Skip to main content

    เมียนมา: นักสาธารณสุขชุมชนกับภาระงานที่ล้นมือ ใต้วังวนที่เต็มไปด้วยอุปสรรคภายในรัฐยะไข่

    A Doctors Without Borders (MSF) staff carry supplies into the clinic in Sin Thet Maw village in Pauktaw township. Myanmar, March 2022. © Ben Small/MSF

    เจ้าหน้าที่ขององค์การฯ กำลังลำเลียงอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปในคลินิกชุมชนซิน เท็ต มาว (Sin Thet Maw) ในเมืองเปาะตอ (Pauktaw) - เมียนมา มีนาคม 2566 © Ben Small/MSF

    วันที่ 13 พฤศจิกายน ในรัฐยะไข่ เสียงปืนดังขึ้นมาอีกครั้งจากที่มีการข้อตกลงหยุดยิงแบบไม่เป็นทางการเมื่อราว 1 ปีก่อน นับแต่นั้นมา ก็ได้มีการออกคำสั่งเข้มงวดที่จำกัดการเดินทางระหว่างพื้นที่ ทำให้ทางองค์การฯ ไม่สามารถดำเนินงานในคลินิกเคลื่อนที่ทั้ง 25 แห่งได้ ซึ่งให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ราวสัปดาห์ละ 1,500 ราย

    ตลอด 9 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางองค์การฯ ได้พยายามหาแนวทางอื่นเพื่อลดอุปสรรคการเข้าถึงดังกล่าว เช่น จัดให้มีระบบปรึกษาการแพทย์ทางไกล (tele-consultations) ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ โดยนักสาธารณสุขชุมชนในสังกัดองค์การฯ เป็นเพียงกลุ่มคนไม่กี่หน่วยงานที่ยังสามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้

    เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนในเมียนมา

    คลินิกอ้าน-ตา (Ann Thar Clinic) ในเมืองมิ่น-บย่า เป็นสถานที่ให้การดูแลผู้ป่วยกว่า 4,000 คนซึ่งเป็นผู้พลัดถิ่นมาจากรัฐยะไข่และจากชุมชนชาวโรฮิงญาแหล่งอื่น โดยตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางองค์การฯ ก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินงานคลินิกดังกล่าวได้ จากนั้นวันที่ 17 พฤศจิกายน โรงพยาบาลทั่วไปมิ่น-บย่า (Min Bya General Hospital) ก็ได้รับความเสียหายจากการสู้รบ ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ทางองค์การฯ ใช้เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยบาดเจ็บฉุกเฉิน

    "ฉันชื่อ ออง-อ่อง (นามสมมุติ) เป็นนักสาธารณสุขชุมชนอยู่ที่คลินิกอ้านตา ประจำโครงการมเยาะอู้ (Mrauk-U) หลังเกิดสงคราม สถานการณ์ที่นี่เปลี่ยนไปอย่างกลับตาลปัตรเมื่อเทียบกับก่อนหน้า พอมีการสู้รบกันฉันก็ไม่สามารถทำงานแบบเดิมได้แล้ว จากที่เคยทำได้เป็นปกติอย่างสงบ ตอนนี้ฉันมีแต่ความวิตกถึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เดินตามถนนก็รู้สึกหวั่นใจ ต้องเลี่ยงไปเดินผ่านตามคันนา มันไม่สามารถหาความปลอดภัยในชีวิตได้เลย

    ด้วยฉันเป็นนักสาธารณสุขชุมชน ทักษะทางการแพทย์ของฉันจึงมีอยู่จํากัด ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ฉันทําได้คือโทรศัพท์หาแพทย์ และดูแลผู้ป่วยตามข้อปฏิบัติที่ได้รับ แต่บางครั้งสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็ใช้การไม่ได้ ทำให้มีความยากลำบากในการติดต่อกับแพทย์ แต่พวกเรายังพยายามทำดำเนินการให้ต่อเนื่องได้ทุกสัปดาห์

    ฉันทั้งกังวลใจและเป็นห่วงผู้ป่วยของเราที่อยู่ในหมู่บ้าน ต่อไปนี้ ทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ที่ต้องไปรับยาทุกเดือนจะลำบากขึ้นอีกมาก ตราบใดที่ถนนหนทางยังถูกปิดกั้นและการสู้รบยังคงดําเนินต่อไป

    มีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูงด้วย แต่ว่าเรายังไม่มียารักษาสำหรับพวกเขา ฉันยังไม่แน่ใจว่าทีมงานของเราจะจัดการต่อไปอย่างไร ยาที่เรามีตอนนี้คือสำหรับผู้ป่วยที่ฝากครรภ์ กับผู้ป่วยโรคลมชัก

    หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่เราต้องเจอนั่นก็คือราคาน้ํามันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ถ้าใครอยากจะเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปคลินิกสักแห่ง เขาต้องเสียเงินประมาณ 60,000 จ๊าต [ประมาณ 1,020 บาท] สําหรับการเดินทางไปกลับ ทั้งที่เมืองนี้อยู่ห่างจากหมู่บ้านของเราเพียง 5 ไมล์ [ประมาณ 8 กม.] ก็เป็นว่าค่าเดินทางไปหาหมอนั้นแพงยิ่งกว่าค่ารักษาพยาบาลเองเสียอีก ราคาที่สูงขึ้นนี้เป็นมาตั้งแต่เมื่อเริ่มเกิดการสู้รบ ที่เมื่อก่อนก็แค่ 2,000 – 2,500 จ๊าตเอง [ประมาณ 34 – 42 บาท]

    ฉันทั้งกังวลใจและเป็นห่วงผู้ป่วยของเราที่อยู่ในหมู่บ้าน ต่อไปนี้ ทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ที่ต้องไปรับยาทุกเดือนจะลำบากขึ้นอีกมาก ตราบใดที่ถนนหนทางยังถูกปิดกั้นและการสู้รบยังคงดําเนินต่อไป บรรดาคลินิกและร้านยาทั้งหลายในเมืองมิ่น-บย่าก็จะยังคงปิดอยู่อย่างนั้น"

    ข้อจำกัดด้านการเดินทางที่ส่งผลต่อผู้ป่วย

    มิ่นตู้ เป็นนักสาธารณสุขชุมชนในค่ายพักพิงเจนนิ-ปยีน (Kyein Ni Pyin) สําหรับผู้พลัดถิ่นในเมืองเปาะตอ ของรัฐยะไข่ ค่ายเจนนิ-ปยีนมีผู้พักอาศัยกว่า 7,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาที่ต้องพลัดถิ่นตั้งแต่ปี 2555 เปาะตอเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดของรัฐยะไข่ เผชิญกับการโจมตีอย่างหนักและการพลัดถิ่นจํานวนมาก

    โรงพยาบาลเปาะตอจำเป็นต้องปิดทำการ และการเดินทางเข้าออกจากเปาะตอ รวมถึงค่ายพักพิงฯ เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน และหน่วยงานอื่นๆ กําลังเผชิญกับอุปสรรคร้ายแรงในการให้ความช่วยเหลือทุกรูปแบบ และการขนส่งผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลฉุกเฉินที่ช่วยชีวิตก็มีความท้าทายมากขึ้น

    "ฉันชื่อ มิ่นตู้ (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี เป็นนักสาธารณสุขชุมชนในสังกัดองค์การแพทย์ไร้พรมแดน มีหน้าที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ชุมชนในค่าย ฉันช่วยงานเกือบทุกอย่างรวมถึงการแปลภาษาสําหรับผู้ป่วยในวันทำการของคลินิก เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามา ฉันส่งต่อพวกเขาไปยังคลินิกเช่นกัน

    สงครามนี้ทำให้พวกเราเผชิญอุปสรรคด้านการขนส่งและด้านอาหาร การปันส่วนอาหารมีมาถึงเราอย่างไม่สม่ำเสมอและสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีราคาสูงขึ้น

    Doctors Without Borders counsellors and community-based health workers provide ongoing support to patients in villages, health clinics, and internally displaced peoples’ camps. These photos were taken before Cyclone Mocha, which has increased the needs for mental health support in Rakhine state. Myanmar, March 2023. © Zar Pann Phyu/MS

    ที่ปรึกษาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้ป่วยในหมู่บ้าน คลินิกสุขภาพ และค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ภาพนี้คือกิจกรรมขององค์การฯ ก่อนเกิดไซโคลนโมคา (Mocha) ซึ่งภายหลังส่งผลให้ความต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในรัฐยะไข่เพิ่มขึ้น - เมียนมา มีนาคม 2566 © Zar Pann Phyu/MSF

    ช่วงก่อนการสู้รบ พวกเราสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้หากมีการแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบ แต่ในตอนนี้การเดินทางถูกห้ามโดยสิ้นเชิง เราไม่สามารถเปิดทำการคลินิกได้เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยของเราในหลายทาง

    กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน เราใช้วิธีโทรศัพท์หาแพทย์ขององค์การฯ เพื่อขอคำปรึกษา แล้วพยายามทำให้ได้ตามข้อปฏิบัติที่เขาบอกมา แต่ถึงอย่างไร มันก็ลำบากสำหรับพวกเขาเพราะไม่ได้เจอกับผู้ป่วยต่อหน้า เพราะฉะนั้นแพทย์ก็จะได้แต่สั่งยาหรือแจ้งวิธีปฏิบัติตามรายละเอียดที่ได้ฟังจากผู้ป่วย และพวกเราก็แค่ทําตามที่แพทย์บอกทางโทรศัพท์ กับช่วยทำการรักษาให้แก่ผู้ป่วย

