Skip to main content

    บังกลาเทศ: เรียกร้องให้ยกเลิกการสกัดกั้นการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

    BGD

    ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่อย่างแออัดในพื้นที่อูคิยา (Ukhiya) ค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ © Yunus Ali Shamrat/MSF

    ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายพันคนเดินทางถึงบังกลาเทศ (Bangladesh) ขณะที่บางส่วนถูกผลักกลับหรือถูกกักตัวขณะพยายามหนีออกจากเมียนมา ผู้ที่เอาตัวรอดจนมาถึงบังกลาเทศได้อธิบายการเดินทางอันน่าหวาดกลัวให้กับคณะเจ้าหน้าที่ฟัง ส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักเคยประสบกับการเห็นคนที่รักต้องตายไปต่อหน้าต่อตา ต้องขายทรัพย์สินหรือถูกบังคับให้กู้ยืมเงินเพื่อใช้หนีในเส้นทางที่เสี่ยงมาก ส่วนผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ เล่าให้ฟังถึงความพยายามของพวกเขาในการหนีข้ามพรมแดนเพื่อแสวงหาความปลอดภัย ซึ่งเป็นภารกิจที่บางครั้งกินเวลาหลายวัน

    ในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ การเข้าถึงอาหารถือเป็นปัญหาหนึ่ง คนที่อาศัยอยู่ในค่ายเล่าว่าพวกเขาต้องแบ่งปันอาหารที่ได้รับปันส่วนและพื้นที่อยู่อาศัยให้กับครอบครัวที่เพิ่งมาถึง ซึ่งยังไม่มีที่พัก น้ำ สุขอนามัยและการป้องกันจากการรังแก ทารุณ แสวงหาประโยชน์ หรือการละเลย โดยเฉพาะกับเด็กทั้งหญิงชายและผู้หญิง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา องค์การฯ พบว่ามีตัวเลขผู้ลี้ภัยอายุต่ำกว่าห้าปีที่มีปัญหาด้านทุพโภชนาการ (malnutrition) ระดับกลางและระดับรุนแรง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบในผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเข้ามาใหม่ เนื่องจากการเข้าถึงอาหารและบริการสุขภาพในเมียนมาก็เป็นปัญหาที่มีอยู่แล้วในประเทศ การขาดแคลนทรัพยากรในการสนับสนุนงานด้านมนุษยธรรมเป็นเวลายาวนานยิ่งส่งผลให้บริการพื้นฐานมีความยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ลี้ภัยโรงฮิงญากลุ่มใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาถึง ขณะที่ความพยายามในการจัดการลงทะเบียนเพื่อให้ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ความล่าช้าในการดำเนินงานก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคในการหันมาสนใจปัญหาดังกล่าวอย่างทันท่วงที

    เสียงจากการปะทะกันอย่างหนักในเมียนมายังคงกึกก้อง และเป็นเครื่องย้ำเตือนความรุนแรงที่เราต้องหนีจากมา แม้ว่าจะอยู่ในค่ายแล้วก็อาจมีความเครียดสูงได้ และความหวาดกลัวความรุนแรงปรากฏอยู่ตลอดเวลา ผมหนีมาจากความรุนแรงในเมียนมา แต่ก็ไม่สามารถหนีความกลัวได้ ผมหัวใจเต้นแรงทุกครั้งเวลาได้ยินเสียงดัง
    โซลิม* (Solim) ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

    คณะเจ้าหน้าที่ของเรากำลังรักษาชาวโรฮิงญาพลัดถิ่นในค่าย รวมถึงผู้ป่วยขั้นวิกฤตและผู้ที่บาดเจ็บจากสงครามด้วยแผลจากชิ้นส่วนเครื่องยิงลูกระเบิดและแผลถูกยิง "พวกเขาเล่าให้เราฟังว่าพวกเขากลัวการขอความช่วยเหลือเพราะอาจหมายถึงการถูกแสวงหาประโยชน์หรือแม้แต่การถูกส่งกลับเมียนมา” ออลา เมอร์ฟีร์ (Orla Murphy) ตัวแทนเจ้าหน้าที่องค์การฯ ในบังกลาเทศ

