Skip to main content

    สิ่งที่ชาวโรฮิงญาปรารถนาในวันผู้ลี้ภัยโลก คือบ้าน ความปลอดภัย และชีวิตที่ปราศจากความหวาดกลัว

    Portraits of Rohingya refugees

    ปี 2525 คือปีที่พวกเขาถูกเพิกถอนสัญชาติ ตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงและรังแกนานหลายสิบปี ในเดือนสิงหาคม 2560 เหตุความรุนแรงก็ได้พรากชีวิตชาวโรฮิงญาไม่ต่ำกว่า 6,700 ราย และส่งผลให้อีกกว่า 600,000 รายต้องหลบหนีออกจากเมียนมา

     

    บรรดาผู้หลบหนีต้องใช้เส้นทางที่อันตรายทั้งทางบกและทางทะเลไปสู่บังกลาเทศ มาเลเซีย (Malaysia) กัมพูชา (Cambodia) ไทย (Thailand) และอินเดีย (India)

    ตัวเลขคาดการณ์ของชาวโรฮิงญาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอยู่ที่ 2 ล้านคน ซึ่งเกินครึ่งของจำนวนดังกล่าวอาศัยอยู่ในค่ายที่ถูกล้อมไปด้วยรั้วในคอกซ์บาซาร์ (Cox's Bazar) บังกลาเทศ ซึ่งเป็นค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่อีกกว่า 600,000 รายต้องทนอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่บีบคั้นในรัฐยะไข่

    A portrait of a Rohingya women

    “สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับอยู่อาศัยและปราศจากความกลัว”

    ฉันชื่อ โรฮิมา คาตุน (Rohima Khatun) อาศัยอยู่ที่ค่ายหมายเลข 15 ในบังกลาเทศ

    การใช้ชีวิตที่นี่เป็นเรื่องยาก และมันก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ฉันหนีความรุนแรงในเมียนมาในปี 2560 การโจมตีของกองทัพเมียนมาพรากทุกอย่างไปจากฉัน ไม่ว่าจะเป็นสามี สุขภาพ และความรู้สึกปลอดภัยของฉันด้วย ตอนนี้เหลือแค่ฉันกับลูกสาววัย 8 ขวบ พวกเราเดียวดายและกังวลตลอดเวลา บรรยากาศในค่ายน่ากลัว เต็มไปด้วยการต่อสู้ การลักพาตัว และความไม่ปลอดภัยตลอดเวลา

    สิ่งที่ฉันกลัวมากที่สุดตอนนี้คือความปลอดภัยของลูกสาว เธอไม่สามารถแม้แต่จะไปศูนย์การเรียนรู้จากอันตรายรอบตัว ฉันอยากให้เธอได้รับการศึกษาและโอกาสในชีวิตที่ดีกว่านี้ แม้แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานก็ยังต้องดิ้นรนหา การตามหาน้ำอุปโภคบริโภคหมายถึงการรอต่อแถวที่ยาวเหยียดหรือออกไปรับน้ำตอนกลางคืนซึ่งน่ากลัวมาก รวมถึงอาหารมักจะขาดแคลนบ่อยๆ เมื่อไหร่ที่ลูกสาวฉันป่วย การจ่ายค่าดูแลรักษาพยาบาลเป็นเหมือนฝันร้าย ฉันต้องเลือกระหว่างซื้ออาหารหรือค่ายาที่เธอต้องฉีด นี่ไม่ควรเป็นทางแยกที่แม่คนไหนต้องเลือกเลย

    สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับอยู่อาศัยและปราศจากความกลัว ที่ที่ลูกสาวของฉันจะเติบโตขึ้นมามีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และมีโอกาสในการเรียนรู้ ที่ที่ฉันจะได้พบกับความสงบเสียที ความรุนแรงในเมียนมาได้พรากครอบครัวของฉัน ที่อยู่อาศัยและความรู้สึกปลอดภัยของฉันไป แต่มันจะไม่มีทางพรากความหวังของฉันไป ความหวังที่ฉันอยากให้ลูกสาวของฉันมีอนาคต ความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและปราศจากความกลัว

