Skip to main content

    กาซา: ชีวิตในเต็นต์ของผู้พลัดถิ่นและหญิงตั้งครรภ์

    The war in Gaza has severely disrupted access to maternal health, leaving mothers and children without vital health care. Palestinian Territories, January 2024. © Mariam Abu Dagga/MSF

    สงครามในกาซาส่งผลกระทบกับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพมารดา ทำให้บรรดาคุณแม่และเด็กไม่สามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอได้ - ดินแดนปาเลสไตน์ มกราคม 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF

    มาฮา (ชื่อสมมติ) เดินทางไปยังโรงพยาบาลเมื่อระยะการคลอดของเธอมาถึง แต่ต้องถอดใจแล้วเดินออกจากโรงพยาบาลเมื่อพบว่าห้องคลอดภายในโรงพยาบาลเต็มทั้งหมด ก่อนฝ่าอากาศอันหนาวเหน็บของฤดูหนาวกลับไปยังเต็นต์ที่ตั้งขึ้นชั่วคราวของค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของเมืองราฟาห์ (Rafah) ในช่วงก่อนที่สงครามจะปะทุขึ้น เมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซาอย่างเมืองราฟาห์เคยมีพลเมืองอยู่อาศัยราว 300,000 ชีวิต   หากตอนนี้มันพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 1.5 ล้านชีวิต เพราะพวกเขาต้องหนีการโจมตีด้วยะเบิดและคำสั่งอพยพในทางตอนเหนือและตอนกลางของฉนวนกาซาแห่งนี้ ในท้ายที่สุดมาฮาไม่ได้กลับไปคลอดบุตรในโรงพยาบาลอีกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเธอได้นำเอาร่างไร้ชีวิตของทารกชายออกมาภายในห้องน้ำสาธารณะ

    ท่ามกลางสงครามในกาซา พื้นที่ที่ขาดแคลนการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและมีการโจมตีสถานพยาบาล ส่งผลกระทบกับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ นำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของมารดาและบุตร ในพื้นที่เมืองราฟาห์ โรงพยาบาลเพื่อหญิงตั้งครรภ์เอมิเรต (Emirati) เป็นสถานพยาบาลหลักที่ยังคงดำเนินการเพื่อดูแลหญิงพลัดถิ่นที่กำลังตั้งครรภ์ และสตรีที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพของมารดา

    ตัวเลขของความต้องการความช่วยเหลือมันมากเกินจะรับ จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) มีผู้หญิงในกาซาราว 50,000 รายกำลังตั้งครรภ์ และรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund: UNICEF) ระบุว่าตั้งแต่สงครามเริ่มต้น มีทารกราว 20,000 รายถือกำเนิด

    Newborn in the Emirati maternity hospital. Palestinian Territories, January 2024. © Mariam Abu Dagga/MSF

    ทารกเกิดใหม่ในโรงพยาบาลเพื่อหญิงตั้งครรภ์เอมิเรต - ดินแดนปาเลสไตน์ มกราคม 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF

    เนื่องจากความต้องการทางการแพทย์พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องประกอบเข้ากับข้อจำกัดในการทำงาน โรงพยาบาลเอมิเรตสามารถรับรองผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่านั้น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) มีความกังวลเกี่ยวกับการทำงานด้านสูตินรีเวชที่ขาดแคลนในกาซา เนื่องจากการโจมตีด้วยระเบิดอย่างต่อเนื่อง ข้อจำกัดในการส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์ รวมถึงการโจมตีสถานพยาบาล

    “สถานการณ์ในเมืองราฟาห์มันย่ำแย่มาก จากตัวเลขของผู้พลัดถิ่นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ปาสคาล คอยซาร์ด (Pascale Coissard) ผู้ประสานงานในสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การฯ กล่าว “ทุกพื้นที่มันล้นไปด้วยผู้คน พวกเขาต้องอาศัยในเต็นต์ โรงเรียน และโรงพยาบาล ในส่วนของโรงพยาบาลเอมิเรตกำลังเผชิญกับตัวเลขผู้ป่วยที่มากกว่าเวลาปกติถึงสามเท่า”

    วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซาส่งผลกระทบกับหญิงตั้งครรภ์ในกาซา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบริการการตรวจสุขภาพประจำเดือนที่โรงพยาบาลที่หยุดทำการ และหญิงตั้งครรภ์เองก็ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง รวมถึงการปิดตัวลงของโรงพยาบาลหลายแห่ง หญิงผู้พลัดถิ่นเหล่านั้นต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก และต้องให้กำเนิดบุตรในเต็นต์พลาสติกหรือว่าตึกอาคารสาธารณะ ต่อให้จะมีหญิงตั้งครรภ์บางส่วนสามารถคลอดบุตรในโรงพยาบาล แต่พวกเธอก็ต้องเดินทางกลับมายังเต็นต์พักอาศัยชั่วคราวภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากผ่าคลอด

    A mother holding her newborn child born in the Emirati maternity hospital of Rafah, in southern Gaza. Palestinian Territories, January 2024. © Mariam Abu Dagga/MSF

    มารดากำลังอุ้มทารกเกิดใหม่ในโรงพยาบาลเพื่อหญิงตั้งครรภ์เอมิเรต  - ดินแดนปาเลสไตน์ มกราคม 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF

    เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของมารดาและทารกเกิดใหม่ องค์การฯ ให้การสนับสนุนการทำงานภายในโรงพยาบาลเอมิเรตด้านการดูแลระยะหลังคลอด ด้วยการเสริมเตียงผู้ป่วยเพิ่มอีก 12 เตียงในแผนก ส่งผลให้มีเตียงผู้ป่วยรวมทั้งหมด 20 เตียงสำหรับการรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้น และการดูแลระยะหลังคลอดที่เหมาะสมมากขึ้น

    “การขาดแคลนอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและจำนวนผู้ป่วยที่มากล้น ระบบบริการสุขภาพมันเกินจะรับไหว คุณแม่รายใหม่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากห้องพักหลังคลอดกลับไปยังที่พักอาศัยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด” ริต้า โบเทลโญ่ ดา คอสต้า (Rita Botelho da Costa) ผู้จัดการกิจกรรมผดุงครรภ์ขององค์การฯ อธิบาย “ระยะเวลา  24 ชั่วโมงภายหลังกาคลอดเป็นช่วงเวลาละเอียดอ่อนและเสี่ยงต่อปัญหาหลายประการ ยิ่งพวกเขาต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก มันเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายในโรงพยาบาลให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

    ด้วยระบบบริการสุขภาพสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่จำกัดอย่างมาก พวกเธอไม่ได้รับการรักษาพยาบาลนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น รวมถึงไม่สามารถเดินทางไปตรวจสุขภาพของทารกได้เลย

    รานา อาบู ฮาเมดา (Rana Abu Hameida) วัย 33 ปี คือหญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน เธอต้องเข้ารับการรักษาตัวในแผนกผดุงครรภ์ในโรงพยาบาลเอมิเรตเพราะกำลังเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ รานาไม่เคยเข้ารับการตรวจคัดกรองสตรีตั้งครรภ์นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้น “ตั้งแต่ฉันกลายเป็นคนพลัดถิ่น มันเป็นเรื่องยากที่จะเดินทางไปเข้ารับการรักษาพยาบาล” เธอเล่า โดยรานาเคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเบธ ลาเฮีย (Beit Lahia) ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกาซา ส่วนตอนนี้ชีวิตของเธอไม่ได้ต่างกับชีวิตของมาฮาที่ต้องอาศัยอยู่ในเต็นต์

    มันเป็นเรื่องยากที่จะหาสถานบริการทางการแพทย์หรือวางแผนชีวิต เรื่องการกลับไปรับการตรวจสุขภาพประจำเดือนคือลืมไปได้เลย ฉันกำลังอาศัยอยู่ในเต็นต์ ชีวิตเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารและน้ำ รวมถึงการนอนหลับโดยไม่มีเครื่องนอนที่เหมาะสม
    อาบู ฮาเมดา หญิงตั้งครรภ์

    เมื่อหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้เข้ารับการรักษาพยาบาล อาหารที่เพียงพอ หรือว่าสถานที่พักอาศัยที่เหมาะสม พวกเธอและบุตรต่างมีโอกาสเผชิญกับปัญหาสุขภาพและการติดเชื้อ ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือให้นมบุตรที่ขาดสารอาหาร จะเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพโดยทันทีและอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาด้านพัฒนาการในระยะยาว

    ผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 3 ที่มาฝากครรภ์มีภาวะโลหิตจาง ซึ่งเชื่อมโยงกับการขาดธาตุเหล็ก นับเป็นข้อกังวลสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มักต้องการธาตุเหล็กเสริม นอกจากนี้ ราวครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาทิ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

    ในเมืองราฟาห์ หน่วยทำงานขององค์การฯ กำลังให้การสนับสนุนการทำงานในภาวะหลังคลอด รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพจิตในโรงพยาบาลเอมิเรต ในคลินิกอัล ชาบูรา (Al Shaboura) หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลด้านการฝากครรภ์ รวมถึงการตรวจสอบภาวะทุพโภชนาการและออกอาหารเสริมในกรณีที่จำเป็น

    MSF nurse is assisting patient in the Emirati maternity hospital, Rafah. Palestinian Territories, January 2024. © Mariam Abu Dagga/MSF

    พยาบาลขององค์การฯ แพทย์ไร้พรมแดนกำลังทำงานร่วมกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อหญิงตั้งครรภ์เอมิเรต องค์การฯ ดำเนินการให้การสนับสนุนการทำงานในหลังคลอดเพื่อดูแลคนไข้ระยะเวลาหลังคลอด เนื่องจากขาดแคลนเวชภัณฑ์และมีผู้ป่วยล้นหลาม โรงพยาบาลในเอมิเรตส์ถูกบังคับให้ย้ายผู้ป่วยออกจากแผนกผ่าตัดหลังจากการผ่าคลอดไม่กี่ชั่วโมง - ดินแดนปาเลสไตน์ มกราคม 2567 © Mariam Abu Dagga/MSF

    ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม สูติแพทย์และนรีแพทย์ของทางองค์การฯ ให้การดูแลเกี่ยวกับการฝากครรภ์สำหรับผู้ป่วยมากกว่า 200 ราย ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่มีการขยายพื้นที่ของแผนกดูแลหลังคลอดในโรงพยาบาลเอมิเรต หน่วยทำงานขององค์การฯ ดูแลผู้ป่วยมากกว่า 170 ราย อย่างไรก็ตาม จากประเด็นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไม่เพียงพอภายในกาซา และตัวเลขของโรงพยาบาลที่ยังดำเนินการได้มีเพียงบางส่วนเท่านั้น การดูแลที่องค์การฯ กำลังดำเนินการอยู่ไม่มีทางเพียงพอกับความต้องการในการรักษา

    องค์การฯ ยังคงยืนยันในคำเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการคุ้มครองสถานพยาบาลที่จะดูแลชีวิตของผู้คนจำนวนมาก คำเรียกร้องรวมถึงการอนุญาตให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสามารถเข้าไปยังพื้นที่กาซาได้อย่างเพียงพอ มีการฟื้นฟูระบบสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตที่ตั้งอยู่บนเส้นด้ายของแม่และเด็กในกาซา


    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้