เมียนมา : อุปสรรคสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ชุมชนในรัฐยะไข่
คลินิกเคลื่อนที่ขององค์การฯ ที่ไม่สามารถเปิดบริการในศูนย์กักกันแห่งหนึ่งจากห้าแห่งในเมืองเปาะตอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ไม่สามารถจัดส่งเวชภัณฑ์การแพทย์ที่ใกล้จะหมดลงได้
ในเดือนมิถุนายน 2567 องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) จำเป็นต้องระงับการให้บริการทางการแพทย์เพื่อมนุษยธรรมทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ (Rakhine) อย่างไม่มีกำหนด หลังเกิดความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นรวมถึงการเผาสำนักงานขององค์การฯ ในเมืองบูตีดอง (Buthidaung Township)
แม้ว่าองค์การฯ จะยังสามารถดำเนินกิจกรรมบางประเภทในบางเมืองทางตอนกลางของรัฐยะไข่ เจ้าหน้ายังต้องรับมือกับข้อจำกัดในการเข้าสู่พื้นที่อย่างยากลำบากและผลพวงจากความรุนแรงจากความขัดแย้ง ข้อมูลต่อไปนี้คืออุปสรรคสำคัญบางประการในการบริการด้านสุขภาพที่องค์การฯ กำลังเผชิญอยู่
ความยากลำบากในการเข้าถึงผู้ป่วยและการให้บริการด้านสุขภาพ
นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมา (Myanmar Military) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 องค์การฯ ต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากในการเข้าถึงผู้ป่วย
เป็นเวลา 8 เดือนแล้ว ที่องค์การฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกเคลื่อนที่ทุกแห่งในรัฐยะไข่รวมถึงในค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDP Camp) เมืองเปาะตอ (Pauktaw) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วองค์การฯ เป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพเพียงองค์กรเดียว การเข้าถึงศูนย์เหล่านี้จำเป็นต้องคมนาคมทางเรือเท่านั้น แต่ด้วยความขัดแย้งที่ทวีเพิ่มขึ้นในเมืองเปาะตอ เจ้าหน้าที่องค์การฯ ไม่สามารถเดินทางไปให้การรักษาพยาบาลได้อีกต่อไป และผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลชนิดฉุกเฉินก็ไม่สามารถเดินทางไปถึงโรงพยาบาลในเมืองซิตตเว (Sittwe)ได้ด้วย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงปัญหาของผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน และหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะซับซ้อน
ในเดือนมิถุนายน 2567 องค์การฯ ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้เพื่อกลับมาเปิดคลินิกเคลื่อนที่อีกครั้งเป็นเวลาหนึ่งเดือนในศูนย์ออง มิงกาลาร์ (Aung Mingalar)ในตัวเมืองซิตตเว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา(Rohingya) คณะเจ้าหน้าที่ทีมงานขององค์การฯ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยทรัพยากรที่ลดน้อยลงรวมถึงเสบียงสิ่งของที่มีอยู่อย่างจำกัดมาก ขณะนี้คลินิกขององค์การฯ ในเมืองเปาะตอ และเมืองอื่นยังคงถูกจำกัดการเข้าถึงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
การจำกัดการเดินทางไม่เพียงส่งผลกระทบต่อองค์การฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงองค์กรและสถาบันแห่งอื่นที่ให้ความช่วยเหลือด้านการช่วยชีวิตและด้านสุขภาพด้วย
องค์การฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งยารักษาโรคไปยังศูนย์กักกันในเมืองเปาะตอได้อีกต่อไป เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ขององค์การฯ ยังสามารถให้บริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานต่อไปได้ แต่เป็นเรื่องยากในการให้การรักษาแก่ผู้ป่วยในขั้นพื้นฐาน เนื่องจากปริมาณเวชภัณฑ์ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้
การส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินถูกระงับ
ก่อนที่ความขัดแย้งจะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2566 ขณะนั้นผู้คนในค่ายผู้ลี้ภัยหรือหมู่บ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ ที่ต้องรับบริการด้านสุขภาพจากโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ พึ่งพาบริการขององค์การฯ ในการส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการรับส่งผู้ป่วยเพื่อเดินทางโดยรถยนต์หรือเรือไปยังโรงพยาบาล ปัจจุบัน การให้บริการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป เนื่องจากถูกจำกัดการเดินทางโดยทางการ ส่งผลให้ประชาชนไม่มีทางเลือกในการรับการรักษาพยาบาลเฉพาะทางได้
สำหรับผู้ป่วยที่พยายามเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเองนั้น การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ผู้ป่วยในเมืองเปาะตอที่ต้องการเดินทางไปเมืองซิตตเวทางทะเลแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ขณะที่บริการด้านสุขภาพในเมืองอื่นๆ ก็มีอย่างจำกัด เมืองเหล่านั้นต่างก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเช่นเดียว และมักทำให้ต้องใช้เวลาการเดินทางที่ยาวนานขึ้น
บางครั้งผู้ป่วยก็เสียชีวิตระหว่างเดินทางไปรับการรักษา หรือเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่ได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงและการเดินทางที่ลำบาก ด้วยเหตุนี้ องค์การฯ เห็นถึงแนวโน้มที่น่าวิตกเกี่ยวกับการเสียชีวิตของมารดาและทารกแรกเกิด ในเดือนมกราคมปีนี้ คณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ รายงานการเสียชีวิตของมารดาและลูกแฝดของเธอ และมารดาอีกสองคนที่สูญเสียลูกไปเนื่องจากต้องคลอดที่บ้าน เมื่อเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่องค์การฯ รายงานการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์อีกรายที่ไม่สามารถฝากครรภ์ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน เธอกลัวที่จะออกจากค่ายผู้พลัดถิ่นในเมืองเปาะตอเนื่องจากมีการปิดถนน
สถานพยาบาลปิดตัวลง
หลังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอีกระลอก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสถานพยาบาลต่างๆ จำนวนมากลาออก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาด้านความปลอดภัย ส่งผลให้สถานพยาบาลบางแห่งต้องหยุดให้บริการโดยสิ้นเชิง บางแห่งที่ยังคงเปิดบริการอยู่ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านเนื่องจากขาดแคลนบุคลากร เวชภัณฑ์ และเชื้อเพลิง การไฟฟ้าไม่จ่ายไฟฟ้าในรัฐยะไข่อีกต่อไป ดังนั้น สถานพยาบาลจึงต้องอาศัยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่เชื้อเพลิงน้ำมันหาได้ยากเนื่องจากเส้นทางการส่งน้ำมันหยุดชะงักหรือถูกตัดขาด จึงกระทบต่อประสิทธิภาพในปฏิบัติการทางการแพทย์
สัญญาณโทรศัพท์ที่ขาดหายไปเป็นอุปสรรคต่อการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์
เพื่อให้การเข้าถึงผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่น คณะแพทย์องค์การฯ ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หรือผ่านข้อความทางโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคจากการที่สัญญาณโทรศัพท์มักจะหยุดชะงัก ทำให้สัญญาณโทรศัพท์ครอบคลุมเป็นช่วงๆ และมีสัญญาณอ่อนมากในหลายพื้นที่ ผู้ป่วยและอาสาสมัครในชุมชนต้องเดินเป็นระยะทางไกลหรือปีนเขาเพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์
“การให้คำปรึกษาทางการแพทย์แบบออนไลน์มีความหมายต่อประชาชนเป็นอย่างมากเพราะเป็นการติดต่อเพียงช่องทางเดียวที่เหลืออยู่ระหว่างชุมชนกับแพทย์ขององค์การฯ” แคโรไลน์ เดอ แครมเมอร์ (Caroline de Cramer) - ผู้แทนโครงการทางการแพทย์กล่าว “เมื่อผู้ป่วยสามารถติดต่อพยาบาล เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ หรือแพทย์ได้ ก็ถือเป็นการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตรูปแบบหนึ่ง การสื่อสารนี้เป็นวิธีเดียวที่ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกลืม ยังมีตัวตน และยังคงพึ่งพาเราได้”