Skip to main content

    กาซา: เราไม่มีแม้เวลาในการฝังร่างของพวกเขาด้วยซ้ำไป

    An image of Al-Nuseirat refugee camp in the Middle Area of Gaza during Israel bombardments on Saturday 8 June 2024.

    ค่ายผู้ลี้ภัยอัล นูเซรัต ทางตอนกลางของกาซาระหว่างการโจมตีด้วยระเบิดจากกองทัพอิสราเอลเมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567 หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นระบุว่าการโจมตีอันป่าเถื่อนในครั้งนี้ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 270 ราย และบาดเจ็บกว่า 700 ราย เจ้าหน้าที่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอัล อาวดา และนาสเซอร์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้หญิงและเด็ก - ดินแดนปาเลสไตน์ 8 มิถุนายน 2567

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลอัล อักซอ (Al-Aqsa) และนาสเซอร์ (Nasser) ทำการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100 ราย จำนวนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก

    นายแพทย์ฮาเซม มาโลห์ (Dr Hazem Maloh) คือแพทย์ชาวปาเลสไตน์ที่ทำงานร่วมกับองค์การฯ ตั้งแต่ปี 2556 และอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอัล นูเซรัต เขาย้อนความทรงจำกลับไปยังวันที่แสนเจ็บปวดและน่าหวาดกลัว วันที่เขาสูญเสียเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านอย่างไม่มีวันกลับ

    ในวันที่เกิดการโจมตี ทุกวินาทีมันช่างยาวนานเหลือเกิน ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกโอบล้อมไปด้วยความหวาดผวาและน่าหวั่นเกรงมากกว่า 3 ชั่วโมง รวมถึงอีก 1 ชั่วโมงที่ยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์ ช่วงเวลาที่ผมไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของลูกชายผมที่เดินทางไปตลาดเป็นอย่างไร เพราะทุกอย่างอาจเกิดขึ้นได้ในทุกวินาที

    เสียงระเบิดและขีปนาวุธดังขึ้นรอบตัว แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าข้างนอกมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทุกคนต่างกรีดร้องและวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น เสียงไซเรนจากรถฉุกเฉินดังกึกก้อง มันไม่ต่างอะไรกับวันสิ้นโลก

    ผมยืนขึ้นเพื่อชะโงกมองว่าลูกชายของผมกลับมาหรือยัง แล้วผมก็พบว่าเขาลืมโทรศัพท์ของตัวเองเอาไว้ที่บ้าน จากนั้นผมวิ่งออกไปบนถนน ตะโกนกรีดร้อง ลูกชายของผมอยู่ไหน มีใครเห็นลูกชายของผมบ้าง’ ครอบครัวของผมต้องลากกลับมาที่บ้าน ณ จุดนั้นผมถึงรู้ตัวว่าได้ตะโกนจนเสียงแหบแห้ง

    ราวหนึ่งชั่วโมงถัดมา ลูกชายของผมก็เดินทางกลับมาที่บ้าน ใบหน้าเต็มไปด้วยความกลัวและขวัญหนีดีฝ่อ ผมแทบไม่เคยเห็นสีหน้าแบบนั้นจากมนุษย์โลกมาก่อน เขาแทบจะพูดออกมาไม่ได้เป็นภาษา 

    ‘พ่อ ผมเห็นชิ้นส่วนของมนุษย์แยกออกจากกัน มันมีทั้งร่างของเด็กและผู้หญิง ทำไมเราถึงเจอเรื่องราวแบบนี้ล่ะ’

    ผมโอบกอดเขาไว้และเริ่มร้องไห้ นี่คือครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอเหลือเกิน

    หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมเดินทางไปยังคลินิกอัล อาวดา (Al-Awda) ในเมืองเดอีร์ อัล บาลาห์ (Deir al Balah) ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของผมไม่กี่เมตร ผมเห็นผู้คนนับสิบชีวิตเรียงรายอยู่ตามพื้น บางรายเสียชีวิตไปแล้ว และบางส่วนได้รับบาดเจ็บ รถฉุกเฉินคันหนึ่งเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับร่างผู้ตายอีก 3 ศพ และมีปรากฏบาดแผลอีก 4 ราย ก่อนที่ภาพตรงหน้าของผมจะพร่าเลือนไปด้วยน้ำตา

    ผมได้ยินเสียงเรียกจากเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง พี่น้องผู้ชายของเขาได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดบริเวณหลัง เพื่อนร่วมงานบอกผมว่าญาติของเขาเสียเลือดมาก และถามย้ำว่าเราควรทำอย่างไรต่อไป แต่จะให้ผมทำอะไรได้ล่ะ ในเมื่อมันไม่มีรถฉุกเฉินพร้อมใช้งาน ผมได้แต่บอกให้เขานำผ้ามามัดปิดรอบบาดแผลเพื่อบรรเทาอาการ และภาวนาให้เขายังมีชีวิตอยู่ต่อไป

    ผู้คนนับสิบชีวิตถูกสังหาร และพวกเราไม่มีแม้แต่เวลาฝังร่างแทนการบอกลา

    ผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อยคือเพื่อนบ้าน เพื่อน และญาติพี่น้องของผม ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กน้อย รวมไปถึงรานีม (Raneem) ลูกสาวของเพื่อนสนิทและคุณพ่อของเธอก็ถูกสังหารเช่นกัน เธอกำลังเตรียมตัวไปเรียนในคณะแพทยศาสตร์ที่อียิปต์ ผมยังจำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ผมเจอเธอ เธอยังส่งยิ้มให้ผมแล้วถามว่า คุณลุงคะ ถ้าเรียนจบแล้ว องค์การฯ จะรับเข้าทำงานหรือเปล่าคะ?

    มาห์มุด (Mahmoud) คือผู้เสียชีวิตอีกราย เขาเป็นชายหนุ่มที่ยอดเยี่ยม เขามักจะช่วยผมปลูกต้นไม้และทำการเกษตร หนึ่งวันก่อนที่เขาเสียชีวิต เขายังเก็บท่อนไม้บริเวณหน้าบ้านเพื่อก่อกองไฟสำหรับปรุงก๋วยเตี๋ยวให้กับบรรดาลูกๆ เขาบอกผมว่า คุณรู้ไหม ตอนนี้ผมปรุงก๋วยเตี๋ยวได้อร่อยกว่ามัคบูลา (Maqluba- อาหารขึ้นชื่อของชาวปาเลสไตน์) เสียอีก

    ส่วนรามิ (Rami) คือชาวประมงธรรมดาคนหนึ่ง ก่อนที่จะเกิดการโจมตี เรายังคุยกันว่า เตรียมตัวให้พร้อมเอาไว้ได้เลย เราจะได้กลับไปว่ายน้ำในทะเลอีกครั้งเมื่อสงครามจบลง หากเขาก็ถูกสังหารเช่นกัน

    รายชื่อของผู้เสียชีวิตมันเยอะเหลือเกิน และผมไม่มีวันได้พบกับพวกเขาอีกแล้ว

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้