    A portrait of a Rohingya man

    “ตัวตนและความฝันของฉันกำลังเลือนลางลงทุกวัน”

    ฉันชื่อ อาราฟัต อัลลาห์ (Arafat Ullah) ตอนนี้อายุ 18 ปีและเป็นนักเรียนเกรด 12

    ชีวิตที่นี่อึดอัดมาก พวกเรานับร้อยเบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่สำหรับคนไม่กี่คน ครูของพวกเราคือชาวโรฮิงญา (Rohingya) ที่หลบหนีมาจากเมียนมามาพร้อมกัน พวกเขาพยายามส่งต่อความรู้ให้พวกเราอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่นั่นยังไม่เพียงพอ ที่บ้านเกิดของเรา การศึกษาถือเป็นหนทางแห่งการมีอนาคตที่ดีขึ้น แต่ที่นี่ชีวิตหลังจากเกรด 12 (มัธยมชั้นปีที่ 6) เหมือนทางตัน มันไม่มีมหาวิทยาลัยรองรับ ไม่มีโอกาสที่จะเป็นหมอ วิศวกร หรืออะไรก็ตามที่ฉันฝันอยากจะเป็น พวกเราเสมือนเป็นนักโทษ พวกเขาไม่ให้พวกเราออกจากที่นี่เพราะไม่ได้รับการต้อนรับจากนอกค่าย นี่เป็นการย้ำเตือนว่าพวกเราไม่เหมาะกับที่นี่

    อาหารขาดแคลนมาก พวกเราต้องพึ่งพาการแจกอาหาร ข้าว และถั่ว ซึ่งแทบไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด และเมื่อปั๊มน้ำเสีย น้ำกลายเป็นสิ่งที่หายากขึ้นไปอีก เพราะเราต้องไปรอต่อแถวเพื่อรับน้ำและต้องเผชิญความเจ็บป่วยจากน้ำที่ไม่สะอาดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ คลินิกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) เป็นเหมือนเชือกป่านต่อชีวิต แต่คิวการตรวจก็ยาวมาก และความกลัวว่าจะมีกลุ่มสร้างความไม่สงบตอนกลางคืนทำให้หลายคนไม่กล้าออกมารับความช่วยเหลือเมื่อต้องการ

    นี่ไม่ใช่ชีวิต แต่คือการหายใจเข้าออกกลางความมืดมนและอนาคตที่ถูกขโมยไป สิ่งเดียวที่ฉันต้องการก็แค่สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ อาหาร น้ำ ที่พักอาศัย โอกาสในการเรียนรู้ การรักษาพยาบาล การได้เป็นในสิ่งที่ฉันควรจะเป็น พวกเราควรอยู่ที่เมียนมา ที่นั่นพวกเราอาจจะได้เป็นหมอ ครู เจ้าของธุรกิจ แต่ที่นี่พวกเราไม่มีอะไรเลย ตัวตนและความฝันของฉันกำลังเลือนลางลงทุกวัน ฉันแค่อยากกลับบ้านและอยากเป็นหมอ มันมากไปหรือที่จะขอ

    A portrait of a Rohingya man

    ชีวิตก่อนหน้านี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ การศึกษาถูกจำกัด แต่อย่างน้อยเราก็มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

    ฉันชื่อ ซูแบร์ นูร์ (Zubair Nur) ฉันอายุ 17 ปี และอาศัยอยู่ในค่ายกูตูปาลอง (Kutupalong) กับแม่ของฉัน น้องสาว/พี่สาวสองคนและน้องชาย/พี่ชายอีกหนึ่งคน พ่อของฉันจากไปเมื่อฉันอายุ 10 ขวบ และพวกเราก็ได้หนีออกจากเมียนมาในปีเดียวกัน

    ชีวิตก่อนหน้านี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ การศึกษาถูกจำกัด แต่อย่างน้อยเราก็มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม บ้านของเราสร้างด้วยดินเผาแบบง่ายๆ ส่วนในค่ายผู้พลัดถิ่น หลายเรื่องถือว่าดีอยู่ พวกเราได้รับการช่วยเหลือและครูบางท่านยังคงให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพวกเรา แต่มันก็เป็นบทเรียนที่มีค่าใช้จ่ายซึ่งฉันไม่มีเงินเพียงพอ ฉันต้องหางานในบันดาร์บัน (Bandarban) และติดเชื้อไข้เลือดออก ฉันต้องเข้าโรงพยาบาลท้องถิ่นในบันดาร์บันโดยไม่คาดคิด เงินที่หามาได้จากการทำงานหนักหายไปอย่างรวดเร็วจากปัญหาสุขภาพ

    ฉันมีฝันที่จะเป็นครู แต่ฉันจะสอนได้อย่างไรหากฉันเองก็ยังไม่สามารถเรียนได้ ที่นี่ไม่มีการสนับสนุนทางการศึกษา ทางเลือกเดียวที่ฉันมีคือช่วยพี่ชาย/น้องชายของฉันทำงานพิเศษเพื่อเงินเลี้ยงชีพ อย่างน้อยที่ค่ายก็มีน้ำและสุขาภิบาลที่ดี อาหารก็ถือว่าใช้ได้ ไม่มีอะไรที่ยากลำบาก ณ ตอนนี้ การกลับไปยังเมียนมาดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ สถานการณ์การต่อสู้ที่นั่นยังไม่ดีเท่าไหร่

    สิ่งที่ฉันคิดถึงมากที่สุดเหรอ อาหาร เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ เค้ก มันคือรสชาติของที่ทำให้คำนึงถึงบ้านที่หายไปทั้งหมด

    A portrait of a Rohingya man

    ฉันปรารถนาที่จะมีบ้านที่ปลอดภัยและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน

    ฉันชื่อ โมฮัมหมัด อายาส (Mohammad Ayas) อายุ 29 ปี

    ความทรงจำในการหนีออกจากเมียนมายังคงชัดเจน ความรุนแรงได้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2560 ทหารได้เผาบ้านเรือนของพวกเราและสังหารใครก็ตามที่พวกเขาพบ พวกเราหนีมาพร้อมครอบครัว ต่อสู้กันอย่างสิ้นหวังเพื่อที่จะเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งจนกระทั่งข้ามแม่น้ำนัฟ (Naf) ไปยังบังกลาเทศได้สำเร็จ มันเป็นการเดินทางที่น่ากลัว การเดินทางด้วยเรือนั้นมีราคาแพง เงินที่พวกเราหามาได้แทบจะไม่พอ พวกเราต้องทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลัง รวมถึงวัวและฟาร์มของพวกเรา ความทรงจำตลอดช่วงชีวิตกลายเป็นเพียงเถ้าผง ฉันเห็นผู้คนล้มตาย ความฝันของพวกเขาก็สลายไปอย่างรวดเร็วพอๆ กับบ้านเรือนของพวกเขา

    การมาถึงบังกลาเทศเปรียบเสมือนเชือกช่วยชีวิต เราเคยเหนื่อยล้า หวาดกลัว แต่ก็ปลอดภัยในที่สุด พวกเขาให้การต้อนรับเราด้วยอาหารและน้ำ ซึ่งเป็นน้ำใจที่ยังคงทำให้ฉันตื้นตันใจ พวกเราถูกย้ายไปยังค่ายที่พวกเราหวังว่าจะได้อาศัยอยู่เพียงไม่กี่เดือน แต่ 7 ปีต่อมา พวกเรายังอยู่ที่นี่ ที่ค่ายมีสิ่งที่ต้องดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา สุขาภิบาลที่ไม่ดีและน้ำที่มีอย่างจำกัด มันคือชีวิตที่ห่างไกลจากคำว่าชีวิตทั่วไป ราวกับพวกเราตกอยู่ใต้กับดัก กักขัง การเคลื่อนไหวของพวกเราถูกจำกัดด้วยหน่วยงานที่ออกกฎหมายที่ตราหน้าคำว่าโรฮิงญาให้กลายเป็นสิ่งอันตราย การแจกอาหารนั้นไม่เพียงพอ พวกเราต้องการผัก เนื้อสัตว์ เสื้อผ้า และโอกาสในการหาเงินเพื่อชีวิตที่ดี การดูแลสุขภาพเป็นเหมือนการต่อสู้ที่ต่อเนื่อง เพราะสถานพยาบาลแออัด มีการปฏิเสธไม่รับรักษาผู้ป่วย ฉันกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองและกลัวว่าจะถูกปฏิเสธการรักษาเหมือนคนอื่น แต่ถ้าหากเลือกที่จะรอหรือไม่เข้ารับการรักษา สภาพร่างกายของฉันก็อาจจะแย่ลงกว่าเดิม

