วันผู้ลี้ภัยโลก 2023: #ImagineRohingya - เรื่องเล่าจากภาพถ่าย
© Olivier Malvoisin/MSF
ในวันผู้ลี้ภัยโลกปี 2023 นี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ถือโอกาสเปิดตัวตอนแรกของเรียงความภาพถ่ายรายเดือนที่ถ่ายทอดภาพสถานการณ์ในค่าย Cox's Bazar ที่บังกลาเทศ ซึ่งชาวโรฮิงญากำลังเผชิญอยู่โดยมีกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนเป็นสักขีพยาน
‘ผมไม่รู้ว่าชีวิตของคนทั่วไปเป็นแบบไหน ที่ผมรู้จักมีแค่ชีวิตในนี้’ - Jamal, ค่าย 2W, 01/06/2023. © Olivier Malvoisin/MSF
ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไร้สัญชาติซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พวกเขาเคยอาศัยอยู่เคียงข้างชุมชนชาวพุทธในรัฐยะไข่ เมียนมา มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่พวกเขาตกเป็นเป้าหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการสูญเสียสิทธิอย่างต่อเนื่อง ชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนจึงหลบหนีไปยังบังกลาเทศ ในปัจจุบันค่าย Cox's Bazar จึงกลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จนถึงตอนนี้ ปี 2023 ถือเป็นปีที่ท้าทายอีกครั้งสำหรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ต้องใช้ชีวิตอยู่แค่ในค่าย ในปี 2022 ภารกิจตอบสนองวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้รับเงินทุนสนับสนุนน้อยที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ชาวโรฮิงญาจึงต้องเผชิญกับการลดปริมาณเพื่อปันส่วนอาหารถึง 2 ครั้งในปีนี้ พวกเขายังต้องเผชิญกับโรคระบาดเนื่องจากน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยไม่เพียงพอ รวมถึงการระบาดของโรคหิดที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งองค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ส่งสัญญาณเตือนภัยครั้งแรกเมื่อกว่าหนึ่งปีที่แล้ว โรคหิดเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไรขนาดเล็กซึ่งมุดเข้าไปในผิวหนังชั้นบนเพื่อเป็นที่อาศัยและวางไข่ ทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และเกิดผดผื่นลักษณะคล้ายสิวในคนส่วนใหญ่ โรคหิดมักเกิดกับเด็ก แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็สามารถแพร่กระจายไปยังทั้งครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พายุไซโคลนลูกใหญ่ที่ชื่อว่า 'โมคา' พัดถล่มค่าย ส่งผลกระทบต่อหลายพันครอบครัวและสร้างความเสียหายให้กับเพิงพักที่สร้างจากไม้ไผ่ในบางพื้นที่ ไม่กี่วันหลังจากพายุไซโคลนผ่านไป เราได้พบกับ Jamal ในค่าย 2W ถัดจากโรงพยาบาล Kutupalong ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน Jamal อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกเล็กๆ สองคนในเพิงไม้ไผ่เป็นเวลาหลายปีแล้ว ขณะที่เผชิญกับพายุไซโคลน เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหลบอยู่ภายในเพิงและรอให้พายุผ่านพ้นไปโดยหวังว่าจะไม่มีใครเป็นอะไร นอกจากนี้ Jamal ยังเป็นช่างภาพอีกด้วย เขาบันทึกชีวิตในค่าย โดย "หวังว่าจะสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา" หลังจากพายุไซโคลนพัดถล่ม เขาออกไปเดินรอบๆ แคมป์เพื่อบันทึกภาพความเสียหายด้วยโทรศัพท์ของเขา “เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าผู้คนรับมือกับมันอย่างไร” เขากล่าว
‘เราไม่ได้เลือกที่จะอยู่ด้วยการพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม คุณเข้าใจใช่ไหม? แต่ที่นี่น่ะ อย่าลืมว่าเราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ไม่ใช่เราเลือกเอง คุณเข้าใจสินะ’ - Rahim, โรงพยาบาล Kutupalong, 03/2023. © Olivier Malvoisin/MSF
