เจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนในโรงพยาบาลกูตูปาลอ (Kutupalong) เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรักษาผู้ป่วยหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกครั้งบริเวณชายแดนเมียนมาและบังกลาเทศ ©Jan Bohm/MSF
เมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ วันที่ 9 สิงหาคม 2567 – รายงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières – MSF) องค์การด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้านการแพทย์ระบุว่า ตัวเลขของชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามและข้ามฝั่งไปยังพื้นที่ประเทศบังกลาเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ย่ำแย่ลงในรัฐยะไข่ (Rakhine) ประเทศเมียนมา (Myanmar)
นับตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ภายในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ (Cox’s Bazar) ประเทศบังกลาเทศ (Bangladesh) ทำการรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรง 39 ราย โดยมากกว่าร้อยละ 40 คือผู้หญิงและเด็ก รายงานบันทึกว่าสาเหตุของอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากสะเก็ดปืนครก (mortar shell) และกระสุนปืน ตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บสูงที่สุดในวันที่ 6 สิงหาคมแจ้งว่ามีผู้เข้ารับการรักษารวมทั้งสิ้น 21 ราย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่องค์การฯ ในคลินิกยังให้ข้อมูลว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบปีที่มีผู้บาดเจ็บสาหัสในปริมาณมากขนาดนี้
“เมื่อวิเคราะห์ถึงตัวเลขผู้ป่วยชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บแล้วข้ามชายแดนจากประเทศเมียนมามายังบังกลาเทศ และลักษณะของอาการบาดเจ็บที่คล้ายคลึงกันในช่วงที่ผ่านมา องค์การฯ มีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาเป็นอย่างยิ่ง” ออร์ลา เมอร์ฟี่ (Orla Murphy) ผู้แทนองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในบังกลาเทศกล่าว “สถานการณ์ตอนนี้คือข้อพิสูจน์ว่าพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพลเมืองในเมียนมาลดน้อยลงไปทุกที พวกเขากลายเป็นเหยื่อในการต่อสู้ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและบีบบังคับให้ต้องเผชิญหน้ากับการเดินทางแสนอันตราย เพื่อตามหาจุดปลอดภัยในบังกลาเทศ”
ผู้ป่วยหลายรายเล่าสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่รัฐยะไข่ให้เจ้าหน้าที่องค์การฯ ฟัง บางคนเห็นการใช้ระเบิดโจมตีไปยังผู้คนที่กำลังพยายามหนีความรุนแรงด้วยการหาเรือสำหรับข้ามแม่น้ำไปยังบังกลาเทศ ผู้ป่วยอีกรายเห็นร่างผู้เสียชีวิตนับร้อยเรียงรายตามริมฝั่งแม่น้ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากต้องพลัดพรากจากครอบครัวระหว่างการตามหาพื้นที่ปลอดภัย มีบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวถูกสังหารระหว่างเกิดความรุนแรง รวมถึงมีความหวาดกลัวว่าสมาชิกในครอบครัวที่ยังคงอยู่ในเมียนมาอาจไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
ความขัดแย้งในรัฐยะไข่เพิ่มระดับความรุนแรงตั้งแต่ช่วงตุลาคม 2566 ชาวโรงฮิงญาตกอยู่ใต้ความทุกข์ทรมานแสนสาหัสและระบบบริการสุขภาพก็เป็นอัมพาต “คนไข้บอกกับองค์การฯ ว่า การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในเมียนมาเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่งยวด เนื่องจากสถานการณ์เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” เมอร์ฟี่เสริม
ความขัดแย้งยังกระทบต่อความสามารถในการทำงานขององค์การฯ เพื่อดำเนินปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ในเดือนมิถุนายนองค์การฯ จำเป็นต้องยุติการทำงานบริเวณทางตอนเหนือของรัฐยะไข่เนื่องจากความรุนแรงในพื้นที่ นำไปสู่วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ซึมลึกและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ยากลำบากกว่าเดิม
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้มีการปกป้องพลเมืองที่ตกอยู่ใต้ความขัดแย้งทันที
เมอร์ฟี่ทิ้งท้ายว่า “ต้องแยกประชาชนออกจากการโจมตีอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ต้องมีการอนุญาตให้พวกเขาสามารถออกจากพื้นที่เพื่อแสวงหาพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าได้ รวมไปถึงผดุงไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าถึงสถานพยาบาลและการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการรักษา”