Skip to main content

    เมียนมา: ท่ามกลางวิกฤติ ประชากรต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

    Myanmar

    แหล่งพักพิงภายในค่ายผู้พลัดในถิ่นในประเทศ เมืองระตีด่อง ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เพื่อรองรับชุมชนผู้พลัดถิ่นภายในรัฐ - ตุลาคม 2566 © Zoe Bennell/MSF

    ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านมนุษยธรรม แม้ข้าพเจ้าเคยพบเจอวิกฤตการณ์ในทวีปแอฟริกาและดินแดนตะวันออกกลางที่เกิดจากความขัดแย้งและการอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่มาก็หลายครั้ง การเยือนเมียนมาครั้งล่าสุดได้ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่กำลังลุกลามอย่างรวดเร็วภายในประเทศ สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมียนมาเกิดความโกลาหลเช่นทุกวันนี้ และประชากรหนึ่งในสามของประเทศต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ผู้คนกว่าสามล้านคนถูกบีบบังคับให้อพยพออกจากบ้านเรือนของตนเพื่อลี้ภัยความรุนแรง โดยพลเมืองรายหนึ่งได้เล่าให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ฟังว่า “ผู้คนหลายพันพยายามอพยพหนีภัย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกฆ่าหรือไม่ก็ถูกทำร้าย และยังมีการใช้ความรุนแรงจนถึงทุกวันนี้” ส่วนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีมงานขององค์การฯ ในประเทศบังกลาเทศเห็นตัวเลขชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยร้อยละ 40 คือผู้หญิงและเด็ก กลุ่มคนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากเมียมาซ้ำซ้อนจากความรุนแรง

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนทำงานในประเทศเมียนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์ อันได้แก่บริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและบริการด้านสุขภาพจิต หลังจากที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจในปี 2564 คณะทำงานขององค์การฯ ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ได้พบเห็นความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์หลายพันคนลาออกจากงานเพื่อประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อระบบสาธารณสุข สถานการณ์อันตรายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึงอุปสรรคด้านการบริหารจัดการทำให้การขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมดำเนินการได้ยากขึ้น ส่งผลให้บริการด้านสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างไม่เพียงพอยิ่งลดน้อยลงไปอีก

    Myanmar

    ©MSF

    ส่วนในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมาอย่างกรุงย่างกุ้ง (Yangon) องค์การฯ สนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านวัณโรคที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศ โดยได้ให้การรักษาเกือบร้อยละ 50 ของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดได้ส่งผลให้ความสามารถในรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หอผู้ป่วยบางแห่งต้องปิดตัวลง ไม่มีอุปกรณ์ใหม่มาทดแทนอุปกรณ์ที่ชำรุด นอกจากนี้ องค์การฯ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผู้ป่วยวัณโรคและผู้ติดเชื้อเอชไอวีในตอนเหนือของรัฐฉาน (Shan) และรัฐคะฉิ่น (Kachin) ซึ่งมีการส่งตัวต่อไปยังโครงการวัณโรคแห่งชาติเมียนมา เนื่องจากการหยุดการรักษาในกรณีใดก็ตามอาจส่งผลให้ผู้ป่วยดื้อยาและ/หรือมีอาการแย่ลง

    โดยระหว่างอยู่ในเมืองดังกล่าว ข้าพเจ้าได้พบกับอาสาสมัครขององค์การฯ จากชุมชนชาวโรฮิงญา (Rohingya) ซึ่งต้องเดินเท้าหลายวันเพื่อหนีภัยสถานการณ์ความรุนแรงที่ทวีขึ้นในรัฐยะไข่ (Rakhine) พลเรือนต้องติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง บ้างก็ถูกลูกหลงจากกระสุนปืนและการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย บ้านเรือนและข้าวของถูกเผาทำลายจากเพลิงไหม้ที่กระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง หลายคนต้องหลบหนีครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่ประชากรผู้ชายก็กลัวว่าจะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารของกองกำลังฝ่ายต่างๆ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ทีมงานขององค์การฯ ในบังกลาเทศรักษาชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามในเมียนมาแล้วเดินทางข้ามประเทศมาถึง 50 ราย ซึ่ง 18 รายคือเด็ก ตัวเลขของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะหรือความรุนแรง ที่รวมถึงสะเก็ดจากปืนครกและกระสุนปืน คือสิ่งที่สะท้อนวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ย่ำแย่ในรัฐยะไข่

    ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 ในรัฐยะไข่ รัฐคะฉิ่น และรัฐฉาน ส่งผลร้ายแรงต่อกิจกรรมทางการแพทย์ขององค์การฯ สำนักงานและหน่วยเภสัชกรรมขององค์การฯ ในเมืองบุตีดอง (Buthidaung) รัฐยะไข่ ถูกเผาทำลายในเดือนเมษายนพร้อมกับยารักษาที่จัดเก็บไว้ในสำนักงาน ทั้งที่เม็ดยาเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ การละเมิดข้อตกลงหยุดยิงหนึ่งปีซึ่งลงนามไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ทำให้จำนวนผู้ป่วยนอกรายเดือนขององค์การฯ ในรัฐยะไข่ลดลงอย่างมาก โดยลดลงจาก 6,684 รายในเดือนกันยายน 2566 เหลือเพียง 81 รายในเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้ องค์การฯ ยังได้รับการแจ้งเตือนถึงอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารกแรกเกิดที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสรรคด้านสาธารณสุขหลายประการ

    Myanmar

    ซากปรักหักพังและรอยไหม้ภายในสถานที่ทำงานขององค์การฯ ในเมืองบูตีด่อง ภายหลังจากที่ความขัดแย้งในพื้นที่ยกระดับขึ้น มีบ้านและอาคารหลายหลังได้รับความเสียหาย - เมษายน 2567 © MSF

    เช่นเดียวกับองค์กรด้านมนุษยธรรมอื่นๆ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนไม่สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองกำลังชาติพันธ์ติดอาวุธได้เนื่องจากข้อบังคับเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกพื้นที่ซึ่งกำหนดโดยเจ้าหน้าที่

    ในรัฐยะไข่ องค์การฯ เคยให้บริการคลินิกเคลื่อนที่จำนวน 25 แห่ง แต่กิจกรรมดังกล่าวถูกระงับไปเป็นเวลา 8 เดือนเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง เมื่อข้าพเจ้าเดินทางไปยังเมืองซิตตเว (Sittwe) คณะทำงานขององค์การฯ เพิ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปยังพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งแห่ง และสามารถเข้าถึงผู้ป่วยบางส่วนได้ ผู้ป่วยหลายร้อยคนซึ่งรวมถึงสตรีมีครรภ์จากทั้งชุมชนชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่เดินทางมาหาเรา การกลับมาดำเนินกิจกรรมนี้อีกครั้งเป็นเพียงการตอบสนองต่อความต้องการทางการแพทย์จำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีความต้องการทางการแพทย์และด้านมนุษยธรรมอีกมหาศาลในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศที่ยังรอความช่วยเหลือ

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนยึดมั่นในความเป็นกลางและไม่เลือกปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์สากล และสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม องค์การฯ มุ่งหวังให้มีเสรีภาพในการให้ดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างเต็มที่และไม่มีข้อจำกัด แต่เราจะยึดมั่นในหลักการของเราได้อย่างไร ขณะที่เราไม่อาจทำงานเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือที่สุดในประเทศเมียนมาได้

    สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในประเทศเมียนมาเลวร้ายกว่าที่เคยเป็นมา จึงมีความจำเป็นอย่างมากและอย่างเร่งด่วนที่จะต้องอาศัยความพยายามทางการทูตจากประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และไทย รวมถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) รวมถึงประเทศอื่น เพื่อให้องค์กรด้านมนุษยธรรมต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยความขัดแย้งได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้จะต้องร่วมกันปกป้องพลเรือนและสถานพยาบาล อีกทั้งไม่ควรละเลยความทุกข์ทรมานของประชาชนในประเทศเมียนมาที่ประชากรกว่า 18 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งรวมถึงเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้

    ชินจิโระ มูราตะ (Shinjiro Murata)
    ผู้อำนวยการทั่วไป ประจำประเทศญี่ปุ่น

    ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ประจำประเทศญี่ปุ่น เขาเริ่มต้นการทำงานกับองค์การฯ ในปี 2548 มีประสบการณ์การทำงานภาคสนามในตำแหน่งหัวหน้าภารกิจทั้งในประเทศซีเรีย เซาท์ซูดาน และเยเมน