Skip to main content

    ซูดาน: 500 วันแห่งสงครามและความล้มเหลวด้านมนุษยธรรมและการแพทย์

    Sudanese people are queueing at Adre border crossing point between Chad and Sudan. 600,000 people already fled the war in Sudan to seek refuge in Chad since April 2023 and there are new arrivals on a daily basis.

    ชาวซูดาน (Sudanese) กำลังเข้าคิวที่จุดผ่านแดนอาเดร (Adre) ระหว่างสาธารณรัฐชาด (Chad) และซูดาน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 มีประชาชน จำนวน 600,000 คน หลบหนีสงครามในซูดานมาขอลี้ภัยในสาธารณรัฐชาดและมีผู้อพยพรายใหม่เข้ามาเพิ่มทุกวัน - ชาด เมษายน 2567 © Corentin Fohlen/Divergence

    พอร์ท ซูดาน (Port Sudan) เมืองดาร์ฟูร์ (Darfur) ซูดาน 27 สิงหาคม 2567วันนี้ครบรอบ 500 วันนับตั้งแต่ซูดานเริ่มเผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุด นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าละอายสำหรับองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศและผู้บริจาคทั้งหลาย เป็นเวลานานกว่า 16 เดือนแล้วที่พวกเขาไม่สามารรถดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ภาวะทุพโภชนาการ(malnutrition) ในเด็กแสนร้ายแรงไปจนถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในวงกว้าง ข้อจำกัดที่เข้มงวดจากคู่สงครามจำกัดขีดความสามารถด้านต่างๆ อย่างมาก รวมทั้งกระทบต่อการส่งมอบความช่วยเหลือของเราด้วย องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) กล่าว

    การต่อสู้ระหว่างกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces - RSF) และกองกำลังติดอาวุธซูดาน (Sudanese Armed Forces - SAF) ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองหลวงคาร์ทูม (Khartoum) เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 ยังคงลุกลามไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในซูดาน ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับหมื่นคน ระหว่างเดือนเมษายน 2566 ถึง มิถุนายน 2567 องค์การฯ รับผู้บาดเจ็บจากสงคราม จำนวน 11,985 รายเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ ความรุนแรงดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ที่สุดในโลก โดยประชากรมากกว่า 10 ล้านคน หรือราวหนึ่งในห้าของประชากรชาวซูดานทั้งหมดถูกบังคับให้ต้องละทิ้งบ้านเรือนของตน โดยหลายคนต้องเผชิญกับการพลัดถิ่นซ้ำซ้อน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN)

    เนื่องจากการแก้ปัญหาตามกลไกการเมืองต่อภาวะวิกฤตขาดเสถียรภาพ ทำให้ภาวะทุพโภชนาการเพิ่มขึ้นพร้อมกับราคาอาหารที่สูงขึ้นและการขาดแคลน

    เสบียงด้านมนุษยธรรม นอกเหนือจากหายนะในค่ายซัมซัม (Zamzam Camp) ทางตอนเหนือของเมืองดาร์ฟูร์แล้ว ศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยใน (Inpatient Therapeutic Feeding Centre) ขององค์การฯ ในพื้นที่อื่นของเมืองดาร์ฟูร์ เช่น เอล เจนีน่า (El Geneina) เนียลา (Nyala) และโรเกโร (Rokero) ก็เต็มไปด้วยผู้ป่วย และเช่นเดียวกันกับค่ายผู้ลี้ภัยที่เราดำเนินการในฝั่งตะวันออกของสาธารณรัฐชาด (Chad) นับตั้งแต่เริ่มสงครามจนถึงเดือนมิถุนายน 2567 เราได้รักษาเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารเฉียบพลันในซูดานไปแล้ว จำนวน 34,751 คน

    A Sudanese doctor examines a child in the pedeatric ward at the MSF Hospital in Metche, in eastern Chad.

