เสียงจากเด็กผู้ลี้ภัยชาวซูดาน: พวกเราต่างก็มีความฝันและพรสวรรค์เหมือนกัน
รายาน อายุ 7 ขวบ คือหนึ่งในเด็กชาวซูดานนับหมื่นชีวิตที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวอาเดร - ชาด กรกฎาคม 2567 © Thibault Fendler/MSF
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ดำเนินภารกิจให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการแพทย์และมนุษยธรรมในสาธารณรัฐชาดฝั่งตะวันออก (Eastern Chad) มาเป็นเวลาหนึ่งปี กับผู้ลี้ภัยที่หนีภัยสงครามออกจากซูดานหลังสงครามเริ่มปะทุ ตามข้อมูลของสหประชาชาตินับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2566 จนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ผู้ลี้ภัยชาวซูดานมากกว่า 600,000 คนได้เดินทางมาถึงสาธารณรัฐชาด
เพื่อสนองต่อเหตุการณ์ได้ทันท่วงทีต่อการพลัดถิ่นรอบนี้ องค์การฯดำเนินการสนับสนุนด้านกุมารเวชศาสตร์ (Pediatric) ที่คลินิกขององค์การฯในค่ายพักพิงชั่วคราวอาเดร และ ค่ายอะบูเทงก์ (Aboutengué Camp) โดยให้บริการด้านสุขภาพที่จำเป็นกับเด็ก ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงเดือนกรกฎาคม ได้มีการให้คำปรึกษาด้านกุมารเวชศาสตร์สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในคลินิกเหล่านี้แล้วราว 43,709 ครั้ง
ไม่นานมานี้ องค์การฯ ได้ดำเนินการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles) สำหรับเด็กในค่ายพักพิงชั่วคราวอาเดร ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 13 กรกฎาคม โดยภายในช่วง 6 ดังกล่าว เด็กและวัยรุ่นอายุ 6 เดือนถึง 14 ปีมากกว่า 22,000 คนได้รับวัคซีน องค์การฯ จัดตั้งจุดฉีดวัคซีน 7 จุดในค่ายและจัดหน่วยเคลื่อนที่ทั่วทั้งค่ายเพื่อเข้าถึงเด็กให้ได้มากที่สุด
จากคำบอกเล่าต่อไปนี้ องค์การฯ ขอเป็นเสียงสะท้อนของเด็กชาวซูดานอายุตั้งแต่ 7 ถึง 12 ปี ที่เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย รวมถึงเรื่องความสามารถพรสวรรค์ งานอดิเรก ความต้องการและความปรารถนาในอนาคตของของพวกเขา
มุชธาฮายกตุ๊กตาทอมขึ้นมา เมื่อเราถามเกี่ยวกับความเป็นอยู่ภายในค่าย เธอตอบทันทีว่า "มันไม่ดีเท่าไหร่" และสิ่งที่เธอต้องการที่สุดคือการได้กลับไปเรียนหนังสือ "ทำไมพื้นที่ตรงนี้ถึงไม่มีโรงเรียนอยู่ล่ะ - ชาด กรกฎาคม 2567" © Thibault Fendler/MSF
มุชธาฮา (Mushtaha) – 10 ขวบ
“หนูมีพี่สาวสี่คนและน้องชายหนึ่งคน น้องสาวเพิ่งเกิดที่โรงพยาบาลในเมืองอาเดรเมื่อห้าเดือนก่อน เราทุกคนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แม่มีร้านค้าเล็กๆ อยู่หน้าที่พัก ขายขนมหวาน ชีวิตของพวกเราก่อนมาที่นี่ต่างจากตอนนี้ เราอาศัยอยู่ในเมืองเอล เจนีน่า (El-Geneina) ถึงตอนนี้เราอยู่ที่ค่ายพักพิงนี้มา 9 เดือนแล้ว ชีวิตในค่ายยากลำบากค่ะ
ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า เราจึงไม่ได้ดูทีวี… หนูชอบดูช่องเอ็มบีซี 3 (MBC3) ซึ่งเป็นช่องสำหรับเด็ก หนูคิดถึงการนั่งบนเก้าอี้ ที่นี่ไม่มีเก้าอี้ พวกเราต้องนั่งบนพื้นแทน
เราอยู่กลางทะเลทราย ดังนั้นไม่มีใต้ต้นไม้ให้เล่นหรอก พ่อแม่มุงที่พักด้วยหลังคาเหล็กเพื่อให้นอนได้ และนั่นคือที่ที่เราทั้งพักและเล่น... ตอนที่ต้องอพยพจากเมืองเอล เจนีน่า เราเอาของเล่นติดตัวมาด้วย เช่น ตุ๊กตาสองสามตัวและตุ๊กตาแมวพูดได้ชื่อทอม (The Talking Tom Cat) แต่เจ้าทอมพูดไม่ได้อีกต่อไปแล้วเพราะแบตเตอรี่หมด
ที่เมืองเอล เจนีน่า หนูเคยไปโรงเรียน แต่ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ทำไมที่นี่ถึงไม่มีโรงเรียนคะ
จำได้ว่าเมื่อพวกเรามาถึงที่นี่ครั้งแรก คนกลุ่มแรกๆ ที่มาช่วยเราก็คือ องค์การฯ พวกเราเรียกพวกเขาว่า "อตาบา" (Ataba ) (ภาษาอาหรับ (Arabic) แปลว่า "แพทย์") เมื่อพี่น้องหรือตัวหนูป่วเราก็จะไปที่องค์การฯ ครั้งล่าสุดที่ไปก็ไปฉีดวัคซีนโรคหัด หนูไม่ร้องไห้เมื่อถูกฉีดยา ไม่เจ็บเลย ไม่เหมือนน้องสาวที่ร้อง"
ซัมซัมอาศัยอยู่ภายในค่ายเป็นเวลานานนับปีแล้ว - ชาด กรกฎาคม 2567 © Thibault Fendler/MSF
ซัมซัม (Zamzam ) –11 ขวบ
“สภาพความเป็นอยู่ในค่ายยากลำบาก เราไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีอาหาร ไม่มีไฟฟ้า และไม่มีโรงเรียน และระหว่างทางจากซูดานมาที่นี่ ทุกสิ่งที่เรามีถูกยึดไประหว่างการเดินทาง”
หนูเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน หนูชอบการเป็นพี่สาวคนโตเพราะสามารถสั่งสอนน้องๆได้
ที่นี่ไม่มีอะไรพิเศษให้ทำ พวกเราอยู่บ้านทั้งวัน บ้านที่ว่าก็คือเพิงพักพิงที่แม่สร้างไว้หรือในสนามหญ้าเล็กๆ แต่ไม่มีร่มเงาให้หลบแดดหลบฝนค่ะ หนูรู้จัก "อตาบา" (ภาษาอาหรับ แปลว่า "แพทย์" หมายถึง องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders)) หนูเคยไปที่คลินิกของพวกเขาครั้งหนึ่งตอนไม่สบาย เมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งไปฉีดวัคซีนโรคหัดด้วย สำหรับหนูแเป็นการฉีดวัคซีนที่เจ็บ แต่พี่น้องของหนูที่ไปฉีดวัคซีนไม่มีใครร้องไห้เลย พวกเขากล้าหาญมาก
ในอนาคตหนูอยากเป็นหมอเพื่อรักษาคน ถ้าเป็นไปได้ หนูอยากกลับไปที่เมืองเอล เจนีน่าเดี๋ยวนี้เลย ให้กลับไปวันนี้เลยก็ได้ และจะกลับไปเรียนหนังสือทันที ที่นั่นคือประเทศของหนู และจะไม่ลังเลที่จะกลับไปแม้แต่นิดเดียวถ้าที่นั่นปลอดภัย”
รายานอวดกาน้ำชาและถ้วยชาของเล่นทำจากดินโคลนภายหลังที่ฝนตก เธอเดินทางมาถึงพื้นที่ทางตะวันออกของชาดเมื่อหนึ่งปีท่ีแล้ว - ชาก กรกฎาคม 2567 © Thibault Fendler/MSF
รายาน (Rayan) – 7 ขวบ
“ชีวิตที่นี่ก็ถือว่าดีค่ะ อย่างน้อยเราก็ไม่ได้ยินเสียงปืน หนูชอบทำเครื่องปั้นดินเผา ปั้นหม้อ ถ้วย กาน้ำชา และ "มาบาฮาร์" (Mabakhar) (ภาษาอาหรับ แปลว่า กระถางธูปกำยานที่ใช้เผาสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเพื่อให้ห้องมีกลิ่นหอม) หนูปั้นทุกอย่างจากเศษโคลนในค่ายหลังฝนหยุดตกและเอามาตากแดดให้แห้ง
