โรฮิงญา: จากบ้านมากว่า 6 ปี เล่าขานตัวตนผ่านสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ
รูปภาพรวมสมาชิกครอบครัวของมิลัวะอ์ในเมียนมา กระดาษเปื่อยสีซีดจางใบนี้คือภาพมิลัวะอ์ที่ล้อมรอบไปด้วยลูกชาย ลูกสาว และหลาน © MSF/Mohammad Hijazi
ครั้งหนึ่งในรัฐยะไข่ (Rakhine State) ทางภาคตะวันตกของประเทศเมียนมา เคยมีหมู่บ้านของกลุ่มโรฮิงญาตั้งอยู่ทั่วไป พวกเขาตั้งรกราก สร้างครอบครัว และหาเลี้ยงชีพ ทว่าวิถีชีวิตนั้นก็ถูกสั่นคลอนตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2560 เมื่อปรากฏการประหัตประหารและการกดขี่ทางกฎหมายซึ่งพุ่งเป้าไปยังชาวโรฮิงญา เป็นการบีบบังคับให้พวกเขาต้องอพยพหนีออกจากภูมิลำเนาของตน
ชาวโรฮิงญา คือกลุ่มชนส่วนน้อยผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งถูกกีดกันสิทธิพลเมืองโดยทางการเมียนมา พวกเขาจำต้องหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ต้องทิ้งทุกสิ่งอย่างในชีวิตที่เคยมีไว้เบื้องหลัง แล้วข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ โดยปัจจุบัน ค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเมืองคอกซ์เบซาร์ (Cox's Bazar) เป็นที่อยู่ของชาวโรฮิงญากว่า 925,000 ชีวิต
ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของชาวโรฮิงญา 4 ครอบครัว กับเศษเสี้ยวข้อยืนยันในการมีชีวิตที่พวกเขานำติดตัวออกมาจากเมียนมาด้วย สิ่งของเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ ภาพฝัน และความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่านี้ ท่ามกลางความโกลาหลไร้ทิศทาง สิ่งของเหล่านี้เปี่ยมไปด้วยตัวตนและจิตวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของมัน ความไม่ย่อท้อต่อชะตา และความสามัคคีแห่งชาติพันธุ์ ในการประกอบสร้างวิถีชีวิตที่ถูกทำลายลงขึ้นมาใหม่ แม้ว่าแต่ละครอบครัวได้ประสบอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไปก็ตาม
ซะละมาตุลลอฮ์ (Salamatullah) อายุ 42 ปี
ซะละมาตุลลอฮ์ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาวัย 42 ปี เขาถือตะกร้าใส่สิ่งของเท่าที่พอจะนำติดตัวออกมาได้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง 2 วัน จากเมียนมาไปสู่บังกลาเทศ ในตะกร้านี้ใส่ของใช้ยังชีพสำหรับการเดินทางของเขา อาทิ อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า © MSF/Mohammad Hijazi
ในปี 2560 ราว 2 เดือนก่อนหน้าเหตุการณ์จะลุกลาม ซะละมาตุลลอฮ์มีเวลาตัดสินใจไม่มากนัก ด้วยปรากฏว่าทางการเริ่มจับกุมชาวโรฮิงญาโดยไม่เลือกหน้า เขาจึงเลือกหนีออกมาอย่างไม่รอช้า ทิ้งข้าวของทุกสิ่งไว้เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้นำสิ่งที่เป็นของสำคัญในชีวิตติดตัวมาด้วย คือ รูปภาพสมาชิกครอบครัวของเขา เอกสารจากทางศาล ผ้าห่ม ปิ่นโตใส่อาหาร และตะกร้าใบหนึ่งเพื่อใส่ของเหล่านี้
