เมียนมา: ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าในการจัดการปัญหาวัณโรคระดับสากล หากระบบสุขภาพไม่ถูกแทรกแซงทางการเมืองอีกต่อไป
โฟน เปย์ ดอว์ (Phone Pyae Thaw) กำลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อวัณโรคร่วม 4 ปี และขณะนี้กำลังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาเป็นวันที่ 3 แล้ว - เมียนมา 2566 © MSF
เราได้พูดคุยกับดร.มาร์ค เชอร์ล็อค (Dr. Mark Sherlock) ผู้จัดการด้านแผนงานสาธารณสุขขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontièrés - MSF) สำหรับประเทศเมียนมา ดร.เชอร์ล็อคอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการดูแลเรื่องวัณโรค (Tuberculosis - TB) ในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใต้ความขัดแย้งทางทหาร มีการใช้ระบบสาธารณสุขเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง นำไปสู่สภาวะที่ระบบการบริการผู้ป่วยได้รับความเสียหาย
ข้อมูลองค์การฯ ที่เกี่ยวข้องกับระดับความชุกของวัณโรคที่เมียนมา
ตามรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เมียนมายังคงเป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง โดยปรากฏผู้ป่วยวัณโรคครบทั้ง 3 กลุ่ม คือ ภาระวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Drug-Susceptible TB - DSTB) วัณโรคดื้อยา (Drug-Resistant TB - DRTB) และวัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย (HIV-associated TB)
แม้เมียนมาจะมีความก้าวหน้าในการจัดการโรคติดต่อจนถึงปี 2562 หากการขัดขวางจากการมาถึงของโรคโควิด-19 ผสานเข้ากับการล่มสลายของระบบสาธารณสุขจากการยึดครองของทหาร ก็ส่งผลให้การพัฒนานี้ล้าหลังกลับไปดังเช่นในปี 2563 และ 2564
เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคลดลงไปกว่าร้อยละ 20 ในปี 2563 และยังคงลดลงอีกในปี 2564 ซึ่งการลดลงนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้ป่วยวัณโรคในเมียนมาน้อยลง หากเพราะปริมาณการตรวจโรคและการรักษาลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ประกอบเข้ากับการดำเนินการทางสาธารณสุขที่ขาดตอน ไม่เชื่อมเป็นระบบเดียวกัน
ในช่วงเวลาดังกล่าว ประชาชนประมาณ 60,000 คน ที่เป็นวัณโรคไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคและไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้ระดับการเสียชีวิตจากวัณโรค การติดต่อวัณโรค รวมถึงวัณโรคที่พัฒนากลายเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานมีจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากแผนงานการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ (National Tuberculosis Programme - NTP) ในปีนี้ ภายในรายงานปรากฏว่าการตรวจหาโรคและการวินิจฉัยวัณโรคในเมียนมากำลังเข้าใกล้เป้าหมายขององค์การอนามัยโลก โดยตัวเลขต่ำกว่าสถิติในปี 2562 เพียงปีเดียวอีกด้วย[1]
แม้ว่ารายงานนี้เป็นข่าวดี แต่ข้อมูลเกือบทั้งหมดเป็นเพียงตัวเลขที่เกิดขึ้นในภาคย่างกุ้ง (Yangon) ซึ่งภาระวัณโรคราว 50% ของประเทศเมียนมามาจากภาคดังกล่าว นับตั้งแต่องค์การฯ เริ่มสนับสนุนห้องปฏิบัติการด้านวัณโรคแห่งชาติ (National Tuberculosis Reference Lab) ในปี 2564 องค์การฯ พบว่ามีปริมาณการทดสอบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติการแต่ละเดือน ซึ่งส่วนมากตัวอย่างทดลองมาจากภาคย่างกุ้ง
ส่วนพื้นที่ในประเทศที่ค่อนข้างเป็นชนบทซึ่งเราดำเนินงานอยู่นั้น ตัวเลขสถิติกลับตรงกันข้าม จากการที่ไม่มีบริการสาธารณะที่จับต้องได้ในการสนับสนุนผู้ป่วยวัณโรคและความยากลำบากในการเข้าถึงระบบการรักษาที่มีอยู่ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุปสรรคขึ้นคือความขัดแย้งที่ไม่หยุดหย่อนในประเทศ และประชาชนต้องดิ้นรนด้วยตนเองเพื่อที่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาให้ทันท่วงที
อุปสรรคหลักบางประการที่ส่งผลต่อการรักษาวัณโรค
ในพื้นที่บางส่วนของเมียนมา ผู้ป่วยของเราบอกว่าที่พวกเขาเข้าสู่การบริการทางสาธารณสุขล่าช้าหรือไม่สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพราะพวกเขากังวลว่าจะเดินทางมาเสียเที่ยว เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement - CDM) โดยปฏิบัติการรวมถึงการที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนมากต่อต้านการยึดครองอำนาจของทหารโดยการประท้วงหยุดงาน บ่อยครั้งที่พอผู้ป่วยก็จะพบกับสถานการณ์ที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่และยา