    "คณะเจ้าหน้าที่งานด้านสุขภาพจิตรับรู้ว่าผู้คนต้องต่อสู้กับความรุนแรงในบ้านเกิดอย่างไร และการขาดแคลนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมทำให้เกิดความไม่แน่นอนและยิ่งทำให้บาดแผลทางใจย่ำแย่ลงอีก เราสังเกตเห็นผู้ป่วยโรฮิงญาที่มาใหม่มีอาการเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า” เมอร์ฟีร์ระบุ

    “บาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ยิ่งทำให้ความเจ็บปวดกดลึกลงไปอีก”

    จากการทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา (Rohingya) ฉันเห็นด้วยตาตนเองถึงผลกระทบที่เลวร้ายจากบาดแผลทางใจและความรุนแรงของสภาพจิตใจผู้คนที่ต้องหลบหนีออกจากเมียนมา (Myanmar)    เมื่อไม่นานนี้ ในแต่ละเดือนที่ทำการของเราจะมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตประเภทต่างๆ กว่า 30 ราย รวมถึงผู้ที่มีบาดแผลทางใจที่ซับซ้อน ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder - PTSD) ผู้ป่วยสุขภาพจิตหลายรายมีอาการคงที่แล้วตอนอยู่ในเมียนมา แต่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่แย่ลงเนื่องมาจากการขาดการดูแลรักษาระหว่างการเดินทาง 

    ในบรรดาปัญหาสุขภาพจิตที่เร่งด่วน เราพบเจอกับโรคซึมเศร้ารุนแรง (severe depression) และอาการวิตกกังวล (anxiety) ประกอบกับประสบการณ์เลวร้ายที่พวกเขาต้องเจอ เมื่อความรุนแรงในเมียนมายกระดับขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเผชิญทั้งปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายเนื่องจากการอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเลยมาอย่างยาวนาน

    ผู้คนมักจะหวนนึกถึงเส้นทางอันยากลำบากที่เต็มไปด้วยอันตรายและความสิ้นหวังจากเมียนมาถึงบังกลาเทศ (Bangladesh) หลายคนต้องพบเจออุปสรรคปัญหาที่ชายแดนรวมถึงความรุนแรงและการผลักดันกลับที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถข้ามแดนได้ ประสบการณ์เหล่านี้ที่พวกเขาต้องเผชิญมีทั้งบาดแผลทางใจ ความรุนแรง ความสูญเสีย ความตายของผู้คนที่รัก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสิ่งเหล่านี้กลับไม่ค่อยได้รับการรายงานหรือสื่อสารแต่อย่างใด ทำให้บาดแผลทางใจส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแล

    แม้ว่าจะถึงบังกลาเทศยังปลอดภัย ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือความจำเป็นขั้นพื้นฐานแต่อยางใด มีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการลงทะเบียน ที่พักที่ไม่เพียงพอ และการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมแออัดที่มีทรัพยากรจำกัด ขณะที่พวกเขากำลังปรับตัว สุขภาพจิตยังคงย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะพยายามคงความเป็นปกติขณะที่ชีวิตต้องเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน

    สถานการณ์ในค่ายยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพจิตที่เผชิญอยู่ย่ำแย่ลงไปอีก ผู้ป่วยเล่าถึงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีรายงานการยิงและความรุนแรงระหว่างกลุ่มต่างๆ ทุกวัน ความหวาดกลัวความรุนแรงยังคงอยู่ ทำให้ความวิตกกังวลและความสิ้นหวังแผ่ขยายไปทั่ว สำหรับ    ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ที่เพิ่งมาถึง ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้เกิดบาดแผลทางใจรุนแรง อาการซึมเศร้า และเพิ่มความวิตกกังวล อาการเหล่านี้พบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้ป่วยที่รับความช่วยเหลือจากเรา

    กลุ่มผู้หญิงและเด็กต้องเผชิญกับความท้าทายพิเศษในสิ่งแวดล้อมนี้ มีรายงานว่าหลายคนต้องเผชิญกับความรู้สึกสิ้นหวัง หดหู่ และความกังวลที่มาจากบาดแผลที่ใจที่ยังคงอยู่ สถานการณ์ในเมียนมาในรอบ 7 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่การจำกัดการเดินทางยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรยังคงมีอยู่ กลุ่มผู้ชายต้องเผชิญกับสภาวะไร้อำนาจ  (จากการที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้) อาจแสดงความหงุดหงิด ไม่สบอารมณ์กับสมาชิกในครอบครัวที่นับว่าอยู่ในกลุ่มเปราะบางทำให้บาดแผลใจในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