ตะกร้าที่ซะละมาตุลลอฮ์หอบหิ้วมาด้วยจากเมียนมา ในตะกร้ามีผ้าห่ม ปิ่นโตใส่อาหาร และเอกสารราชการต่างๆ ของเขา © MSF/Mohammad Hijazi
"ฉันมีเวลาเก็บข้าวของมาได้เท่านี้แหละ พวกรูปภาพนี่ต้องเอามาด้วยให้ได้ มันเป็นกำลังใจให้ตลอด 2 วันที่หนีออกมา" เขาเล่า
ส่วนเอกสารที่เขาได้มาจากศาลก็มีที่มาที่ไป "ฉันต้องเสียค่าปรับ จึงได้ออกมาจากคุก" เขาเล่าถึงโทษทัณฑ์ที่เขาถูกลงโทษโดยไร้สาเหตุ "ฉันพกใบนี้ติดตัวไว้เป็นสรณะ แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่พวกเราต้องทนรับไว้"
ซะละมาตุลลอฮ์ วัย 42 ปี ถือหนังสือสำคัญแสดงการปล่อยตัวจากเรือนจำ เป็นสิ่งบันทึกความอยุติธรรมชิ้นหนึ่งที่เขาได้รับจากทางการเมียนมา "ฉันต้องเสียค่าปรับ จึงได้รับการปล่อยตัว" เขาเล่า เอกสารฉบับนี้เป็นพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เขาต้องแบกรับ © MSF/Mohammad Hijazi
ในขณะที่ซะละมาตุลลอฮ์หนีออกมาโดยลำพัง โดยแยกกันกับซุบีฏอระ (Subitara) ภรรยาของเขาที่พาลูกอีก 3 คนไปด้วย หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างต้องบุกป่าฝ่าดง พวกเขาก็ได้พบกันอีกครั้งในพื้นที่ค่ายพักพิง
ภาพของสายใยซึ่งไม่อาจพรากจากกันได้ ซะละมาตุลลอฮ์ [42 ปี] ภรรยาของเขา ซุบีฏอระ [35 ปี] มุฮัมมัดเคาซัร [5 ปี] บุตรชาย จากแรกเริ่มที่ต่างคนต่างหนีออกมาจากเมียนมา ในที่สุดพวกเขาก็กลับมาเจอกันได้อีกครั้ง ณ ค่ายพักพิงในเมืองคอกซ์เบซาร์ ประเทศบังกลาเทศ © MSF/Mohammad Hijazi
แม้อยู่ในค่ายพักพิงแล้ว ซะละมาตุลลอฮ์ยังคงมีเรื่องทุกข์ใจ เขามักเปรยว่าไม่รู้พวกเขาจะมีโอกาสได้กลับบ้านอีกหรือไม่ "ทุกวันที่ผ่านไป ฉันเองก็แก่ตัวลงเรื่อยๆ แต่ยังไม่เห็นปลายทางว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร" เขากล่าว สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาก็คือลูกทั้ง 3 คน "ความคิดว่าลูกๆ ของฉันจะมีอนาคตอย่างไรถ้าเรายังคงมีชีวิตเช่นนี้ แค่ก็ทำให้หลับไม่ลงแล้ว ฉันแค่หวังไว้เหนือสิ่งอื่นใด ให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ กับมีสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"
อับดุลชะกูร (Abdulshakour) อายุ 43 ปี
อับดุลชะกูร วัย 43 ปี เป็นบิดาของบุตรจำนวน 7 คน ครั้งหนึ่งชีวิตของเขามีเพียงแค่ครอบครัวกับการทำงานเท่านั้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากเหตุการณ์วันที่ 25 สิงหาคม 2560 ในภาพนี้เขานั่งอยู่ข้างบุตรชายซึ่งกำลังยืนถือกระเป๋าย่าม ข้างในบรรจุของใช้ส่วนตัวเท่าที่จะนำติดตัวมาด้วยได้ © MSF/Mohammad Hijazi
เมื่อครั้งยังอยู่เมียนมา อับดุลชะกูร วัย 43 ปี หาเลี้ยงชีพจากการทอดแหอวนหาปลาตามลำน้ำต่างๆ แล้วนำปลาที่ได้ไปขายที่ตลาดละแวกนั้น การมีลูกถึง 7 คน ชีวิตของอับดุลชะกูรจึงไม่พ้นเรื่องการหารายได้เลี้ยงปากท้องครอบครัว จนกระทั่งเหตุการณ์วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่พลิกชีวิตของเขาไปตลอดกาล