    คณะทำงานของเราทุกคนที่อยู่ที่สํานักงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเขตซิตตเว (Sittwe) ก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่ายาและเวชภัณฑ์จะมาถึงมือนักสาธารณสุขชุมชนอย่างพวกเราได้อย่างปลอดภัย พวกเรากลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต หากเรายังคงไม่สามารถทำให้คลินิกเปิดทำการได้ ทั้งเพราะจากการปิดกั้นการเดินทางและจากสงคราม ก็จะทำให้ผู้ป่วยของเราได้รับผลกระทบอย่างหนัก"

    ความรุนแรงที่ส่งผลต่อตัวเลขการพลัดถิ่น

    มีค่ายพักพิงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ตั้งอยู่หลายแห่งใกล้เมืองระเต่ดอง อันเป็นที่พักอาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องพลัดถิ่นที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องด้วยสงครามครั้งก่อน การสู้รบครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ ทำให้ผู้คนที่อยู่ตามค่ายต่างๆ ดังกล่าวต้องหนีหลบภัยไปยังพื้นที่ซึ่งทุรกันดารกว่า โดยในจำนวนนี้มีนักสาธารณสุขชุมชนในสังกัดองค์การแพทย์ไร้พรมแดนหลายคนรวมอยู่ด้วย

    “ตอนนี้ มีการสู้รบเกิดขึ้นอยู่ไม่ไกลนักจากค่ายพักพิงของเรา ผู้คนจากค่ายพักพิงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) ที่อยู่ในเขตเมืองต้องอพยพไปยังที่อื่นแล้ว ได้มีการยิงต่อสู้กันอย่างหนักใกล้ค่ายของเรา ทำให้ทุกคนต้องหนีออกมาจากที่นั่น ต่างคนต่างก็ไปหาที่พักพิงอื่นที่น่าจะปลอดภัย รวมถึงตัวฉันเองด้วย ฉันเป็นหนึ่งในนั้นที่อพยพออกมาจากค่าย" ย่านไนง์ (Yan Naing นามสมมุติ) เจ้าหน้าที่องค์การฯ ให้รายละเอียด

    ในแง่ของความปลอดภัยในชีวิต เราได้ฟังข่าวที่มีรายละเอียดข้อมูลแตกต่างกันทุกวัน เราได้ยินเรื่องอย่างเช่น การปิดกั้นเส้นทางทั้งทางน้ำและทางบก และการกราดยิงเป็นระยะมาจากทางเมืองระเต่ดอง

    เป็นทั้งความลำบากและท้าทายสำหรับพวกเราในการไปปักหลักอยู่ตามแต่ละที่ เพราะเราต้องเดินทางอยู่ตลอด อีกทั้งการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานก็กระทบต่อเราเช่นกัน (เมื่อเราต้องพลัดถิ่นที่อยู่) ก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วย พวกเราจึงต้องประหยัดแบตเตอรี่โทรศัพท์

    ทั้งผู้คนยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเสบียงอาหาร เรื่องกังวลเรื่องใหญ่อย่างเดียวของฉันในตอนนี้ คือเรื่องสุขภาพและอาหารการกิน

    ฉันคิดว่าเรายังกลับไปที่เมืองไม่ได้ตอนนี้เพราะยังมีการสู้รบรุนแรง ผู้คนกลัวที่จะเดินทางไปมาเพราะเราได้ยินมาจากพื้นที่อื่นๆ เกี่ยวกับพลเรือนที่ถูกจับกุม หรือถูกใช้เป็นโล่มนุษย์

    เรามีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในค่ายของเรา และพวกเขาเป็นผู้ป่วยประจำของเราด้วย พวกเขามาที่คลินิกของเราเป็นประจำ (ตอนนี้คลินิกไม่สามารถเปิดทำการได้เนื่องจากมีการปิดล้อมพื้นที่) ฉันต้องติดต่อหาแพทย์ของเรา และปรึกษาว่าเราจะสามารถจัดหายาให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ได้หรือไม่เมื่อยาของพวกเขาหมด

    เนื่องจากเส้นทางการขนส่งถูกปิดกั้นหลายแห่ง ทำให้ผู้ป่วยที่มีเหตุจำเป็นต้องไปคลินิกอาจไม่สามารถเดินทางไปได้ อีกทั้งผู้คนยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเสบียงอาหาร เรื่องกังวลเรื่องใหญ่อย่างเดียวของฉันในตอนนี้ คือเรื่องสุขภาพและอาหารสำหรับผู้คน

