Skip to main content

    กักขังเพื่อหลงลืม: ชาวโรฮิงญาจะแสวงหาความปลอดภัยจากที่ใด

    Behind the Wire

    เราได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน และเสียงคนกรีดร้อง” รูฮูล (Ruhul) เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่บ้านเกิดของเขาอย่างเมืองบูตีด่อง (Buthidaung) ถูกโจมตีในช่วงเย็นของวันที่ 17 พฤษภาคม “ฉันและครอบครัววิ่งหนีหัวซุกหัวซุนออกจากบ้าน เพื่อหาที่ปลอดภัยแถวเนินเขาใกล้ๆ”

    “ฉันพลัดหลงกับพ่อแม่ ต้องหลบอยู่ในป่ากับลูกพี่ลูกน้องและเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ พวกเราทั้งหิวและกลัวอยู่หลายวัน ฉันเหยียบกับระเบิดไป 2 ลูก ลูกแรกไม่เป็นอะไร แต่ลูกที่สองทำให้เท้าฉันขาด”

    รูฮูล เด็กหนุ่มชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเป็นเวลาถึง 9 วัน จนกระทั่งเขาสามารถข้ามชายแดนเข้ามายังประเทศบังกลาเทศและมาถึงโรงพยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ (Cox's Bazar)

    ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาได้รับความเสียหายอย่างหนักจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพเมียนมา (Myanmar Armed Forces) และกองทหารอาระกัน (Arakan Army) การสู้รบกันอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการใช้อาวุธหนักตลอดจนการโจมตีด้วยอากาศยานทางอากาศหรือโดรน (drone) และการวางเพลิง ได้ทำลายล้างทั้งหมู่บ้านต่างๆ พลเรือนถูกสังหาร ทำร้าย และทำให้ต้องอพยพออกจากพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายต่างเกณฑ์พลเรือนเข้าเป็นกองกำลังและทำให้ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทวีความรุนแรงขึ้น

    ความรุนแรงนี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ อย่างไรก็ตามชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกข่มเหงมากที่สุดตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มักพบว่าพวกเขาต้องมาอยู่ท่ามกลางความรุนแรงเหล่านี้เสมอ

    เมื่อวันที่ 17 และ 18 พฤษภาคม บ้านเรือนและทรัพย์สินของพลเรือนในเมืองบูตีด่องถูกเผาทำลายจนวอด และชาวโรฮิงญาหลายพันคน รวมถึงผู้ที่ได้อพยพหนีภัยมาจากพื้นที่อื่นมา ต่างพากันหลบหนีออกจากเมือง

    โมจูบุลลาห์ (Mojubullah) เป็นชายชาวโรฮิงญาอีกคนหนึ่งที่ต้องอพยพออกจากเมืองบูตีด่องในวันเดียวกัน “ลูกปืนครกถล่มบ้านเรา ฆ่าเมียฉันและทำให้อีกหลายคนบาดเจ็บ” เขากล่าว “เราตัดสินใจออกเดินทางมาบังกลาเทศ มันยากจริง ๆ ที่ต้องตัดใจทิ้งบ้าน ฝูงสัตว์เลี้ยง และไร่นา”

    ในเมืองมองดอ (Maungdaw) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองบูตีด่องไปทางตะวันตก 20 กิโลเมตร มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังต่างๆ เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมและทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม หนึ่งในการความรุนแรงนั้นเป็นมุ่งเป้าการโจมตีไปยังชาวโรฮิงญา ซึ่งบางส่วนเป็นผู้รอดชีวิตจากการโจมตีในเมืองบูตีด่องและอพยพไปยังเมืองมองดอนั่นเอง

    ระหว่างวันที่ 5 - 17 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะทำงานองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในค่ายผู้ลี้ภัย เมืองค็อกซ์ บาซาร์ของประเทศบังกลาเทศได้ให้การรักษาชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงจำนวน 83 ราย โดยร้อยละ 48 เป็นผู้หญิงและเด็ก ผู้ได้รับบาดเจ็บรายงานว่าหลบหนีการโจมตีในเมืองมองดอแล้วจึงข้ามชายแดนมายังบังกลาเทศ

    ผู้ป่วยที่เดินทางมาที่ศูนย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน อวัยวะขาดจากทุ่นระเบิด และอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากขาดยารักษาโรคร้ายแรง อาทิ เอชไอวีและวัณโรค เนื่องจากไม่สามารถหายาเหล่านี้ในรัฐยะไข่ได้อีกแล้ว

    หลายคนเล่าว่าการเดินทางข้ามพรมแดนซึ่งรวมถึงการข้ามแม่น้ำนาฟ (Naf River) นั้นอันตรายมาก และเนื่องจากมีการจุดผ่านแดนอย่างเป็นทางการ ผู้คนจึงถูกบังคับให้จ่ายเงินสินบนในอัตราที่สูงมากให้กับเจ้าหน้าที่ กลุ่มติดอาวุธ หรือขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองเพื่อให้ข้ามพรมแดนไปได้

    “เราต้องเสี่ยงอันตรายมาตลอดทาง” โมจูบุลลาห์กล่าว “เราเจอพวกลักลอบขนคนเข้าเมืองเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพงเกินจริงเพื่อให้ได้นั่งเรือที่ก็อันตราย แล้วก็เจอกับเจ้าหน้าที่ชายแดนที่ไม่ต้อนรับเราเมื่อเดินทางมาถึงบังกลาเทศ แม้เราจะวิงวอนขอความช่วยเหลือ ทั้งขอร้องว่าหลานๆ อาการไม่ดีและต้องหาหมออย่างเร่งด่วน เราก็ยังถูกผลักดันกลับเมียนมา”

    ผู้คนในตอนเหนือของรัฐยะไข่แทบจะเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขไม่ได้เลย สถานพยาบาลไม่สามารถเปิดให้บริการได้เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการสู้รบ ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างก็ต้องอพยพหนีจากความรุนแรง หรือขาดแคลนเวชภัณฑ์เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งและไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายต่าง ๆ ให้เคลื่อนย้ายเวชภัณฑ์ตามต้องการ

    ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจำเป็นต้องระงับกิจกรรมด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์ในเขตเมืองบูตีด่อง  เมืองมองดอ และเมืองยะเตดอง (Rathedaung) อย่างไม่มีกำหนดหลังจากสำนักงานและหน่วยเภสัชกรรมถูกเผาทำลาย ก่อนที่กิจกรรมเหล่านี้จะหยุดลง องค์การฯ ได้พบเห็นการโจมตีพื้นที่ที่มีพลเมืองอยู่หนาแน่น เช่น ตลาดและหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดจนการโจมตีสถานพยาบาลซึ่งคุกคามชีวิตของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

    หากจะมีความพยายามใดของกองกำลังหน่วยต่างๆ ในการปกป้องพลเรือนและรักษาพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ก็ถือว่ามีอยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น

    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict
    rohingya people in myanmar: caught in the crossfires of conflict

    เหตุการณ์การเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567เป็นต้นมา คณะทำงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในบังกลาเทศได้ให้การรักษาผู้ป่วยชาวโรฮิงญาที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม จำนวน 115 ราย ในสถานพยาบาลขององค์การฯ ซึ่งรวมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงขั้นร้ายแรง แม้ว่าชาวโรฮิงญาที่เพิ่งเดินทางมาถึงยังเมืองค็อกซ์ บาซาร์สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้ในระดับหนึ่งได้ พวกเขายังต้องซ่อนตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะกลัวจะถูกส่งตัวกลับประเทศเมียนมา และในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งมีผู้ลี้ภัย 1.2 ล้านคนอาศัยอยู่หลังรั้วลวดหนาม นอกจากความรุนแรงและการลักพาตัวที่เพิ่มขึ้นในค่าย ซึ่งรวมถึงบังคับให้เข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธในเมียนมาแล้ว ผู้คนจำนวนมากยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวและวิตกกังวลถึงสิ่งที่พวกเขาได้ประสบมาและชะตากรรมของครอบครัวในบังกลาเทศและที่ยังอยู่ที่บ้านเกิด

    แม้จะเดินทางถึงบังกลาเทศแล้ว โมจูบุลลาห์ยังคงไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานนี้ “ผมและครอบครัวยังคงพยายามทำใจยอมรับการสูญเสียคนที่รักและความไม่แน่นอนของอนาคต”

    จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nation หรือ UN) คาดว่านับตั้งแต่ความขัดแย้งในประเทศเมียนมาประทุขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2566  มีผู้พลัดถิ่นจากภัยสงครามในรัฐยะไข่และเมืองปะและวะ (Paletwa Township) ในรัฐชิน (Chin State) ประมาณ 327,000 คน นอกเหนือจากผู้ที่ต้องอพยพจากภัยสงครามไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้จำนวนผู้พลัดถิ่นทั้งหมดในรัฐยะไข่และเมืองปะและวะในรัฐชินมีมากกว่า 534,000 คน องค์การแพทย์ไร้พรมแดนขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ในความขัดแย้งนี้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Principle of Distinction) หลักความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality) และหลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี (Principle of Precaution) โดยรวมถึงการปกป้องพลเรือนจากการโจมตีโดยตรงและผลกระทบจากการโจมตี ตลอดจนการห้ามการโจมตีแบบไม่กำหนดเป้าหมาย นอกจากนี้ องค์การฯ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ที่ไม่เลือกปฏิบัติอย่างเร่งด่วนแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

    *ชื่อบุคคลทั้งหมดเป็นนามสมมุติ