Skip to main content

    เมียนมา: 2 ทศวรรษในการทำงานร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

    A patient picks up medicines from the pharmacy at the Dawei clinic. Myanmar, September 2012. © Ron Haviv/VII Photo

    ผู้ป่วยกำลังรับยาจากแผนกเภสัชกรรมที่คลินิกเมืองทวาย - เมียนมา กันยายน 2555 © Ron Haviv/VII Photo

    ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ดำเนินการการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในเมืองทวายแบบครบวงจร โดยมีโครงการส่งเสริมความตระหนักรู้เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี (HIV) ในกลุ่มประชากรชายขอบ (marginalised) และประชากรกลุ่มเสี่ยง (at-risk people) อาทิ แรงงานต่างด้าว ผู้ใช้ยาเสพติดโดยการฉีด ประเทศเมียนมาช่วงปี 2543 เกิดการระบาดของเชื้อเอชไอวี (HIV)/โรคเอดส์และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ประสบความลำบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลมาโดยตลอด คลินิกขององค์การฯ ที่เมืองทวายจึงเปิดให้บริการขึ้นมารองรับการรักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นส่วนหนึ่งในเพิ่มความหวังสำหรับชีวิตที่ดีกว่าให้กับพวกเขา 

    ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ประจำคลินิกเมืองทวาย (Dawei) ในความดูแลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) จะมีการโอนย้ายข้อมูลและการรักษาไปยังโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือโครงการเอดส์แห่งชาติ (National Aids Programme) ในช่วงท้ายปี 2566 และทางองค์การฯ จะยังคงสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป

    แผนการโอนย้ายผู้ป่วยนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ชาติ (National Strategic Plan) ในการปรับโครงสร้างระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ให้ไปอยู่ใต้การบริหารจัดการของภาครัฐในสัดส่วนที่มากขึ้น หลังจากที่กระบวนการถ่ายโอนปฏิบัติงานนี้ต้องสะดุดหยุดลงเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบำบัดรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral therapy / ART) ถึงอย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคอยู่มากอันเนื่องมาจากภาวะล้มเหลวของระบบสาธารณสุขเมื่อปี 2564 ที่ทำให้การถ่ายโอนดังกล่าวต้องชะลอลง

    ปิดฉากโครงการเพื่อผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่เมืองทวาย กับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดมาตลอด 20 ปี

    ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการในเมืองทวายดังกล่าวเป็นแรงสนับสนุนในหลายมิติให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ตั้งแต่การตรวจหาการติดเชื้อและให้การรักษา ไปจนถึงให้การสนับสนุนทางภาคประชาสังคมในการดูแลและประคับประคองจิตใจผู้ป่วยจำนวนมากที่มองว่าโรคนี้คือตราบาปติดตัว

    ในปี 2563 โครงการนี้ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับโครงการอื่นทั่วโลกเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความไม่ต่อเนื่องในขั้นตอนการรักษาสำหรับผู้ป่วยในความดูแล ผู้ป่วยที่เมืองทวายประสบความยากลำบากเป็นอย่างมากจากคำสั่งจำกัดการเดินทาง เพราะส่วนใหญ่แล้วอาศัยอยู่ในถิ่นชนบท และอีกมากอาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ ตามแนวชายฝั่ง

    มะมีมี (Ma Mi Mi) ย้อนความหลังว่า "ช่วงโควิด-19 ระบาด พวกเรือรับจ้างก็หยุดทำงาน ฉันเลยเดินทางกลับมา (ที่คลินิก) ไม่ได้ และฉันไม่ได้รับยารักษาอยู่ราว 3 เดือน"

    A patient receives treatment in the Doctors Without Borders clinic in Dawei. Myanmar, April 2014. © Eddy McCall

    ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากคลินิกขององค์การฯ  ในเมืองทวาย - เมียนมา เมษายน 2557 © Eddy McCall

    ในเดือนมกราคม 2564 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเริ่มต้นการโอนย้ายผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาในโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หนึ่งเดือนให้หลังก็เกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้นในเมียนมา เมื่อกองทัพเข้ามาครองอำนาจแทนที่รัฐบาลพลเรือน บุคลากรการแพทย์ทั่วประเทศจึงได้หยุดงานประท้วงเพื่อเป็นตอบโต้การรัฐประหารครั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ระบบการสาธารณสุขอยู่ในภาวะขาดแคลนบุคลากรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อทับถมด้วยทั้งปัญหาขาดงบประมาณและการนำเข้าอุปกรณ์ถูกปิดกั้น จึงทำให้ระบบสาธารณสุขของเมียนมาไม่มีศักยภาพเพียงพอเมื่อเทียบกับภาระงานที่รออยู่