เมื่อชุมชนใกล้เคียงตกเป็นเป้าหมายการโจมตี มีการปะทะเกิดขึ้นรอบหมู่บ้าน ความโกลาหลก็เกิดขึ้น "ทุกคนแตกตื่นหนีเอาตัวรอด" อับดุลชะกูรเล่า จากความชุลมุนทำให้เขาพลัดหลงกับครอบครัวนานถึง 25 วัน แต่ก็ได้เจอหน้ากันอีกครั้งระหว่างเดินทางโดยเรือเล็กเพื่อไปยังบังกลาเทศ
อับดุลชะกูร อายุ 43 ปี ถือแผ่นป้ายเลขที่บ้านซึ่งเขาเคยอาศัยอยู่ในเมียนมา เป็นสิ่งของอย่างหนึ่งที่ทำให้หวนนึกถึงความหลัง บุตรชายของเขายืนอยู่ข้างๆ ในมือหอบแหจับปลาของผู้เป็นพ่อ เพื่อแสดงถึงวิถีการดำรงชีพในช่วงที่ผ่านมา © MSF/Mohammad Hijazi
การอพยพหลบหนีมีข้อจำกัดหลายอย่าง ผู้คนจึงได้รับคำแนะนำว่าควรนำสิ่งของสำคัญติดตัวไปเพียงชิ้นเดียว สำหรับอับดุลชะกูรแล้ว สิ่งของชิ้นนั้นเดาได้ไม่ยาก มันคือแหจับปลานั่นเอง "ฉันเชื่อว่าฉันจะได้ใช้งานมันที่นี่ (ค่ายผู้ลี้ภัย)" เขาว่า ทว่าปัญหาด้านสุขภาพทำให้เขาไม่สามารถจับปลาในที่อยู่ใหม่ดังหวังได้
"ฉันเชื่อว่าฉันจะได้ใช้งานมันที่บังกลาเทศนะ" อับดุลชะกูรกล่าว บุตรชายของเขายกแหจับปลาขึ้นมาให้ดู เขาเคยใช้มันเพื่อเลี้ยงปากท้องเมื่อครั้งยังอยู่ในเมียนมา โดยการหาปลาไปขายตามตลาดสดแถวบ้าน © MSF/Mohammad Hijazi
การใช้ชีวิตในค่ายพักพิงผู้อพยพเองก็มีความยากลำบาก "ตั้งแต่ปี 2565 ก็มีคนอพยพเข้ามาตลอด แต่ว่าพื้นที่ค่ายไม่ได้ขยายตาม" เพื่อให้มีมื้ออาหารที่หลากหลายและเพียงพอ หลายครอบครัวก็นำพืชผักที่ปลูกเป็นอาหารมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน "เราจะกินแต่ปลาไม่ได้หรอก" อับดุลชะกูรกล่าวเสริม ชี้ถึงความจำเป็นในการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เมื่อลูกของเขาคลอดที่นี่ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ดูน่ากังวลยิ่งไปอีก
ของชิ้นหนึ่งที่ดูเด่นชัดคือป้ายเลขที่บ้านที่เขานำมาด้วย มันเป็นเหมือนภาพชีวิตที่หยุดนิ่งไว้กลางการเคลื่อนไหวของกาลเวลา เป็นสิ่งยึดโยงให้เขาหวนนึกถึงความทรงจำและความเป็นอยู่ในอดีต
ป้ายเลขที่บ้านในมือของอับดุลชะกูร ของชิ้นสำคัญที่เขานำมาด้วย เป็นความหวังที่จับต้องได้ว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้กลับบ้านเกิดในเมียนมา © MSF/Mohammad Hijazi
เมื่อเขาติดต่อกับพี่น้องผู้ชาย 2 คนของภรรยาซึ่งยังคงอยู่ในเมียนมา จึงทราบข่าวคราวว่าได้มีมาตรการจำกัดการเดินทางชาวโรฮิงญา ส่งผลให้การเดินทางไปยังพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องยากลำบากมากกว่าเดิม สำหรับอับดุลชะกูรแล้ว ใจของเขายังคงปักอยู่กับถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมในเมียนมา "ฉันยังคงคิดถึงถิ่นที่เคยอยู่ คิดถึงครอบครัว และยังหวังอยู่ตลอดว่าจะได้กลับไป" เขาเล่าความในใจ ซึ่งไม่แตกต่างกับอีกหลายคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน
มิลัวะอ์ (Melua) อายุ 65 ปี
