Skip to main content

    รายงานประจำปี 2566

    People are crossing the Darién jungle, which connects Colombia with Panama

    ทุก 24 ชั่วโมงตลอดเดือนสิงหาคม มีผู้คนราว 2,000-3,000 รายเดินทางข้ามป่าดาริเอน (Darién) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมระหว่างประเทศโคลอมเบียไปยังปานามา - ปานามา สิงหาคม 2566 © Natalia Romero Peñuela/MSF

    ในปี 2566 ประชาชนทั่วโลกตกอยู่ใต้ความทุกข์ทรมานและสถานการณ์ที่เปราะบางจากเหตุความขัดแย้งนำไปสู่ตัวเลขการสูญเสียหลายพันชีวิตและผู้พลัดถิ่นอีกจำนวนมาก การช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ได้ดำเนินงานในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้พวกเรายังได้ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดภัยพิบัติและโรคระบาด อีกทั้งยังปรับปรุงระบบสุขภาพสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และกลุ่มคนชายขอบ

    ผลลัพธ์อันเลวร้ายของสงครามต่อชีวิตผู้คน

    ในช่วงกลางเดือนเมษายน เมื่อสงครามระหว่างกองทัพซูดานและกลุ่มสนับสนุนกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ได้ปะทุขึ้นอย่างกะทันหันในซูดาน ทีมงานขององค์การฯ ได้ตั้งรับสำหรับสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดในเมืองหลวงอย่างคาร์ทูม (Khartoum) และกระจายตัวเป็นวงกว้างทั่วประเทศ

    ผลของการต่อสู้ดังกล่าวกระทบผู้คนกว่า 8.5 ล้านคนที่กลายเป็นคนพลัดถิ่น โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในซูดานแต่มีผู้คนอีกกว่า 1.8 ล้านคนที่ต้องหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ชาด (chad) เซาท์ซูดาน (South Sudan) และเอธิโอเปีย (Ethiopia) สงครามในซูดานไม่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วโลกและบางครั้งแทบไม่ปรากฏการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากองค์กรอื่น โดยบางพื้นที่ องค์การฯ เป็นเพียงองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศแห่งเดียวที่ดำเนินงานอยู่

    การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้พลัดถิ่นจากเหตุสงครามคือความท้าทายอย่างแท้จริง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขัดขวางการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญไปยังพื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมของกลุ่มกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว บีบบังคับให้กิจกรรมบางอย่างที่องค์การฯ ดำเนินการปฏิบัติงานในสถานพยาบาลบางแห่งต้องหยุดชะงัก รวมไปถึงการผ่าตัดที่โรงพยาบาลบาแชร์ (Bashair) ในคาร์ทูม การขออนุมัติวีซ่าสำหรับทีมงานนานาชาติเพื่อเดินทางเข้ามาช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานชาวซูดานที่เหนื่อยล้าเต็มไปด้วยความยากลำบาก ในช่วงสิ้นปี ผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ในซูดานต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาล อาหาร และน้ำอุปโภคบริโภค ในขณะที่ผู้คนที่ได้ข้ามพรมแดนออกนอกประเทศยังต้องพบกับสภาพความเป็นอยู่อันเลวร้ายในค่ายผู้ลี้ภัย หน่วยงานขององค์การฯ ในชาดและเซาท์ซูดานได้รักษาผู้ลี้ภัยชาวซูดานที่ได้รับบาดเจ็บนับพันราย ไม่ว่าจากเหตุการณ์ความรุนแรงและการข่มขืน รวมถึงตรวจพบโรคติดเชื้อได้จากสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในค่ายผู้ลี้ภัย

    An aerial view shows black smoke drifting across Khartoum following the fighting and violence that erupted between the army and paramilitary forces in mid-April. Khartoum, Sudan, May 2023. © Atsuhiko Ochia/MSF

    ภาพมุมสูงที่บันทึกการต่อสู้และความรุนแรงในเมืองคาร์ทูม - ซูดาน พฤษภาคม 2566 © Atsuhiko Ochiai/MSF

    เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปกครองกาซา (Gaza) ดินแดนปาเลสไตน์ ก่อเหตุสังหารหมู่ในพื้นที่อิสราเอล คร่าชีวิตผู้คนไปราว 1,200 คน และจับผู้คนราว 250 คนเป็นตัวประกัน อิสราเอลได้ประกาศสงครามกับกลุ่มฮามาสและเริ่มทิ้งระเบิดในกาซา นับตั้งแต่นั้นมา กองทัพอิสราเอลได้ระดมยิงและโจมตีพื้นที่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนอย่างไม่ลดละ อิสราเอลยังได้ทำการปิดล้อมพื้นที่ ตัดขาดการจ่ายน้ำ อาหาร และเสบียงที่สำคัญประเภทอื่น ผู้คนหลายพันถูกสังหาร มีการคาดว่าพลเมืองกาซากว่า 1.7 ล้านชีวิตถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นฐานและอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและอันตรายต่อสุขภาพ โดยประชากร 1.5 ล้านคนถูกบีบบังคับให้เดินทางร่นเข้าไปยังเมืองราฟาห์ (Rafah) ติดกับชายแดนของอียิปต์ (แหล่งข้อมูล UNRWA)

    สถานพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุยิงและการรุกราน และ/หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า สถานพยาบาลบางแห่งที่ยังคงดำเนินการต่อได้พบปัญหากับจำนวนผู้ป่วยที่ล้นทะลักเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ปฏิบัติงานเพียงน้อยนิดและแทบจะไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อมสำหรับการใช้งาน โครงสร้างพื้นฐานของระบบสุขภาพและบุคลากร รวมถึงจุดให้บริการทางการแพทย์ขององค์การฯ ถูกโจมตีทางอากาศหรือกระสุนปืนเป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ผู้ปฏิบัติงานขององค์การฯ 5 รายถูกสังหารในกาซา องค์การฯ ขอไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียของ โมฮัมเหม็ด อัล (Mohammed Al Ahel) อาเฮล อะลา อัล ชาวา (Alaa Al Shawa)ดร. มาห์มูด อาบู นูไจลา (Dr Mahmoud Abu Nujaila) ดร.อาเหม็ด อัล ซาฮาร์ (Dr Ahmad Al Sahar)และ รีม อาบู เลบเดห์ (Reem Abu Lebdeh)

    แม้จะยกอยู่ใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่องค์การฯ ยังพยายามการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อไปได้ ต่อให้อุปกรณ์การทำงานมีอยู่จำกัดและพื้นที่สำหรับให้บริการดูแลอย่างปลอดภัยก็ลดน้อยลง สงครามยังได้ส่งผลกระทบในเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ซึ่งปรากฏเหตุความรุนแรงที่เชื่อมโยงกับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลมากขึ้น โดยองค์การฯ ได้สนับสนุนด้านการดูแลรักษาด้านจิตใจและดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ

    MSF medical staff treat wounded people at 2am in Jenin hospital, following an Israeli forces incursion on Jenin refugee camp. Jenin, West Bank, Palestine, 27 October 2023. © Faris Al-Jawad/MSF

    เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนรักษาผู้บาดเจ็บในช่วงเวลาตีสอง ภายหลังจากที่กองทัพอิสราเอลบุกเข้าไปยังค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน - เวสต์แบงก์ ดินแดนปาเลสไตน์ 27 ตุลาคม 2566 © Faris Al-Jawad/MSF

    ช่วงปลายเดือนตุลาคม ปรากฏเหตุความขัดแย้งที่สูงขึ้นในเมียนมา (Myanmar) ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมฉับพลัน ผู้คนนับพันกลายเป็นผู้พลัดถิ่น สถานพยาบาลหลายแห่งหยุดให้บริการหลังการโจมตีและคำสั่งอพยพ แม้ว่าการทำงานขององค์การฯ จะตกอยู่ใต้ความไม่ปลอดภัยและถูกจำกัดการเข้าถึง ทีมงานยังได้ช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นในทางตอนเหนือของรัฐฉาน (Shan) และยะไข่ (Rakhine) ผ่านทางคลินิกเคลื่อนที่ แม้ว่าองค์การฯ ถูกบังคับให้ยุติการปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว เรายังคงช่วยเหลือผ่านทางผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพของชุมชนและการให้คำปรึกษาทางไกลต่อไป