    ความน่ากลัวของการเกณฑ์แรงงานภาคบังคับในค่ายยิ่งทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น และส่งผลต่อความเครียดที่ครอบครัวเหล่านี้ต้องเผชิญ ลองจินตนาการเป็นผู้ปกครองของลูกชายอายุ 17 ปีและถูกกดดันให้ส่งเขาไปในที่ที่มีความรุนแรงและโอกาสรอดชีวิตน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหลายครอบครัวทั้งในเมียนมาและบังกลาเทศ บาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งทั้งการสูญเสียทรัพย์สิน สมาชิกในครอบครัวและความรู้สึกปลอดภัย ล้วนสร้างบาดแผลทางจิตใจให้ยิ่งลึกลงอีก ความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ในค่ายเป็นสิ่งเตือนใจอยู่เสมอเกี่ยวกับความเจ็บปวดในอดีต ซึ่งนำไปสู่การสร้างบาดแผลทางใจซ้ำ (re-traumatisation) และวัฏจักรของการทุกข์ทรมาน

    และเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วน องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) จัดหาการสนับสนุนที่สำคัญให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยเมื่อผู้ป่วยมาที่ศูนย์บริการขององค์การฯ ผู้ให้คำปรึกษาของเราจะให้ความสำคัญและจัดลำดับโดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัย การให้เกียรติและดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และการรักษาความลับ องค์การฯ จัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยในการเป็นพื้นที่พูดคุยถึงประสบการณ์และสิ่งที่ต้องเผชิญ สำหรับผู้หญิงมักมีการให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์ที่ปรับวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์

    วิธีการทำงานจะเริ่มจากการประเมินโดยละเอียดเพื่อให้มีข้อมูลสภาพจิตใจ และจัดให้มีการให้คำปรึกษาเพื่อให้ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพจิต องค์การฯ เน้นการทำงานเพื่อเพิ่มวิธีการรับมือกับปัญหาเชิงบวกและสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อสนับสนุนการสื่อสารกับครอบครัว สมาชิกชุมชนและองค์กรอื่นๆ สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านจิตเวช จิตแพทย์องค์การฯ จะมีการประเมินอาการและจ่ายยาให้กรณีจำเป็นBangladesh

    องค์การฯ เข้าใจว่าแต่ละบุคคลมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน และองค์การฯ ขอให้ผู้ป่วยกลับมาพบเพื่อติดตามอาการรายสัปดาห์ ส่วนเจ้าหน้าที่ด้านสังคมทำงานอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยและส่งเสริมการรักษาให้ได้ผลเมื่อกลับไปอยู่บ้าน

    ชาร์ริฟูล อิสลาม (Shariful Islam) ผู้จัดการงานกิจกรรมสุขภาพจิตขององค์การฯ ที่คลินิกคูตูพาลอง (Kutupalong) และบาลูคาลี (Balukhali)

    เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานทางการของบังกลาเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ลี้ภัยโรงฮิงญาที่อยู่ในค่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการทันทีเพื่อให้ผู้เดินทางกลุ่มใหม่เข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ ที่พัก สุขภาพ การศึกษา และการป้องกัน

    องค์การฯ เรียกร้องให้ยกเลิกการสกัดกั้นการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การดูแลและการปกป้องผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศ องค์การยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำมั่นว่าจะไม่มีการส่งตัวบุคคลกลับไปยังพื้นที่ที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง หลักกฎหมาย ‘การห้ามผลักดันกลับ‘ (non-refoulement) ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ป้องกันไม่ให้มีการส่งตัวกลับไปยังประเทศ ซึ่งอาจถูกลงโทษ ทรมาน หรือถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม

    “ผมหนีความรุนแรงมาแล้ว แต่ผมไม่สามารถหนีความกลัวได้”