มิลัวะอ์ วัย 65 ปี ตัดสินใจทิ้งบ้านเรือนของตนในเมียนมาจากเหตุความรุนแรงที่เริ่มลุกลาม เมื่อนึกย้อนไปยามที่เธอต้องเดินทางหนีออกมาโดยไม่ทันตั้งตัว เธอเล่าว่า "ในขณะที่ทุกอย่างฉุกละหุกไปหมด ฉันก็เลือกหยิบเอกสารสำคัญมาบางส่วน กับแฟ้มภาพของครอบครัวเราซึ่งมีสูติบัตรของลูกสาวฉัน กับภาพถ่ายรวมสมาชิกในครอบครัว ส่วนที่เหลือฉันทิ้งไว้เลย แม้แต่เสื้อผ้าที่เพิ่งซักเสร็จมาใหม่ๆ" © MSF/Mohammad Hijazi
มิลัวะอ์ในวัย 65 ปี เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนในชีวิต สถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นบีบบังคับให้ครอบครัวเธอจำต้องหนีออกมา จนกระทั่งเดินทางมาถึงค่ายพักพิงในวันอีดิลอัฎฮาของปี 2560 (Eid al-Adha - วันสำคัญในศาสนาอิสลาม) เมื่อต้องตัดสินใจโดยด่วนว่าจะนำอะไรติดตัวไปบ้าง เธอเล่าว่า "ในขณะที่ทุกอย่างฉุกละหุกไปหมด ฉันก็เลือกหยิบเอกสารสำคัญมาบางส่วน กับแฟ้มภาพของครอบครัวเราซึ่งมีสูติบัตรของลูกสาวฉัน กับภาพถ่ายรวมสมาชิกในครอบครัว ส่วนที่เหลือฉันทิ้งไว้เลย แม้แต่เสื้อผ้าที่เพิ่งซักเสร็จมาใหม่ๆ"
มิลัวะอ์ อายุ 65 ปี กับสิ่งของอันมีคุณค่าทางจิตใจเพียงไม่กี่ชิ้นที่เธอสามารถนำติดตัวมาด้วยได้ เมื่อต้องอพยพหนีออกมาจากเมียนมา หนึ่งในนั้นคือรูปภาพของครอบครัว เป็นของมีค่ายิ่งสำหรับเธอในเวลานี้ © MSF/Mohammad Hijazi
การเลือกของมิลัวะอ์มาจากการมองโลกตามความเป็นจริง เอกสารเหล่านี้นอกจากเป็นวัตถุเชิงสัญลักษณ์ของเชื้อสายตระกูลของเธอแล้ว มันยังมีประโยชน์กับการยืนยันตัวตนในภายภาคหน้า เรื่องราวความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ากลับตาลปัตรอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับความสงบสุขในชีวิตก่อนหน้า
เธอจำภาพชีวิตของเธอเมื่อครั้งยังอยู่ในเมียนมาได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ทั้งเสาบ้าน รั้ว ผืนแผ่นดินที่ตนเป็นเจ้าของ ฝูงไก่ที่เลี้ยงไว้ และมุมโปรดที่เธอมักไปรับประทานอาหาร ยิ่งหวนคำนึงถึงเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเกิดเมืองนอนของเธอมากเท่าไร ความรู้สึกภายในก็พรั่งพรูออกมาเท่านั้น "ถ้าพูดถึงเรื่องพวกนี้ทีไรก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่" เธอว่า
มิลัวะอ์ยื่นหนังสือทะเบียนบ้านให้ดู เป็นเอกสารที่ออกให้โดยหน่วยงานเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร์และคนต่างด้าวของเมียนมา (Immigration and Population Department) ซึ่งระบุรายละเอียดของบุคคลในครอบครัวเธอไว้ทั้งหมด ชาวโรฮิงญามักจะเก็บไว้อย่างดีเพราะเป็นหลักฐานการได้รับสัญชาติของพวกเขา © MSF/Mohammad Hijazi
อย่างไรก็ดี การตัดสินใจกลับสู่มาตุภูมิของเธอก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางประการ เธอขยายความว่า "ถ้าเราจะกลับไป ก็ต้องเห็นว่ามีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต มีการยอมรับ ไม่ถูกกีดกัน มีสิทธิเสรีภาพของพลเมือง และมีอนาคตสำหรับคนรุ่นหลังของเรา โดยเฉพาะโอกาสการเข้าถึงการศึกษา"
