Skip to main content

    บังกลาเทศ: ชาวโรฮิงญากำลังเผชิญกับการรักษาโรคตับอักเสบซีที่ไม่เพียงพอ

    A patient is receiving medicines for Hep C from Doctors Without Borders’ Jamtoli facility at the Rohingya refugee camp in Ukhiya, Cox’s Bazar. Bangladesh, May 2024. © Abir Abdullah/MSF

    ผู้ป่วยรายหนึ่งรับยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีจากสถานพยาบาลแจมทอลี (Jamtoli) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ภายในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในเมืองอูคิยา คอกซ์ บาซาร์ บังคลาเทศ พฤษภาคม 2567 © Abir Abdullah/MSF

    เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้ป่วยตับอักเสบซีทะลักเข้ามาที่ค่ายผู้ลี้ภัย คอกส์ บาซาร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์กลางด้านระบาดวิทยาและศูนย์วิจัยขององค์การฯ ได้ทำการสำรวจ 680 ครัวเรือน ใน 7 ค่ายผู้ลี้ภัยระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 ผลการศึกษาพบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในค่ายเคยติดเชื้อตับอักเสบซีในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิตพวกเขา และ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าวยังพบว่ามีการติดเชื้อจนถึงปัจจุบัน

    ชาวโรฮิงญาคือหนึ่งในชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก พวกเขาต้องรับผลกระทบในส่วนของข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและความปลอดภัยใต้ปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอในประเทศของพวกเขามาหลายทศวรรษ การใช้อุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น กระบอกฉีดยา เป็นทางเลือกที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการปฏิบัติงานทางการดูแลสุขภาพในชุมชนผู้ลี้ภัย ซึ่งอธิบายได้ถึงสาเหตุการแพร่เชื้อและจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างมากของโรคตับอักเสบซีในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีความหนาแน่นของผู้ลี้ภัยสูง โซฟี เบย์แลค (Sophie Baylac) หัวหน้าภารกิจขององค์การฯ ในบังกลาเทศอธิบาย

    การคาดการณ์จากผลการศึกษาครั้งนี้ต่อค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรผู้ใหญ่ติดเชื้อตับอักเสบซี หรือราว 86,000 คน และจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา

    ทีมของพวกเราต้องปฏิเสธผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีในทุกวัน เนื่องจากความต้องการที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้นเกินกำลังความสามารถขององค์การฯ ขณะที่ตอนนี้แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาที่ย่อมเยาสำหรับผู้ติดเชื้อภายในค่ายผู้ลี้ภัย นี่คือทางตันของประชากรไร้สัญชาติที่ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน และทำให้พวกเขากำลังเผชิญกับกำแพงขนาดใหญ่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
    โซฟี เบย์แลค หัวหน้าภารกิจ

    การเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษายังไม่เพียงพอในหลายประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ทำให้โรคนี้เป็นภัยต่อระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์โดยตรงสามารถรักษาผู้ติดเชื้อร้อยละ 95 ให้หายขาดได้

    ในค่ายผู้ลี้ภัยที่หนาแน่นของคอกส์ บาซาร์แห่งนี้ การเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาโรคตับอักเสบซีนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย องค์การฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักเพียงผู้เดียวในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นเวลากว่า 4 ปี และความจำเป็นที่ผู้ติดเชื้อต้องได้รับรักษายังคงสูงมาก

    ผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำงานหรือออกจากค่ายผู้ลี้ภัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสำหรับผู้ป่วยที่พวกเราไม่สามารถรักษาได้ การจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่ายาหรือการรับบริการด้านการดูแลอย่างเหมาะสมภายนอกค่ายผู้ลี้ภัยนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะเอื้อมถึง ผู้ป่วยส่วนมากไม่ได้ถูกรักษาและหันไปใช้ทางเลือกอื่นในการดูแล ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มความเสี่ยงกับภาวะสุขภาพไม่ได้ โซฟี เบย์แลค กล่าว

    Doctors Without Borders staff is collecting blood sample from a patient to run Hep C rapid diagnostic test (RDT) at the Hep C consultation room of Hospital on the hill at Ukhiya, Cox’s Bazar. Bangladesh, May 2024. © Abir Abdullah/MSF

    เจ้าหน้าที่จากองค์การฯ กำลังเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคตับอักเสบซีแบบรวดเร็ว (RDT) ที่ห้องให้คำปรึกษาโรคตับอักเสบซีของโรงพยาบาลบนเนินเขาที่อูคิยา เมืองคอกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ พฤษภาคม 2567 © Abir Abdullah/MSF

    องค์การฯ ยินดีอย่างยิ่งกับประกาศขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (Save The Children) ที่กำหนดให้ผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีจำนวน 900 รายเข้ารับการรักษาในศูนย์บริการสุขภาพ 2 แห่งภายในค่ายผู้ลี้ภัย นี่ถือเป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้มีการป้องกันระดับกว้าง ด้วยการ ‘ตรวจและรักษา’ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนของตับอย่างรุนแรงหรือการเสียชีวิต
    โซฟี เบย์แลค หัวหน้าภารกิจ

