เมียนมา: องค์การฯ ระงับการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในรัฐยะไข่
เจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจ่ายยารักษาโรคให้ผู้ป่วย ภายในคลินิกเคลื่อนที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่
นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 คลินิกเคลื่อนที่ขององค์การฯ จำเป็นต้องหยุดการให้บริการชั่วคราว ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยราว 1,500 รายที่เข้ารับการรักษาทุกสัปดาห์ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการอีกต่อไป การปิดกั้นเส้นทางและการประกาศเงื่อนไขในการเข้าสู่พื้นที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีมงานขององค์การฯ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ แม้แต่การสนับสนุนด้านการส่งต่อผู้ป่วยออกจากพื้นที่ - เมียนมา ตุลาคม 2566 © Zoe Bennell/MSF
ความขัดแย้ง ความรุนแรงที่ไม่เลือกเป้าหมาย และการจำกัดการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ (Rakhine) ประเทศเมียนมา (Myanmar) ส่งผลให้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ต้องระงับกิจกรรมทางการแพทย์เพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ระตีด่อง (Rathedaung) บูตีด่อง (Buthidaung) และหม่องด่อ (Maungdaw)
องค์การฯ ให้บริการด้านการแพทย์ผ่านคลินิกเคลื่อนที่ 14 แห่งภายในชุมชนทางตอนเหนือของยะไข่ ซึ่งประกอบไปด้วยชาวยะไข่ โรฮิงญา (Rohingya) และชนกลุ่มน้อยอื่นที่ถูกจำกัดการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ
องค์การฯ มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความขัดแย้ง พวกเขายังคงต้องทนทุกข์และเผชิญหน้ากับการจงใจทำลายทรัพย์สินหรือทำร้ายร่างกาย การบังคับเกณฑ์กำลังทหาร การพลัดถิ่น และการจำกัดการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมพร้อมกับการไม่มีทางเลือกในการเสาะหาพื้นที่ปลอดภัยเนื่องจากความขัดแย้งและการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กิจกรรมขององค์การฯ ต้องระงับอย่างไม่มีกำหนด และทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้เมื่อต้องการ
ชาวโรฮิงญาที่ต้องหนีจากความขัดแย้งในบูตีด่องบอกกับพวกเราว่า “จะเป็นเกียรติมากถ้าระเบิดได้สังหารพวกเราไปพร้อมกัน พวกเราจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมานอีกต่อไป จากไปด้วยกันยังดีกว่าทนทุกข์อยู่แบบนี้”
การจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ทีมขององค์การฯ ไม่สามารถให้บริการด้านการดูแลสุขภาพได้ตามปกติในหลายพื้นที่ ทั้งทางตอนกลางและทางตอนเหนือของยะไข่ องค์การฯ ต้องเผชิญกับการจำกัดการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม เช่น ความยากลำบากของการดูแลรักษาแก่ผู้ป่วยและการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลภายในเขต รวมไปถึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์พื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ และยังต้องเป็นเฝ้ามองระบบสาธารณสุขล่มสลายอย่างสิ้นเชิง
ทุกชุมชนขาดแคลนระบบการดูแลสุขภาพทั้งขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิ และทีมขององค์การฯ ยังได้สังเกตเห็นว่าหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ต้องเสียชีวิตเนื่องจากการดูแลรักษาที่ไม่เพียงพอ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 องค์การฯ บันทึกข้อมูลการเสียชีวิตของมารดาและทารกระหว่างคลอดจำนวน 9 ราย และเมื่อวันที่ 15 เมษายน สำนักงานขององค์การฯ และร้านขายยาในบูดีต่องถูกเผาจนมอดไหม้ โดยพื้นที่นี้ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่เปิดดำเนินการอีกต่อไป
เรียกร้องการเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ
ถึงแม้ว่าองค์การฯจะไม่สามารถให้การดูแลได้ในพื้นที่ แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ป่วยและผู้คนในทางตอนเหนือของยะไข่ พวกเราจะยังคงอยู่ในยะไข่เพื่อที่จะได้กลับมาดำเนินกิจกรรมต่อในทันทีที่สถานการณ์ดีขึ้น
องค์การฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งให้มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เคารพสถานพยาบาลและผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของชุมชนเปราะบางที่สุดต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะป้องกันการสูญเสียชีวิตและความทุกข์ทรมานอันไร้เหตุผลรองรับ
คุณสามารถอ่านบทความภาษาพม่าที่นี่