การรักษาที่ไม่ต่อเนื่องและการที่ผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการรักษา ไม่เพียงทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การขยายวงกว้างของการดื้อยาและรูปแบบของวัณโรคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
แม้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษา แต่การวินิจฉัยกรณีวัณโรคดื้อยาที่ทันท่วงทีเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะห้องปฏิบัติการแห่งเดียวที่ใช้งานได้จริงและรองรับการทดสอบเฉพาะทางอยู่ในเมืองย่างกุ้ง นำไปสู่สถานการณ์ที่ห้องปฏิบัติการเต็มไปด้วยตัวอย่างทดลองที่ล้นมือ และมีความล่าช้าในการแจ้งผลเพื่อส่งต่อไปรักษา
นอกจากนี้ การฟื้นตัวจากวัณโรคอาจใช้ระยะเวลานานมาก บางครั้งนานถึง 2 ปี และอาจรวมถึงการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยาวนาน การรักษาที่ใช้เวลานานทำให้เกิดความกังวลด้านการเงินของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในเมียนมา เพราะพวกเขามักต้องย้ายออกจากบ้านไปพักที่อื่น หรือกักตัวตามโรงพยาบาลและคลินิกซึ่งจำกัดความสามารถในการทำงาน
การวินิจฉัยวัณโรคในเด็กยังคงเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่งเช่นเดียวกันกับหลายประเทศทั่วโลก บ่อยครั้งที่คนไข้ไม่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตทั้งที่ป้องกันได้ อันที่จริงแล้วเมื่อได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยเด็กมักจะได้รับหายจากโรคได้เร็วกว่าผู้ใหญ่อีกด้วย
ทีมงานของเราที่เมียนมาให้การสนับสนุนโปรแกรมวัณโรคแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอในการทำงานหลายระดับ และเป็นผู้ให้บริการโดยตรงในเมืองย่างกุ้ง หรือการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการทดสอบและการรักษา เช่น ที่กะฉิ่น (Kachin) ฉาน (Shan) และยะไข่ (Rakhine)
การวัณโรคก็เป็นเช่นเดียวกับโรคติดต่อประเภทอื่น คือควรได้รับการเอาใจใส่เหนือเรื่องการเมืองและพรมแดนทางภูมิศาสตร์ และองค์การฯ มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย เราจะทำทุกอย่างที่ทำได้ในการอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงการทดสอบและการรักษาที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ป่วยใหม่ และบรรเทาภัยด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการปรากฏขึ้นของวัณโรคดื้อยาสายพันธุ์ใหม่
การประสานงานระหว่างองค์การฯ กับรัฐทหารและหน่วยงานอื่น
เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ นักกิจกรรมด้านสุขภาพและผู้ร่วมบริจาคต้องร่วมมือร่วมใจกันที่จะพัฒนาความพร้อมและคุณภาพในการดูแลรักษาวัณโรค (รวมถึงวัณโรคดื้อยา) ในประเทศเมียนมาอย่างเร่งด่วน
ไม่ว่าเป็นประเทศใดก็ตามที่องค์การฯ ดำเนินการอยู่ เราประสานงานกับทุกฝ่ายในความขัดแย้ง ในประเทศเมียนมา การพูดคุยใต้หลักนี้ทำให้ทีมงานขององค์การฯ แน่ใจว่าเราสามารถดำเนินการสนับสนุนการทำงานอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยปัจจุบันและรวมถึงจัดเตรียมปฏิบัติงานการด้านแพทย์และมนุษยธรรมครั้งใหม่
องค์การฯ มีส่วนร่วมในการดูแลด้านวัณโรคทั่วโลกมากว่า 30 ปี โดยในเมียนมาเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2545 ในขณะที่เราเห็นความคืบหน้าของปฏิบัติงานที่เข้าใกล้เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกมากขึ้น เรายังคงพบว่ามีการขัดกันทางอาวุธ (armed conflict) ครั้งใหม่กระจายตัวเป็นวงกว้างและยังมีวิกฤติด้านการเมืองที่ต่อเนื่องในเมียนมา กระทบต่อความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงการรักษาวัณโรคที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับ แต่ยังหมายรวมถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นประเภทอื่นอีกด้วย