    ลูกชายของฉันอายุเพียงหนึ่งขวบ ความฝันของพ่อที่อยากให้ฉันเป็นหมอได้ตายไปพร้อมกับการเดินทางออกจากเมียนมา ณ ที่ค่ายแห่งนี้ ความฝันของฉันเองก็รู้สึกเหมือนไกลเกินจริง ฉันจะให้อนาคตที่ดีแก่ลูกชายฉันได้อย่างไรในเมื่อฉันเองก็สิ้นหวัง ฉันปรารถนาที่จะมีที่อยู่อาศัย แต่เป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย พื้นที่ที่ฉันมาสามารถมีสิทธิขั้นพื้นฐาน ลูกชายของฉันจะไม่ต้องกลายเป็นอีกหนึ่งผู้ลี้ภัย ฉันอยากกลับไปในฐานะพลเมืองที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่คนที่สังคมรังเกียจ

    สิ่งเดียวที่ฉันขอคือโอกาสในการศึกษา การดูแลสุขภาพ และชีวิตที่ปราศจากข้อจำกัด โลกสามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของพวกเราได้ การเจรจาต่อรอง การสนับสนุน โปรดช่วยเหลือพวกเราในการตั้งรกรากใหม่ในที่ที่ปลอดภัย โปรดคืนความหวังให้พวกเราเหมือนที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ พวกเราคิดถึงชีวิตของพวกเรา บ้านและโรงเรียนของพวกเรา โปรดคืนความหวังให้พวกเราด้วย

    A portrait of a Rohingya girl

    การศึกษาที่ดีเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับที่นี่ และความกลัวที่จะถูกจับตัวไปยังคงวนเวียนอยู่เสมอ

    ฉันชื่อ คิสมัท อารา (Kismat Ara) อายุ 11 ปีและเป็นนักเรียนเกรด 3 (ประถม 3) ที่โรงเรียนมุกติ (Mukti)

    เมียนมาเป็นเพียงความทรงจำที่เลือนราง บ้านของคุณตาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนตกอยู่ใต้เปลวเพลิง และไฟลามมาถึงบ้านและร้านค้าขนาดเล็กของคุณพ่อ มันเป็นภาพที่ฉันพอจำได้เมื่อครั้งยังอยู่เมียนมา พวกเราหนีมากับพ่อแม่และพี่น้องให้ไกลจากการต่อสู้ที่ดูเหมือนจะติดตามพวกเรามายังค่ายแห่งนี้ ฉันยังจำความกลัวเมื่อลุงของฉันถูกจับได้ดี มันคือความโล่งใจเมื่อเขากลับมา บ้านของพวกเราในเมียนมาสร้างขึ้นด้วยไม้ มีความอบอุ่นและมีสวนให้วิ่งเล่น แต่ที่นี่เป็นเพียงที่พักพิง ไม่ใช่บ้าน ไม่มีที่ที่ให้วิ่งเล่นอย่างอิสระ แม้กระทั่งการละเล่นทั่วไปก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

    ความฝันของฉันคือการได้เป็นนักอ่านคัมภีร์อัลกรุอานหรืออัลกุรอานฮาเฟซ (Quran Hafez) การศึกษาที่ดีเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับที่นี่ และความกลัวที่จะถูกจับตัวไปยังคงวนเวียนอยู่เสมอ พ่อแม่ของฉันไม่เคยปล่อยให้ฉันไปเล่นที่ไหนไกล แต่ฉันจะไม่ปล่อยให้ความกลัวมาหยุดฉัน ฉันอยากเป็นครูที่ได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านศาสนาของฉันให้เด็กๆ ในวันที่ทุกอย่างปลอดภัยแล้ว ฉันอยากจะกลับไปยังเมียนมา กลับไปที่ที่เป็นบ้านของครอบครัวและชุมชนของฉัน