หนูเล่นงานเลี้ยงน้ำชากับเด็กคนอื่นๆ ตอนอยู่ซูดาน ช่วงเวลาที่หนูชอบที่สุดในโรงเรียนคือตอนเลิกเรียนที่จะได้รับแจกชุดน้ำชาของเล่นให้พวกเราเล่นกัน แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปโรงเรียนแล้ว หนูเลยประดิษฐ์ของเล่นขึ้นมาเองจะได้มีของไว้เล่น
หนูรู้จักองค์การฯ อย่างดีเลยค่ะ หนูเคยไปที่นั่นครั้งหนึ่งตอนไม่สบาย และอีกครั้งหนึ่งตอนฉีดวัคซีนโรคหัด ต่อมาก็อยากเป็นหมอด้วย เหตุผลหลักเพราะอยากดูแลพ่อที่ถูกตัดขาเพราะโรคเบาหวาน (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในซูดาน) ตั้งแต่พ่ออยู่ที่เมืองอาเดร พ่อไปคลินิกขององค์การฯ หลายครั้งเพื่อเปลี่ยนผ้าพันแผล ตอนนี้พ่อสบายดี แต่แม่ต้องทำงานเพียงคนเดียวเพื่อเลี้ยงครอบครัว แม่ทำทุกอย่างตั้งแต่ซักเสื้อผ้าไปจนถึงการเก็บอิฐค่ะ
แม่พาหนูและพี่สาวของหนูทั้งห้าคนมาที่ค่ายนี้ก่อนเพื่อเตรียมพร้อม จากนั้นแม่กลับไปที่อาร์ดามาตาเพื่อตามหาพ่อ และพาพ่อมาที่นี่ด้วยรถเข็น เมื่อมีคนถามหนูว่าอยากกลับบ้านไหม หนูตอบว่า “ไม่ค่ะ” หนูอยู่ที่นี่สบายดีค่ะ”
โอมานคือเด็กหญิงอีกคนที่เดินทางมาจากเมืองเอล เจนีน่า แม้ว่าเธอจะบอกว่าพร้อมเดินทางกลับไปยังซูดานทันทีที่เหตุการณ์สงบลง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเธอก็เห็นภาพตัวเองต้องอาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ไปอีกยาวนานเช่นกัน - ชาด กรกฎาคม 2567 © Thibault Fendler/MSF
โอมาน (Ouman) – 11 ขวบ
“ชีวิตในค่ายไม่สบายนัก หนูมาจากเอล เจนีน่าเมื่อห้าเดือนก่อน หนูเป็นลูกคนที่แปดจากพี่น้องทั้งเก้าคน เป็นชายสามคนและหญิงหกคน ที่พักของพวกเราเล็กเกินไป และยังไม่มีแผ่นพลาสติกคลุม ซึ่งทำให้วุ่นวายมากตอนฝนตก เราไม่มีอาหาร ไม่มีผ้าห่ม หรือแม้แต่เสื่อปูพื้นเพียงพอ
พี่สะใภ้ของหนูคลอดลูกในที่พักพิงเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่มีหน่วยงานด้านสุขภาพใดมาดูแลพี่สะใภ้ เธอป่วยมาได้สักระยะแล้ว ในที่สุด องค์การฯ ก็เข้ามาช่วยเหลือพี่สะใภ้ของหนู และตอนนี้เธอก็อาการดีขึ้นแล้ว
หนูมักจะไปตลาดท้องถิ่นในค่ายเพื่อซื้ออาหารและช่วยทำอาหาร ปกติจะซื้อข้าวและซอสมะเขือเทศ แต่หวังว่าจะมีแป้งเยอะกว่านี้จะได้ทำขนมต่างๆ เช่น โดนัททอด
ตอนอยู่ที่เมืองเอล เจนีน่า พวกเรารู้สึกสบายใจ แต่เราไม่รู้สึกแบบนั้นที่นี่ ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ไม่มีไฟฟ้า ก่อนหน้านี้เคยมีโรงเรียนสอนศาสนาตั้งอยู่ในค่ายแถวๆ บล็อคที่เราอาศัยอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ถ้ามีทางเลือกหนูก็จะกลับไปซูดานทันทีค่ะ
ในอนาคตหนูอยากเป็น “ผู้นำอาสาสมัคร” (Volunteer Leader) ในค่าย เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นสำหรับผู้พลัดถิ่น หนูจะทำให้การช่วยเหลือเท่าเทียมและทั่วถึงทุกคน ถ้าหนูสามารถเปลี่ยนอะไรได้อย่างหนึ่ง หนูจะสร้างโรงเรียนที่นี่ค่ะ