    "การมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นในการประสานงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในค่ายผู้ลี้ภัยคอกส์ บาซาร์เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้ลี้ภัยทุกรุ่นที่อาศัยอยู่ภายในค่ายผู้ลี้ภัยนี้ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสตับอักเสบซี พวกเขายังคงเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของตับที่รุนแรง ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ภายในค่ายผู้ลี้ภัยและอาจเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดี และเป็นมิตรต่อผู้ป่วย (ยาหนึ่งเม็ดต่อวันเป็นระยะเวลา 3 เดือน) และราคาไม่แพง” เธอกล่าวต่อ

    ใต้บริบทดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแนวทางของ WHO หรือรูปแบบการดูแลขั้นพื้นฐานที่องค์การฯ ปรับใช้ ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพในการขยายการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีและได้ผลลัพธ์ที่ดีในพื้นที่ด้านมนุษยธรรมและทรัพยากรต่ำ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา องค์การฯได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขของบังกลาเทศในการร่างคู่มือแนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการรักษาโรคตับอักเสบซีของประเทศ

    องค์การฯ มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับประเทศ องค์กรระหว่างรัฐบาลและองค์กรเอกชนในการดำเนินกิจกรรมสำหรับการขยายการป้องกันแบบวงกว้างและการส่งเสริมสุขภาพ รวมไปถึงการรณรงค์ ทดสอบและรักษาในค่ายผู้ลี้ภัยคอกส์ บาซาร์ ทั้งหมด เพื่อที่จะจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสและรักษาผู้ป่วยให้ได้มากและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    ภารกิจขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในบังกลาเทศ

    นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 องค์การฯ ได้ส่งต่อบริการตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ลี้ภัยในคอกส์ บาซาร์ บังกลาเทศ ณ ศูนย์สุขภาพทั้ง 2 แห่งของเราภายในค่ายผู้ลี้ภัย (คลินิกแจมโทลี (Jamtoli) และโรงพยาบาลบนเนินเขา) จากเดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ผู้คนกว่า 12,000 คน ที่เป็นบุคคลต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อตับอักเสบซีเข้านับการตรวจสอบผ่านองค์การฯ ด้วยเครื่องตรวจวินิจฉัย ยีนเอกซ์เปิร์ต (GeneXpert)

    โดยมีผู้ป่วยกว่า 8,000 รายที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อและได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลขององค์การฯ ด้วยจำนวนที่สูงของผู้ป่วยตับอักเสบซีนี้ ทำให้ไม่นานหลังจากเริ่มโครงการ ทีมของพวกเราก็ได้จำกัดและกำหนดเกณฑ์การรับโดยอิงตามอายุผู้ป่วยที่มากกว่า 40 ปี เนื่องจากความสามารถในการรับมือกับความต้องการในการดูแลผู้ป่วยตับอักเสบซีได้ถึงขีดจำกัดอย่างรวดเร็ว โครงการการรักษาขององค์การฯ สามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ได้มากสุดอยู่ที่ 150-200 รายต่อเดือน

    การรณรงค์ในโครงการ ไทม์ ฟอร์ ไฟว์ (‘Time for $5’ Campaign) องค์การฯ ได้กดดันให้ผู้ผลิตเครื่องมือทดสอบทางการแพทย์เซเฟียต (Cepheid) และบริษัทแม่อย่างดานาเฮอร์ (Danaher) ให้ลดราคาของชุดทดสอบ GeneXpert ในการวัดปริมาณไวรัสตับอักเสบซีสำหรับการวินิจฉัยตับอักเสบซี ปัจจุบันราคาของชุดทดสอบที่ขายให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางอยู่ที่ชุดละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของราคาที่องค์การฯ ได้นำเสนอไปหลังจากได้ทำการศึกษาต้นทุนในการผลิตและราคาขายที่ทางบริษัทจะยังคงทำกำไร ว่าราคาจะอยู่ที่ชุดละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากแรงกดดันจากการรณรงค์ ในเดือนกันยายน 2566 ดานาเฮอร์ ได้ประกาศว่าจะลดราคาของการตรวจวัณโรคชนิดมาตรฐานจากชุดละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 8 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ดานาเฮอร์ยังคงคิดราคาอย่างน้อยสองเท่าของการตรวจโรคอื่นๆ ซึ่งรวมโรคตับอักเสบซีด้วย องค์การฯได้สอบถามเซเฟียตและดานาเฮอร์ให้ลดราคาของการตรวจทั้งหมดเหลือ 5 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ลี้ภัย ในค่ายผู้ลี้ภัยคอกส์ บาซาร์ ในบังกลาเทศ