Skip to main content

    พายุไซโคลนโมคา: ข้อบังคับชุดใหม่ที่กระทบการให้ความช่วยเหลือ

    A view of A Nout Ye IDP camp in Pauktaw, Rakhine State, Myanmar on the 21st June, over one month since Cyclone Mocha. © MSF

    บรรยากาศหนึ่งเดือนหลังจากพายุไซโคลนโมคาถล่มค่ายผู้ลี้ภัย A Nout Ye ในเปาะตอ รัฐยะไข่ เมียนมา มิถุนายน 2023 © MSF

    บ้านของ Daw Nu เผชิญทั้งฝนตกหนักและลมกระโชกแรงที่มีความเร็วลม 280 กม./ชม. จากพายุไซโคลนโมคาที่มีความรุนแรงระดับ 5 โดยพายุไซโคลนลูกนี้พัดขึ้นฝั่งเมียนมาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม นับว่าเป็นพายุไซโคลนรุนแรงที่สุดที่พัดถล่มรัฐยะไข่และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาในรอบกว่าทศวรรษ 

      

    ข้อจำกัดส่งผลต่อความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือ  

    แม้ว่าความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้ส่งผลกระทบมาแล้วมากกว่า 2 เดือน แต่การยกระดับการให้ความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประสบภัยยังคงไม่เกิดขึ้น   

    ภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหยุดชะงัก เนื่องด้วยข้อจำกัดที่รัฐบาลทหารบังคับใช้ ซึ่งอนุญาตให้ดำเนินการได้เฉพาะภารกิจดำเนินการอยู่ก่อนการเกิดพายุไซโคลนเท่านั้น และห้ามไม่ให้ยกระดับความช่วยเหลือเฉพาะกิจเพื่อรับมือผลกระทบของพายุไซโคลน ซึ่งรวมถึงการจำกัดการแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือเช่น อาหาร ชุดอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย รวมไปถึงสิ่งจำเป็นอย่างไม้ไผ่และผ้าใบสำหรับการสร้างหรือซ่อมแซมที่พัก  

    รัฐบาลทหารควรยกเลิกข้อบังคับเหล่านี้ เพื่อคลายข้อจำกัดและทำให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนเกิดขึ้น เป็นการป้องกันอันตราย โรคระบาด หรือการสูญเสียชีวิตไปมากกว่านี้

     

    ภาวะขาดแคลนที่ซ้ำเติมสถานการณ์แร้นแค้น 

    กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคามากที่สุด คือชุมชนผู้พลัดถิ่นจากปัญหาความขัดแย้งที่มักอาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย เช่นเดียวกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มและประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งห่างไกลจากความช่วยเหลือที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะบางที่

    ที่พักอาศัย การซ่อมแซมระบบประปาและสุขาภิบาล น้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย อาหาร และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ยังคงเป็นสิ่งที่ขาดแคลนและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

    ความเสียหายจากพายุไซโคลนยิ่งซ้ำเติมสภาวะแร้นแค้นที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะในหมู่ชาวโรฮิงญาและกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากปัญหาความขัดแย้ง จนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาพวกเขาเผชิญข้อจำกัดในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเดินทาง การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

     

    การรับมือภัยพิบัติในช่วงแรกเป็นไปด้วยดี 

    เมื่อพายุโมคาพัดขึ้นฝั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม เกิดกระแสลมหมุนวนรอบหย่อมความกดอากาศต่ำ ผสมรวมกันกลายเป็นภัยธรรมชาติซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลกระทบกับชีวิตของ Daw Nuw รวมถึงผู้คนอีกกว่า 670,000 คน 

    การรับมือภัยพิบัติเบื้องต้นเป็นไปด้วยดี หน่วยงานของกองทัพและกลุ่มติดอาวุธ เช่น กองกำลังอาระกัน เป็นแกนนำในการทำความสะอาดซากความเสียหายออกจากผิวถนน ระบบโทรคมนาคมและไฟฟ้ากลับมาใช้งานได้ปกติภายในเวลาไม่นาน  

    เมื่อภาพความเสียหายปรากฏชัดเจนขึ้น หน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับความช่วยเหลือ ลดความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัย   

    ทาง MSF ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคที่มากับน้ำ โดยดำเนินการแจกจ่ายน้ำดื่มให้แก่ผู้คนกว่า 9,000 คนต่อสัปดาห์ รวมถึงเร่งซ่อมแซมระบบประปาและระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล นอกจากนี้เรายังทยอยเปิดคลินิกเคลื่อนที่และส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทางอีกด้วย 

    Damage to communal toilets A Nout Ye IDP camp in Pauktaw, Rakhine State, Myanmar, over one month after Cyclone Mocha. © MSF

    ความเสียหายบริเวณห้องน้ำส่วนกลางที่ค่ายผู้ลี้ภัย A Nout Ye ในเปาะตอ รัฐยะไข่ เมียนมา ในเดือนมิถุนายน 2023 © MSF

