมากขึ้นสามารถเข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างเร่งด่วน
- อิสราเอลต้องจัดให้มีการอพยพผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง รวมถึงผู้ดูแล และอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการหาที่อยู่ที่ปลอดภัยเพื่ออาศัยในต่างประเทศสามารถขออพยพได้ และต้องรับประกันว่าทุกคนจะได้รับการรับรองให้สามารถกลับมายังฉนวนกาซาได้อีกภายหลังอย่างปลอดภัย สมัครใจ และมีเกียรติ
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในฐานะผู้ธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการหยุดยิงและยุติความหลงและพึงใจต่อสถานการณ์การทำลายฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้