เวสต์แบงก์: ใต้เงาสงคราม ความรุนแรงและการปิดกั้นยังคงยกระดับขึ้น
หญิงชาวปาเลสไตน์บนถนนภายในค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน ทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์ - ดินแดนปาเลสไตน์ มีนาคม 2567
- ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เวสต์แบงก์ตกเป็นเป้าโจมตี การทำร้าย และถูกปิดล้อมจากกองทัพและผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอล
- อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแค่ปะทุซ้ำและรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่สงครามกาซาเริ่มต้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566
- จุดตรวจสอบ การตั้งเครื่องกีดขวาง และการรุกล้ำพื้นที่จากกองทัพและผู้ตั้งถิ่นฐานตัดขาดเส้นทางไปมาหาสู่ระหว่างพื้นที่เมืองและหมู่บ้าน รวมถึงกีดกันไม่ให้พลเมืองในเวสต์แบงก์เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน อาทิ บริการทางการแพทย์และตลาดอาหารสด
“เราเดินกันเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงหน่วยบริการสุขภาพ บางทีก็ต้องใช้ลาหามคนป่วยไปโรงพยาบาลหรือคลินิก” มาห์มูด มูซ่า อาบู เอราม (Mahmud Mousa Abu Eram) ชายชาวปาเลสไตน์จากเมืองเฮบรอน (Hebron) ในเขตเวสต์แบงก์กล่าว
“แถวนี้ไม่ค่อยมีรถรับส่งมานานแล้ว ถึงแม้จะมีรถมาส่งที่คลินิก ทหารอิสราเอลก็จะยึดรถไป” ชายคนดังกล่าวเล่าต่อ
เมืองเฮบรอนตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาแห้งแล้ง เมื่อหลายพันปีก่อนพื้นที่นี้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งปลูกองุ่นทำไวน์ และถือเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในเวสต์แบงก์ แม้ว่าจะเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานแต่การเป็นส่วนหนึ่งของเวสต์แบงก์ก็มีความรุนแรงโหดร้ายเป็นเงาหลอกหลอนอยู่เสมอมา โดยเฉพาะในช่วงยุคสมัยใหม่ แม้ว่าความรุนแรงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ก็ตามที หากตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่เป็นต้นมา การโจมตีต่อสู้หลายแห่งในกาซาปะทุขึ้น ความรุนแรงแผ่ขยายไปทั่วเวสต์แบงก์
ชาวปาเลสไตน์เดินทางกลับบ้าน ภายหลังจากเข้ารับบริการจากคลินิกเคลื่อนที่ขององค์การฯ ในเฮบรอน - ดินแดนปาเลสไตน์ 26 มีนาคม 2567
จากข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs หรือ OCHA) ในเดือนตุลาคม 2566 มีชาวปาเลสไตน์ 479 รายถูกฆ่า ในจำนวนนี้มีเด็ก 116 ราย โดย 460 ราย ถูกฆ่าโดยกองกำลังอิสราเอล 10 รายถูกฆ่าโดยผู้พลัดถิ่น และ 8 รายไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ฆ่าระหว่างผู้พลัดถิ่นกับทหาร หนึ่งในสามของชาวปาเลสไตน์ถูกฆ่าในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้กับเมืองทูลคาม (Tulkarem) และเมืองเจนิน (Jenin)
พื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดน เขตเวสต์แบงก์เป็นพื้นที่ครอบครองโดยชาวปาเลสไตน์ ประชากรปาเลสไตน์มากกว่า 2.9 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ซึ่งแบ่งเป็น 11 เขต จากจำนวนประชากรที่อยู่ในเวสต์แบงก์และฝั่งเยรูซาเล็มตะวันออกซึ่งอยู่ไม่ไกลนั้น มีผู้พลัดถิ่นอิสราเอลอาศัยอยู่ประมาณหกแสนสามหมื่นคน (แหล่งข้อมูล องค์การสหประชาชาติ)
มีการคาดการณ์ว่าประมาณร้อยละ 61 ของพื้นที่เขตเวสต์แบงก์เป็นเขตต้องห้ามสำหรับชาวปาเลสไตน์ (แหล่งข้อมูล องค์การสหประชาชาติ) จุดตรวจ เครื่องกีดขวางบนถนน และการโจมตีจากกำลังอิสราเอลและผู้พลัดถิ่น ได้ทำให้เขตเมืองและหมู่บ้านถูกแยกออกจากกัน และยังสกัดกั้นชาวปาเลสไตน์จากการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานรวมถึงบริการด้านสุขภาพ และตลาดขายอาหาร ซึ่งส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยขาดแคลนน้ำ เชื้อเพลิง และของใช้อื่นๆ รวมถึงทำให้ชาวปาเลสไตน์ขาดโอกาสในการเข้าถึงโรงเรียน งาน ครอบครัวและมิตรสหาย
