Skip to main content

    ฟิลิปปินส์: บ้านเรือนและนาข้าวจมบาดาลจากฤทธิ์พายุโซนร้อนจ่ามี

    MSB213549

    ทั่วจังหวัดคามารีเนสซูร์ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนกำลังแรงจ่ามี ซึ่งส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและกลายเป็นนำ้ท่วมฉับพลันในเวลาต่อมา © Asnairah Solaiman/MSF

    ประเทศฟิลิปปินส์ (The Philippines) เผชิญกับพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclones) โดยเฉลี่ยปีละ 20 ลูก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พายุเหล่านี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อชุมชนเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ

    พายุโซนร้อนลูกล่าสุดที่พัดเข้าฟิลิปปินส์สร้างความเสียหายร้ายแรงและเป็นวงกว้าง พายุโซนร้อนกำลังแรงจ่ามี (Tropical Storm Trami) เข้าสู่เขตประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม และขึ้นฝั่งวันที่ 24 ตุลาคม ช่วงระยะเวลาสี่วัน พายุโซนร้อนจ่ามีทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วทั้งเกาะลูซอน (Luzon) และเกาะวิซายัส (Visayas) เกิดน้ำท่วมและดินถล่มหลายพื้นที่ ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 7 ล้านคนใน 17 ภูมิภาคของประเทศ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย

    จังหวัดคามารีเนสซูร์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด มีเทศบาล 36 แห่งจากทั้งหมด 37 แห่งถูกน้ำท่วม สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อทรัพย์สินและการดำรงชีวิตของประชาชน หลายครอบครัวสูญเสียบ้านและพืชผลทางการเกษตรจากน้ำท่วมครั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เจ้าหน้าที่องค์การฯ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรแรกๆ ที่เดินทางถึงพื้นที่และเริ่มให้ความช่วยเหลือที่เร่งด่วนที่สุดหลังประชากรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

    MSB213550

    หลังจากพายุโซนร้อนจ่าเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบริกี้ ซัลวาซิออน (Brgy Salvacion) บูลา (Bula) และคามารีเนสซูร์ (Camarines Sur) พื้นที่สาธารณะ ศูนย์สุขภาพ และศูนย์รับเลี้ยงเด็กมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงท่วมยอดกำแพงสนามบาสเก็ตบอล © Regina Layug Rosero/MSF

    ความต้องการในพื้นที่

    ดร. มาร์ฟ ดูก้า เฟอร์นันเดส (Dr. Marve Duka Fernandez) หัวหน้าทีมการแพทย์ประจำหน่วยฉุกเฉินขององค์การฯ (Medical Team Leader of the MSF emergency response)  แบ่งปันเรื่องราวที่เธอพบในจังหวัดคามารีเนสซูร์

     “บางชุมชนที่เราไปเยี่ยมตอนนี้น้ำลดลงแล้ว  ชุมชนเหล่านี้ต้องการน้ำดื่มสะอาด และยารักษาโรคขั้นพื้นฐาน เนื่องจากถูกตัดขาดจากบริการทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังประสบปัญหาการรับประทานยารักษาโรคที่ไม่ต่อเนื่อง การสัมผัสกับน้ำท่วมขังเป็นเวลาหลายวันทำให้เกิดบาดแผลเปิด การติดเชื้อรา และความเสี่ยงของโรคที่มีพาหะนำโรค เช่น โรคฉี่หนู (leptospirosis)

    ในระหว่างการจัดการซักถามปัญหาในชุมชน ข้อกังวลประการหนึ่งที่ชาวบ้านพูดถึงบ่อยที่สุดคือความเป็นอยู่ของพวกเขา หลังจากให้การปรึกษาด้านสุขภาพจิต พบว่าชาวบ้านรอดูสถานการณ์หลังน้ำท่วมและการทำความสะอาดเสร็จสิ้นลง พวกเขากังวลถึงความยากเย็นในการฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพราะน้ำได้พัดพาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว สัตว์เลี้ยงในฟาร์ม หรือเครื่องมือไปหมดเกลี้ยง ทุกอย่างพินาศ”

    องค์การฯ ได้ช่วยเหลืออะไรบ้าง

    ตั้งแต่เรามาถึง เราได้ทำการประเมินพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดโดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นจึงลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนจริง เราได้มุ่งเน้นทำงานในเขตเทศบาลเมืองบูลา  จังหวัดคามารีเนสซูร์ ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายหนักจากน้ำท่วมฉับพลันเพราะเทศบาลเมืองบูลาอยู่ริมแม่น้ำและมีผู้คนหลายหมื่นคนอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล

    เราได้ไปที่ชุมชนท้องถิ่น (barangays) สองแห่ง ได้แก่ ฟาบริก้า (Fabrica) และ ออมเบา โปลปอก (Ombao Polpog) และจัดให้มีบริการคลินิกเคลื่อนที่ โดยให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมสำหรับชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญเหตุโดยตรง เรายังแจกจ่ายชุดสุขอนามัย รวมถึงน้ำดื่มบรรจุในถังบรรจุของเหลวที่นำมาเติมได้ นอกจากนี้ เรายังได้ติดตามผลในพื้นที่ห่างไกลของเกาะซานมิเกล (San Miguel) และเปิดคลินิกเคลื่อนที่ในเขต คาซูกาด (Casugad) และเขตซัลวาซิออน (Salvacion) ให้บริการคลินิกครบวงจร การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ชุดสุขอนามัย และการจ่ายน้ำไปยังเขตต่างๆ ที่กล่าวมา
    ดร. มาร์ฟ ดูก้า เฟอร์นันเดส
    MSB213551

    The municipality of Bula was one of the hardest hit. During their assessment, the Doctors Without Borders team saw many communities still flooded. Rubber boats were the only way the Doctors Without Borders team reach these communities to assess the needs. 

    เทศบาลบูลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในระหว่างการลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ องค์การฯ พบว่าชุมชนหลายแห่งยังจมอยู่ใต้น้ำ การเดินทางด้วยเรือยางเป็นวิธีเดียวในการเข้าถึงชุมชนเหล่านี้เพื่อประเมินความต้องการในพื้นที่ © Asnairah Solaiman/MSF

    MSB213504

    หนึ่งสัปดาห์ต่อมา พื้นที่บางส่วนของชุมชนออมเบา โปลปอกยังคงจมอยู่ใต้น้ำ หากพอมีโอกาส ประชาชนในพื้นที่จะพยายามทำความสะอาดบ้านเรือน ซักเสื้อผ้า คัดแยกเอกสาร และล้างเฟอร์นิเจอร์ และนำออกมาตากใต้แสงแดด © Regina Layug Rosero/MSF

    MSB213505

    ในพื้นที่ซานมิเกล อาสาสมัครเข้าร่วมทีมงานขององค์การฯ ในพื้นที่คลินิกเคลื่อนที่ ขณะที่ทีมพยาบาลในท้องถิ่นกำลังตรวจความดันโลหิตและคัดแยกผู้ป่วย © Regina Layug Rosero/MSF

    MSB213514

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเปิดคลินิกเคลื่อนที่ในพื้นที่ซานมิเกล ในขณะที่ชาวบ้านกำลังรอคิวเข้ารับคำปรึกษาทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอย่างซาราห์ เจน เดอ โอคัมโป ได้จัดช่วงฝึกสอนด้านจิตศึกษาเพื่อช่วยพวกเขาจัดการกับความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า หรือบาดแผลทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นหลังเกิดพายุ © Regina Layug Rosero/MSF

    MSB213460

    เขตเทศบาลบูลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในขณะที่องค์การฯ ได้ดำเนินงานในส่วนของคลินิกเคลื่อนที่ในพื้นที่ซานมิเกล อาสาสมัครได้รวบรวมเด็กๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะบำบัด และการสนับสนุนด้านจิตสังคมแบบกลุ่ม © Regina Layug Rosero/MSF

    การเข้าถึงพื้นที่และสิ่งของบรรเทาทุกข์ถือเป็นอุปสรรคใหญ่

    ครั้งแรกที่เรามาถึง เขตต่างๆ หลายแห่งยังคงถูกน้ำท่วม หรือถนนทางเข้ายังคงจมอยู่ใต้น้ำ และยานพาหนะขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ ทีมงานของเราประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ทางเรือหรือรถบรรทุก เพื่อให้เราสามารถประเมินความต้องการและกำหนดวิธีขนส่งสิ่งของรวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้

    อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือการเข้าพื้นที่พร้อมยาและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นและครบถ้วน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่เพื่อนำยาและสิ่งของที่จำเป็นออกแจกจ่ายสู่ชุมชนได้ ในพื้นที่ยังคงมีปัญหาด้านยารักษาโรคและปัญหานี้เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ร้านค้าและโกดังในพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วม และสินค้าในคลังจะส่งมาจากมะนิลา (Manila) แต่มีของส่งเข้ามาน้อยมาก และการขนส่งยาล่าช้า เนื่องจากน้ำท่วมเส้นทางสัญจรหรือต้องผ่านจุดตรวจ และปัญหาด้านความปลอดภัยบางประการ ขณะเดียวกันความต้องการยารักษาโรคในจังหวัดคามารีเนสซูร์มีค่อนข้างสูง คนท้องถิ่นซื้อยาเพราะยาที่มีถูกน้ำท่วม ยาจึงหมดเกลี้ยงจากชั้นวาง ส่งผลต่อคุณภาพการบริการขององค์การฯ เนื่องจากยาเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบริการทางการแพทย์ที่เราให้บริการแก่ประชาชน ดังนั้นองค์การฯ จึงจัดส่งยารักษาโรคที่องค์การฯ เป็นผู้จัดหามาจากมะนิลา

     

    การทำงานร่วมกับอาสาสมัครท้องถิ่น

    สิ่งดีๆ ที่พบในจังหวัดคามารีเนสซูร์คือการมีอาสาสมัครจากหลายพื้นที่ทั้งจากสมาคมและ โรงพยาบาล มาทำงานร่วมกับองค์การฯ เช่น แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Govenment Unit - LGU) และบุคคลทั่วไปที่ต้องการมาช่วยเหลือ บุคคลเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือด้วยการให้ข้อมูล ทรัพยากร และเวลา เราทำงานร่วมกับแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครจากศูนย์การแพทย์บิโคล (Bicol Medical Center) พยาบาลจากกรมอนามัย (Department of Health - DOH) และหน่วยสุขภาพชนบท (Rural Health Unit - RHU) ของเมืองบูลา และเมื่อใดก็ตามที่เราไปเขตชุมชนต่างๆ เราได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเขต(Barangay Health Workers - BHWs) ทั้งที่พวกเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน องค์การฯ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเขตชุมชนจัดคลินิกเคลื่อนที่  พวกเขายังช่วยในเรื่องการคัดแยกผู้ป่วยและการให้คำปรึกษา รวมทั้งการจ่ายยา

    ตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ องค์การฯ ได้เยี่ยมเยียนและประเมินเทศบาลหลายแห่งในจังหวัดคามารีเนสซูร์ ที่เขตซูอา (Barangay Sua) เขตกามาลิแกน (Camaligan) องค์การฯ แจกถังบรรจุน้ำดื่มสะอาดจำนวน 90 ใบให้กับ 190 ครอบครัว หลังจากนั้นองค์การฯ มุ่งนำความช่วยเหลือเข้าไปยัง
    เมืองบูลา ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมเชตชุมชน (หรือเทศบาล) หลายแห่งเพื่อพิจารณาและประเมินความต้องการเร่งด่วนที่สุด

    MSB213510

    ในพื้นที่ซานมิเกล องค์การฯ แจกจ่ายชุดสุขอนามัย 600 ชุด และถังบรรจุน้ำดื่มสะอาด 600 ใบ © Regina Layug Rosero/MSF

    องค์การฯ ได้แจกจ่ายชุดสุขอนามัย 700 ชุด และถังบรรจุน้ำดื่มสะอาด 1,110 ใบให้ประชาชนในเขตฟาบริกา ออมเบา โปลปอก ซานมิเกล และคาซูกาด  นอกจากนี้  องค์การฯ ยังทำงานร่วมกับอาสาสมัครท้องถิ่น โดยให้คำปรึกษาทางการแพทย์ 1,449 ครั้ง และให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ 238 ราย ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่มในเขตฟาบริกา ออมเบา โปลปอก ซานมิเกล 
    คาซูกาด และ ซัลวาซิออน

    นอกจากนี้ องค์การฯ ยังได้ให้บริการคลินิกเคลื่อนที่และแจกจ่ายถังบรรจุน้ำดื่ม และชุดสุขอนามัยให้กับเขตซัลวาซิออนอีกด้วย การทำงานขององค์การฯ สิ้นสุดลงในวันที่ 8 พฤศจิกายน เนื่องจากห้วงระยะฉุกเฉินที่ชุมชนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากองค์การฯ ได้ผ่านไปแล้ว