Skip to main content

    มือที่โอบอุ้มแห่งซูดาน: เรื่องราวของแพทย์ชาวซูดาน

    Image of Dr. Mohammad Bashir. Sudan, 2023. © MSF

    ซูดาน 2566 © MSF 

    ช่วงก่อนวันที่ 15 เมษายนปีที่แล้ว ผมไม่เคยคิดเลยว่าตนเองจะทำงานใต้ความขัดแย้งในเมืองคาร์ทูม (Khartoum) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศตนเอง

    ผมเป็นหมอชาวซูดาน ทำงานกับองค์การฯ มาหลายปี แต่ผมไม่เคยเห็นสิ่งที่ทำให้เพื่อนร่วมชาติของผมต้องทนทุกข์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแบบนี้มาก่อน ความขัดแย้งนี้สร้างความเสียหายมากมาย ผู้คนในซูดานและประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 7 ล้านคนต้องพลัดถิ่น หนีภัยความรุนแรง หลายคนต้องไปอยู่ในค่ายชั่วคราวในสภาพแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอาหาร ที่พัก

    ผมและคนที่ผมรักก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถรอดพ้นผลของความรุนแรงไปได้ เราต่างประสบพบเจอเรื่องราวเดียวกัน

    View of Umdawanban hospital's hallway.

    บรรยากาศบททางเดินของโรงพยาบาลอูม ดอวน์บาน - ซูดาน 2566  © MSF 

    ช่วงเวลาแห่งความล่มสลาย

    ซูดานประสบปัญหาระบบบริการสุขภาพที่อ่อนแอมานาน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ระบบล่มสลาย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมทำงานสนับสนุนคณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ ในโรงพยาบาลสองแห่งที่ตั้งอยู่ในเมืองคาร์ทูม และอีกแห่งคือที่ค่ายผู้ลี้ภัย อูม ราคูบา (Um Rakuba) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก

    ส่วนใหญ่แล้วเมื่อผู้คนนึกถึงความจำเป็นทางการแพทย์ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ก็มักจะนึกถึงผู้บาดเจ็บจากระเบิดหรือกระสุนปืน แต่ผมเองก็เห็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากจากโรคเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษา คนที่ดูแลอาการเบาหวานหรือหอบหืดมาได้ดีหลายปี ตอนนี้กลับไม่สามารถหายาที่จำเป็นต่อโรคของพวกเขาได้

    ความจำเป็นในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ก็เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับการผ่าคลอดหรือการคลอดแบบฉุกเฉิน และนี่เป็นสาเหตุที่หนึ่งในโรงพยาบาลที่ผมดูแลอยู่ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง อูม ดอวน์บาน (Umdawnban) คณะแพทย์ของเราได้สนับสนุนงานดูแลหญิงตั้งครรภ์ ช่วยทำคลอดมากกว่า 1,500 รายนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

    หากดูสถานการณ์โดยรวมทั่วประเทศแล้วการดำเนินงานดูแลหญิงตั้งครรภ์ยังคงทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนเสี่ยงเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงการดูแลสูตินรีเวชในภาวะฉุกเฉิน ส่วนในพื้นที่ที่ยังมีการให้บริการอยู่ คุณภาพก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล

    Image of Dr. Mohammad Bashir. Sudan, 2023. © MSF

    ซูดาน 2566 © MSF 

    ความช่วยเหลืออีกมากยังเป็นเรื่องจำเป็น 

    ในฐานะของประชาชนและฐานะหมอ ผมกังวลมากเมื่อพิจารณาความจำเป็นด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศบ้านเกิดของผม ปัญหาบางอย่างมีอยู่ก่อน แต่ทุกอย่างแย่ลงนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้ง ประเทศซูดานมีประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าเกี่ยวข้องกับโรคระบาดอย่างโรคหัด (measles) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) โรคติดต่อร้ายแรงเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน หากไม่ได้รับวัคซีนก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก มีข้อมูลว่าภาวะทุพโภชนาการเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับเด็กเนื่องจากทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานแย่ลง

    การที่ระบบบริการสุขภาพล่มสลายลง ผู้คนนับแสนอพยพหนีความรุนแรง ต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวที่แออัด โครงการวัคซีนสำหรับประชากรจำนวนมากและการให้การสนับสนุนเรื่องสารอาหารจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และนับเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาชีวิตเลยก็ว่าได้

    ความมุ่งมั่นตั้งใจ

    ในประเทศซูดาน พื้นที่ส่วนใหญ่ที่องค์การฯ ปฏิบัติงานเป็นพื้นที่ที่ยังมีการต่อสู้อยู่ ซึ่งทำให้งานของเรามีความยากและอันตรายมาก แต่ก็ทำให้เราทุกคนยิ่งมุ่งมั่นตั้งใจมากขึ้นอีก

    ความมุ่งมั่นตั้งใจที่ผมพูดถึงนี้ไม่ได้หมายถึงองค์การฯ เราเท่านั้น ผมยังหมายถึงชุมชนที่สนับสนุนกันและกัน เช่น ในค่ายอูม ราคูบาทางตะวันออกของซูดาน องค์การฯ ได้จัดให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีความจำเป็นมากต่อผู้คนนับพันที่อยู่อาศัยทั้งในและรอบๆ ค่ายผู้ลี้ภัย เมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นครั้งใด ก็มักเกิดความไม่ชัดเจนว่าเราจะยังปฏิบัติงานต่อไปได้หรือไม่ แต่เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจของคณะทำงานหลักขององค์การฯ เราจึงยังคงทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

    เมื่อปีที่แล้วเราให้บริการคำปรึกษาด้านการแพทย์ไป 40,000 ครั้งกับผู้ลี้ภัยและประชาชนในพื้นที่ ทำคลอดหญิงตั้งครรภ์ 507 คนได้อย่างปลอดภัย ความมุ่งมั่นของเรายังได้ขยายออกไป ในเมืองอูม ราคูบา เราได้เห็นกับตาว่าบทบาทของอาสาสมัครท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ชุมชนมีความสำคัญเพียงใด

    แต่ผมต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะยึดมั่นในคำสัญญาในสถานการณ์เช่นนี้ได้ สถานการณ์ที่ทรัพยากรและความช่วยเหลือถูกขัดขวางและเสี่ยงต่ออันตราย คำถามนี้ดังกึกก้องในความคิดของผมอยู่ตลอดไม่ว่าจะหลับหรือตื่น

    เพียงความมุ่งมั่นตั้งใจยังคงไม่เพียงพอ...