ขั้นตอนการปฏิบัติงานมีอุปสรรคหลายประการ และการพัฒนาขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและเงินทุนจากองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (Non Governmental Organizations – NGO) ที่เข้ามาอุดช่องว่างด้านการขาดแคลนของเจ้าหน้าที่และเพิ่มความสามารถในการตรวจโรคในห้องปฏิบัติการ บางช่วงของสายป่านระบบสาธารณสุขที่ขาดหายไปนับจากเหตุการณ์ในปี 2564 ยังคงชัดเจนและเรากำลังหาทางที่จะเพิ่มการสนับสนุนการบริการแห่งชาติซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้น
โอนมาร์ (Ohnmar) ภรรยาของเนะ ซอว์ แลทท์ (Nay Zaw Latt) กำลังดูแลสามีของเธอ ระหว่างที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานในการฟื้นตัวจากวัณโรค พวกเขาหวังว่าเขาจะสามารถกลับบ้านได้ภายในอีก 3 สัปดาห์ - เมียนมา 2566 © MSF
การก้าวข้ามอุปสรรคหลายประการดังกล่าวข้างต้น
ปี 2566 ในเมืองย่างกุ้ง ความมุ่งมั่นและแผนการดำเนินงานจากกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินขั้นตอนการรักษารูปแบบใหม่ที่ใช้ระยะเวลาเร็วขึ้นด้วยการรับประทานยารักษาวัณโรคดื้อยาชนิดใหม่ BPaL/M ซึ่งเป็นยาต้านวัณโรคที่รับประทานทั้งหมด 6 เดือน เป็นไปในทางบวกและเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนารูปแบบการรักษา แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ขณะนี้การวางแผนเปิดตัวยาและดำเนินการต่อไปในระดับภาคและระดับเมืองนั้นจะเริ่มในปี 2567 เต็มไปด้วยเรื่องน่ากังวล จากการที่ผู้คนยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางการเมืองและส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ปลอดภัย
เพื่อให้การเปิดตัวดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี การทำงานด้านสาธารณสุขจะต้องพ้นจากการเป็นตัวประกันทางการเมืองอย่างเร่งด่วน ซึ่งหมายถึงการจัดหาและเข้าถึงการรักษาด้านสาธารณสุขที่จำเป็นแยกออกจากวิกฤติทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลที่ใช้ได้จริงทั่วทั้งประเทศ และแพทย์ต้องสามารถให้การดูแลรักษาโดยไม่ต้องกังวลความปลอดภัย ไม่ว่าสถานพยาบาลที่พวกเขาปฏิบัติงานอยู่จะบริเวณไหนก็ตาม
ขณะนี้ ออง ไตน์ (Aung Thein) กำลังรักษาตัวที่คลินิกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนหลังจากโรงพยาบาลรัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ - เมียนมา 2566 © MSF
นอกจากนี้ โครงการวัณโรคแห่งชาติและห้องปฏิบัติการวัณโรคแห่งชาติ สามารถทำหน้าที่เต็มกำลังได้เพียงแค่บางส่วนและไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการทั้งหมดได้ การสนับสนุนจากองค์การนานาชาติที่จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคและอุปกรณ์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งและควรจะยกระดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์การฯ มุ่งมั่นที่จะทำ เจ้าหน้าที่ควรอำนวยความสะดวกในการเร่งกระบวนการจัดการที่แสนยุ่งยากซึ่งจำกัดการทำงานของผู้ให้บริการทางสาธารณสุขภายในประเทศและนานาชาติ บริเวณที่มีความขัดแย้งเองยังคงมีความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาวัณโรคสำหรับผู้ป่วยเป็นไปอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดังนั้นจึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับการให้บริการด้านวัณโรคต่อเนื่องว่าจะได้รับการอำนวยความสะดวกจากทุกฝ่ายในเรื่องความขัดแย้งที่เมียนมา โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องทางการเมือง ชาติพันธุ์ หรือพื้นที่อาศัยของผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ
สุดท้ายแล้วกองทุนระหว่างประเทศของประเทศเมียนมา ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะไม่ถูกทอดทิ้ง กองทุนระหว่างประเทศที่มีอยู่จะตัดสินความเป็นไปได้ในการพัฒนาการเข้าถึงการดูแลวัณโรคและบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นต่าง ๆ ผู้ร่วมบริจาคต้องร่วมกันสร้างความมั่นใจว่ากองทุนดังกล่าวได้นำไปใช้ในการให้บริการกลุ่มผู้ป่วยที่เปราะบางที่สุดก่อนเป็นอันดับแรกและให้บริการที่ได้ผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมในด้านสาธารณสุข ซึ่งหมายรวมถึงโครงการวัณโรคแห่งชาติของประเทศเมียนมาและการให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล
[1] National Tuberculosis Programme annual evaluation 2022 by Dr. Myo Su Kyi Director (Disease Control) Department of Public Health