Skip to main content

    เวสต์แบงก์: เมื่อการรุกรานของอิสราเอลส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

    A house in Jenin camp damaged multiple times by Israeli forces during their violent military incursions

    บ้านเรือนภายในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยเจนินได้รับความเสียหายซ้ำหลายครั้ง จากกองทัพอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงระหว่างการรุกรานเข้าไปในพื้นที่ และยังมีการใช้รถแทรกเตอร์ระหว่างการโจมตีในช่วงวันที่ 21-23 พฤษภาคม - ดินแดนปาเลสไตน์ พฤษภาคม 2567 © Oday Alshobaki/MSF

    การรุกรานจากฝั่งอิสราเอลที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 28 สิงหาคม ส่งผลให้ถนน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและการประปาได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งกระทบกับความสามารถขององค์การฯ ในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในเมืองเจนิน (Jenin) และทูลคาร์ม (Tulkarm)

    การเข้าถึงการรักษาพยาบาลในเมืองทูลคาร์มและค่ายผู้ลี้ภัยของเมืองมีจำกัด อีกทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานนั้นมหาศาล การเข้าถึงตัวผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือแทบเป็นไปไม่ได้เลย การรุกรานเกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ผู้คนไม่สามารถเตรียมตัวได้ นอกจากนี้ บรรดาคุณแม่บอกกับพวกเราว่าไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับลูกของพวกเธอ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในกับดักและถูกโดดเดี่ยวในเวลาเดียวกัน
    เจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน

    เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ถูกควบคุมความเคลื่อนไหวและจำกัดความสามารถในการเข้าช่วยเหลือผู้คนโดยตรง คาโรไลน์ วิเลเมน (Caroline Willemen) ผู้ประสานงานโครงการขององค์การฯ กล่าว พวกเราทำได้เพียงให้การช่วยเหลือเบื้องต้นทางด้านจิตวิทยาในเมืองทูลคาร์ม และส่งต่อสิ่งของ (อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ นมสำหรับทารก และผ้าอ้อม) ในเมืองเจนิน

    การรุกรานเหล่านี้ต้องหมดไป เพื่อให้การเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพอย่างไร้อุปสรรคกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด

    กองทัพอิสราเอลได้ปิดทางเข้าออกของเมืองเฮบรอน (Hebron) ทำให้ทีมขององค์การฯ ไม่สามารถเปิดคลินิกเคลื่อนที่และสนับสนุนแผนกคลอดบุตรขององค์การฯ ที่ตั้งอยู่นอกเมืองได้ ส่วนคลินิกที่ตั้งอยู่ในเมืองยังเปิดให้บริการอยู่ แต่ผู้คนรายงานว่าการปิดกั้นทางเข้าออกและความรู้สึกที่ปราศจากความปลอดภัยทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการักษาได้

    ในเมืองเจนินและทูลคาร์ม รถพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ถูกโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเสียหายกระทบบริการทางการแพทย์อย่างหนัก หลังจากการรุกรานเป็นเวลา 8 วัน การต้องการความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภายในค่ายผู้ลี้ภัย นี่คือสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมมากขึ้น

    รถหุ้มเกราะของกองทัพอิสราเอลจอดประจำการอยู่ทางเข้าโรงพยาบาลคาลิล สุไลมาน (Khalil Suleiman) เมืองเจนิน ซึ่งองค์การฯ สนับสนุนการดำเนินงานอยู่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลปฏิบัติงานกันอย่างยากลำบากเพื่อให้มีบริการแก่ผู้คนท่ามกลางการขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำวิเลเมนกล่าว

    นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์อาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมโดยองค์การฯ ได้อธิบายถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บในขณะที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยในค่ายในทูลคาร์มอยู่ “แม้ว่าฉันจะสวมชุดแพทย์อยู่ก็ตาม ฉันถูกโจมตีด้วยอาวุธทางอากาศ และได้รับบาดเจ็บเหนือตาและมีบาดแผลจากเศษกระสุน”

    นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรบจากองค์การฯ อีกรายหนึ่ง อธิบายว่าทหารอิสราเอลบุกเข้าไปในบ้านและข่มขู่เขาอย่างไรบ้าง กองทัพอิสราเอลพังประตูบ้านของฉันเข้ามา ฉันยืนยันไปหลายครั้งว่าฉันเป็นอาสาสมัครขององค์กรทางการแพทย์ แต่พวกเขากลับลากฉันออกมา ตะเข้าที่หลังก่อนจ่ออาวุธเข้าที่ศีรษะของฉัน

    การรุกรานครั้งล่าสุดในเวสต์แบงก์เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2545 จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 5 กันยายน ชาวปาเลสไตน์ 29 คนถูกสังหาร และตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมเป็นต้นมา มีผู้บาดเจ็บอีก 140 คน การโจมตีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการขยายวงความรุนแรงที่เลวร้ายลงกว่าเดิม ตั้งแต่การเริ่มต้นของสงครามในกาซา (Gaza) โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์มากกว่า 652 คนถูกสังหาร

    องค์การฯ เรียกร้องให้มีการปกป้องพลเรือน บุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทุกวิถีทาง ในฐานะผู้ถืออำนาจการปกครอง ทางการอิสราเอลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้หลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพื่อรับประกันการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพและการบริการอื่นๆ ที่จำเป็นโดยไร้เงื่อนไขในเวสต์แบงก์