เมียนมา: เราจะมีโอกาสได้พบกันอีกครั้งหรือเปล่า
เจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนเดินผ่านที่พักพิงภายในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เมืองยะเต๊ด่าว รัฐยะไข่
ในวันฝนโปรยวันหนึ่งของเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ฉันได้พบกับตเว* (Htwe) ผู้ป่วยชาวยะไข่ (Rakhine) ผู้อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP camp) ในเมืองบูตีต่อง (Buthidaung) รัฐยะไข่ (Rakhine state) ประเทศเมียนมา ครอบครัวของเธอสูญเสียบ้านไปเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมา (Myanmar Armed Forces) กับกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ในปี 2562 ครอบครัวของ ตเวและเพื่อนบ้านกลับไปยังหมู่บ้านของพวกตนไม่ได้ เมื่อหมู่บ้านเคยเป็นสนามรบไปแล้ว มันก็หาความปลอดภัยไม่ได้อีกต่อไป ทั้งกับระเบิดและการปะทะกันที่อาจเกิดขึ้นทำให้พวกเขาไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตน
ฉันสัมภาษณ์ผู้ป่วยขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชาวยะไข่ ชาวโรฮิงญา (Rohingya) และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพื่อนร่วมงานชาวโรฮิงญาของฉันซึ่งพูดได้สี่ภาษาเป็นล่ามแปลคำถามของฉันเป็นภาษายะไข่และทวนคำตอบของตเวเป็นภาษาอังกฤษ
ทันใดนั้น ฉันก็ได้ยินเสียงเพลงคุ้นหูและเนื้อเพลงภาษาเกาหลีดังมาจากที่ไหนสักแห่งหนึ่งในบ้านไม้ไผ่ ฉันคิดในใจ “มันเป็นเพลงที่คุ้นหู ฉันรู้จักเพลงนี้นี่นา?” ปรากฏว่าลูกสาววัยรุ่นของตเวกำลังฟังเพลงเคป็อบ (K-pop)อยู่ แม้ฉันจะจำชื่อเพลงไม่ได้ แต่ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่เคยได้ยินเป็นครั้งคราวเมื่อครั้งกลับบ้านที่เกาหลี เมื่อฉันบอกว่าฉันเป็นคนเกาหลีและประหลาดใจที่ได้ยินเพลงดังกล่าวทั้งที่ตอนนี้ฉันอยู่ห่างจากบ้านแสนไกล เราสามคนก็หัวเราะกันออกมาเสียงดัง ฉันได้รับประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้เมื่ออยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นที่รัฐยะไข่ ซึ่งตอนนี้ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อพื้นที่ที่คนจากประเทศเกาหลีใต้ห้ามเดินทางเข้าไป นั่งฟังเรื่องราวของผู้ป่วยชาวยะไข่พร้อมเสียงเพลงเคป็อบเป็นพื้นหลังเคียงข้างเพื่อนร่วมงานชาวโรฮิงญา
หนึ่งปีผ่านไป เมื่อมองย้อนกลับไป วันนั้นเป็นวันที่พิเศษจริงๆ และฉันเก็บรักษาทุกความทรงจำในวันนั้นไว้ในใจ ทั้งเสียงฝน บทสนทนาระหว่างเราสามคน และช่วงเวลาแห่งการแบ่งปันเสียงหัวเราะท่ามกลางความยากลำบากของชีวิตในค่ายช่วงฤดูฝน
ด้วยความช่วยเหลือเต็มกำลังจากเพื่อนร่วมงาน ฉันใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการพบปะและพูดคุยกับผู้ป่วยชาวยะไข่และโรฮิงญามากมาย ตอนที่ฉันออกมาจากพื้นที่ ฉันไม่เคยคิดว่าการเดินทางกลับไปพบพวกเขาอีกครั้งเป็นเรื่องที่ยากเกินความสามารถ น่าเสียดายที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังเดือนตุลาคม ปี 2566 เมื่อเกิดความขัดแย้งจากหลายฝ่ายในเวลาเดียวกัน จนยกระดับเป็นสงครามเต็มรูปแบบในเวลาไม่นาน ส่งผลกระทบไปถึงรัฐอื่นรวมถึงยะไข่ จากข้อมูลของสหประชาชาติ (United Nation หรือ UN) ปัจจุบันผู้คนมากกว่าสามล้านคนเป็นผู้พลัดถิ่นในเมียนมา จำนวนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายภูมิภาค แต่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนและองค์กรให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอื่นๆ จำเป็นต้องลดขนาดการดำเนินงานลงหรือยุติการดำเนินงานชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ขาดแคลนทรัพยากรและข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง
ที่รัฐยะไข่ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่องค์การฯ ดำเนินการอยู่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น ในเดือนเมษายน 2567 สำนักงานองค์การฯ ในเมืองบูตีต่อง รวมถึงห้องยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ถูกไฟไหม้จากการต่อสู้จนเสียหายอย่างน่าเศร้า ในวันวิปโยคนั้นเราได้เห็นไฟลุกท่วมบ้านกว่า 200 หลัง และผู้คนหลายพันอพยพหนีมายังบริเวณใกล้สำนักงานของเรา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คณะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่จำเป็นได้ เนื่องจากไม่แน่ใจในความปลอดภัยของตนเอง ผู้ป่วยที่พึ่งพาคลินิกเคลื่อนที่และบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินขององค์การฯ อยู่แล้ว ก็ต้องเผชิญกับช่องว่างทางการรักษาพยาบาลอย่างที่เป็นปัญหาร้ายแรง เพราะไม่ได้รับการรักษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากขาดแคลนสถานพยาบาล ยังรวมถึงเด็กที่ต้องได้รับยาพื้นฐานและหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการการเคลื่อนย้ายฉุกเฉินหรือการผ่าท้องทำคลอด ทุกคนไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ไม่ว่าในรูปแบบใด
ผู้คนจำนวนมากรวมตัวกันที่ส่วนพักรอของคลินิกเคลื่อนที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ในเขตอองมินกะลาร์ เมืองซิตตเว ซึ่งเป็นคลินิกเคลื่อนที่แห่งที่สองที่องค์การฯ ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เมื่อครั้งความขัดแย้งในรัฐยะไข่ปะทุขึ้นอีกครั้ง ในเมืองอองมินกะลาร์ มีผู้ป่วยหลายร้อยคนเข้ารอรับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว หญิงชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่หลายสิบคนต่างรอคิวในแผนกสูตินรีเวช ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ความขัดแย้งและความทุกข์ทรมานในเมียนมาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ความระส่ำระสายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ในปี 2566 มีพลเรือนเสียชีวิตกว่า 6,000 ราย และสถานพยาบาลกว่า 1,000 แห่งถูกโจมตี ในรัฐยะไข่ ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาซึ่งตกเป็นเป้าความรุนแรงมานานหลายทศวรรษ และขณะนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองจากฝ่ายใดเลย นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าเจ็ดปีแล้วที่ชาวโรฮิงญาประมาณ 700,000 คนอพยพหนีออกจากรัฐยะไข่ไปยังเมืองค็อกซ์ บาซาร์ (Cox’s Bazar) ประเทศบังคลาเทศ (Bangladesh) ปัจจุบันชาวโรฮิงญาอีกหลายแสนคนในรัฐยะไข่กำลังเอาชีวิตรอดท่ามกลางการสูญเสียของพลเรือนและความรุนแรงที่มากขึ้น
ฉันเดินทางออกจากเมียนมาในวันที่ 15 กรกฎาคมหลังจากภารกิจที่กินเวลา 15 เดือนเสร็จสิ้นลง วันนั้นยังเป็นวันครบรอบหนึ่งปีเต็มนับจากวันที่เราแบ่งปันเสียงหัวเราะกันที่บ้านของตเวในค่ายผู้พลัดถิ่น แม้ในขณะนี้ที่ฉันกำลังเขียนบทความนี้จากบ้านที่สุขสบายในประเทศเกาหลีใต้ ฉันยังคงไม่ทราบที่อยู่ของผู้ป่วยหลายรายอย่างตเว เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานในองค์การที่ฉันได้เจอที่นั่น ไม่มีแม้เบาะแสของเพื่อนร่วมงานและครอบครัวที่ต้องอพยพหลบหนี ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาจะปลอดภัย เจ็บป่วย หรือเข้าถึงอาหารและน้ำได้หรือไม่
“ฉันไม่แน่ใจว่าฉันจะยังมีชีวิตรอดอยู่ในอีกชั่วโมงข้างหน้าหรือไม่” คำพูดของเพื่อนร่วมงานที่กล่าวระหว่างการคุยโทรศัพท์ครั้งสุดท้ายในเดือนมีนาคมยังคงหนักอึ้งอยู่ในใจฉัน ฉันสงสัยว่าฉันจะมีโอกาสได้พบเพื่อนร่วมงานและผู้ป่วยในเมียนมาและฟังเรื่องราวการเอาชีวิตรอดและความยากลำบากของพวกเขาอีกสักครั้งหรือไม่ ฉันเฝ้ารอวันที่ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะเข้าถึงผู้ป่วยจำนวนนับไม่ถ้วนที่พลัดถิ่นและมีชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวทั่วเมียนมา