ในชุมชน มาซาเฟอร์ ยัตตา (Masafer Yatta) ในเฮบรอน ชาวปาเลสไตน์ได้รับผลกระทบจากการกีดขวางบนถนน การจู่โจมของทหารและผู้พลัดถิ่น ทำให้การเข้าถึงบริการทางสุขภาพเป็นได้ยากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นไม่มีหน่วยงานท้องถิ่นหน่วยงานใดสามารถจัดหาบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้เนื่องจากขาดงบประมาณ ข้อกำหนดที่ถูกบังคับใช้จากกองกำลังอิสราเอลประกอบกับโครงสร้างถนนที่แย่ยังทำให้การเข้าถึงเมืองเป็นไปได้ยากลำบาก
ขณะเดียวกัน ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในชุมชน มาซาเฟอร์ ยัตตายังส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากเกิดความเกรงกลัวที่จะออกจากบ้าน
“โดยปกติการยืนที่หน้าต่างถือเป็นสิ่งต้องห้าม มีอยู่วันหนึ่ง เรายืนตรงหน้าต่าง ผู้พลัดถิ่นเห็นเข้าและไปแจ้งทหาร” ผู้ป่วยขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนที่ต้องการปกปิดชื่อเล่าให้ฟัง “ทหารถล่มเข้ามาในบ้านของเราและทำลายทุกอย่าง”
แม้ผู้คนในเวสต์แบงก์จะสามารถเข้าถึงสถานบริการสุขภาพได้ แต่ความปลอดภัยของพวกเขาและของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ยังไม่มีใครรับประกันได้ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organisation หรือWHO) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 กองกำลังอิสราเอล เป็นผู้ก่อเหตุโจมตีสถานพยาบาลในเขตเวสต์แบงก์ถึง 447 ครั้ง
ในเขตเจนินและเขตทูลคามทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์ กองกำลังอิสราเอล ยังคงดำเนินการบุกค้นภาคพื้นดินเป็นประจำ บางครั้งก็มีการโจมตีทางอากาศและการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงแก่ชีวิต ประกอบกับการโจมตีจากทหาร ความรุนแรงจากผู้พลัดถิ่นทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์เป็นปัญหาหลักที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน
คลินิกเคลื่อนที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ให้บริการทางการแพทย์ปฐมภูมิและสุขภาพจิต - ดินแดนปาเลสไตน์ มีนาคม 2567
ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยในทูลคามและเจนิน ต้องติดอยู่ในค่ายและถูกกีดกันจากการเข้าถึงหน่วยงานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงที่มีการโจมตีของทหาร ผู้บาดเจ็บที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต้องรอคอยเพื่อที่จะไปโรงพยาบาล มีหลายกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตลงก่อน ในพื้นที่ทั้งสองแห่ง คณะเจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้ให้การดูแลรักษาฉุกเฉิน และสนับสนุนงานอาสาสมัครนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ด้วยการสนับสนุนทางการเงินและให้การฝึกอบรม
เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ค่ายทูลคามและค่ายนูร์ ชามส์ (Nur Shams) อาสาสมัครนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ถูกยิงที่ขาขณะปฏิบัติงาน และเนื่องจากการปิดล้อม จึงต้องใช้เวลาถึงเจ็ดชั่วโมงกว่าจะส่งตัวถึงโรงพยาบาล ส่วนอีกเหตุการณ์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่องค์การฯ ทำการปั๊มหัวใจให้กับเด็กชายอายุ 16 ปี ที่ถูกยิงศีรษะ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาไว้ได้