    ในขณะเดียวกัน องค์การฯ ได้ทำการแก้ไขปัญหาความต้องการทางแพทย์และโภชนาการอันมโหฬาร และช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในเขตอัมฮารา (Amhara) ประเทศเอธิโอเปีย สำหรับสงครามยูเครนที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง องค์การฯ ได้มุ่งเน้นการให้บริการในส่วนของรถพยาบาลและให้การรักษาอาการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การผ่าตัด กายภาพบำบัด และการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

    บริการทางการแพทย์ท่ามกลางความรุนแรงแสนยาวนาน

    มีอีกหลายความขัดแย้งที่ถูกหลงลืม ในปี 2566 พลเรือนสาธารณรัฐคองโก (Democratic Republic of Congo) ยังคงเผชิญกับความความรุนแรงแสนโหดร้ายจากกลุ่ม M23 และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ทั่วทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้คนหลายล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น บางคนต้องโยกย้ายถิ่นฐานหลายครั้งในพื้นที่จังหวัดคีวูเหนือ (North Kivu) คีวูใต้ (South Kivu) อิตูรี (Ituri) หรือถูกบีบให้ข้ามพรมแดนไปยังประเทศยูกันดา (Uganda) และรวันดา (Rwanda) จากเหตุการณ์ต่อสู้ของกลุ่ม M23 และ กองทัพ DRC องค์การฯ ส่งต่อการดูแลรักษากับผู้คนที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิต รวมถึงผู้ป่วยจากการบาดเจ็บที่เกิดจากสงครามและเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศ

    View of Rusayo displacement site, a dozen kilometers outside Goma, the provincial capital of North Kivu, DRC.

    ภาพของจุดรับรองผู้พลัดถิ่นรูซาโย (Rusayo) ที่ห่างจากเมืองหลวงของเขตคีวูเหนืออย่างเมืองโกมา (Goma) ราว 10 กิโลเมตร โดยมีผู้คนราว 85,000 ชีวิตต้องลี้ภัย - สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมษายน 2566 © Michel Lunanga/MSF

    การใช้ระเบิดยังคงขึ้นเกิดต่อเนื่องในเขตปอร์โตแปรงซ์ (Port-au-Prince) เมืองหลวงของประเทศเฮติ (Haiti) ในปี 2566 การต่อสู้ระหว่างกลุ่มติดอาวุธด้วยกันเองหรือระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแย่งชิงการควบคุมพื้นที่โดยรอบของเมืองเกิดขึ้น มีผู้คนถูกลักพาตัวและจับเรียกค่าไถ่อย่างต่อเนื่อง หรือบางรายถูกยิงบนท้องถนน ความไม่มั่นคงดังกล่าวลดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนและความสามารถขององค์การฯ ในการส่งต่อการช่วยเหลือ บางครั้งมันอันตรายเกินไปสำหรับผู้ปฏิบัติงานในการเดินทางไปทำงาน และกิจกรรมขององค์การฯ หยุดชะงักหลายครั้งตลอดทั้งปี หรือจำเป็นต้องปิดหน่วยบริการและการให้บริการ หน่วยบริการของเราในทาบาร์เร (Tabarre) และเทอร์กู (Turgeau) ได้หยุดกิจกรรมทั้งหมดในปีนี้ เนื่องจากผู้ป่วยในความดูแลขององค์การฯ ทั้งหมดถูกกลุ่มติดอาวุธบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ อาทิ ผู้ป่วยที่อยู่ในห้องผ่าตัด นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกรายถูกฉุดจากบนรถพยาบาลและสังหารบนท้องถนน

    กองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธยังคงต่อสู้อย่างต่อเนื่องทั่วทั้งเขตซาเฮล (Sahel) ของแอฟริกา ทำลายชุมชนและพื้นที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังตัดขาดผู้คนออกจากการให้บริการพื้นฐานและบริการด้านสุขภาพ ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลตะวันตก โดยเฉพาะรัฐบาลฝรั่งเศส และการเปลี่ยนแปลงบริบทภูมิศาสตร์การเมืองทั่วประเทศบูร์กินาฟาโซ (Burkina Faso) ไนเจอร์ (Niger) มาลี (Mali) หลายประเทศในพื้นที่ปรากฏความท้าทายด้านความปลอดภัยและการขนส่งตลอดปี 2566  รวมไปถึงการนำผู้ปฏิบัติงานและอุปกรณ์เข้าไปในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ความรุนแรงยังนำไปสู่ฉากจบที่น่าเศร้าของผู้ปฏิบัติงานองค์การฯ หลายราย องค์การฯ ต่างโศกเศร้าต่อการสูญเสียเพื่อนร่วมงาน โคมอน ไดโอมา (Komon Dioma) และ โซเลเมน โอวดราโอโก (Souleymane Ouedraogo) ผู้ถูกสังหารเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ขณะที่กลุ่มติดอาวุธได้โจมตียานพาหนะขององค์การฯ ที่กำลังส่งเสบียงใกล้กับโทแกน(Tougan) ประเทศบูร์กินาฟาโซ

    Bullet wounded patients are treated at the MSF Emergency Center of Turgeau, Haiti.

    ศูนย์รักษาฉุกเฉินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน รักษาผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนภายหลังจากมีการปะทะกันอย่างรุนแรงทางตอนกลางของเขตปอร์โตแปรงซ์ - เฮติ มีนาคม 2566 © Alexandre Marcou/MSF

    ปฏิบัติการด้านภัยพิบัติ

    ในเดือนกุมภาพันธ์ เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของทูร์เคีย (Türkiye) 2 ครั้ง และทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย (Syria) คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน องค์การฯ ได้เริ่มต้นปฏิบัติการสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั้งสองแห่งทันที องค์การฯ ดำเนินการดูรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพจิต รวมไปถึงน้ำดื่มที่สะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาล ที่พักพิง และอาหาร

    ในเดือนมีนาคม องค์การฯ ยังได้ส่งทีมไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไซโคลนเฟรดดี้ (Freddy) ในประเทศมาลาวี (Malawi) และโมซัมบิก (Mozambique) และไซโคลนโมคา (Mocha) ที่เคลื่อนตัวเข้าไปยังประเทศเมียนมาในเดือนพฤษภาคม โดยให้คำปรึกษาทางการแพทย์และส่งต่อน้ำสะอาด รวมถึงสร้างและซ่อมแซมห้องน้ำ

    ในเดือนกันยายน มีการดำเนินงานเพื่อให้บริการและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเมืองเดอร์น่า (Derna) ประเทศลิเบีย (Libya) หลังถูกพื้นที่บางส่วนถูกทำลายจากเหตุน้ำท่วม และในเดือนเดียวกัน องค์การฯ ได้เริ่มต้นช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกับผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวในทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโมรอคโค (Morocco) นอกจากนี้ยังมีเหตุแผ่นดินไหวในเดือนตุลาคมที่จังหวัดเฮรัต (Herat) ในทางตะวันตกของประเทศอัฟกานิสถาน (Afghanistan) ผ่านการรักษาผู้บาดเจ็บและส่งต่อสิ่งของจำเป็น

    An aerial view of MSF’s distribution of relief items to a reception centre hosting families displaced by the earthquake which struck Syria and Türkiye on 6 February. Salqin, Idlib province, Syria, February 2023. © Omar Haj Kadour

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนส่งต่อเสบียงและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อไปยังศูนย์รองรับผู้พลัดถิ่น ภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวระหว่างประเทศซีเรียและทูร์เคียเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 - ซีเรีย กุมภาพันธ์ 2566 © Omar Haj Kadour

    การช่วยเหลือกลุ่มคนชายขอบ

    เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศอัฟกานิสถานและเยเมน (Yemen) ลดสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและระบบดูแลสุขภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และผลักพวกเธอให้กลายเป็นกลุ่มชายขอบมากขึ้น องค์การฯ กำลังเผชิญกับการขาดแคลนเจ้าหน้าที่หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการดูแลผู้ป่วยหญิงในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้สถานการณ์ยังเลวร้ายกว่าเดิมเมื่อมีการห้ามผู้หญิงเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ในทั้งสองประเทศ เมื่อผู้หญิงต้องออกจากบ้านจะต้องเดินทางไปกับญาติ (โดยมักจะเป็นผู้ชาย) ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาลในเยเมนคือค่าใช้จ่ายสำหรับ 2 คน แทนที่จะเดินทางไปด้วยตัวเองได้ ขณะที่อัฟกานิสถาน หากผู้หญิงเดินทางไปยังสถานพยาบาลมักจะต้องรอให้มีคนอื่นเดินทางร่วมไปกับเธอหรือไปกับบุตรหลานของพวกเธอ

