โรฮิงญา: ยามผู้ลี้ภัยจำต้องการก่อร่างสร้างตัวตนอีกครั้ง
เพลิงไหม้เริ่มปะทุราวหนึ่งนาฬิกาของวันที่ 7 มกราคม โดยขั้นตอนการควบคุมเพลิงใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง ส่งผลให้ที่พักพิงกว่า 900 หลังถูกทำลาย - บังกลาเทศ 2567 © Jan Bohm/MSF
ราวตีหนึ่งของวันที่ 7 มกราคม เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ค่ายพักอาศัยหมายเลข 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในค่ายพักจำนวน 33 แห่งในเมืองคอกส์บาร์ซาร์ (Cox's Bazar) ประเทศบังกลาเทศ การควบคุมเพลิงใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงในการควบคุม โดยกองเพลิงทำลายบ้านเรือนราว 900 หลังและเสียหายอีกหลายร้อยหลัง ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 7,000 คน กลายเป็นผู้ไร้ที่พักพิงอีกครั้ง
“ฉันรู้สึกตัวตอนที่ที่พักพิงของฉันถูกไฟล้อมรอบ” นูร์ บาฮาร์ (Nur Bahar) เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั่งบนพื้น โดยบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่บ้านของเธอก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ นูร์หลบหนีออกมาจากเมียนมาในปี 2560 ขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เพราะสามีของเธอถูกสังหาร โดยตอนนี้บุตรชายของเธอใกล้จะครบ 7 ขวบแล้ว พื้นที่โดยรอบที่เธอกำลังนั่งอยู่ไม่มีผนังของบ้านหรือว่าหลังคาหลงเหลืออยู่ เธอและลูกชายกำลังนั่งอยู่บนพรม รายล้อมไปด้วยอาหารและเสื้อผ้าที่ได้รับการส่งต่อมาจากสมาชิกรายอื่นในค่ายพักอาศัย “พอไม่มีสามีหรือว่าครอบครัว ฉันก็ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ฉันต้องพึ่งพาอาหารที่ได้รับบริจาคมาและหวังว่าจะมีใครสักคนมาช่วยฉันสร้างพื้นที่พักพิงขึ้นมาใหม่”
ผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ก็เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้คนที่อาศัยรวมกันเป็นครอบครัวเช่นเดียวกัน อนุฮารา (Anuhara) วัย 67 ปี นั่งรวมอยู่กับวงศาคณาญาติของตนเอง ก่อนหน้านี้เธอพักอาศัยอยู่ร่วมกับลูกชาย 2 คนและลูกสะใภ้ หากก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้เพียงแค่ 2 วันลูกสะใภ้ของเธอก็คลอดบุตรและครอบครัวของลูกชายก็ย้ายไปอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่พักพิงอื่น ซึ่งมีญาติคนอื่นอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้น ลูกชายทั้ง 2 คนของเธอและสมาชิกครอบครัวรายอื่นกำลังช่วยกันสร้างแหล่งพักพิงแห่งใหม่จากไม้ไผ่ ทรัพย์สินของอนุฮาราที่หลงเหลืออยู่มีเพียงเสื้อผ้าที่เธอกำลังสวมใส่ ส่วนที่เหลือมอดไหม้ไปพร้อมกับเปลวเพลิงทั้งสิ้น “สิ่งเดียวที่ฉันยังคงเป็นเจ้าของอยู่ มีเพียงเสื้อผ้าชุดนี้”
โซนา อุลลาห์ (Sona Ullah) ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่กิจการด้านมนุษยธรรมภายในคลินิกขององค์การฯ ประจำเมืองบาลูคาลี (Balukhali) ตอนนี้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยเพลิงไหม้ภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัยเช่นกัน - บังกลาเทศ 2567 © Jan Bohm/MSF
โซนา อุลลาห์ (Sona Ullah) ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่กิจการด้านมนุษยธรรมภายในคลินิกขององค์การฯ ประจำเมืองบาลูคาลี (Balukhali) โดยคลินิกแห่งนี้เพิ่งเปิดทำการอีกครั้งภายหลังจากเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้เช่นกัน งานของเขาคือติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนชาวโรฮิงญาของเขาในค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และความต้องการของผู้คนเหล่านั้น รวมไปถึงการแนะนำว่าองค์การฯ ดำเนินการด้านใดบ้าง ตอนนี้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยเพลิงไหม้ภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัยเช่นกัน “พวกเราเพิ่งตกแต่งที่พักพิงสำหรับงานแต่งงานของลูกชายของฉัน” เขาเล่าขณะที่ยืนอยู่บนแผ่นพลาสติกที่นำมาปูรองชั่วคราว
แม้รายงานอย่างเป็นทางการจะไม่ปรากฎตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ แต่ผลกระทบก็กระจายตัวออกเป็นวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงภายในประเทศเมียนมากำลังถูกบีบให้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นอีกครั้ง นับตั้งแต่การเคลื่อนย้ายระลอกใหญ่มายังมืองคอกส์บาร์ซาร์ในช่วงปี 2560 ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือไม่ชัดเจน อาศัยอยู่ในสภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนอย่างสมบูรณ์ และเมื่อนี่เป็นเพียงค่ายพักพิงชั่วคราว จึงไม่มีการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารชนิดถาวรภายในค่าย ชาวโรฮิงญาไม่สามารถทำงาน เด็กไม่ได้รับการศึกษาตามระเบียบมาตรฐาน และผู้คนยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดอีกมากมาย
บรรดาเด็กน้อยต่างเลือกเสื้อผ้าที่ได้รับการส่งต่อมา เมื่อพวกเขาทราบว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ในค่ายหมายเลข 5 การประสานงานระหว่างชุมชนชาวโรฮิงญาเพื่อส่งต่อเสื้อผ้าและอาหารก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว - บังกลาเทศ 2567 © Jan Bohm/MSF
ความตั้งใจในการฟื้นคืนชีวิตให้กับชุมชนของชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นของค่ายต่างเดินทางมายังจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วเพื่อส่งต่อเสื้อผ้าและอาหาร ในส่วนของการสนับสนุนขององค์การฯ ได้มีการปฐมพยาบาลทางใจ อีกทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อประเมินความต้องการของชาวโรฮิงญา รวมถึงเตรียมการสำหรับการประสานครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายหมายเลข 5 ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในค่ายหมายเลข 11 ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ “หลังจากที่ค่ายหมายเลข 5 เกิดความเสียหาย ผู้คนจากค่ยหมายเลข 11 เองก็เดินทางมาเพื่อส่งต่อเสื้อผ้าและอาหารเช่นเดียวกัน” ริค เองเกล (Erik Engel) ผู้ประสานงานโครงการขององค์การฯ กล่าว
“ต่อให้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพวกเขาจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ชาวโรฮิงญาต้องการอย่างแท้จริงคือการสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงของพวกเขา การใช้ชีวิตกลางความไม่แน่นอนจะปิดกั้นเส้นทางสู่การดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี”ริค เองเกล ผู้ประสานงานโครงการ