กาซา: รพ.นาสเซอร์ต้องได้รับการคุ้มครองจากความขัดแย้ง เพื่อเป็นหลักประกันทางสุขภาพของพลเรือน
แผนกผดุงครรภ์ของโรงพยาบาลนาสเซอร์ ดำเนินบริการคลอดบุตรอย่างปลอดภัยราว 25-30 ชีวิตต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทุบทุกสถิติก่อนสงครามจะเริ่มต้นขึ้น เนื่องจากสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการคลอดบุตรทางตอนใต้ของกาซาเหลือเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น - ดินแดนปาเลสไตน์ กรกฎาคม 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF
เยรูซาเล็ม (Jerusalem) วันที่ 29 กรกฎาคม - ในเมืองข่าน ยูนิส (Khan Younis) ทางตอนใต้ของกาซา(Gaza) การสู้รบที่เริ่มเข้าใกล้โรงพยาบาลนาสเซอร์ (Nasser) กลายเป็นภัยคุกคามและเป็นอันตรายต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับผู้คน ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ทีมขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในโรงพยาบาลนาสเซอร์และโรงพยาบาลอัล อักซอ (Al-Aqsa) ได้รองรับผู้ป่วยที่หลั่งไหลเข้ามาในโรงพยาบาลเนื่องจากได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุระเบิดมากถึง 10 รอบ องค์การฯ เรียกร้องไปยังทุกฝ่ายในสงครามให้รับรองความปลอดภัยของผู้คนในการเข้ารับการรักษาพยาบาลและไม่มีการออกคำสั่งอพยพออกจากโรงพยาบาลนาสเซอร์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยนับร้อยได้
การสู้รบที่รุนแรงขึ้นใกล้บริเวณโรงพยาบาลคือสิ่งขัดขวางการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติงานแทบเป็นไปไม่ได้เลย ระบบสุขภาพถูกทำลายโดยสิ้นเชิง และต่อให้มีทางการจะมอบช่วงเวลาสำหรับการเตรียมตัวเพื่ออพยพก็ตามที การขนย้ายผู้ป่วยหลายร้อยคนและเวชภัณฑ์ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เจค็อบ เกรนเจอร์ ผู้ประสานงานโครงการ
“มันจะเป็นผลเสียที่ร้ายแรงอย่างมากแก่ผู้คนในพื้นที่ เพราะพวกเขาไม่มีจุดบริเวณอื่นให้โยกย้ายอีกแล้ว” เกรนดจอร์กล่าว “การปิดโรงพยาบาลนาสเซอร์จะไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาด”
โรงพยาบาลนาสเซอร์ให้บริการรักษากับผู้ป่วย 550 รายโดยประมาณ ซึ่งรวมผู้คนที่ถูกไฟไหม้และและบาดเจ็บรุนแรง ทารกแรกเกิด และหญิงตั้งครรภ์ ผู้คนที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต้องการการรักษาแบบต่อเนื่องเพื่อช่วยชีวิต รวมไปถึงผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ผู้ที่ต้องได้รับออกซิเจน หรือการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลหลักแห่งเดียวทางใต้ของกาซา โรงพยาบาลนาสเซอร์ยังได้ให้การสนับสนุนที่จำเป็น เช่น การผลิตออกซิเจนให้กับสถานพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียง
การสู้รบยังคงคืบคลานเข้ามาใกล้โรงพยาบาลนาสเซอร์ ในขณะเดียวกัน ทีมเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ ในโรงพยาบาลนาสเซอร์และอัล อักซอก็กำลังเผชิญกับจำนวนผู้บาดเจ็บอย่างล้นหลาม ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว เหตุการณ์ผู้ป่วยล้นทะลักเกิดขึ้นรวมทั้งหมดถึง 10 ครั้ง หลังจากมีการโจมตีและสู้รบซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่มีผู้พลัดถิ่นอาศัยอยู่
- คำบอกเล่าจากผู้จัดการด้านกิจกรรมพยาบาล องค์การแพทย์ไร้พรมแดน
อลิส เวิร์สลี (Alice Worsley) - ผู้จัดการด้านกิจกรรมพยาบาล องค์การแพทย์ไีร้พรมแดน ณ โรงพยาบาลอัล อักซอ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม
เราได้รับการแจ้งเตือนฉุกเฉินว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาล เหล่าผู้บาดเจ็บจำนวนมากเดินทางมาถึงโรงพยาบาลในเวลาไล่เลี่ยกัน ทุกคนมีอาการบาดเจ็บที่แตกต่างกันไป และบางคนอาการอยู่ในขั้นวิกฤติที่อาจถึงแก่ชีวิต มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะมากเป็นพิเศษ บางส่วนของกะโหลกเปิดออก รวมถึงกระดูกใบหน้าร้าว หรือบางรายจำเป็นต้องตัดอวัยวะบางส่วนหรือว่าทั้งหมดออก แน่นอนว่าผู้บาดเจ็บบางรายได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด
ราวร้อยละ 50 ของผู้ป่วยคือเด็ก จำนวนมากได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงและต้องการการรักษาอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยรายหนึ่งคือเด็กชายอายุ 6 ขวบที่มีแผลไฟคลอกถึงร้อยละ 80 ของร่างกาย หรืออีกรายเป็นเด็กชายอายุราว 3-4 ขวบที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าอย่างรุนแรงและเราต้องสอดท่อช่วยหายใจ พยาบาลที่ทำงานร่วมกับเราในเคสนี้คือสมาชิกในครอบครัวของเด็กชายคนนี้ด้วย เขาบอกกับเราว่าคุณแม่ของผู้บาดเจ็บเสียชีวิตลงจากการโจมตีด้วยระเบิดในวันนี้ เด็กตัวเล็กรายนี้มีร่องรอยของบาดแผลอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนัก เขาเคยบาดเจ็บจากสงครามครั้งนี้มาก่อน อย่างน้อยที่สุด นี่คือการบาดเจ็บครั้งที่สองของเขา
โรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยหลายร้อยราย มันล้นทะลักเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะรับมือไหว เราไม่มีพื้นที่สำรองในห้องไอซียู ส่วนแผนกฉุกเฉินไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เนื่องจากไม่มีเตียงว่างอีกต่อไป มันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่เราพบในวันนี้ต้องนอนพักฟื้นบนพื้น หรือเด็กสองคนต้องแบ่งกันนอนบนเตียงเดียวกัน รวมถึงไม่มีเตียงในแผนกฉุกเฉินที่ว่างเช่นกัน
ในหลายเหตุการณ์ แพทย์และพยาบาลต้องเข้าไปทำงานในห้องฉุกเฉินเพื่อดูแลญาติพี่น้องที่เจ็บป่วย มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดเป็นอย่างมาก
“ทุกๆ วันในเดือนกรกฎาคมคือการอยู่กับเรื่องน่าตกใจเต็มไปหมด” ดร.จาวิด อับเดลโมนิม (Dr Javid Abdelmoneim) หัวหน้าทีมแพทย์องค์การฯ กล่าว “(ในวันที่ 24 กรกฎาคม) ฉันเดินผ่านม่านกั้นฉากเข้าไปในห้องฉุกเฉินและได้พบเข้ากับเด็กผู้หญิงที่นอนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว นั่นคือผลลัพธ์ของระบบสุขภาพที่ล่มสลาย เด็กผู้หญิงวัยเพียง 8 ขวบหมดลมหายใจเดียวดายบนรถเข็นในห้องฉุกเฉิน หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ระบบสุขภาพดำเนินงานได้ปกติ เธอจะยังมีชีวิตอยู่”
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เลือดในธนาคารเลือดของโรงพยาบาลนาสเซอร์อยู่ในระดับที่ต่ำและน่ากังวลเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผู้ป่วยล้นทะลักเข้ามาต่อเนื่องถึง 5 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตราว 180 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 600 ราย ทั้งนี้การบริจาคเลือดของอาสาสมัครผ่านกิจกรรมที่ทางกระทรวงสาธารณสุขและองค์การฯ จัดขึ้นนั้น พบว่า 1 ใน 10 ของผู้เข้าร่วมโครงการมีภาวะเลือดจางและทุพโภชนาการจนไม่สามารถบริจาคเลือดได้ ส่วนในโรงพยาบาลอัล อักซอ แผนกฉุกเฉินไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยที่มากเกินไป ซึ่งก่อนที่จะเกิดสงครามโรงพยาบาลอัล อักซอมีเตียงผู้ป่วยประมาณ 220 เตียง แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 550-600 รายที่ต้องรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล
“โรงพยาบาลอัล อักซอมีจำนวนผู้ป่วยเกินความจุหลายร้อยรายแล้ว” อลิส เวิร์สลี (Alice Worsley) ผู้จัดการกิจกรรมพยาบาลกล่าว การล้นเกินขีดจำกัดนี้เกิดจากการรับตัวผู้ป่วยจากการโจมตีของอิสราเอล (Israeli) ต่อโรงเรียนคาดิจา (Khadija) ในเมืองเดียร์ อัล บาลาฮ์ (Dier Al-Balah) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม
ในวันที่ 22 และ 27 กรกฎาคม กองกำลังอิสราเอลได้สั่งการให้พลเมืองในเมืองข่าน ยูนิสอพยพถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้เกิดการพลัดถิ่นครั้งใหญ่และบีบร่นพื้นที่สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้คนอีกครั้ง จากข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs หรือ OCHA) ตั้งแต่วันที่ 22 ถึง 25 กรกฎาคม ชาวปาเลสไตน์กว่า 190,000 คนโดยประมาณกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในเมืองข่าน ยูนิสและเดียร์ อัล-บาลาฮ์ และตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้นองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) คาดว่ามีผู้คนกว่า 1.7 ล้านคนถูกขีดให้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ราว 48 ตารางกิโลเมตร หรือพื้นที่เพียง 13 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่กาซาทั้งหมด
สำหรับกาซา มันมีการพิสูจน์แล้วว่าช่วงเวลาแห่งความปลอดภัยไม่มีอยู่จริงแม้กระทั่งในพื้นที่มนุษยธรรม หากผู้เข้าร่วมสงครามทุกฝ่ายยังคงมีความรับผิดในการคุ้มครองพลเรือนใต้พื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม นี่เป็นเวลากว่า 10 เดือนแล้วที่พวกเรายังไม่เห็นว่าพื้นที่ปลอดภัยในกาซามีอยู่จริง
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้คำมั่นด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและเลี่ยงการออกคำสั่งอพยพไปยังโรงพยาบาลนาสเซอร์ ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยหลายร้อยคน
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้