ในขณะที่ใช้ชีวิตโดยไม่มีโอกาสจะได้กลับไปยังภูมิลำเนาในเมียนมาได้อย่างปลอดภัย ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือได้รับการศึกษาภาคปกติ และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของพวกเขา พวกเขาต้องอยู่กับความไม่แน่นอนของอนาคต ทั้งสำหรับตัวเองและลูกๆ ของพวกเขา ในปี 2022 ปริมาณเงินทุนที่ส่งมาเพื่อช่วยเหลือวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามีจำนวนน้อยที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการขั้นพื้นฐาน เช่น การปันส่วนอาหาร ซึ่งถูกลดปริมาณลงถึง 2 ครั้งในปีนี้
“การปรับลดการปันส่วนอาหารเป็นแค่เรื่องเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ที่เราทำได้ก็แค่ "มีเท่าไรก็เอาเท่านั้น" เราทำอะไรกับเรื่องนี้ไม่ได้ สถานการณ์ที่นี่ยิ่งตึงเครียดมากขึ้นในปีนี้ ไม่ใช่แค่เพราะการปันส่วนอาหารเท่านั้น ในปี 2020 มีการล้อมรั้ว เราไม่สามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายในบังกลาเทศได้ ดังนั้นผู้คนจึงยอมเสี่ยงชีวิตใช้เส้นทางอันตรายหนีไปยังมาเลเซีย อย่างน้อยตายอย่างมีความหวังก็ยังดีกว่าอยู่อย่างไม่มีอะไรให้หวัง พอเจอการลดปันส่วนอาหาร ทั้งท้องไส้หิวโหย ผู้คนก็จะลองทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม” ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เราได้พบปะเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2023 ในค่าย กล่าวกับเรา
‘ใช่ เราต้องทนหวาดกลัวตอนที่พายุไซโคลนโมคาพัดถล่ม ต้นไม้ต้นหนึ่งล้มทับเพิงพักของเราด้วย แต่เราซ่อมมันเองแล้ว เพิงพักของเราไม่มีความแข็งแรงเลย คุณเอ๋ย’ - Abul, ค่าย 2E, 31/05/2023. © Olivier Malvoisin/MSF
เดือนพฤษภาคมได้กลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอีกครั้งในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ในบังกลาเทศ ซึ่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนต้องอาศัยอยู่แต่ภายในบริเวณรั้วลวดหนาม เมื่อฤดูมรสุมมาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้ พายุไซโคลนลูกใหญ่ที่มีชื่อว่า 'โมคา' พัดถล่มค่ายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ความเสียหายที่เกิดจากพายุไซโคลนทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญายิ่งเลวร้ายลง เนื่องจากพวกเขายังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง โดยไม่สามารถออกจากค่ายไปหลบภัยในที่ที่ปลอดภัยกว่านี้ได้
‘เมื่อถามถึงความทรงจำที่มีความสุขที่สุดจากเมียนมา ผู้หญิงโรฮิงญามักพูดถึงอะไรสักอย่างเกี่ยวกับบ้านของพวกเธอ’ - อาสาสมัครชาวโรฮิงญา, ศูนย์วัฒนธรรมโรฮิงญา, ค่าย 18. © Olivier Malvoisin/MSF
ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไร้สัญชาติซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พวกเขาเคยอาศัยอยู่เคียงข้างชุมชนชาวพุทธในรัฐยะไข่ ของเมียนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ แต่หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่พวกเขาตกเป็นเป้าหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการสูญเสียสิทธิอย่างต่อเนื่อง ชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนจึงหลบหนีไปยังบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียง ในปัจจุบันค่าย Cox's Bazar จึงกลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในขณะที่ไม่มีโอกาสกลับบ้านในรัฐยะไข่ได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยของเราและชุมชนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่มักจะบอกเราถึงความปรารถนาที่จะกลับไปใช้ชีวิตในเมียนมา
‘ฉันมีกระเป๋าเตรียมพร้อมเผื่อไฟไหม้ (…) เหตุร้าย ไฟไหม้ การลดปริมาณอาหารแจกจ่าย ทั้งหมดนี้ทำให้ฉันหลับไม่ลง ฉันสัมผัสได้ถึงผลกระทบต่างๆ จากสิ่งที่ฉันทำและการพูดคุยกับคนอื่น’ - Rihanna, ค่าย 09, 01/03/23. © Olivier Malvoisin/MSF