ท่ามกลางชุมชนของผู้พลัดถิ่น มันยังคงมีความหวังสำหรับอนาคตที่ดีกว่าและช่องทางในการได้รับการศึกษาสำหรับลูกหลานของเธอ ซึ่งสิ่งนี้ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนจิตวิญญาณของมิลัวะอ์อยู่ในเวลานี้
มิลัวะอ์ อายุ 65 ปี ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา วันนี้เธอมารับยาที่โรงพยาบาลสนามกุตุปาลอง (Kutupalong) ขององค์การฯ ในเมืองคอกซ์เบซาร์ ประเทศบังกลาเทศ เธอต้องหลบหนีออกมาจากเมียนมา และได้มาอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตั้งแต่ปี 2560 © MSF/Mohammad Hijazi
ฮะบิบัลลอฮ์ (Habibullah) อายุ 52 ปี
ฮะบิบัลลอฮ์ วัย 52 ปี นั่งถือถุงใส่เอกสารสำคัญอย่างบัตรระบุตัวตน เอกสารราชการต่างๆ และใบอนุญาตขับรถ © MSF/Mohammad Hijazi
ฮะบิบัลลอฮ์ วัย 52 ปี หาเลี้ยงชีพโดยการเป็นคนขับรถ รับส่งผู้โดยสารระหว่างพื้นที่สองฟาก มีลูกสาว 2 คน และลูกชาย 2 คน เขาเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งชีวิตยังสงบสุขก่อนเกิดเหตุการณ์ในปี 2560
เมื่อเหตุรุนแรงลุกลามใหญ่โต ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็คือประชาชนคนธรรมดาอย่างเช่นฮะบิบัลลอฮ์ "หมู่บ้านของเราตกเป็นเป้าของการโจมตี" การนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตทำให้เขาไม่สบายใจ "ถ้าขืนยังอยู่ที่นั่นต่อก็จะเป็นอันตราย เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว มีแค่การออกมาหรืออยู่ต่อไปแบบเสี่ยงชีวิต" พวกเขามีเวลาเพียงไม่กี่วันที่จะเลือกการตัดสินใจครั้งใหญ่ จนกระทั่งแนวการสู้รบเข้าประชิดใกล้มา ฮะบิบัลลอฮ์และเพื่อนบ้านจึงหนีไปหลบภัยชั่วคราวในเทือกเขา
ฮะบิบัลลอฮ์ วัย 52 ปี กับเสื้อแจ็กเกตตัวเดียวที่เขาหยิบติดตัวมาขณะเดินทางออกจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศ © MSF/Mohammad Hijazi
“ฉันเดินทางไปเรื่อยๆ มาถึงแม่น้ำที่เป็นชายแดนบังกลาเทศ ระยะทางราว 50 ไมล์ (ประมาณ 80 กม.)" ฮะบิบัลลอฮ์เล่า "ฉันต้องหลบๆ ซ่อนๆ รู้สึกตลอดว่ามีอันตรายอยู่รอบตัว ทั้งเสียงปืนลั่นกระหน่ำมาจากไกลๆ หรือว่ารูกระสุนที่เห็นพรุนเต็มไปหมด" ความชุลมุนทำให้ต่างคนก็หลงกระจัดกระจายไป แต่ก็กลับมาพบกันที่ค่ายพักพิงผู้ลี้ภัย
แม้สถานการณ์จะดูสิ้นหวังแต่ฮะบิบัลลอฮ์ก็ตั้งสติไว้ได้ เขาจึงไม่ลืมที่จะพกเอกสารสำคัญต่างๆ กับใบอนุญาตขับรถมาด้วย "ในเวลาชี้เป็นชี้ตายแบบนี้ ฉันมีเอกสารพวกนี้เป็นสิ่งยืนยันตัวตนของฉัน" เขาทราบดีถึงถึงอุปสรรคที่อาจพบเมื่อต้องไปเยือนต่างถิ่น เขาจึงเล็งเห็นได้ว่าเอกสารเหล่านี้จะมีค่าอย่างยิ่งในการบ่งบอกอัตลักษณ์ของตน และยังให้ความรู้สึกมั่นคงในชีวิตได้บ้างในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นตา
ฮะบิบัลลอฮ์วางเรียงเอกสารต่างๆ ให้ดู มีบัตรประจำตัวผู้ลี้ภัย หนังสือทะเบียนบ้าน เอกสารราชการต่างๆ และใบอนุญาตขับรถ ปึกแผ่นกระดาษเหล่านี้เป็นพยานหลักฐานถึงการมีอยู่ของอัตลักษณ์ของเขา © MSF/Mohammad Hijazi
