Skip to main content

    เมียนมา: ท่ามกลางความขัดแย้ง ตึกทำการและร้านขายยาในรัฐยะไข่ถูกทำลายลง

    Myanmar destroyed

    ซากความเสียหายจากการเผาทำลายตึกทำการองค์การฯ ในเมืองบูตีต่อง ภายหลังจากที่ความรุนแรงในพื้นที่ได้ยกระดับขึ้น - รัฐยะไข่ เมียนมา 15 เมษายน 2567 ©MSF

    ตึกที่ทำการและร้านขายยาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนถูกเผาทำลายทั้งหมด นี่เป็นอีกครั้งที่พื้นที่ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้คนในรัฐยะไข่ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม

    แม้ไม่ปรากฏรายงานผู้บาดเจ็บ หากอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโรคทั้งหมดภายในตึกอาคารได้รับความเสียหาย โดยยารักษาโรคบางส่วนคือยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาโรคปอดอักเสบ อันเป็นโรคที่มักพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ

    ความเสียหายของตึกอาคารขององค์การฯ เกิดขึ้นภายหลังจากการยกระดับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่เมืองบูตีต่อง องค์การฯ ได้รับรายงานว่าบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่เดียวกับตึกที่ทำการขององค์การฯ มากกว่า 200 หลังถูกเผาทำลาย และมีผู้คนมากกว่าหนึ่งพันชีวิตกลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่หนีออกจากพื้นที่และความรุนแรงไปยังบริเวณฝั่งใกล้เคียงเพื่อแสวงหาความปลอดภัย

    องค์การฯ เรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายให้ความเคารพกับหลักการให้ความคุ้มครองสถานพยาบาล อันเป็นพันธกรณีใต้กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การฯ ยังเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุมัติให้ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปในพื้นที่ เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการทำงานแทนที่อุปกรณ์ที่เสียหายภายในตึกทำการองค์การฯ เมืองบูตีต่อง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการเปิดเส้นทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ภายหลังจากที่มีคำสั่งระงับการปฏิบัติตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566

    Myanmar destroyed

    ซากความเสียหายจากการเผาทำลายตึกทำการองค์การฯ ในเมืองบูตีต่อง ภายหลังจากที่ความรุนแรงในพื้นที่ได้ยกระดับขึ้น - รัฐยะไข่ เมียนมา 15 เมษายน 2567 ©MSF

    องค์การฯ เป็นประจักษ์พยานว่ามีการใช้ความรุนแรงอันเป็นการเลือกปฏิบัติกับประชาชนในรัฐยะไข่เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน มีการกีดกันอย่างเข้มงวดเพื่อปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่ ระบบสาธารณสุขล่มสลายเกือบทั้งหมด องค์การฯ ไม่สามารถดำเนินปฏิบัติการทางการแพทย์ในพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางของรัฐยะไข่ได้ เนื่องจากสองปัจจัยหลักด้านความปลอดภัยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ปฏิเสธคำขอเดินทางเข้าไปในพื้นที่ โดยคำอนุญาตดังกล่าวคือหัวใจสำคัญที่ทำให้คลินิกเคลื่อนที่ขององค์การฯ ทั้ง 25 คันสามารถดำเนินปฏิบัติการให้การรักษาทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท และมักจะต้องพึ่งพาคลินิกเคลื่อนที่เหล่านี้ในการรักษาพยาบาล

    เมื่อองค์การฯ ไม่สามารถเข้าไปดำเนินภารกิจได้ ตัวเลขผู้ป่วยนอกภายในรัฐยะไข่ที่เข้ารับคำปรึกษาจากทางองค์การฯ นั้นก็ลดลงอย่างชัดเจน ดังที่เห็นได้ว่าสถิติผู้ป่วยตลอดทั้งเดือนกันยายน 2566 ที่เข้ารับคำปรึกษาอยู่ที่ 6,684 ราย แต่ในเดือนมีนาคม 2567 นั้นมีเพียง 81 รายเท่านั้น โดยผู้ป่วยนอกทั้งหมดเข้ารับคำปรึกษาผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ เนื่องจากว่าองค์การฯ ไม่สามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้

    นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 องค์การฯ ได้ร่วมสนับสนุนการส่งตัวฉุกเฉินในภาคผู้ป่วยอาการวิกฤติที่ต้องการการดูแลเฉพาะทางในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรองรับ หากในปัจจุบัน ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นส่งผลให้การทำงานในส่วนนี้ขององค์การฯ เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการที่ไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในกลุ่มของสตรีตั้งครรภ์ที่ครบกำหนดคลอด โดยองค์การฯ มีบันทึกตัวเลขของมารดาที่เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์หรือทารกที่เสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 9 ราย

    มีการบันทึกเหตุการณ์ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ไว้ว่า สตรีตั้งครรภ์ชาวโรฮิงญาและทารกของเธอเสียชีวิตหลังจากที่ถูกบังคับให้เดินทางกลับไปยังค่ายเกียน นี ปิน (Kyein Ni Pyin) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในเมืองป๊าวต้อ (Pauktaw) เนื่องจากเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าไปในเมืองซิตตเว (Sittwe) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เธอสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลกลางซิตตเวได้ การทำงานขององค์การฯ ในส่วนของการส่งตัวฉุกเฉินเป็นการต่อสายป่านชีวิตให้ชาวโรฮิงญาได้พึ่งพา เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ตกอยู่ใต้ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอย่างเข้มงวด

    Myanmar destroyed

    ซากความเสียหายจากการเผาทำลายตึกทำการองค์การฯ ในเมืองบูตีต่อง ภายหลังจากที่ความรุนแรงในพื้นที่ได้ยกระดับขึ้น - รัฐยะไข่ เมียนมา 15 เมษายน 2567 ©MSF

    โรงพยาบาลทางตอนเหนือของรัฐยะไข่อันเป็นจุดหมายปลายทางในการส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินขององค์การฯ อย่างมองดอ (Maungdaw) และบูตีต่องต่างหยุดทำงานในเดือนมีนาคม และนั่นหมายความว่าประชากรมากกว่าหนึ่งล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในสภาวะไร้ตัวเลือกเพื่อเข้ารับการรักษาในกรณีฉุกเฉินหรือการรักษาขั้นสูง รวมถึงการบริการในส่วนของการตั้งครรภ์ที่มีความซับซ้อน องค์การฯ ขอแจ้งว่าการมุ่งเป้าหมายในการโจมตีไปยังสถานพยาบาล และปิดกั้นเส้นทางการเข้าถึงสถานพยาบาลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

    ชุมชนในรัฐยะไข่ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากความขัดแย้งยาวนานหลายปี ไม่ว่าจะเป็นในมิติของสภาวะเศรษฐกิจสังคมหรือการจำกัดการเคลื่อนไหว องค์การฯ มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชาวโรงฮิงญาที่ไร้สิทธิตามกฎหมายและถูกจำกัดการเดินทาง ว่าพวกเขากำลังเผชิญกับช่วงเวลาอันยากลำบากจนเกินกว่าจะจินตนาการได้เพื่อมีชีวิตรอด

    คุณสามารถอ่านบทความนี้ในภาษาเมียนมาได้ที่นี่