    ในปี 2566 องค์การฯ ยังคงช่วยเหลือผู้คนที่ฝ่าอันตรายในการเดินทางผ่านช่องแดเรียน (Darién Gap) ซึ่งเป็นบริเวณป่ารกชัฏระหว่างประเทศโคลัมเบีย (Colombia) และปานามา (Panama) เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปทางเหนือสู่เม็กซิโก (Mexico) และสหรัฐอเมริกา (United States) ผู้คนกว่าครึ่งล้าน ประกอบไปด้วยครอบครัวและเด็กจำนวนมาก ได้เดินทางข้ามพรมแดนในปริมาณ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าถึง 2 เท่าของปี 2565 ทีมงานขององค์การฯ ได้รักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจากการเดินทางที่แสนลำบาก อีกทั้งเหยื่อจากเหตุความรุนแรงและการคุกคามทางเพศหลายรายในประเทศปานามา และประเทศอื่นๆ ตามเส้นทางของการอพยพอย่างเช่น เม็กซิโก กัวเตมาลา (Guatemala) และฮอนดูรัส (Honduras)

    องค์การฯ รักษาผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายการย้ายถิ่นฐานที่ไร้มนุษยธรรม ในเดือนพฤศจิกายน องค์การฯ ได้เปิดโครงการใหม่สำหรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดยมีการตั้งพื้นที่สำหรับการรักษาบริเวณอีเจียน (Aegean) เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่มาถึงบนเกาะกรีก (Greek) ก่อนจะเดินทางต่อไปยังสหราชอาณาจักร (United Kingdom) และจากบอลข่าน (Balkans) ไปยังลิเบีย สำหรับนโยบายการย้ายถิ่นฐานของสหภาพยุโรปนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้แสวงหาความปลอดภัยอย่างมาก

    Girls go to school in Band-e-Amir of Yakawalang, a remote district in Bamyan Province, Afghanistan.

    เด็กสาวเดินทางไปโรงเรียนภายในพื้นที่ชนบทของอัฟกานิสถาน องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เปิดศูนย์สุขภาพชุมชนภายในพื้นที่ที่ไม่มีสถานพยาบาลอื่นสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงให้บริการ - อัฟกานิสถาน เมษายน 2566 © Nava Jamshidi

    นับตั้งแต่ปี 2560 สถานการณ์สำหรับชาวโรฮิงญา (Rohingya) ยังไม่คลี่คลายลง มีผู้คนราว 800,000 คนหลบหนีจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศ องค์การฯ ยังคงให้บริการทางด้านการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดและเผชิญกับการกดดันจากรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีการจำกัดเงินสนับสนุนจากทั่วโลก อันเป็นที่พึ่งในการเอาชีวิตรอดของชาวโรฮิงญา ส่งผลต่อปริมาณอาหารสำหรับแจกจ่ายและรวมถึงเพิ่มความต้องการในการเข้ารับความช่วยเหลือ

    ความท้าทายและชัยชนะในการรักษาโรค

    นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 (COVID-19) องค์การฯ พบว่าตัวเลขการแพร่ระบาดของโรคมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบสาธารณสุขที่มีปัญหาและการขาดช่วงของการรณรงค์ให้เข้ารับฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 องค์การฯ รักษาผู้ป่วยหลายพันคนที่ป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคหัด(measles) อหิวาตกโรค (cholera) และโรคตับอักเสบ (hepatitis) อย่างไรก็ตาม องค์การฯ ยังประสบปัญหาในการรับมือกับการระบาดของโรคคอตีบ (diphtheria) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่อันตรายต่อชีวิตได้ ในประเทศกินี (Guinea) ไนจีเรีย (Nigeria) ไนเจอ (Niger) และชาดเนื่องจากการขาดแคลนวัคซีนและยาต้านพิษสำหรับการรักษา