เมื่อพูดถึงอนาคตในภายภาคหน้า ฮะบิบัลลอฮ์เผยความปรารถนาแรงกล้าอันจะได้กลับไปยังแผ่นดินเกิดของตน "ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองมันสงบลง ฉันก็จะกลับไปเมียนมาอย่างแน่นอน คงไม่มีใครเต็มใจทิ้งบ้านเกิดตัวเองไปหรอก ไม่มีใครอยากจะเป็นคนไร้รัฐที่ไม่มีสิทธิไม่มีความคุ้มครองใดๆ แบบนี้" น้ำเสียงของเขาทอดคำนึงถึงความหลังแสนชื่นมื่น "ฉันคิดถึงทุกอย่างเกี่ยวกับเมียนมา ครอบครัว สนามหญ้า ฝูงสัตว์ บ้าน และหลุมฝังศพของพ่อแม่"
ฮะบิบัลลอฮ์ชูใบอนุญาตขับรถกับรูปภาพครอบครัวให้ดู นอกเหนือจากของใช้ยังชีพอื่นๆ ที่เขานำติดตัวมาด้วย ก็มีสิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุแห่งความทรงจำที่บรรจุไว้ด้วยภาพชีวิตที่เขาเคยมีในเมียนมา © MSF/Mohammad Hijazi
ฮะบิบัลลอฮ์ อายุ 52 ปี กับใบอนุญาตขับรถของเขา เมื่อครั้งยังอยู่เมียนมาเขาหาเลี้ยงชีพโดยการเป็นคนขับรถรับจ้าง รับส่งผู้โดยสารไปมาตามสถานที่ต่างๆ "ที่ฉันเอาเอกสารพวกนี้มาด้วยก็เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันตัวตนของฉัน เผื่อว่าจะมีเจ้าหน้าที่เรียกตรวจดู" เขากล่าว © MSF/Mohammad Hijazi
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières - MSF) ยังคงเดินหน้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือทางการแพทย์ ให้กับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเข้ามาที่ค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยนี้โดยตลอด ทางองค์การฯ ปฏิบัติภารกิจในประเทศบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2528 และในพื้นที่เมืองค็อกซ์เบซาร์ตั้งแต่ปี 2552 โดยเริ่มจากการก่อตั้งโรงพยาบาลสนามกุตุปาลอง (Kutupalong) ซึ่งให้บริการกับทั้งผู้ลี้ภัยและพลเมืองท้องถิ่น ภายหลังการอพยพเข้ามาระลอกใหญ่เมื่อปี 2560 ของชาวโรฮิงญาซึ่งหนีเอาชีวิตรอดจากความพยายามกวาดล้างชาติพันธุ์ในเมียนมา ทางองค์การฯ ก็ได้เสริมทัพการดำเนินงานในบังกลาเทศเพื่อรองรับจำนวนผู้ต้องได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีเพิ่มขึ้น จนกระทั่งปี 2562 ก็ได้มีการยกระดับความสามารถในการรองรับการรักษาพยาบาลระยะยาว สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างเช่น ความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน
ไม่ว่าจะเป็น ซะละมาตุลลอฮ์ อับดุลชะกูร ฮะบิบัลลอฮ์ และมิลัวะอ์ เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของผู้อพยพอีกจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งต่างก็มีสิ่งของบางอย่างอันมีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้มีกำลังก้าวต่อไป และให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของตน การเดินทางของพวกเขายังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีอุปสรรคกั้นขวาง พร้อมมีวัตถุแห่งความทรงจำเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวไว้ให้กำลังใจ