Skip to main content

    ซูดาน: รายงานบันทึกหายนะ ‘สงครามต่อประชาชน’

    Sudan: Doctors Without Borders report reveals catastrophic toll of ‘a war on people’. A rickshaw taxi goes around a destroyed tank belonging to the Sudanese Armed Forces, a remnant of the violent clashes that took place in El Geneina, West Darfur, in 2023. Sudan, February 2024. © Diana Zeyneb Alhindawi

    รถรับจ้างแบบลากวิ่งรอบรถถังของกองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces) ที่ถูกทำลาย รถถังดังกล่าวกลายเป็นซากเหล็กจากเหตุปะทะรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืองเอล เจนีนา (El Geneina) ทางรัฐดาร์ฟูร์ตะวันตก (West Darfur) ในปี 2566 – ซูดาน กุมภาพันธ์ ปี 2567 © Diana Zeyneb Alhindawi

    อัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) – วันนี้องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสงครามซูดานและการล่มสลายของหลักการปกป้องพลเรือน ผู้คนต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง การสังหาร การทรมาน และความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและการโจมตีสถานพยาบาลหลายแห่ง

    รายงานเรื่อง สงครามต่อประชาชน ราคาที่ผู้คนต้องจ่ายสำหรับความขัดแย้งและความรุนแรงในซูดานอธิบายถึงความรุนแรงแสนเลวร้ายที่กองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces หรือ SAF) และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces หรือ RSF) รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนกำลังกระทำต่อผู้คนทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่เริ่มมีการสู้รบขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2566 สงครามได้สร้างความเสียหายที่ร้ายแรง เกิดการโจมตีโรงพยาบาลหลายจุด วางระเบิดตลาดหลายแห่ง และรื้อถอนบ้านเรือนจนราบคาบ

    สงครามต่อประชาชน ราคาที่ผู้คนต้องจ่ายสำหรับความขัดแย้งและความรุนแรงในซูดาน

    องค์การฯ ได้ลงพื้นที่ทำงานใน 8 รัฐของซูดาน และแม้ว่าตัวเลขประมาณการของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตระหว่างสงครามนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละหน่วยงาน โรงพยาบาลอัล นาโอ (Al Nao) ในเมืองออมเดอร์มาน (Omdurman) รัฐคาร์ทูม (Khartoum) ซึ่งเป็นหนึ่งโรงพยาบาลที่องค์การฯ เข้าไปร่วมดำเนินงาน เผยว่าในช่วงวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 มีผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บจากเหตุรุนแรง 6,776 ราย หรือเฉลี่ย 26 รายต่อวัน นอกจากนี้องค์การฯ ยังรักษาผู้ป่วยมาแล้วหลายพันคนที่ล้วนบาดเจ็บจากเหตุความขัดแย้งทั่วประเทศ โดยส่วนมากบาดแผลมักเกิดจากเหตุระเบิด แผลถูกยิง และโดนแทง

    บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลอัล นาโอ อธิบายถึงผลพวงของการสาดกระสุนใส่เขตที่อยู่อาศัยของเมือง

    มีผู้คนราว 20 รายมาถึงโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิตภายหลัง บางคนมาถึงโรงพยาบาลเพียงแค่ร่างแต่ไร้วิญญาณ ส่วนใหญ่มาพร้อมกับมือหรือขาที่ห้อยหรือขาดจากร่างกาย บางคนมีเพียงผิวหนังชิ้นบางที่ยึดแขนหรือขาสองส่วนไว้ด้วยกัน ผู้ป่วยรายหนึ่งมาพร้อมกับขาที่เหลือเพียงหนึ่งข้าง โดยมีผู้ดูแลตามหลังมาด้วยพร้อมกับถือท่อนขาส่วนที่ถูกตัดขาดไว้ในมือ

    รายงานชิ้นนี้ยังได้กล่าวถึงตัวเลขอันน่าตกใจเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศโดยเฉพาะในรัฐดาร์ฟูร์ องค์การฯ สำรวจผู้รอดชีวิตจากเหตุความรุนแรงทางเพศ 135 รายที่เข้ารับการรักษาจากเจ้าหน้าที่องค์การฯ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ปี 2566 ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศชาด (Chad) ใกล้กับชายแดนซูดาน องค์การฯ ยังพบว่า 90% ถูกข่มขืนโดยกลุ่มผู้ติดอาวุธ 50% ถูกข่มขืนภายในบ้านของตัวเอง และ 40% ถูกรุมข่มขืนจากผู้ร้ายหลายคน

    Emergency Surgical Team at Bashair Hospital Khartoum. A bullet extracted from a patient. Bullet wounds are one of the most common cases treated at Bashair hospital on a daily basis. Sudan, May 2023. © Ala Kheir/MSF

    กระสุนที่นำออกจากร่างกายผู้ป่วยในโรงพยาบาลบาสแฮร์ (Bashair) แผลจากกระสุนปืนเป็นหนึ่งในเคสที่เจอได้บ่อยที่สุดในทุกวัน - ซูดาน พฤษภาคม 2566 © Ala Kheir/MSF

    ตัวเลขและรายละเอียดเหล่านี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตที่ยังอยู่ในซูดาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ มักจะมีผลกระทบเฉพาะกลุ่มอย่างการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงภายในบ้านของพวกเธอเอง และตามแนวเส้นทางระหว่างกำลังพลัดถิ่น