    ตลอดปีที่ผ่านมา องค์การฯ ต่อสู้กับตัวเลขของผู้ป่วยภาวะทุพโภชนาการที่สูงขึ้นอย่างน่ากังวล หน่วยงานทางการแพทย์ได้ดำเนินงานใต้วิกฤตการณ์ในประเทศไนจีเรีย เอธิโอเปีย แองโกลา เยเมน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อัฟกานิสถาน และบูร์กินาฟาโซ ผู้คนเผชิญกับภาวะขาดสารอาหารด้วยหลายสาเหตุทั้งความขัดแย้งที่ตัดขาดการส่งเสบียงหรือขัดขวางการทำฟาร์ม ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดี อาหารราคาสูง หรือการช่วยเหลือด้านอาหารที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้พลัดถิ่น

    A nurse does a round to check on patients in the morning and to give them their medication against diphtheria at the Centre de Traitement Epidemiologique in Siguiri, Guinea.

    พยาบาลทำการตรวจสอบสุขภาพของผู้ป่วยรอบเช้ารวมถึงให้การดูแลโรคคอตีบ - กินี ธันวาคม 2566 © Andrej Ivanov/MSF

    อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีเกี่ยวกับวัณโรค (TB) ในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ องค์การฯ เผยแพร่ผลลัพธ์อันเป็นที่น่าพึงพอใจของการทดสอบทางคลินิก endTB ซึ่งเป็นแผนการรักษาวัณโรคดื้อยาด้วยยาที่ปลอดภัยแบบใหม่ 3 รูปแบบ ที่มีประสิทธิผลมากขึ้นและลดระยะเวลาในการรักษาได้มากถึง 2 ใน 3 โดยแผนการรักษาบางรูปแบบใช้ยาเบดาควิลีน (Bedaquiline) ซึ่งเป็นยาที่มีราคาสูงและเป็นอุปสรรคต่อการขยายการรักษา ผลของการรณรงค์การเข้าถึงยาขององค์การฯ ทำให้ผู้ผลิตอย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ได้ยกเลิกสิทธิบัตรรองของยาในเดือนกันยายน ซึ่งทำให้ยาสามัญถูกซื้อได้ด้วยราคาไม่แพงในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ในเดือนเดียวกัน ผลจากแรงกดดันของการรณรงค์การเข้าถึงยาของบริษัทเซเฟียต (Cepheid) ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบตรวจวินิจฉัยที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในโครงการขององค์การฯ และบริษัทแม่อย่างดานาเฮอร์ (Danaher) ก็ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เมื่อทั้งสองบริษัทได้ตกลงที่จะลดราคาของชุดทดสอบลงร้อยละ 20 ซึ่งรวมถึงชุดทดสอบวัณโรคด้วย

    ในเดือนธันวาคม ภายหลังจาก 3 ปีของความมุ่งมั่นในการผลักดันอย่างแข็งขัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เพิ่มโรคโนมา (Noma) เข้าไปในรายชื่อโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โนมาเป็นโรคติดเชื้อแต่ไม่ติดต่อที่เกิดจากแบคทีเรียมักพบในเด็ก โดยเฉพาะในแถบใต้ซาฮาราของแอฟริกา แม้จะเป็นโรคที่ทั้งป้องกันและรักษาได้ หากไม่ได้รับการรักษาก็สามารถฆ่าผู้ติดเชื้อได้มากถึงร้อยละ 90 การขึ้นบัญชีในรายชื่อโรคจะเป็นแสงสว่างส่องให้เห็นถึงความสำคัญของโรคนี้ และนำไปสู่การบูรณาการกิจกรรมเพื่อป้องกันและรักษาโรคโนมาร่วมกับโครงการสาธารณสุขที่มีอยู่ รวมไปถึงสนับสนุนให้มีการจัดสรรทรัพยากรที่มีความจำเป็นในการแก้ปัญหานี้

    องค์การฯ ขอกล่าวคำขอบคุณอย่างสุดซึ้งไปยังผู้ปฏิบัติงานขององค์การฯ กว่า 69,000 คน ที่ทำงานในกว่า 70 ประเทศตลอดปี 2566 ที่ได้ให้การดูแลทางการแพทย์แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา