บังกลาเทศ : อัตราการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบซีที่น่าวิตกในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา
อิสมัต อารา คือหนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตำบลอุคิยะ เมืองค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ อิสมัตเสียสามีจากโรคไวรัสตับอักเสบซี และตอนนี้เธอเองก็เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน - บังกลาเทศ พฤษภาคม 2567 © Abir Abdullah/MSF
โรคระบาดระดับภูมิภาค (Epidemic) กำลังแพร่ระบาดอย่างเงียบเชียบในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาขนาดใหญ่ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ (Cox's Bazar) ผลสำรวจเมื่อไม่นานนี้ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ พบว่าเกือบ 1 ใน 5 คนที่เข้ารับการการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) ติดเชื้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการทำงานที่ไม่เพียงพอในค่ายค็อกซ์บาซาร์ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้เข้ารับการรักษาและตัดโอกาสที่จะหายขาดได้ ทิ้งให้ผู้คนนับพันเสี่ยงต่อโรคตับร้ายแรง โดยผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลเพื่อยืนยันสถานการณ์ดังกล่าว
“ถ้าฉันได้รับการรักษา ฉันก็จะหายจากโรคนี้และดูแลลูกๆ ต่อไปได้”
อิสมัต อารา (Ismat Ara) แม่ลูกสามวัย 32 ปี เธออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมืองค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศ อิสมัตเป็นนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ต้องต่อสู้กับโรคไวรัสตับอักเสบซีและการเข้าถึงการรักษาโรคนี้ที่จำกัด เรื่องราวของเธอแสดงให้เห็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องเจอในแต่ละวันท่ามกลางโรคภัยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
สามีของอิสมัต อารา เป็นคนแรกในครอบครัวที่ล้มป่วย เขาเสียชีวิตไปสี่ปีครึ่งแล้วจากโรคไวรัสตับอักเสบซีหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลค็อกซ์ บาซาร์ ซาดาร์ (Cox’s Bazar Sadar Hospital) ได้ไม่กี่วัน “หมอที่โรงพยาบาลบอกว่าไม่มียารักษา ไม่มีวิธีอื่นแล้วนอกจากอ้อนวอนต่อพระเจ้า หมอทำอะไรไม่ได้แล้ว เราเลยพาเขากลับบ้าน” หากไม่กี่วันต่อมา “สามีของฉันมีพฤติกรรมเหมือนคนคุมสติไม่อยู่บ้าและจากนั้นก็เสียชีวิตลง”
ในช่วงเวลานั้น อิสมัต อารา อยู่ในอาการเศร้าเสียใจ ทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลลูกๆ เป็นหลัก เธอจึงไม่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จนกระทั่งหลายปีต่อมา เธอมีอาการป่วย และพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแล้ว
อิสมัตอธิบายลักษณะอาการว่า "ฉันปวดท้อง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก รู้สึกอ่อนแรงตลอดเวลา และแสบร้อนไปทั้งตัว" อาการเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เธอกล่าวต่อไปว่า "ฉันทำงานบ้านไม่ได้ ตักน้ำก็ลำบาก แม้แต่การเดินทางไปรับอาหารปันส่วนก็เป็นเรื่องที่เครียดเหลือเกิน"
แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้ แต่อิสมัต อาราก็ยังคงมีความหวัง "ถ้าฉันได้รับการรักษา ฉันก็จะหายจากโรคนี้และสามารถดูแลลูกๆ ของฉันได้" เธอกังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา "จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาถ้าฉันตาย"
ในค่ายผู้ลี้ภัย การวินิจฉัยและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีมีจำกัดมาก นับตั้งแต่ปี 2563 ที่องค์การฯ เริ่มต้นขั้นตอนการคัดกรองโรค การวินิจฉัย และการรักษา จำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีนั้นสูงขึ้น เป็นเหตุให้องค์การฯ ต้องจำกัดและกำหนดเกณฑ์การรักษาโดยพิจารณาจากความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคเป็นหลัก เนื่องจากศักยภาพขององค์การฯ ในการรองรับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเต็มถึงขีดจำกัดแล้วอย่างรวดเร็ว
อิสมัต อารา กลับไปโรงพยาบาลขององค์การฯ หลายต่อหลายครั้งด้วยความหวังว่าจะได้รับการรักษา แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องอายุ "ฉันมาที่นี่ประมาณ 200 ครั้ง พวกเขาบอกว่าฉันไม่มีสิทธิ์เข้าโครงการรักษาโรคร้ายนี้เพราะอายุของฉัน" อิสมัต อารา ยังคงมีความหวัง "ฉันเห็นเพื่อนบ้านคนหนึ่งอาการดีขึ้นหลังจากทานยา" การได้เห็นผู้อื่นรักษาหายด้วยยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีได้สำเร็จเป็นแรงผลักดันให้เธอต้องการระบบการดูแลสุขภาพที่กระจายการรักษาให้กว้างขึ้น
