กาซา: เมื่อคำสั่งอพยพและการโจมตีโรงพยาบาลส่งผลกระทบต่อทางเลือกในการรักษา
ในเดือนธันวาคม 2566 องค์การฯ ได้ตั้งคลินิกขึ้นภายในโรงพยาบาลสนามราฟาห์ อินโดนีเซียน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา ประกอบไปด้วยการบริการในส่วนของแผนกผู้ป่วยนอกและเตียงผู้ป่วย 30 เตียง ให้การดูแลหลังการผ่าตัดแก่ผู้ป่วยที่พลัดถิ่นจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยสำหรับรับรองการทำงานทางการแพทย์ในห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลอื่น - ดินแดนปาเลสไตน์ ธันวาคม 2566 © MSF
เยรูซาเลม 12 มกราคม 2567 - ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา (นับตั้งแต่การโจมตีครั้งแรกในเดือนตุลาคม) การดำเนินปฏิบัติการโจมตีในทุกพื้นที่ของกาซาของกองทัพอิสราเอลได้ลดทางเลือกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างเห็นได้ชัด ณ เวลานี้ มันแทบไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานสำหรับองค์กรที่ให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชนอีกแล้ว คำสั่งอพยพและการโจมตีสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่องบีบให้องค์การหลายแห่ง รวมถึงองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ต้องอพยพออกจากโรงพยาบาลและทิ้งผู้ป่วยไว้ข้างหลัง
“พวกเราถูกต้อนให้เคลื่อนตัวหลบเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกาซาทีละน้อย ในเมืองราฟาห์ (Rafah) การเข้าถึงการรักษาพยาบาลในยามวิกฤติมีทางเลือกที่น้อยลงไปทุกที สวนทางกับความต้องการในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” โทมัส เลาวิน (Thomas Lauvin) ผู้ประสานงานโครงการขององค์การฯ ในกาซากล่าว
ระหว่างที่การโจมตีภายในกาซารุกคืบ องค์การฯ ต้องเคลื่อนย้ายสถานพยาบาลหลายแห่งทางตอนเหนือและตอนกลางของพื้นที่ ทุกวันนี้องค์การฯ มีพื้นที่การทำงานจำกัดอยู่เพียงทางตอนใต้ของพื้นที่ เนื่องจากองค์การฯ ไม่สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่อื่นได้ ตัวเลขของโรงพยาบาลที่ยังดำเนินการอยู่น้อยลงไปทุกที เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ถูกบีบให้ทิ้งผู้ป่วยเอาไว้ข้างหลังโทมัส เลาวิน ผู้ประสานงานโครงการ
ระบบบริการสุขภาพในกาซาล่มสลายแทบทั้งหมด องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) รายงานว่า มีโรงพยาบาลในกาซาเพียง 13 แห่งจากทั้งหมด 36 แห่งที่ยังเปิดให้บริการบางส่วนได้ โดย 9 แห่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ และอีก 4 แห่งอยู่ทางตอนเหนือ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของกาซา 2 แห่งกำลังดำเนินการโดยมีตัวเลขผู้ป่วยมากกว่าความสามารถในการรับมือถึง 3 เท่า รวมถึงขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานและเชื้อเพลิง
ในวันที่ 6 มกราคม หน่วยปฏิบัติงานขององค์การฯ ถูกบังคับให้อพยพออกจากโรงพยาบาลอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ขององค์การต้องเคลื่อนตัวออกจากโรงพยาบาลอัล อักซอ (Al-Aqsa) ทางตอนกลางของพื้นที่ หลังจากที่กองทัพอิสราเอลออกคำสั่งอพยพไปยังกลุ่มผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงพยาบาล การบังคับให้อพยพส่งผลต่อการเข้าถึงร้านยาขององค์การฯ เอง และสิ่งนี้ฉายภาพการดำเนินการทางการแพทย์ที่ยากลำบากในพื้นที่
“การทิ้งคนไข้และเคลื่อนตัวออกจากโรงพยาบาลอัล อักซอนับเป็นการตัดสินใจที่ขมขื่นและมันเป็นทางเลือกสุดท้ายในการทำงานขององค์การฯ” เอนริโก วัลลาเปอร์ตา (Enrico Vallaperta) เจ้าหน้าที่โครงการด้านการแพทย์ในกาซากล่าว “การโจมตีด้วยโดรน การซุ่มยิง และการโจมตีด้วยระเบิดบริเวณใกล้เคียงของโรงพยาบาลทำให้องค์การฯ ไมมีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ไม่มีความแน่นอนทำให้องค์การฯ สัมผัสถึงความรู้สึกว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย มันแทบไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการรักษาพยาบาลสำหรับประชาชน”
พยาบาลกำลังเปลี่ยนผ้าพันแผลและทำการรักษาบาดแผลภายในห้องทำแผลของคลินิกอัล ชาบูรา ในเมืองราฟาห์ - กาซา ดินแดนปาเลสไตน์ ธันวาคม 2566 © MSF
สถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบจากกองทัพอิสราเอลครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงได้รับคำสั่งให้อพยพจากหลายเขตพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนเหนือของกาซา ภัยอันตรายเหล่านี้ส่งผลให้การเข้าถึงและการจัดบริการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลหลายแห่งที่องค์การฯ ทำงานร่วมด้วยต้องเผชิญกับสถานการณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การอพยพออกจากโรงพยาบาลอินโดนีเซียน (Indonesian hospital) ทางตอนเหนือของกาซาในเดือนตุลาคม การโจมตีและการบังคับให้อพยพเจ้าหน้าที่ออกจากโรงพยาบาลอัล ซิฟา (Al-Shifa) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในกาซาในเดือนพฤศจิกายน และการโจมตีโรงพยาบาลอัล อาวดา (Al-Awda) อันนำไปสู่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 3 ราย โดย 2 รายเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ สำหรับโรงพยาบาลอัล อาวดา ทางองค์การฯ ได้จับมือเพื่อร่วมปฏิบัติงานทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2561
ณ เวลานี้ รูปแบบการโจมตีและคำสั่งกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งกับพื้นที่ทางตอนใต้ ซึ่งพื้นที่นี้กำลังรองรับผู้พักพิงมากกว่าช่วงเวลาก่อนเกิดสงครามมากถึง 5 เท่าตัว ขณะที่สถานพยาบาลสำหรับประชาชนกำลังน้อยลงไปทุกที
ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566 ทางตอนใต้ของกาซากลายเป็นเป้าการโจมตีด้วยระเบิดอย่างรุนแรง นำไปสู่สถานการณ์ที่ความต้องการการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน การผ่าตัด และการดูแลภายหลังผ่าตัดมีปริมาณเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่ลดลงส่งผลต่อการการรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและเพียงพอ รวมถึงการดูแลที่ถูกหลักสุขวิทยา และสิ่งเหล่านี้เป็นผลให้เกิดตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น และการปฏิบัติงานทางการแพทย์ตกอยู่ใต้ข้อจำกัด นอกจากประเด็นเรื่องอาการบาดเจ็บขั้นวิกฤติ ผู้หญิงที่เข้ารับการผ่าคลอดจะต้องส่งตัวออกจากการเฝ้าดูแลในเวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมง เพื่อรองรับสตรีตั้งครรภ์รายอื่น โดยบางรายเลือกที่จะไม่เข้ารับการผ่าคลอดแล้วใช้วิธีคลอดธรรมชาติภายในเต็นท์พยาบาล
ผู้จัดการด้านกิจกรรมทางการแพทย์กำลังพูดคุยกับผู้ป่วยในคลินิกอัล ชาบูรา ในเมืองราฟาห์ - ดินแดนปาเลสไตน์ ธันวาคม 2566 © Mohammad Abed
องค์การฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการรักษาพยาบาลในกาซาต่อไป และเรียกร้องให้มีการคุ้มครองโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และผู้ป่วย ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ กำลังปฏิบัติงานด้านการดูแลมารดาก่อนคลอดและหลังคลอดในโรงพยาบาลเอมิเรตส์ (Emirati) บริเวณราฟาห์ เป็นส่วนสนับสนุนงานกายภาพบำบัดและการดูแลภายหลังจากการผ่าตัดในโรงพยาบาลสนามราฟาห์ อินโดนีเซียน (Rafah Indonesian field hospital) สำหรับชาวกาซา และให้คำปรึกษาในส่วนของบริการสาธารณสุขมูลฐาน การดูแลแผล และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่คลินิกอัล ชาบูรา (Al-Shaboura) ในราฟาห์
องค์การฯ กำลังสนับสนุนการทำงานภายในโรงพยาบาลยูโรเปียน กาซา (European Gaza) ด้านการผ่าตัดเล็กและพยาบาลหน่วยย่อยขององค์การฯ กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยด้านการดูแลรักษาบาดแผล ในส่วนของทางตอนเหลือของกาซาอย่างโรงพยาบาลอัล อาวดา และโรงพยาบาลนาสเซอร์ (Nasser) ในเมืองข่าน ยูนิส (Khan Younis) เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ กำลังปฏิบัติงานใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงกำลังเผชิญสภาวะขาดแคลนอาหารและเวชภัณฑ์เนื่องจากการโจมตีทางอากาศและการสู้รบในบริเวณใกล้เคียง
องค์การฯ ย้ำข้อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันที เพื่อรักษาชีวิตของพลเรือนและเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ รวมถึงการฟื้นระบบสาธารณสุขเพื่อความอยู่รอดของประชากรในกาซา
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้