Rihanna อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกใน Cox’s Bazar ของบังกลาเทศ เธออยู่ร่วมเพิงไม้ไผ่เดียวกับคนอื่นอีก 7 คน ได้แก่ แม่ พี่สาว และลูกๆ ของพวกเขา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2023 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในค่ายใกล้เคียงซึ่งเผาทำลายที่เพิงพักอาศัยหลายร้อยหลัง เราได้พบกับ Rihanna ไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น เธอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่มั่นคงและความเปราะบางของสภาพความเป็นอยู่ในค่าย ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และการต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัยต่างๆ โดยไร้เครื่องป้องกัน
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดบางประการในการเข้าร่วมโครงการบำบัดสุขภาพจิตในศูนย์การแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนของเราคือความวิตกกังวลที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์อันสิ้นหวัง การขาดความปลอดภัย และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต ในปีนี้ ชาวโรฮิงญาต้องพบกับการปรับลดปันส่วนอาหารถึง 2 ครั้ง เนื่องจากเงินทุนสนับสนุนที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา การลดปันส่วนอาหารเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการและการเกิดโรคระบาดร้ายแรงอื่นๆ ในขณะที่ชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดยังจำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหาร เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีการลดการปันส่วนสบู่ ในเวลาเดียวกันกับที่การสำรวจภาคส่วนด้านสุขภาพที่ดำเนินการอยู่ในค่ายแสดงให้เห็นว่ามีการระบาดของโรคหิดภายในค่ายถึง 40%
'เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อเหลือเกินว่าการระบาดของโรคหิดจะถูกปล่อยปละละเลยจนแพร่ระบาดเป็นเวลานานขนาดนี้’ - Karsten Noko, หัวหน้าโครงการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน, บังคลาเทศ, 06/2023. © Olivier Malvoisin/MSF
เกือบร้อยละ 40 ของคนในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศติดโรคหิด ตามผลสำรวจการระบาดที่จัดทำโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของค่ายในปีนี้ ในบางค่ายตัวเลขนี้สูงถึง 70% ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับสิ่งที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้พบเห็นในคลินิกของเรา ซึ่งเราได้รักษาอาการเกี่ยวกับโรคหิดไปแล้วกว่า 200,000 ครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว โรคหิดทำให้เกิดอาการคันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง และเกิดผื่นคล้ายสิวในคนส่วนใหญ่ โรคหิดมักเกิดกับเด็ก แต่ถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็จะสามารถแพร่กระจายไปยังทั้งครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว
จากผลสำรวจเหล่านี้ Karsten Noko หัวหน้าโครงการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในบังกลาเทศได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2023 ว่า
“เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อเหลือเกินว่าการระบาดของโรคหิดจะถูกปล่อยปละละเลยจนแพร่ระบาดเป็นเวลานานขนาดนี้ จนสร้างความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความอับอายขายหน้าให้กับคนจำนวนมาก คนเหล่านี้ถูกบีบบังคับให้ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาด้วยการประหัตประหารและความรุนแรง พวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายหลังรั้วลวดหนาม พวกเขาไม่มีสถานะทางกฎหมายและไม่มีสิทธิ์ในการทำงาน พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่กระนั้นการตัดเงินสนับสนุนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังทำให้ความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับลดน้อยลงไปทุกที