    แพทย์ชาวซูดานจากเอล เจนีน่า ในเมืองดาร์ฟูร์ กำลังตรวจเด็กในแผนกกุมารเวชกรรมที่โรงพยาบาลขององค์การฯ เมืองเมตเช (Metche) ทางฝั่งตะวันออกของสาธารณรัฐชาด - ชาด สิงหาคม 2367 © Finbarr O’Reilly/VII Photo

    ทุกวันนี้มีเด็กๆ กำลังจะตายจากภาวะทุพโภชนาการทั่วซูดาน ความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการอย่างเร่งด่วนที่สุดแทบเข้ามาไม่ถึง และเมื่อมีหนทางก็มักจะถูกปิดกั้นบ่อยครั้ง เช่น เมื่อเดือนกรกฎาคม รถบรรทุกสิ่งของจากองค์การฯ ในสถานที่ปฏิบัติงานสองแห่งในเมืองดาร์ฟูร์ถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง กองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็วยึดรถบรรทุก 2 คัน และอีก 1 คันถูกกลุ่มติดอาวุธนิรนามยึดไว้
    ทูน่า เติร์กเมน ผู้ประสานงานเหตุฉุกเฉิน

    สถานการณ์ในซูดานตะวันออกและตอนกลางยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทางตอนใต้ของคาร์ทูม องค์การฯ ถูกสกัดกั้นไม่ให้นำเวชภัณฑ์และเจ้าหน้าที่ต่างชาติเข้าไปยังโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว การรักษาพยาบาลที่คนไข้จำเป็นต้องได้รับกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการคลอดบุตรและการรักษาในสถานการณ์ฉุกเฉินแคลร์ ซาน ฟิลิปโป (Claire San Filippo) ผู้ประสานงานเหตุฉุกเฉินขององค์การฯ ประจำซูดาน กล่าว

    นอกเหนือจากอุปสรรคที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมาจากการสร้างกำหนดหรือการตกลงกันระหว่างคู่สงคราม รวมไปถึงสถานะไร้กฎหมายควบคุม ความไม่มั่นคง อุปสรรคในระบบราชการ และความล่าช้าหรือการไม่อนุญาตให้เข้าถึงประชากรที่ได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือ ทำให้การตอบสนองด้านมนุษยธรรมช้าลงอย่างมาก ปัจจุบันยังมีปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคในการนำบุคลาการและเสบียงเข้าสู่พื้นที่อีกด้วย

    ฤดูฝนเป็นช่วงฤดูกาลประจำปีที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงที่สุดจากอุปสรรคในการเดินทาง ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมจุดผ่านแดนและตัดขาดถนนและสะพานที่สำคัญหลายแห่ง เนื่องจากการพังทลายของสะพานมอร์เน่ (Mornei) ในเมืองดาร์ฟูร์ตะวันตก (West Darfur) ทำให้เส้นทางเดียวที่จะนำความช่วยเหลือเข้าไปซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองดาร์ฟูร์ตอนกลางและตอนใต้กับสาธารณรัฐชาด และเป็นจุดที่เสบียงส่งมาถึงถูกตัดขาด ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือที่มาจากการขนส่งทางบกได้

    เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของโรคมาลาเรีย (malaria) และโรคที่เกิดจากน้ำ ซึ่งขณะนี้มีการประกาศการระบาดของอหิวาตกโรค (cholera) ในพื้นที่อย่างน้อยสามรัฐ และยังมีอุปสรรคในการให้วัคซีนป้องกันโรคในเด็ก เช่น โรคหัด (measles) ซึ่งกำลังเกิดขึ้นควบคู่ไปกับสงคราม เป็นเหตุให้เกิดการชะงักงันในงานรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกัน

    Patients at the MSF Hospital in Metche, in eastern Chad.

    ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลขององค์การฯ ในเมืองเมตเช ฝั่งตะวันออกของสาธารณรัฐชาด ค่ายเมตเชเป็นที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยชาวซูดานประมาณ 40,000 คนที่หนีตายจากความรุนแรงในเมืองดาร์ฟูร์ - ชาด สิงหาคม 2567 © Finbarr O’Reilly/VII Photo

    ขณะเดียวกัน ตามที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ระบุ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้สถานพยาบาลเกือบร้อยละ 80 ต้องหยุดให้บริการ ซึ่งทำให้ระบบสุขภาพที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้วต้องหยุดชะงักลง นับตั้งแต่การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นในเมืองเอล ฟาเชอร์ (El Fasher) เมื่อเดือนพฤษภาคม ในเมืองนี้เพียงแห่งเดียวมีสถานพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ ถูกโจมตี 12 ครั้ง ทำให้เหลือโรงพยาบาลของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเปิดให้บริการได้บางส่วน และยังสามารถดำเนินการผ่าตัดได้ 

    ไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม เวลาประมาณ 04:40 . มีการยิงโจมตีบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่พักของคณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ บางส่วน ซึ่งปฏิบัติการในเมืองเอล ฟาเชอร์ และ เมืองซัมซัม โชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ จะมีก็เพียงความเสียหายของสถานที่และอุปกรณ์เท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งที่ 84 ที่เกิดกับเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ รวมทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์การฯ ที่อยู่ในซูดาน สถานการณ์นี้แสดงถึงการเพิกเฉยอย่างชัดแจ้งต่อการให้ความคุ้มครองพลเรือน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล

    สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ ประชาชนราวสองล้านคนต้องการลี้ภัย ซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากคนที่พวกเขารัก

    สามีของฉันหายตัวไปนานกว่าหนึ่งปีแล้ว และฉันไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน [ลูกชายของฉัน] คาลิด (Khalid) สบายดี จนกระทั่งอาหารเริ่มร่อยหรอ หลังจากที่เขาทานอาหารไม่ค่อยได้มาวันสองวัน เขามีไข้สูง ฉันรู้สึกไม่สบายใจนักที่อยู่ที่นี่และสถานการณ์ก็ไม่สู้ดีนัก ฉันอยากกลับไปซูดานแล้ว
    อุม อาเดล หญิงชาวซูดานในค่ายเมืองเมตเช
    Women and children at the MSF Hospital in Metche, in eastern Chad.

    ผู้หญิงและเด็กที่โรงพยาบาลขององค์การฯ ในเมืองเมตเช ฝั่งตะวันออกของสาธารณรัฐชาด - ชาด สิงหาคม 2567 © Finbarr O’Reilly/VII Photo

    คู่สงครามและประเทศสมาชิกที่มีอิทธิพลเหนือพลเมืองซูดาน จะต้องรับประกันการให้ความคุ้มครองพลเรือน บุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาล หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะต้องลดความซับซ้อนของกระบวนการอนุมัติให้มีการเคลื่อนที่ ขนส่งสิ่งของและบุคลากรเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมผ่านเส้นทางที่ทำได้ในการข้ามพรมแดน ประเทศ และแนวหน้าต่างๆ และให้การตอบสนองโดยทันท่วงที องค์การสหประชาชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีอำนาจให้ความช่วยเหลือจะต้องใช้มาตรการทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่าการกำหนดเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

    องค์การฯ พยายามเติมเต็มช่องว่างบางส่วน ในหลายพื้นที่ที่เราทำงาน เราเป็นองค์กรระหว่างประเทศเพียงองค์กรเดียวที่ยังคงดำเนินงานอยู่ แต่ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตครั้งใหญ่นี้เพียงลำพังได้ เรายังประสบปัญหาในการหาเสบียงสิ่งของและเจ้าหน้าที่สำหรับโครงการของเราอีกด้วย การจัดหาเงินทุนอย่างต่อเนื่องให้กับหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรท้องถิ่นและบุคลากร ซึ่งรับภาระอันหนักหน่วงเหล่านั้น ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญควบคู่ไปกับการเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน

    การตอบสนองพร้อมความช่วยเหลือที่เข้าถึงผู้คนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ เราไม่สามารถทิ้งเวลาให้เสียเปล่าต่อไป
    เอสเปรันซา ซานโตส ผู้ประสานงาน

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ถือเป็นองค์กรหนึ่งในบรรดาองค์กรระหว่างประเทศไม่กี่องค์กรที่ทำงานกับคู่ขัดแย้งในซูดานทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันดำเนินการและสนับสนุนโครงการทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงศูนย์สุขภาพปฐมภูมิ (Primary Healthcare) และโรงพยาบาลมากกว่า 20 แห่งใน 8 รัฐจากทั้งหมด 18 รัฐของซูดาน องค์การฯ มีเจ้าหน้าที่ชาวซูดาน จำนวน 926 คน และเจ้าหน้าที่ต่างชาติ จำนวน 118 คน องค์การฯ ยังมอบเงินสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขซูดาน จำนวน 1,092 คน


    สนับสนุนการทำงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน

    การสนับสนุนของคุณ ช่วยให้เราส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตได้ต่อเนื่อง