    บางครั้งเพียงแค่ความมุ่งมั่นก็คงไม่เพียงพอ การให้คำปฏิญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของผมในฐานะหมอคือการทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องการการช่วยเหลือทางการแพทย์ บทบาทของผมในฐานะรักษาการผู้ประสานงานทางการแพทย์ ทำให้ผมไม่ได้เป็นแค่หมอที่รักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนการช่วยเหลือในระดับที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการจัดหาเจ้าหน้าที่และทรัพยากรต่างๆ ให้เพียงพอและเหมาะสมในพื้นที่ที่จำเป็นมากที่สุด

    แต่ผมต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะยึดมั่นในคำสัญญาในสถานการณ์เช่นนี้ได้ สถานการณ์ที่ทรัพยากรและความช่วยเหลือถูกขัดขวางและเสี่ยงต่ออันตราย คำถามนี้ดังกึกก้องในความคิดของผมอยู่ตลอดไม่ว่าจะหลับหรือตื่น

    ตอนนี้เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องความเป็นความตายแล้ว เป็นเรื่องที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ต้องตระหนักถึงเป้าหมายหลักขององค์การฯ ในการให้การบริการทางการแพทย์กับผู้ที่เปราะบางที่สุดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราจำเป็นต้องเข้าถึงพื้นที่และมีความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย รวมถึงอุปกรณ์การรักษาผู้ป่วย เราต้องการสิ่งเหล่านี้พอๆ กับที่ผู้ป่วยต้องการสิ่งเดียวกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของวันพรุ่งนี้ แต่เป็นเรื่องของนาทีนี้ ชีวิตที่เราต้องการจะรักษาไว้ต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้

    เสี้ยวหนึ่งของตัวผม

    งานของผมในซูดาน งานในประเทศของผมเอง ไม่ได้เป็นแค่งาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ของผม หลักการทำงานของผมก็เหมือนกับเพื่อนร่วมงานในองค์การฯ ทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากท่ามกลางความขัดแย้ง

    ผมยังคงทุ่มเทต่อไปก็เพื่อสิ่งนี้

     

    ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในซูดาน

    ปัจจุบัน คณะทำงานขององค์การฯ ปฏิบัติหน้าที่ในเมืองทั้งหมด 11 แห่ง คือ คาร์ทูม (Khartoum) อัล จาซีรา (Al-Jazeera) ไวท์ ไนล์ (White Nile) บลูไนล์ (Blue Nile) ริเวอร์ไนล์ (River Nile) อัล กาดารีฟ (Al Gedaref) ดาร์ฟูร์ตะวันตก (West Darfur) ดาร์ฟูร์เหนือ (North Darfur) ดาร์ฟูร์กลาง (Central Darfur) ดาร์ฟูร์ใต้ (South Darfur) และพอร์ตซูดาน (Port Sudan) นอกจากนี้ เรายังให้ความช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัยและผู้กลับคืนถิ่นที่อยู่ตลอดแนวชายแดนของประเทศซูดานใต้ (South Sudan) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง(Central African Republic) และประเทศชาด (Chad)

    นายแพทย์โมฮัมหมัด บาเชอร์ (Dr. Mohammad Bashir)
    รักษาการผู้ประสานงานทางการแพทย์

    นายแพทย์โมฮัมหมัด บาเชอร์ (Dr. Mohammad Bashir) รักษาการผู้ประสานงานทางการแพทย์ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน  

    ทำงานกับองค์การฯ มาหลายปี เขาดูแลงานบริการทางการแพทย์ในเมืองอูม ดอวน์บาน และโรงพยาบาลอัลบาน อัลจาดีด (Alban Aljadeed) ในเมืองคาร์ทูม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์การฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 ที่โรงพยาบาลอูม ดอวน์บาน คณะเจ้าหน้าที่ได้ดูแลงานบริการสุขภาพกุมารเวชศาสตร์และหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ โรงพยาบาลอัลบาน อัลจาดีด ยังเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งเดียวในเขตไนล์ตะวันออก ที่องค์การฯ สนับสนุนห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัดที่ให้การดูแลผู้ป่วยนอกภาวะฉุกเฉินมาแล้วมากกว่า 12,000 ราย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566

    เขายังทำงานกับคณะแพทย์เพื่อค่ายผู้ลี้ภัย อูม ราคูบา ในรัฐอัล กาดารีฟ (Al Gedaref) โดยมีการให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์กับผู้ป่วยนอกไปมากกว่า 40,000 รายเฉพาะในปี 2566 เพียงปีเดียว

    บทบาทของเขายังรวมถึงการดูแลงานบริการฉุกเฉิน เช่น การรับมือการระบาดของโรคอหิวาตกโรค (cholera) ความทุ่มเทในการทำงานของนายแพทย์บาเชอร์ที่มีต่อโรงพยาบาลสองแห่งเป็นแรงสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยจำนวน 500 รายที่ได้รับผลกระทบจากอหิวาตกโรคในปี 2566