เรื่องราวของ อิสมัต อารา ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอีกมากที่เผชิญกับโรคไวรัสตับอักเสบซีและการเข้าถึงการรักษาโรคที่จำกัด
“ถือเป็นเรื่องท้าทายในการให้คำปรึกษาแก่คนหลากหลายกลุ่มและให้พวกเขาปฏิบัติตามหลักการรักษาโรค”
โรคไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การขาดแคลนศักยภาพด้านต่างๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ได้เข้ารับการรักษาและขาดโอกาสที่จะหายขาดจากโรค ทาเรคูล อิสลาม (Tarequl Islam) ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ (Mental Health Counselor for MSF) กล่าวถึงความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในชุมชน “ตอนเริ่มทำงานในปี 2560 มีความหวาดกลัวมากมายเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซี ผู้ลี้ภัยเห็นคนที่พวกเขารักเสียชีวิตจากโรคนี้” ความกลัวนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเพราะเหตุจากค่าใช้จ่ายในการรักษานอกค่ายลี้ภัยที่สูง ทำให้หลายคนต้องตัดสินใจเลือกเสี่ยงชะตาด้วยการรอคอยว่าตนเองอาจมีโอกาสเข้ารับการรักษาในค่ายผู้ลี้ภัย
ไวรัสตับอักเสบซีส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างมาก ทาเรคูล กล่าวว่า "ผู้ป่วยจำนวนมากที่มาพบแพทย์เบื้องต้นมีภาวะโรคร่วม (Coexisting Conditions) เช่น ความดันโลหิตสูง (High Blood Pressure) เบาหวาน (Diabetes) หรือ เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus - HIV) บางครั้งพวกเขาไม่เข้าใจความสำคัญของการรักษาปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมกับโรคไวรัสตับอักเสบซี” ความกลัว ความวิตกกังวล และอาการของโรคต่างๆ ที่ประดังเข้ามาทำให้การบริการงานด้านสุขภาพจิตเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลผู้ป่วย
บทบาทของทาเรคูลไม่ใช่เพียงแค่ให้การดูแลทางการแพทย์เท่านั้น “เราประเมินสุขภาพจิตของพวกเขาและแบ่งปันข้อมูลกับแพทย์ผู้ดูแล” ผลกระทบทางจิตใจจากสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องพบเจอประกอบกับภาระโรคจากไวรัสตับอักเสบซีทำให้ผู้ป่วยมีความซับซ้อนภายในตัวเอง
เขายังกล่าวต่อไปว่า “เรามีผู้ป่วยหลากหลายประเภท บางคนอาศัยอยู่โดยลำพังและมีความวิตกกังวลอยู่มาก บ้างเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านความจำ และบางคนมีอาการทางจิต (psychosis) ถือเป็นเรื่องท้าทายในการให้คำปรึกษาแก่คนหลากหลายกลุ่มและให้พวกเขาปฏิบัติตามหลักการรักษาโรคให้ได้” คำพูดของทาเรคูลตอกย้ำถึงความซับซ้อนของสถานการณ์และความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องโดยเร่งด่วน
แม้ว่าองค์การฯ จะประสบความสำเร็จในการเพิ่มการตระหนักรู้ของสาธารณะเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซีและสุขภาพจิต แต่ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ "การพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอาจเป็นเรื่องต้องห้ามในชุมชนนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทีมส่งเสริมสุขภาพขององค์การฯ และอาสาสมัครประจำค่ายผู้ลี้ภัยทำงานที่นี่มาเป็นเวลา 6-7 ปีแล้ว ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เป็นประจำทุกวันในโรงพยาบาลและลงพื้นที่พบปะผู้ลี้ภัยเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิต"
เรื่องราวของผู้ป่วยชาวโรฮิงญาเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดหาเงินทุนและการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรค ดังที่ทาเรคูลกล่าวไว้ว่า "หากไม่มีการให้คำปรึกษา พวกเขาจะยิ่งกลัวไวรัสตับอักเสบซีมากขึ้นอีก"
“ร่างกายของฉันปวดไปหมด ฉันทนกับทุกอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย”
สุระ ข่าทุน (Sura Khatun) ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อายุ 55 ปี อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่สาม ค็อกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้คนอีกมากมายที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างเงียบเชียบ ของไวรัสตับอักเสบซี เส้นทางการรักษาโรคของเธอทำให้เห็นถึงความท้าทายข้อใหญ่ที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญเพียงเพื่อจะเข้าถึงการรักษาพยาบาล และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เลวร้ายจากการไม่ได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วย
“ฉันเจ็บปวดไปทั่วตัว มือและเท้าบวม ฉันไม่สามารถทำอะไรได้เลย มันทรมานมาก” สุระ เล่าถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่เธอต้องทนก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซี ความเจ็บป่วยของเธอตอกย้ำถึงผลกระทบทางร่างกายและจิตใจที่ได้รับจากโรคนี้
เธอย้ายจากเมียนมา (Myanmar) มายังบังกลาเทศ เมื่อ 15 ปีก่อน สุระไม่เคยรู้จักโรคไวรัสตับอักเสบซีมาก่อน เธอกล่าวว่า “ฉันไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซีได้อย่างไร” การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้มักทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้าและเสียโอกาสในการรักษาอย่างทันท่วงที
สำหรับสุระแล้วหนทางสู่การหายขาดจากโรคไวรัสตับอักเสบซีนั้นยากลำบาก เธอเล่าว่า “ฉันเคยทานยาที่ขายอยู่ริมทาง หวังว่าอาการจะดีขึ้น” ขณะเดียวกันสิ่งที่สุระเผชิญได้เผยให้เห็นถึงวิธีการเอาตัวรอดอย่างสิ้นหวังเมื่อการเข้าถึงการรักษาโรคที่เหมาะสมมีอย่างจำกัด
แม้สุระจะเริ่มเข้ารับการรักษาโรคแล้ว แต่หนทางข้างหน้ายังไม่แน่นอน “ฉันรู้สึกแย่มากเมื่อรู้ว่าพี่ชายของสามีฉันเสียชีวิตด้วยโรคนี้” เธอปรับทุกข์พร้อมกับแสดงความหวาดกลัวและความวิตกกังวลหลังตรวจพบว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซี
สถานการณ์ของสุระตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายโครงการการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในค่ายผู้ลี้ภัย ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและประชากรจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพมากมายอยู่แล้วนั้นการเข้าถึงยารักษาโรคที่จะช่วยรักษาชีวิตยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ งานขององค์การฯ ในค็อกซ์บาซาร์เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความทุ่มเทของผู้ให้บริการงานสุขภาพที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อรับมือกับความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองของชุมชนที่มีความเปราะบางแห่งนี้
เรื่องราวของสุระเป็นเครื่องเตือนใจอันยิ่งใหญ่ว่าภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้น มีบุคคลที่มีความหวัง ความกลัว และความฝันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง จึงมีความจำเป็นที่จะเรียกร้องให้เห็นความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และให้สนับสนุนการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้นซึ่งจะทำลายวัฏจักรแห่งความทุกข์และโรคภัยได้
“เราพบว่าผู้ลี้ภัยอย่างน้อยร้อยละ 50 ไม่รู้ว่าไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร”
ดร. เอสเอ็ม ทาเรก ราห์มัน (Dr. SM Tareq Rahman) ผู้จัดการงานกิจกรรมทางการแพทย์ของโรงพยาบาลออนเดอะฮิลล์ภายใต้การสนับสนุนขององค์การฯ (Medical Activity Manager for MSF's Hospital on the Hill) อธิบายถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า “ประชากรเกือบหนึ่งในสามเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาแล้ว และร้อยละ 20 ยังติดเชื้ออยู่” ซึ่งถือได้ว่ามีผู้ลี้ภัยราว 85,000 คนต้องเข้ารับการรักษาโรคอย่างเร่งด่วน
ตั้งแต่ปี 2563 องค์การฯ ได้ให้บริการดูแลรักษาไวรัสตับอักเสบซีในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ให้บริการคัดกรอง วินิจฉัย และรักษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย "จนถึงปัจจุบันเราได้รักษาผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 8,000 ราย" ดร. ราห์มานกล่าว "แต่ความต้องการยังคงมีมาก" อย่างไรก็ตามอุปสรรคก็มีอยู่มากเช่นเดียวกัน เขาอธิบายต่อไปว่า "เมื่อเปรียบเทียบระดับความจำเป็นในการรักษาโรคกับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอ่อนแอที่สุดเป็นอันดับแรก"
การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นอุปสรรคอีกข้อหนึ่ง "นอกเหนือจากอาการเจ็บป่วยแล้ว เรายังพบว่าผู้ลี้ภัยอย่างน้อยร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร และผู้อพยพร้อยละ 65 ไม่ทราบวิธีป้องกันการติดเชื้อ"
แม้จะมีข้อจำกัดเหล่านี้ องค์การฯ มุ่งมั่นสร้างความแตกต่าง “เรากำลังรณรงค์ให้ประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มการสนับสนุนมากขึ้นเพื่อขยายการคัดกรองและการเข้าถึงการรักษาโรค” ดร. ราห์มาน เสริม “สถานการณ์เลวร้ายมาก และจำเป็นต้องดำเนินการเดี๋ยวนี้เพื่อป้องกันวิกฤตด้านสุขภาพที่ร้ายแรงไม่ให้เกิดขึ้น”
เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในค่ายเพิ่มขึ้น จึงมีการประสานงานด้านมนุษยธรรมในค่ายอย่างเร่งด่วนเพื่อดำเนินการรณรงค์ตรวจและรักษาในวงกว้าง แม้ว่าองค์การฯ จะเป็นผู้ให้บริการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีรายใหญ่ที่สุดในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เมืองค็อกซ์บาซาร์มาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว แต่ศักยภาพขององค์การฯ ไม่สามารถตอบสนองความจำเป็นของผู้ลี้ภัยทั้งหมดได้