Skip to main content

    องค์การฯ เรียกร้องให้รัฐบาลและแหล่งทุนลงมืออย่างเร่งด่วน ภายหลังจากเกิดความล้มเหลวในการรักษาวัณโรคในเด็ก

    A grandmother with her grandson at one of MSF's active case finding sites for tuberculosis on March 13, 2023 in Tondo, Manila.

    คุณยายและหลานชายของเธอ กำลังนั่งอยู่ในศูนย์ตรวจวิเคราะห์วัณโรคขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ในย่านตอนโด (Tondo) กรุงมะนิลา (Manila) - ฟิลิปปินส์ มีนาคม 2566 © Ezra Acayan

    เจนีวา (Geneva), 15 ตุลาคม 2567 – รายงานฉบับใหม่ขององค์การฯ ที่เผยแพร่วันนี้ ชี้ให้เห็นว่าแม้ทั่วโลกพยายามยุติวัณโรค แต่เด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้ยังคงถูกละเลย รายงานในหัวข้อ กลยุทธ์ TACTIC: ตรวจ (Test),หลีกเลี่ยง (Avoid), รักษา (Cure), วัณโรคในเด็ก (Tuberculosis in Children) ได้ทำการสำรวจประเมินแนวปฏิบัติด้านนโยบายวัณโรคใน 14 ประเทศ* ที่มีภาระวัณโรคสูง เผยให้เห็นว่าหลายประเทศยังคงมีความล่าช้าในการปรับนโยบายวัณโรคระดับชาติให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) เรียกร้องให้ทุกประเทศทบทวนแนวปฏิบัติด้านวัณโรคระดับชาติของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกในการรักษาวัณโรคในเด็ก และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น พร้อมทั้งพัฒนาแผนงานที่ชัดเจนพร้อมกำหนดเวลาการดำเนินนโยบาย และเพิ่มการเข้าถึงการป้องกันวัณโรค การวินิจฉัยและการรักษาเด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคภายในประเทศ นอกจากนี้ องค์การฯ ยังเรียกร้องให้ผู้บริจาคจากนานาชาติและหน่วยงานสนับสนุนด้านเทคนิค ร่วมสนับสนุนเงินทุนที่เพียงพอให้แก่ประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปและการดำเนินนโยบายวัณโรคในเด็ก

    “วัณโรครวมถึงวัณโรคในเด็กเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้  องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนนโยบายเพื่อเป็นแนวปฏิบัติแก่ประเทศต่างๆ ในการรักษาวัณโรคในเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงที่สุดในโลก” สติจิน เดบอร์กเกรฟ (Stijn Deborggraeve) ที่ปรึกษาด้านการตรวจวิเคราะห์โรคของโครงการเพื่อการเข้าถึงบริการทางการแพทย์กล่าว

    ประเทศต่างๆ ยังรับและนำแผนงานไปใช้ในการตรวจ ป้องกัน และรักษาวัณโรคในเด็กล่าช้า องค์การฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ผู้บริจาค และหน่วยงานด้านเทคนิคร่วมกันยุติวัณโรคที่ถือเป็นโรคร้ายแรง และยกระดับการทำงานเพื่อให้เกิดการวินิจฉัยและการรักษาวัณโรคในเด็กได้อย่างทันท่วงที เราทุกคนไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไป ความล่าช้าที่เกิดขึ้นหมายถึงการสูญเสียชีวิตเด็กเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
    สติจิน เดบอร์กเกรฟ ที่ปรึกษา

    ดัชนีประเมินนโยบายทั้ง 14 ดัชนีตามรายงานขององค์การฯ  ชี้ว่ามีเพียงนโยบายของประเทศเดียวเท่านั้นที่เป็นไปตามแผนปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกทั้งหมด ขณะที่อีกเจ็ดประเทศนโยบายมีความสอดคล้องมากกว่าร้อยละ 80 และสี่ประเทศยังต่ำกว่าร้อยละ 50  นอกจากนั้น ยังพบช่องโหว่ทางนโยบายที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการวินิจฉัยวัณโรคในเด็ก ตัวอย่างเช่น มีเพียง 5 จาก 14 ประเทศเท่านั้นที่ได้ปรับแนวปฏิบัติของประเทศตนเพื่อเริ่มการรักษาวัณโรคในเด็กเมื่อพบอาการบ่งชี้การติดเชื้อวัณโรคอย่างรุนแรงแม้ว่าผลการทดสอบเชื้อแบคทีเรียจะเป็นลบก็ตาม นอกจากนี้ มีเพียง 4 ใน 5 ประเทศเท่านั้นที่มีทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินตามแผนปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

    องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีเด็กและวัยรุ่น (0-14 ปี) จำนวน 1.25 ล้านคนป่วยด้วยวัณโรค แต่เด็กเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา

    จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด องค์การอนามัยโลกแก้ไขแนวปฏิบัติในปี 2565 สำหรับการจัดการวัณโรคในเด็กและวัยรุ่น และได้ให้คำแนะนำที่สำคัญหลายประการเช่น การใช้ขั้นตอนลำดับการประมวลผลอัลกอริทึม (algorithms) เพื่อตัดสินแนวทางการรักษา วิธีการนี้เป็นเพียงทางเดียวที่ช่วยให้เด็กจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยตามอาการโดยไม่ต้องผ่านการตรวจจากห้องปฏิบัติการ และยังเสนอวิธีการใช้ยาระยะสั้นชนิดรับประทานเพื่อรักษาและป้องกันวัณโรคในเด็ก หากรับและนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ องค์การอนามัยโลกจะสามารถพัฒนาการวินิจฉัยโรคและคุณภาพการรักษาวัณโรคในเด็กได้อย่างมาก

    “นับตั้งแต่องค์การฯ เริ่มปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเพื่อรักษาวัณโรคในเด็กเขตบอมบาลี (Bombali) องค์การฯ ก็เริ่มพบเด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคและให้การรักษาเด็กเหล่านั้นได้เพิ่มมากขึ้น” โจเซฟ เซซีย์ เจ้าหน้าที่ด้านคลินิกขององค์การฯ (Joseph Sesey, Clinical Officer/MSF) ในเมืองมาเคนี (Makeni) ประเทศเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone) กล่าว

    “คำชี้แนะรูปแบบใหม่เหล่านี้ช่วยลดปริมาณการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ กล่าวคือแพทย์ที่เคยลังเลให้เด็กรับการรักษาวัณโรคทั้งที่ไม่มีผลการตรวจวัณโรคเป็นบวก ปัจจุบันแพทย์มีความมั่นใจมากขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการวินิจฉัยวัณโรคตามอาการทางคลินิกเพียงอย่างเดียว ผมเห็นอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคในศูนย์สุขภาพหลายแห่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด”

    อย่างไรก็ตาม งานด้านวัณโรคไม่ได้มีแค่การปฏิรูปนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกเสนอแนะวิธีการรักษาวัณโรคโดยใช้ยาชนิดรับประทานระยะสั้นสำหรับทั้งการรักษาวัณโรคที่ไวต่อยา (DS-TB) และวัณโรคดื้อยา (DR-TB) แต่การเริ่มใช้ยาเหล่านี้ในประเทศต่างๆ ยังคงล่าช้า นอกจากนี้ แม้จะมียารักษาวัณโรคที่ไวต่อยาและวัณโรคดื้อยาตัวใหม่สำหรับเด็กจำหน่ายแล้ว แต่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้สั่งจัดซื้อจัดหายาชนิดดังกล่าว

    “น่าเสียดายที่ยารักษาวัณโรคสูตรที่เหมาะกับเด็กยังไม่มีจำหน่ายในหลายประเทศเพราะอุปสรรคของระบบราชการและช่องว่างด้านเงินทุน” ดร.แคธี เฮวิสัน หัวหน้าคณะทำงานด้านวัณโรคขององค์การฯ (Dr Cathy Hewison, Head of MSF’s TB working group) กล่าว

    ผลก็คือ เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรคถูกบังคับให้กลืนยาบดรสชาติขม แต่ปริมาณยาที่ได้รับกลับไม่เหมาะสมตามน้ำหนักตัวของเด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงและการรักษาที่ล้มเหลว การละเลยเรื่องการใช้ยานี้ต้องได้รับการจัดการทันที องค์การฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้บริจาค และองค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเด็กคนใดเสียชีวิตหรือป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ เช่น วัณโรค เครื่องมือและการรักษาที่มีอยู่จะต้องไปให้ถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดในตอนนี้
    ดร.แคธี เฮวิสัน หัวหน้าคณะด้านวัณโรค

    *สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน (Afghanistan), สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic), สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo), สาธารณรัฐกินี (Guinea), สาธารณรัฐอินเดีย (India), สาธารณรัฐโมซัมบิก (Mozambique), สาธารณรัฐไนเจอร์ (Niger), สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย (Nigeria), สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน (Pakistan), สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Philippines), สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (Sierra Leone), สาธารณรัฐโซมาเลีย, (Somalia) สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (Republic of South Sudan) สาธารณรัฐยูกันดา (Uganda)