หนูมักจะเล่นกับเพื่อนๆ ในค่าย เราสร้างบ้านหรือสัตว์เล็กๆ เช่น ม้าหรือลา ด้วยโคลน พวกเราเล่นสนุกด้วยของเล่นเหล่านั้น แต่ส่วนใหญ่ของเล่นสลายไปเมื่อฝนตก บางครั้งเราเอาเชือกไปผูกต้นไม้ทำเป็นชิงช้าเล่นได้ทั้งวัน เพื่อนสนิทของหนูสองคนพักอยู่ไม่ไกล เรารู้จักกันตั้งแต่อยู่ที่เมืองเอล เจนีน่า พวกเราทั้งสามคนเรียนอยู่ชั้นเดียวกัน ตอนนี้ก็ยังอาศัยอยู่ในบล็อคเดียวกันในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ค่ะ”
มาซิมกับบรรดาน้องชายและลูกพี่ลูกน้อง ในมือของเขาถือลูกบอลที่ทำจากถุงเท้าและถุงพลาสติก ซึ่งเป็นของเล่นที่พวกเขาสามารถเล่นได้ตลอดทั้งวัน - ชาด กรกฎาคม 2567 © Thibault Fendler/MSF
มาซิม (Mazim) – 12 ขวบ
“ผมมาจากเมืองเอล เจนีน่า ผมเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน มีน้องสาว 2 คนและน้องชาย 3 คน ผมอยู่ที่นี่มาเกินปีแล้ว และยังอาศัยในที่พักพิงเดียวกับลูกพี่ลูกน้องอีก 2 คนด้วย ป้า ของผมกลับไปซูดานเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนเพื่อตามหาสามีของเธอที่หายไปไปหลายเดือนแล้ว
ชีวิตที่นี่ก็ดีครับ แต่ละวันผมก็เตะฟุตบอล สวดมนต์ และก็เตะฟุตบอลอีก ตอนเตะบอลผมมักจะลงเล่นตำแหน่งเดิมประจำคือปีกหลัง ทีมโปรดของผมคือเรอัลมาดริด (Real Madrid) ดูนี่! กางเกงวอร์มผมมีตราประจำทีมนี้อยู่ด้วย และนักเตะคนโปรดของผมยังคงเป็นคริสเตียโน่ โรนัลโด้ (Cristiano Ronaldo) แม้ว่าเขาจะไม่ได้เล่นให้ทีมนั้นแล้วก็ตาม
พี่ชายของผม เชียร์ทีมบาร์เซโลน่า เขาสวมเสื้อทีมบาร์เซโลน่าตลอดเวลา
ตอนแรกเรามีลูกฟุตบอล แล้วก็ค่อยๆ เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ตอนนี้เราทำลูกบอลจากถุงเท้ายัดไส้พลาสติก
ใกล้ๆ ค่าย มีสนามฟุตบอลซึ่งเป็นที่ที่เราเตะฟุตบอล มีเด็ก 24 คน เป็นคนหน้าเดิมตลอด และก็เพียงพอที่จะแบ่งเป็นสองทีมได้ ผมเจอพวกเขาบางคนในค่ายแต่บางคนก็รู้จักกันตั้งแต่อยู่เมืองเอล เจนีน่าแล้ว
หลายครั้งที่มีเพื่อนบ้านที่หนีมาจากซูดานติดต่อมาระหว่างเดินทาง ดังนั้นคนที่มาถึงก่อนจะไปรอที่ชายแดนเพื่อต้อนรับคนที่มาใหม่และพาพวกเขาไปที่บล็อกของตนเพื่อตั้งถิ่นฐานที่นั่น วิธีนี้พวกเราจึงสามารถสร้างชุมชนของพวกเราในค่ายขึ้นมาได้และแวดล้อมไปด้วยคนรู้จัก
บางครั้งผมเดินไปรอบค่ายเพื่อเก็บฟืนให้แม่ทำอาหารด้วยครับ ผมต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วย ผมทำงานพาร์ทไทม์เป็นช่างซ่อมรองเท้า ผมไปตลาดสัปดาห์ละสองสามครั้งเพื่อขัดและซ่อมแซมรองเท้า ผมซ่อมรองเท้าได้เพราะเคยเรียนการเย็บมา พวกอาหารที่องค์กรด้านมนุษยธรรมให้มาไม่เพียงพอ ผมจึงซื้อผักและเนื้อสัตว์เพิ่มเพราะของพวกนี้ไม่ได้อยู่ในอาหารที่ได้รับแจกมา
ในอนาคต ผมอยากเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือและรักษาผู้คน “ทุกคน” ผมรู้จักองค์การฯ เพราะพวกเขาเปิดคลินิกเด็กที่อยู่ไม่ไกลจากชายแดน ผมเคยไปมาแล้วครั้งหนึ่งกับแม่ของเพื่อนที่อยู่ที่นั่น”