    ผู้ป่วยขององค์การฯ อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองเกดาเรฟ (Gedaref) เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2567 เรามีเพื่อนบ้านเป็นเด็กผู้หญิงจากเมืองซาริบา (Sariba) 2 คน แต่วันหนึ่งพวกเธอหายตัวไป ต่อมาพี่ชาย/น้องชายของฉันถูกลักพาตัว และเมื่อเขาได้กลับมาที่บ้าน เขาเล่าว่าได้ระหว่างที่เขาถูกขังเอาไว้ภายในบ้านหลังหนึ่ง เขาได้พบกับเด็กผู้หญิงทั้งสองคนด้วย โดยพวกเธออยู่ที่นั่นมานานกว่า 2 เดือนแล้ว นอกจากนี้พวกเธอยังเล่าให้ฟังว่าเกิดเรื่องเลวร้ายอะไรบ้าง เรื่องราวที่เป็นฝันร้ายของเด็กผู้หญิง

    รายงานยังรวบรวมคำให้การเกี่ยวกับรายละเอียดของกลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นเป้าหมายของความรุนแรงต่อผู้คนในภูมิภาคดาร์ฟูร์ อย่างเมืองไนอาลา (Nyala) ซึ่งอยู่ในรัฐดาร์ฟูร์ใต้ ประชาชนได้ย้อนความกลับไปยังช่วงฤดูร้อนปี 2566 ที่กองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็วและกองกำลังพันธมิตรบุกเข้าไปภายในบ้านแต่ละหลัง ทำการปล้นสะดม ทุบตี และสังหารผู้คนโดยเลือกกลุ่มเป้าหมายชาวมาซาลิต (Masalit) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่เชื้อชาติอาหรับ

    ผู้ป่วยรายหนึ่งในเมืองไนอาลา รัฐดาร์ฟูร์ใต้บอกกับองค์การฯ ว่า ผู้ชายเหล่านั้นแต่งกายด้วยชุดลายพรางของกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว และพวกเขามาพร้อมกับอาวุธ... ผมถูกแทงหลายครั้งและล้มลงกับพื้น ในขณะที่พวกเขากำลังออกจากบ้านไป พวกเขามองกลับมายังผมที่ยังนอนราบกับพื้นในสภาพแทบหมดสติ ชายคนหนึ่งใช้เท้าเหยียบบนร่างของผม แต่อีกคนก็พูดขึ้นมาว่า เดี๋ยวเขาก็ตาย อย่าเปลืองกระสุนเลย’”

    Attacks on health facilities. The destruction that followed the storming and looting of an Doctors Without Borders-supported health facility in Sudan. Sudan, April 2024. © MSF

    ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากการโจมตีและปล้นสะดมสถานพยาบาลที่องค์การฯ สนับสนุนการทำงานในซูดาน - ซูดาน เมษายน ปี 2567 © MSF

    นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้น โรงพยาบาลหลายแห่งถูกปล้นและตกเป็นเป้าหมายการโจมตีไม่เว้นวัน ในเดือนมิถุนายน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยสถานพยาบาลที่ยังคงดำเนินการอยู่เหลือเพียง 20-30% และสามารถปฏิบัติงานได้ในระดับที่จำกัดอย่างยิ่ง องค์การฯ ได้บันทึกเหตุความรุนแรงและการทำร้ายเจ้าหน้าที่องค์การฯ การทำลายทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานอย่างน้อย 60 ครั้ง โรงพยาบาลอัล นาโอที่องค์การฯ สนับสนุนการทำงานอยู่ถูกโจมตีด้วยกระสุนปืนใหญ่ถึง 3 ครั้ง ส่วนโรงพยาบาลเด็กเบคเกอร์ นาฮาร์ (Baker Nahar) ในเมืองเอล ฟาเชอร์ (El Fasher) เกิดระเบิดจากการโจมตีทางอากาศในเดือนพฤษภาคม โดยหลังคาของแผนกผู้ป่วยวิกฤตที่ถล่มลงมาส่งผลให้เด็ก 2 รายเสียชีวิต นี่เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่องค์การฯ สนับสนุนการทำงานและต้องปิดตัวลง

    ขณะที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถส่งต่อความช่วยเหลือให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ องค์กรด้านมนุษยธรรมและการแพทย์กลับถูกขัดขวางไม่ให้เข้าไปสนับสนุนการช่วยเหลืออยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าทางการได้เริ่มให้วีซ่ากับเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมเร็วขึ้น แต่ความตั้งใจในการให้การดูแลรักษาพยาบาลมักถูกกีดขวางด้วยข้อจำกัดทางราชการหลายประการ เช่น ปฏิเสธใบอนุญาตในการเดินทาง ซึ่งส่งผลให้ผู้คนและสิ่งของที่จำเป็นไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้

    วิคกี้ ฮอว์กินส์ (Vickie Hawkins) ผู้อำนวยการทั่วไปขององค์การฯ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดจากคู่สงคราม รวมไปถึงการสร้างอุปสรรคเพื่อขัดขวางไม่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการ ไม่ว่าจะด้วยการปิดกั้นพื้นที่ การแทรกแซงการทำงาน และการสกัดกั้นการให้บริการ การไม่ปั๊มตรายางและลงลายเซ็น (ของทางการ) อาจแปรเป็นภัยอันตรายร้ายแรงไม่ต่างกับฤทธิ์ของกระสุนปืนและระเบิดในซูดาน

    องค์การฯ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสงครามอำนวยความสะดวกในการขยายวงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเหนือสิ่งอื่นใด หยุดสงครามที่ไร้เหตุผลนี้ต่อประชาชน หยุดการโจมตีพลเรือน โครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และเขตที่อยู่อาศัยทันที
    วิคกี้ ฮอว์กินส์ ผู้อำนวยการทั่วไป

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้