    ภารกิจช่วยเหลือหยุดชะงัก

    การช่วยเหลือเหล่านี้ต้องชะงักลงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน หลังจากไซโคลนพัดถล่ม 3 สัปดาห์ เมื่อทางรัฐบาลทหารมีคำสั่งระงับการอนุญาตให้เดินทางในรัฐยะไข่ชั่วคราว สำหรับ MSF การเพิกถอนใบอนุญาตเดินทางในครั้งนี้หมายถึงการไม่สามารถเปิดคลินิกดูแลสุขภาพพื้นฐานทั้ง 25 แห่งได้ และยังเสียโอกาสในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อรักษาชีวิตที่ครอบคลุมผู้คนทางตอนกลางของรัฐยะไข่กว่า 214,000 คน และทางตอนเหนือของรัฐยะไข่อีกกว่า 250,000 คน 

    ภารกิจด้านมนุษยธรรมได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้อย่างเป็นทางการอีกครั้งในอีก 3 วันให้หลัง หรือในวันที่ 11 มิถุนายน อย่างไรก็ตามข้อบังคับกำหนดให้ดำเนินการได้เฉพาะภารกิจที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่ก่อนเกิดพายุไซโคลนเท่านั้น หากเป็นการขอยกระดับความช่วยเหลือเพื่อรับมือปัญหาและผลกระทบจากพายุไซโคลนจะไม่ได้รับอนุญาต  

     

    ข้อจำกัดเฉพาะกิจกลายเป็นอุปสรรคในระยะยาว 

    ทุกวันนี้ระบบการรับมือกับการพัดถล่มของพายุไซโคลนยังห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็น โดยข้อบังคับหนึ่งที่ทางการนำมาบังคับใช้กับการยกระดับความช่วยเหลือ คือการตั้งเงื่อนไขให้ต้องส่งสิ่งของช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลทหารเป็นผู้จัดการแจกจ่ายเอง 

    ข้อบังคับดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการรักษาความเป็นกลางในการปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรม อย่างในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งอย่างในรัฐยะไข่ การสร้างข้อกำหนดเช่นนี้จะส่งผลต่อความไว้วางใจของชุมชนต่อองค์กรด้านมนุษยธรรม อีกทั้งยังขัดต่อหลักการด้านมนุษยธรรม ได้แก่ การไม่เลือกข้าง ความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ ซึ่ง MSF และองค์กรอื่นๆ ต่างยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ  

    อย่างไรก็ตาม ท่าทีของบรรดาองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เคยพยายามยกประเด็นข้อบังคับที่เป็นปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาในช่วงก่อนหน้ากลับลดน้อยลงในระยะหลัง  

    Doctors Without Borders clinic at Kein Nyin Pyin camp Pauktaw, Rakhine State, Myanmar, over one month after Cyclone Mocha. © MSF

    คลินิกทางการแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่ค่าย Kein Nyin Pyin ในเปาะตอ รัฐยะไข่ เมียนมา มิถุนายน 2023 © MSF

    การอยู่อย่างยากลำบากจะกลายเป็นความปกติใหม่ไม่ได้

    MSF มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าสภาวะอันย่ำแย่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นอันเป็นผลพวงของพายุไซโคลน ข้อจำกัดมากเกินความจำเป็นในการเข้าให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งการขาดความตระหนักรู้ของสาธารณชนต่อปัญหา กำลังจะเป็นความปกติใหม่ในรัฐยะไข่  

    รวมถึงข้อบังคับเหล่านี้ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชนในเมียนมาลดลงอีกด้วย  

    รัฐบาลทหารและภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนโมคา   

    ดังนั้น รัฐบาลทหารควรยกเลิกข้อบังคับเหล่านี้ อำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และส่งสิ่งของช่วยเหลือไปถึงมือผู้ที่ขาดแคลน โดยไม่กระทบต่อความเป็นกลางและการไม่เลือกข้างฝ่ายใด 

     

    MSF มีทีมงานประจำอยู่ใน 7 เมืองทั่วรัฐยะไข่ รวมถึงพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด ทั้ง ซิตตเว, มองดอ, ระตีด่อง, บูตีด่อง และ เปาะตอ โดยมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 550 คนที่ปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์อยู่อย่างต่อเนื่อง 

    MSF ปฏิบัติภารกิจในเมียนมาตั้งแต่ปี 1992 โดยสนับสนุนโครงการดูแลสุขภาพระยะยาวซึ่งเน้นดูแลด้านวัณโรค เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี มาลาเรีย และโครงการดูแลสุขภาพพื้นฐาน  ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทั้งชาวต่างชาติและท้องถิ่นกว่า 1,200 คนต่างร่วมมือกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพและรักษาโรคด้วยคุณภาพระดับสูง ผ่านเครือข่ายสถานพยาบาลและคลินิกเคลื่อนที่  เรายังคงดูแลผู้ป่วยเอชไอวี วัณโรค และไวรัสตับอักเสบซี ให้บริการสุขภาพพื้นฐาน ควบคู่ไปกับบริการอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ และยังให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งในรัฐยะไข่ รัฐฉาน รัฐคะฉิ่น รวมถึงในแถบย่างกุ้งและตะนาวศรีด้วย