    ผมชื่อ โซลิม* (Solim) อายุ 21 ปี ผมมาถึงบังกลาเทศ (Bangladesh) เมื่อเดือนกรกฎาคม ตัวผมเกิดในเมียนมา (Myanmar) ผมอยู่กับพ่อแม่และครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้องผู้ชายหกคนกับพี่น้องผู้หญิงสามคน ขณะที่ผมเล่าเรื่องนี้ พี่ชายคนหนึ่งอยู่ในบังกลาเทศ อีกคนอยู่ย่างกุ้ง (Yangon) ส่วนที่เหลือผมไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน พี่ชายคนหนึ่งกับพี่น้องผู้หญิงอีกสองคนหายไป การสื่อสารระหว่างหมู่บ้านในเมียนมาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งตอนนี้ ผมก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าพวกเขาปลอดภัยหรือเปล่า

    ก่อนที่ผมจะออกจากเมียนมา ผมถูกกดดันหลายครั้งให้เข้าร่วมกองทัพพม่าหรือกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ทั้งสองฝ่ายหวังให้ผู้ชายโรฮิงญา (Rohingya) เข้าร่วม เพราะขาดแคลนกำลังพล แต่ผมไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเหล่านี้ มีอยู่คืนหนึ่งที่หมู่บ้านของเรามีทหารรายล้อมเต็มไปหมด ผมกับน้องชายหนีออกมา ผ่านลำธารหลายสาย ข้ามพื้นที่เนินเขาหลายลูกและมาหาที่พักแถบหมู่บ้านข้างเคียง การหนีครั้งนี้ไม่ได้หนีจากความรุนแรงได้ เพราะเจอทั้งยิงและปาระเบิด เราหนีกันจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้าน คอยระแวดระวังเพื่อเลี่ยงการปะทะ

    Solim

    ในที่สุดน้องชายกับตัวผมก็ซ่อนตัวอยู่ในป่าเป็นเวลาสองวัน หวังว่าจะรอดพ้นจากสายตาสอดส่องของพวกเขา พวกเราจะเดินทางหนีกันตอนกลางคืนเท่านั้นโดยจุดหมายคือชายแดน มีอยู่คืนหนึ่งเราเจอเรืออยู่ไม่ไกลเลยพากันพยายามข้ามทะเล แต่เมื่อเราถึงชายแดน เราก็เจอกับตำรวจตระเวณชายแดนเมียนมาที่สงสัยว่าเราเป็นสมาชิกกองทัพอาระกัน เราพยายามอธิบายว่าเราเป็นแค่นักเรียนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ แต่พวกเขาไม่ฟังและยังคงสอบสวนเราต่อไป พวกเขายังพยายามกดดันบังคับให้เราเข้าร่วมกองทหาร แต่เราหนีออกมาได้ตอนที่พวกตำรวจกำลังสอบสวนคนอื่นๆ อยู่

    หลังจากหนีความรุนแรงมาหลายวัน เราหาเรือที่จะพาเราข้ามไปบังกลาเทศได้แล้ว การข้ามไปยังบังกลาเทศทำให้เราโล่งใจไปบ้าง แต่ร่างกายของผมอ่อนแอ ผมได้รับบาดเจ็บมาตลอดระหว่างการหนี ขาของผมมีแผลและเลือดไหลเพราะโดยชิ้นส่วนระเบิดอยู่ตรงชายหาดบาด ผมเกือบจมน้ำตอนที่หล่นลงไปเพราะผมว่ายน้ำไม่เป็น ผมยังรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการบาดเจ็บนี้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผมพยายามบอกตัวเองว่าตอนนี้ผมปลอดภัยแล้ว แต่ผมก็ไม่สามารถสลัดความกลัวออกไปได้ เสียงปืนและความรุนแรงในเมียนมาหลอกหลอนผมอยู่ทุกวัน

    ตอนนี้ที่ผมอยู่ที่บังกลาเทศแล้ว ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่พัก ที่นี่มีคนอยู่เยอะมาก ครอบครัวที่มีสมาชิกเจ็ดคนต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กมาก และยังมีคนเข้ามาเพิ่มทุกๆ วัน เราแบ่งปันของเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามีให้กัน แต่มันยากลำบาก ผมยังทำงานไม่ได้ ไม่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่ใกล้ๆ และไม่มีทางที่ผมจะติดต่อกับคนที่อยู่ในเมียนมา พ่อของผมมีญาติห่างๆ ที่อยู่ในค่าย เขาใจดีและอนุญาตให้พวกเราอยู่ด้วย แบ่งปันอาหารให้แม้ว่าตัวเองก็มีอยู่น้อยนิด