    กระบวนการโอนย้ายผู้ป่วยถูกระงับไว้ชั่วคราว ทางองค์การฯ จึงกลับมารับผู้ป่วยใหม่เข้าสู่โครงการรักษาโรคเอชไอวี (HIV) ที่เมืองทวายอีกครั้งหลังจากที่เคยเปิดรับครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562 แต่ผ่านไปอีกไม่กี่เดือนให้หลัง ในเดือนมิถุนายน ทีมงานขององค์การฯ ที่เมืองทวายก็ได้รับหนังสือจากหน่วยงานรัฐประจำภูมิภาคให้หยุดการปฏิบัติงานทั้งหมด โดยในขณะนั้น คลินิกที่เมืองทวายมีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่อยู่ระหว่างรับการรักษาด้วยวิธีการรับยาต้านรีโทรไวรัส (ART) เป็นจำนวน 2,162 คน ถึงแม้ว่าทางองค์การฯ จะสามารถเริ่มทำการได้อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ แต่การขาดตอนดังกล่าวก็ทำให้การส่งมอบความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ ทั้งระดับระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทที่มีให้แก่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่เขตนี้ขาดช่วง

    ในปีนี้ องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้สานต่อการโอนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เข้าสู่โครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีให้แล้วเสร็จ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถได้รับการรักษาด้วยวิธีการรับยาต้านรีโทรไวรัส (ART) ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ทางองค์การฯ จะยังคงพันธกรณีไว้อยู่ โดยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะปฏิบัติงานในลักษณะการให้การสนับสนุน (Support Model) ควบคู่ไปกับโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในเมืองทวาย กระบวนการโอนย้ายผู้ป่วยทุกคนจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2566 ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญเพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยหวังว่าหากโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ยังคงดำเนินอยู่ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาถึงคลินิก ทำให้การรักษาเป็นเรื่องสะดวกสบายและง่ายขึ้น

    Doctors Without Borders staff manages the daily routines, registers patients coming in for consultation, and files the folders corresponding to the various patients. Myanmar, February 2012. © Matthieu Zellweger

    เจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนเป็นผู้จัดการแผนดำเนินงานประจำวัน ลงทะเบียนผู้ป่วยที่เข้ามารับการปรึกษาทางการแพทย์ และจัดเก็บเอกสารตามประเภทผู้ป่วยต่างๆ - เมียนมา กุมภาพันธ์ 2555 © Matthieu Zellweger

    การเข้ารับการรักษา HIV ในประเทศเมียนมา

    สำหรับ เกเก(Gay Gay* นามสมมุติ) ผู้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (HIV) หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดในการรักษาก็คือจำนวนคลินิกที่ให้บริการที่มีจำกัด

    "เมื่อครั้งฉันยังอายุน้อยและเพิ่งทราบว่าตัวเองมีอาการของโรค ฉันต้องรับมือกับความยากลำบากหลายอย่าง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคลินิกหรือโรงพยาบาลสำหรับเข้ารับการรักษา ฉันต้องเดินทางไปหมู่บ้านอื่น และฉันกลับมาที่เมืองทวายเพราะการรักษาที่เคยได้รับนั้นไม่ได้ผล ฉันไม่เห็นว่าอาการดีขึ้นเลย" 

    ตอนที่ฉันกลับมาเมืองทวาย ฉันได้รู้จักคลินิกมยิต้ายุ (Myittaryeik clinic) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน แต่ว่าตอนนั้นยังไม่ได้สร้างเป็นคลินิกถาวร แต่เป็นการส่งแพทย์ไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านและให้การรักษา เมื่อเวลาผ่านไปฉันก็เริ่มสนิทกับหมอและพยาบาล และฉันได้รับยาและการรักษาที่มีคุณภาพ และฉันรู้สึกร่างกายแข็งแรงขึ้นมาตั้งแต่นั้น ก่อนหน้านั้น การได้รับการรักษาเป็นเรื่องยากเพราะว่ามีแต่คลินิกมยิต้ายุที่เดียว แต่ตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นแล้ว มีคลินิกที่อื่นให้เข้ารับการรักษา และฉันยังสามารถไปเมืองอื่นๆ นอกจากเมืองทวายเพื่อรับการรักษาได้ด้วย แม้แต่ที่เมืองย่างกุ้งหรือเมืองมัณฑะเลย์ก็ตาม
    เกย เกย ผู้ป่วย

    "ฉันรับการรักษาเป็นครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 13 หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่ที่ย่างกุ้งเพื่อเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย ในช่วงเวลานั้นฉันได้รับการรักษาที่ย่างกุ้งต่อเนื่องกันถึง 8 ปี"  เกย เกย เล่าต่อ

    "ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่ได้รับการรักษาต่อเนื่องก็สามารถมีสุขภาพดีและใช้ชีวิตเป็นปกติได้เหมือนคนทั่วไป ทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเมื่อก่อนการได้รับดูแลรักษาที่ถูกวิธีเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ทุกอย่างนั้นก็เปลี่ยนไปแล้วด้วยจำนวนคลินิกและโรงพยาบาลที่มีมากขึ้น ปัจจุบันนี้มันง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนในการจะไปคลินิกเพื่อตรวจหาเชื้อและรับการรักษา"