    ระดับความรุนแรงที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

    ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ระดับความรุนแรงของการสู้รบทั่วประเทศเมียนมาอยู่ในขั้นสูงประวัติการณ์ และมีผลกระทบอย่างหนักต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ทั้งในและโดยรอบพื้นที่สู้รบ ที่ซึ่งการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างจำกัดและเสี่ยงภัยในการเข้าถึง หรือไม่ก็ไม่สามารถทำได้เลย 

    ในรัฐยะไข่ ชุมชนต่างๆ ต้องใช้ชีวิตโดยพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นอันมาก และอยู่กันโดยมีคำสั่งต่างๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการเดินทาง ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามนี้ การให้ความช่วยเหลือจากภายนอกที่ทางการของรัฐอนุญาตให้กระทำได้ คือ การรักษาชีวิตผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อหลายชุมชนตามพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ ที่ได้มีคลินิกเคลื่อนที่ขององค์การฯ เข้าไปให้บริการ และเพื่อเหล่าผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการแพทย์

    การที่หน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างๆ จะเข้าไปยังพื้นที่รัฐยะไข่นั้นถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยตลอดมา ทว่าหากการปิดกั้นเส้นทางในขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไป ก็จะกลายเป็นมหันตภัยที่สร้างความวินาศต่อสุขภาพอนามัยของผู้คน

    Reproductive healthcare patients wait to be seen in Doctors Without Borders (MSF)’s clinic in Sin Thet Maw village in Pauktaw township. Myanmar, March 2022. © Ben Small/MSF

    คนไข้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์รอเข้ารับการรักษาในคลินิกชุมชนขององค์การฯ  หมู่บ้านซิน เท็ต มาว (Sin Thet Maw) ในเมืองเปาะตอ (Pauktaw) - เมียนมา มีนาคม 2566 © Ben Small/MSF

    นักสาธารณสุขชุมชนขององค์การฯ กำลังเห็นภาพของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่องและมีอุปสรรคด้านการสื่อสารกับแพทย์ ผู้ป่วยที่ถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงการสาธารณสุขทุติยภูมิและไม่มีเงินพอจะไปรับการบริการสุขภาพอื่นที่อยู่ไกลออกไป ข้อมูลล่าสุดจากคณะทำงานประสานงานค่ายทั่วโลกและการจัดการค่าย (Global Camp Coordination and Camp Management) พบว่ามีผู้พลัดถิ่นใหม่กว่า 120,000 คนในรัฐยะไข่ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน และตัวเลขนี้ไม่มีวี่แววว่าจะชะลอตัวลง

    โรงพยาบาลหลายแห่งในภาคกลางของรัฐยะไข่ได้ก็ถูกลูกหลงจากการสู้รบรุนแรง หรือไม่ก็ถูกทิ้งร้างเพราะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจำต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ โรงพยาบาลสองแห่งในตอนกลางของรัฐยะไข่ซึ่งเป็นจุดประจำที่ทีมงานขององค์การฯ จะพาผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่ง ก็ไม่มีการปฏิบัติงานแล้ว ในขณะที่โรงพยาบาลทั่วไปมิ่น-บย่า ก็ได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน

    ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ผู้ได้รับการส่งต่อฉุกเฉินบางคนได้รับการช่วยเหลือจากนักสาธารณสุขชุมชนขององค์การฯ สถานพยาบาลต่างๆ ยังเปิดทำการได้อยู่ แต่บางแห่งก็มีการปฏิบัติงานโดยเพียงเจ้าหน้าที่หลัก และมีเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จำนวนจำกัด หรือไม่อย่างนั้นพวกเขาก็กำลังย้ายทรัพยากรในการปฏิบัติงานไปยังพื้นที่ห่างไกลขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พลัดถิ่นที่เดินทางไปมาเพื่อหาที่ปลอดภัย

    เนื่องจากเส้นทางการเข้าถึงถูกปิดกั้นและไม่ได้รับอนุญาตให้มอบความช่วยเหลือ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจึงไม่สามารถเปิดทำการคลินิกเคลื่อนที่ทั้ง 25 แห่งได้ ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งยังกระทบต่อหน่วยงานด้านมนุษยธรรมอื่นๆ เช่นกัน โดยมีหลายที่รายงานว่าพวกเขาไม่สามารถส่งการช่วยเหลือได้ตามปกติ คู่ความขัดแย้งควรรับรองว่าสถานที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมจะสามารถดำเนินงานต่อไปได้ และต้องรับประกันว่าประชาชนในรัฐยะไข่จะสามารถเข้าถึงการแพทย์ได้โดยปลอดภัย

    *ชื่อสมมติ

    คุณสามารถอ่านบทความฉบับนี้เป็นภาษาพม่าได้ที่นี่