    A portrait of a Rohingya man

    ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ไม่มีการศึกษาที่ดี ไม่มีงานที่ดี อาหารที่แทบจะไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด

    ฉันชื่อ โซลิม อัลลาห์ (Solim Ullah) อายุ 22 ปี ติดอยู่ในคุกกลางแจ้งในค่ายเมืองบาลุคาลี (Balukhali)

    บ้านเกิดของฉันอยู่ที่หม่องดอว์ (Muangdaw) ส่วนที่นี่ฉันมีความกลัวเป็นเพื่อนสนิท การเคลื่อนไหวของพวกเราถูกควบคุม และบงการว่าพวกเราไปไหนได้บ้าง พื้นที่ของพวกเรามีจำกัดและถูกล้อมด้วยรั้วหนาม การศึกษาเป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อม มีกลุ่มติดอาวุธในค่ายคอยข่มขู่พวกเราอยู่เรื่อย ลักพาตัว ทุบตี และเราทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเราแค่อยากอยู่ใต้ความสงบ แต่คำว่า สงบดูเหมือนจะเป็นคำที่ทุกคนที่นี่ไม่รู้จัก

    ความท้าทายมันเพิ่มขึ้นทุกที ไม่มีการศึกษาที่ดี ไม่มีงานที่ดี อาหารที่แทบจะไม่เพียงพอต่อการอยู่รอด การแจกอาหารอาจจะเพิ่มขึ้นแต่ราคาอาหารก็สูงขึ้นเช่นกัน ข้าวถุงละ 2,200 ตากา (taka) เชียวล่ะ แล้วพวกเราจะสามารถได้รับสารอาหารที่เพียงพอได้อย่างไร อย่างน้อยในค่ายน้ำดื่มยังพอมีอยู่ แต่การจัดการขยะเป็นเรื่องหายนะมาก อาสาสมัครมีไม่เพียงพอ ตารางงานถูกละเลย ขยะลอยไปมาและนั่นทำให้พวกเราป่วย พวกเราเหนื่อยล้ากับความเป็นอยู่ที่แออัดแบบนี้ พวกเราแค่อยากเป็นอิสระ

    นับตั้งแต่แรกเกิดจวบจนอายุราว 15 ปี เมียนมาคือบ้านของฉัน ฉันปรารถนาที่จะกลับไปแม้จะพบข้อจำกัดมากมาย แต่อย่างน้อยฉันจะได้รับการศึกษา การอยู่ที่นี่เกรด 11 (มัธยม 5) คือการศึกษาขั้นสูงสุดแล้ว โลกนี้เต็มไปด้วยโอกาสในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น หมอ วิศวกร นักธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญที่พวกเราขาดไปคือการศึกษา ฉันคิดถึงโรงเรียนและเสียงหัวเราะกับเพื่อนๆ เมื่ออยู่ที่นี่ชีวิตของฉันคือการทำงาน ความวิตกกังวล และความปรารถนาอยากพบสิ่งที่ดีกว่า

    เพราะเป็นพี่คนโตสุดในกลุ่มพี่น้อง 7 คน ความรับผิดชอบทั้งหมดตกมาที่ฉัน พวกเราหนีออกมาในปี 2560 การเดินทางที่ยากลำบากผ่านภูเขาหลายลูกเพื่อหนีทหารเมียนมา เป็นเวลาสี่วันที่โหดร้ายเพื่อเดินทางไปสู่บังกลาเทศ ประเทศที่อ้าแขนรับพวกเราและเรารู้สึกซาบซึ้งใจ แต่การอยู่ในค่ายนี้ไม่ใช่ชีวิต มันคือคุกกลางแจ้ง เราใฝ่ฝันว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับชีวิตของพวกเรา พาเราไปสู่อนาคตที่สดใส และกลับมาได้รับโอกาสที่จะฝันอีกครั้ง