    "[ถึงอย่างนั้นก็ตาม] ยังมีอุปสรรคอื่นในการใช้ชีวิตอยู่อีกหลายอย่าง สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในเมียนมา บ้างก็ต้องลำบากในการทำมาหากิน เพราะนอกจากต้องเลี้ยงครอบครัวแล้วยังต้องมีเรื่องการเดินทางอีก เมื่อถึงเวลาต้องไปคลินิก" เธอทิ้งท้าย

    A patient under HIV/TB care. Myanmar, December 2018. © MSF/Scott Hamilton

    ผู้ป่วยโรคเอชไอวีและวัณโรคที่อยู่ในความดูแลขององค์การฯ - เมียนมา ธันวาคม 2561 © MSF/Scott Hamilton

    การถ่ายโอนภาระงานและทิศทางโครงการหลังจากนี้

    กระบวนการถ่ายโอนภาระงานในครั้งนี้มีความแตกต่างเล็กน้อยจากในครั้งแรกเริ่มที่ต้องหยุดไปเมื่อปี 2564 ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอหลายประการในระบบการสาธารณสุขยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในด้านการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เมื่อประกอบกับทรัพยากรน้ำและการสุขาภิบาลที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คลินิกในการจะดำเนินการได้อย่างราบรื่น แม้ว่าจะมีการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อย่างองค์การแพทย์ไร้พรมแดนก็ตาม

    ประชากรของเมืองทวายประกอบไปด้วยแรงงานจำนวนมากที่ไปทำงานอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลานาน หนึ่งในนั้นคือ โกหม่อง-มหยิ่น (Ko Maung Myint*) ผู้ไปทำงานประมงน้ำลึกอยู่ที่เมืองเกาะสอง (Kawthaung)

    "เมื่อก่อนนี้ ฉันได้รับยาพอสำหรับระยะเวลา 6 เดือน ทำให้ฉันสามารถไปทำงานในต่างถิ่นได้ 5 เดือน แล้วค่อยกลับมาที่นี่อีกเดือนหนึ่ง ฉันจำเป็นต้องเดินทางต่างที่ไปเพื่อทำงาน ดังนั้นโครงการระดับชาติด้านโรคเอดส์จึงไม่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวก เพราะว่าฉันจะได้รับยามาเพียงสำหรับ 2 เดือนเท่านั้น"

    เมื่อไม่มียาเพียงพอ ผู้ป่วยจะต้องเดินทางกลับไปที่คลินิกครั้งแล้วครั้งเล่า ในหลายพื้นที่ของภูมิภาคตะนาวศรี (Tanintharyi) และที่อื่นในเมียนมาขณะนี้ การเดินทางสัญจรมีความยากลำบากและเสี่ยงอันตราย อีกทั้งการสู้รบในสงครามก็เริ่มกลับมาเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น บุคลากรการแพทย์และสถานพยาบาลในเมียนมาตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีอยู่เป็นประจำ นับตั้งแต่การรัฐประหารที่ผ่านมา มีรายงานว่าได้เกิดเหตุโจมตีโดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่ทางการแพทย์จำนวนกว่า 1,000 เหตุการณ์

    ถึงแม้ว่าโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จะมีพัฒนาการและมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน แต่ปัจจัยภายในประเทศเมียนมายังคงส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) อย่างมีนัยสำคัญ

    หากยังคงมีการปิดกั้นเส้นทางคมนาคมสำหรับลำเลียงอุปกรณ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยสำหรับดำเนินงานในระบบบริการสาธารณะ และหากยังไม่ทำการระดมทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่มีทั้งในและโดยรอบเมืองทวายมาใช้ ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาโรคเอชไอวี (HIV) จะยังคงต้องแบกรับผลจากการไม่ได้รับยาที่สม่ำเสมอ

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนคาดหวังโอกาสในการสนับสนุนคลินิกในโครงการบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยมุ่งหวังว่าการรักษาที่มีคุณภาพสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในเมียนมาจะดำเนินต่อไป

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน เป็นหน่วยงานภาคเอกชนระหว่างประเทศ (NGO) รายแรกที่ลงพื้นที่ไปยังประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 2535 และยังคงปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ในปี 2537 ทางองค์การฯ ได้เริ่มให้การดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV)/โรคเอดส์ และให้ความรู้ด้านสุขศึกษาในย่างกุ้ง รวมไปถึงให้บริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในปี 2545 ทางองค์การฯ เป็นผู้ให้การบำบัดรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสเป็นรายแรกในประเทศ และในช่วงหนึ่งยังเป็นผู้ดำเนินโครงการ HIV ที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมาอีกด้วย อ่านเพิ่มเติมได้ที่ msf.org

     

    คุณสามารถอ่านบทความในภาษาพม่าได้ที่นี่