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นผลที่ตามมา เราขอเรียกร้องให้ภาคส่วนสาธารณสุข ผู้บริจาค และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะช่วยเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ร่วมกันพัฒนาและดำเนินการตอบสนองที่ครอบคลุมและหลากหลาย ซึ่งในที่สุดจะสามารถจัดการกับทั้งการรักษาและการป้องกันโรคหิดในวงกว้าง พร้อมทั้งสภาพของน้ำและสภาพสุขอนามัยที่น่าสะเทือนใจ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้การระบาดครั้งนี้ลุกลามจนเกินการควบคุม”
‘เราไม่มีพื้นที่เพียงพอ ฉันพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาสุขอนามัย แต่มันก็ยาก เพราะอย่างไรเราก็ต้องใช้เครื่องนอนร่วมกัน เราใช้เสื้อผ้าร่วมกัน ใช้ทุกอย่างร่วมกัน และตอนนี้เราก็ใช้โรคหิดร่วมกันอีกด้วย’ - Taher, ค่าย 15, 02/03/2023. © Olivier Malvoisin/MSF
โรคหิดเป็นโรคผิวหนังที่กำลังระบาดในหมู่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายใน Cox's Bazar ที่บังกลาเทศ จำนวนผู้ป่วยโรคหิดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสภาพความเป็นอยู่ในค่ายที่ผู้คนต้องอยู่ร่วมกันในพื้นที่เล็กๆ แคบๆ และบางคนมีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการในชีวิตประจำวันของพวกเขา ในขณะเดียวกันการปันส่วนสบู่ต่อเดือนของพวกเขาก็ถูกลดปริมาณลงเมื่อต้นเดือน
เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนพยายามจัดการกับการระบาดครั้งนี้ แต่จำนวนผู้ป่วยโรคหิดนั้นเกินขีดความสามารถขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่จะรับมือเพียงฝ่ายเดียว
Ajmot Ullah อายุ 26 ปี ผู้ป่วยโรคหิดอีกราย บอกกับเราในเดือนมีนาคม 2023 ว่า
“ภรรยาของผมเป็นโรคหิดเมื่อสองสามปีก่อน เธอไปที่ศูนย์การแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนและได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นในที่สุด ตอนนี้ทั้งครอบครัวของผมเป็นโรคหิดอีกแล้ว ลูกชายวัยสี่ขวบของเราติดโรคตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทีแรกเขาก็มีผื่นขึ้นที่มือ จากนั้นมันก็ลามไปทั่วร่างกาย เราหมดเงินไปกับค่าหมอและค่ายาจากร้านขายยาในละแวกนี้จนในที่สุดเขาก็อาการดีขึ้น แต่ไม่นานก็กลับมาติดใหม่ เขานอนไม่ค่อยหลับ ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดและคันไปทั้งตัวโดยเฉพาะตอนกลางคืน ลูกชายอีกสองคนของผมก็เป็นโรคหิดเหมือนกัน ส่วนผมเองกับภรรยาก็มีอาการหิดอีกแล้ว มันกลายเป็นฝันร้ายสำหรับครอบครัวของผม”
‘ปีหน้ายังไม่มีแผนทำอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีเลย ถ้ามีความหวังบ้างมันก็คงจะดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด ตอนนี้ขอแค่ให้ลูกๆ ได้มีการศึกษาก็คงจะดีที่สุดแล้ว’ - Jamal, ค่าย 2W, 01/06/2023. © Olivier Malvoisin/MSF
ชาวโรฮิงญาไม่มีโอกาสที่จะได้กลับบ้านในเมียนมาได้อย่างปลอดภัย พวกเขาถูกกักตัวไว้ที่ค่ายใน Cox’s Bazar ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือเดินทาง และเข้าถึงการศึกษาได้อย่างจำกัด สถานะเช่นนี้ทำให้พวกเขาเกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาบริการจากผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมในค่าย แม้ว่าพวกเขาจะต้องการดูแลอนาคตของตัวเองมากกว่านี้ก็ตาม เรามีความรับผิดชอบในฐานะชุมชนด้านมนุษยธรรมในการจัดหาเงินทุนและทรัพยากรที่ยั่งยืนเพื่อให้ชาวโรฮิงญามีสภาพความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและมีเกียรติจนกว่าสถานการณ์ของพวกเขาจะเปลี่ยนไปจนพวกเขาสามารถดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้