    เวลาที่ผมได้ยินเสียงดัง ทำให้ผมรู้สึกเหมือนผมกลับไปในเมียนมา เสียงเหล่านี้ทำให้ผมหวนนึกถึงความกลัว... ความกลัวที่จะมีคนมาเอาตัวผมไปหรืออาจเลวร้ายไปกว่านั้น หัวใจผมเต้นแรงทุกครั้ง ผมนอนไม่ค่อยหลับ ผมอยากจะรู้สึกปลอดภัยแต่ก็เป็นเรื่องยาก

    *ชื่อได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกปิดตัวตน

    “มีหลายวันที่ได้กินข้าวแค่มื้อเดียว แต่ผมต้องทนมองลูกๆ ผมที่มีแววตาหิวโหย”

    เท็คนาฟ (Teknaf) เป็นเมืองเล็กๆ ของค็อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ในจิตตะกอง (Chittagong) ประเทศบังกลาเทศ (Bangladesh) ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา (Rohingya) ที่อาศัยอยู่ในค่ายเท็คนาฟต้องเจอกับสภาพแร้นแค้น ค่ายอยู่กันอย่างแออัด สุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ การเข้าถึงน้ำสะอาดมีจำกัด และบริการดูแลสุขภาพที่ย่ำแย่ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวทำจากไม้ไผ่และผ้าใบกันน้ำ ซึ่งป้องกันสภาพอากาศที่ย่ำแย่ไม่ได้ สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเนื่องด้วยการมากลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ ปัจจุบันองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ไม่มีสถานบริการสุขภาพในเท็คนาฟ คณะเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ได้เข้าเยี่ยมพื้นที่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนและได้พูดคุยกับซาฮีร์ (Zahir)  หนึ่งในผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลุ่มที่เพิ่งมาถึง

    ผมชื่อซาฮีร์ ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจากเมียนมา (Myanmar) ผมมาถึงบังกลาเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม ตอนนี้อาศัยอยู่ที่เท็คนาฟ บังกลาเทศ ผมอยู่กับครอบครัวของน้องสะใภ้ ก่อนที่จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ผมใช้ชีวิตง่ายๆ กับครอบครัวในหมู่บ้านเล็กๆ เรามีฟาร์มเล็กๆ มีรายได้ปานกลาง แต่พวกเราก็มีความสุข แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ความรุนแรงและความไม่แน่นอนกลายเป็นส่วนที่ทำลายชีวิตของเรา

    เมื่อเดือนกรกฎาคม ความรุนแรงมาถึงหมู่บ้านของเรา ขณะนั้นผมกำลังนั่งอยู่ด้านนอกกับเพื่อนบ้านตอนที่เริ่มมีการยิง เพื่อนบ้านของผมถูกยิงด้วยกระสุนทำให้เสียชีวิตทันที ส่วนของผมกระสุนเข้าที่หลัง การที่เมียนมาขาดการบริการทางการแพทย์ประกอบกับความกลัวตาย เราต้องตัดสินใจครั้งที่ยากที่สุดโดยทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง และท่ามกลางความชุลมุนในการหลบหนี ลูกชายวัยสามขวบของเราหายไปในฝูงชน แม้ว่าเราจะตามหากันไม่หยุดไม่หย่อน ความอันตรายของสถานการณ์ที่มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ ทำให้เราต้องเดินทางหนีต่อกับลูกๆ ของเราที่ยังเหลือ

    ผมติดต่อหาคนเรือที่รู้จักหวังให้ช่วยหาทางให้เราหนีได้ เขาตกลงรับงานแต่ก็เรียกราคาสูงประมาณ 250 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 8,500 บาท) ต่อคน เราไม่มีทางเลือก เราพยายามเดินลุยน้ำลึกเท่าเอวไปอย่างยากลำบากเพื่อไปที่เรือ ออกเดินทางกันตอนดึก พอรุ่งสางเราก็ถึงชายฝั่งบังกลาเทศ ผมเหนื่อยล้าและเจ็บปวดจากการบาดเจ็บ