“พ่อของเด็กคนนี้เป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่ได้รับการอบรมจากองค์การฯ ได้รับทราบข่าวลูกชายถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ในรถฉุกเฉิน” อิทธา เฮลแลนด์-ฮันเซ็น (Itta Helland-Hansen) เจ้าหน้าที่ประสานงานขององค์การฯ ในเจนิน เล่าให้ฟัง
โดยเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ไม่กี่คนที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้ จำเป็นต้องทำงานสุดความสามารถ
ทีมงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน บนถนนภายในค่ายผู้ลี้ภัยเจนินทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์ - ดินแดนปาเลสไตน์ มีนาคม 2567
“โดยส่วนใหญ่ รถพยาบาลจะถูกสกัดที่จุดตรวจ แม้จะเป็นกรณีฉุกเฉินที่เราเปิดไฟไซเรนก็ตาม” เจ้าหน้าที่จากค่ายผู้ลี้ภัยอัล อารูบ (al Arrub) ทางตอนใต้ของเวสต์แบงก์ระหว่างเมืองเฮบรอนและเบธเลเฮมกล่าว
“ส่วนพวกเขาจะสกัดเราไว้นานแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นทางการแพทย์ แต่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของพวกทหาร อาจให้เรารอหนึ่งหรือสองชั่วโมง หรือให้ไปทางอื่นแทน ถ้าผู้ป่วยมีแผลถูกยิงจากกองกำลังอิสราเอล ทหารจะจับผู้ป่วยไป และยึดรถพยาบาล เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้ป่วย พวกเขาจะส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือส่งไปที่เรือนจำ” เจ้าหน้าที่นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จากค่ายผู้ลี้ภัยอัล อารูบ ทางตอนใต้ของเวสต์แบงก์ระหว่างเมืองเฮบรอนและเมืองเบธเลเฮมอธิบาย
ทางเลือกอีกทางเพื่อหลีกเลี่ยงการรอนานและการคุกคามที่จุดตรวจก็คือการไม่ต้องเข้ารับการดูแลด้านการแพทย์ใดๆ เลย
“ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม สถานการณ์ถือว่าดีกว่านี้ ดิฉันใช้เส้นทางสำรองแทน เจ้าหน้าที่ที่ดูแลสุขภาพจิตติดต่อมาเพื่อขอให้ดิฉันไปหาเพื่อบำบัดอย่างต่อเนื่อง” ผู้ป่วยสุขภาพจิตขององค์การฯ จากเมืองนาบลูส (Nablus) ทางตอนเหนือของเวสต์แบงก์กล่าว
“การมาพูดคุยในชั่วโมงการบำบัดทำให้สบายใจขึ้น เวลาที่อยู่ที่นี่ ฉันไม่รู้สึกว่ามีอันตรายใดๆ” เธอเล่าเสริม
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ทำงานในเขตเวสต์แบงก์มาตั้งแต่ปี 2532 คณะเจ้าหน้าที่ฯ ในชุมชนมาซาเฟอร์ ยัตตา ดำเนินงานคลินิกเคลื่อนที่ในพื้นที่อุม คัสซา (Um Qussa) อัล มาจาซ (Al Majaz) และจินบา (Jinba) จนถึงสิ้นปี 2566 คลินิกบริการให้คำปรึกษาผู้ป่วยนอก สุขอนามัยเจริญพันธุ์ งานสุขภาพจิตและการคัดกรองเรื่องภาวะโภชนาการ ในปี 2567 องค์การฯ เพิ่มจำนวนคลินิกเคลื่อนที่ในเมืองเฮบรอนเป็น 13 แห่งเพื่อให้เพียงพอกับความจำเป็นในชุมชน ช่วงระหว่างเดือนมกราคมและมีนาคม 2567 คณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ ได้ให้คำปรึกษาผู้ป่วยนอก6,000 คน ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับผู้ป่วยประมาณ 1,400 คน การให้บริการดังกล่าวรวมการคัดกรองผู้ป่วยใหม่และการติดตามการรักษาในหลายพื้นที่
ในเฮบรอน คณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ ได้ปรับปรุงและขยายกิจกรรมการให้บริการเพื่อเพิ่มการดูแลสุขภาพพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยที่มีการแยกรักษา ในเจนินและทูลคาม เจ้าหน้าที่องค์การฯ สนับสนุนงานการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและการช่วยชีวิตทั้งในและนอกโรงพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมกรณีมีการบาดเจ็บจำนวนมาก หรือเกิดการปิดกั้นการเข้าถึงสถานที่
เจ้าหน้าที่องค์การฯ ยังให้บริการงานสุขภาพจิตในคลินิกหลายแห่งในเมืองนาบลูส และเมืองเฮบรอน เพื่ดลดช่องว่างที่ยังมีอยู่ในการให้บริการงานสุขภาพจิต และเพื่อให้ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้