    ตอนนั้นผมคิดว่าเราทุกคนปลอดภัยแล้ว แต่คนเรือกักลูกชายคนโตของผมไว้โดยเรียกร้องให้จ่ายเงินให้ครบ เราใช้เวลาทั้งวันอย่างสิ้นหวัง พยายามติดต่อสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนที่อยู่ในเท็คนาฟเพื่อรวบรวมเงิน อาการบาดเจ็บของผมแย่ลงอีก แต่ผมก็ยังไม่สามารถจะคิดถึงความเจ็บปวดได้ในตอนนี้ขณะที่ลูกชายยังถูกกักตัวอยู่ ในที่สุดเมื่อเราจ่ายเงินครบ ลูกชายผมก็ถูกปล่อยตัว

    หลังจากนั้นเราก็อออกเดินทางไปค่ายผู้ลี้ภัยเท็คนาฟ ที่นั่น น้องสะใภ้กับผมพยายามหาคนที่จะช่วยรักษาแผลของผมได้ ที่แรกที่เราไปถึงราคาแพงเกินไป เราจึงออกหาที่อื่น ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งหวังว่าจะได้เจอที่ที่รักษาผมได้ แต่ละแห่งให้การช่วยเหลือชั่วคราว แต่อาการของผมแย่ลงเรื่อยๆ จนในที่สุดผมถูกส่งตัวไปสถานพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นซึ่งเป็นที่ที่ผมเข้ารับการผ่าตัด

    หลังจากสี่สิบห้าวันผ่านไป ผมกลับบ้านได้ แต่ยังต้องไปหาหมอเพื่อติดตามอาการ ตอนนั้นพวกเราพยายามจะหาตั๋วลงทะเบียน เพราะการเป็นคนมาใหม่ที่ไม่มีอะไรติดตัวจะยิ่งใช้ชีวิตยากลำบาก แผลของผมแย่ลง ผมรู้ดีว่าต้องกลับไปรักษาต่อแต่ผมทำแบบนั้นไม่ได้ ผมทิ้งครอบครัวไว้ในสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้ไม่ได้ ผมเหนื่อยล้า รู้สึกไม่มั่นคงและรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกินที่จะดูแลครอบครัวในสภาพการณ์เช่นนี้

    เรามีกันทั้งหมดเก้าคนอาศัยอยู่ในที่พักขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับสี่คน แบ่งใช้พื้นที่ร่วมกันกับครอบครัวของยายของฝั่งภรรยา อาหารก็ขาดแคลน พวกเราอยู่รอดกันได้ด้วยอาหารที่มาจฮี (ผู้นำชุมชน) ปันให้ แต่ก็ไม่เคยเพียงพอ มีหลายวันที่เรากินข้าวแค่มื้อเดียวและผมต้องทนมองลูกๆ ผมที่มีแววตาหิวโหย ผมไม่มีปัญญาหาอะไรมาให้พวกเขาได้อีก น้ำก็จำกัดเหมือนกัน เราต้องอยู่ให้ได้ด้วยน้ำไหเดียวต่อวัน

    อนาคตของเราที่นี่ว่างเปล่า เราไม่มีบ้าน ไม่มีรายได้ ไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับอนาคต ชีวิตของลูกๆ เราเต็มไปด้วยความยากลำบาก ตอนนี้ผมได้ยินมาว่าการแจกตั๋วแลกของ ถูกเลื่อนออกไปอีก การที่เราไม่มีเอกสารที่เรียบร้อยทำให้ถูกปฏิเสธการเข้าถึงบริการที่จำเป็นรวมถึงบริการทางการแพทย์ แผลของผมที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องก็ไม่สามารถทำได้ ผมกังวลใจเรื่องสุขภาพของผมและความเป็นอยู่ของครอบครัว

    ความล่าช้าที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้พวกเราหวาดกลัวมากขึ้น เพราะอีกไม่นานเราอาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกต่อไป เราหยิบยืมจากญาติมิตรทุกคนที่ยินดีจะช่วยเหลือ แต่ทุกคนก็ลำบากเหมือนกัน อีกไม่นานเราอาจไม่มีใครให้หันไปหาเพื่อขอความช่วยเหลืออีกแล้ว

    * ชื่อได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกปิดตัวตน