อัฟกานิสถาน: สถานการณ์การรักษาภาวะทุพโภชนาการในประเทศ
ผู้ป่วยเด็กเข้ารับการชั่งน้ำหนักบนเครื่องชั่ง เพื่อบันทึกน้ำหนักปัจจุบัน ในแผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิภาคเมืองเฮรัต (Herat Regional Hospital) - อัฟกานิสถาน มกราคม 2567 © Mahab Azizi
- แม้ว่าประเทศอัฟกานิสถานจะได้รับความช่วยเหลือและการลงทุนจากนานาประเทศมาเป็นเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ หากพลเมืองในประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐานและขั้นฉุกเฉินได้เนื่องจากอุปสรรคด้านระยะทางในการเดินทางเข้ารับการรักษา ค่าใช้จ่าย และสถานพยาบาลที่ไม่เพียงพอ
- ในปี 2566 โครงการด้านการรักษาภาวะทุพโภชนาการ ใต้ศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยในหลายโครงการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ในเมืองเฮรัต เมืองลัชคาร์ กาฮ์ และเมืองกันดาฮาร์ รักษาเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบมากกว่า 10,400 ราย โดยในเมืองเฮรัตและกันดาฮาร์ มีเด็กราว 6,900 รายเข้ารับการรักษาในศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยนอก
เด็กน้อยนอนหลับตาใต้ผ้าห่มขนแกะหลากสี ผ้าผืนนั้นทอผสมกันด้วยสีแดง ชมพู และเขียว บนจมูกมีแผ่นพลาสเตอร์แปะติดไว้เพื่อยึดท่อที่สอดเข้ารูจมูกเล็กๆ ของเขาให้เข้าที่ เด็กน้อยได้รับนมชนิดผสมสำเร็จรูปผ่านท่อซึ่งน่าจะช่วยให้เขากลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง ส่วนผู้เป็นแม่นั่งเก้าอี้อยู่ข้างกันเพื่อเฝ้าดูลูกน้อยอย่างใจจดจ่อ พื้นที่ใกล้เคียงนั้นมีผู้หญิงคนอื่นๆ พูดคุยและหัวเราะข้ามเตียงที่มีลูกของพวกเธอนอนอยู่ศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยใน ( Inpatient Therapeutic Feeding Centre - ITFC) เมืองเฮรัต (Herat) พลุกพล่านไปด้วยผู้ป่วย เนื่องจากห้องมีขนาดเล็กคับแคบเกินจำนวนเตียงที่รองรับเด็กภาวะโภชนาการต่ำรวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วย
ไกลออกไปทางตอนใต้ในเมืองเฮลมานด์ (Helmand) มีสถานการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลบูสท์(Boost Hospital) ในระหว่างที่เด็กหญิงนาซิฟา (Nazifa) เข้ารับการรักษา พยาบาลใช้เทปวัดเส้นรอบวงกลางต้นแขนของเด็ก (Mid-Upper Arm Circumference – MUAC) รัดเหนือท่อนแขนเล็กๆ ของนาซิฟาและดึงเทปให้แน่นขึ้น ผลออกมาเป็นสีแดงชัดเจนซึ่งบ่งชี้ภาวะทุพโภชนาการ จากนั้นนาซิฟาจะถูกตรวจและชั่งน้ำหนักก่อนเข้ารับการรักษาและต้องนอนในโรงพยาบาลเป็นเวลาสองถึงสามสัปดาห์ควบคุมน้ำหนักของเธอให้คงที่และรักษาอาการท้องร่วงด้วย
คุณปู่พาหลานชายของเขามายังศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยนอกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน เมืองกันดาฮาร์ - อัฟกานิสถาน ธันวาคม 2565 © Tasal Khogyani/MSF
บรรดาพ่อแม่กล่าวถึงอุปสรรคในการเลี้ยงดูครอบครัวว่าสาเหตุมาจากการขาดแคลนเงินมากกว่าขาดแคลนขาดอาหาร อย่างไรก็ตามภาวะทุพโภชนาการยังมีสาเหตุมาจากการที่มารดาผู้ให้นมบุตรได้รับอาหารหรือสารอาหารไม่เพียงพอจึงส่งผลกระทบต่อทารกอย่างแม่บางรายมีน้ำนมไม่เพียงพอสำหรับบุตร “หลังจากลูกชายของฉันเกิด เขามีสุขภาพแข็งแรงดีแต่ฉันไม่มีน้ำนม เราจึงเริ่มป้อนนมผงสำหรับทารกแต่กลับทำให้เขาป่วย” มารดาที่มีปัญหาดังกล่าวสามารถลงทะเบียนเข้ารับการดูแลผู้ป่วยนอกด้านภาวะทุพโภชนาการได้ เช่น ในเมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) และเมืองเฮรัต
“เรามาจากเมืองคามารี (Kamari) จังหวัดบาดกิส (Badghis) เราใช้เวลาเดินทางสี่ชั่วโมงเพื่อมาถึงที่นี่” ฟาติมา (Fatima) ผู้ซึ่งพาลูกชายมารักษาภาวะทุพโภชนาการและโรคอีสุกอีใส(chickenpox) ที่เมืองเฮรัตเล่า เธอเคยขอความช่วยเหลือจากคลินิกใกล้บ้านแต่คลินิกดังกล่าวไม่สามารถให้การช่วยเหลือตามที่ต้องการได้ โรงพยาบาลและคลินิกขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (MoPH) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ กำลังรับผู้ป่วยที่มาจากพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้ารักษา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงหน่วยพยาบาลที่มีคุณภาพใกล้บ้านได้
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของอัฟกานิสถานทำให้ประชาชนที่เคยมีกำลังทรัพย์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่คลินิกเอกชน ปัจจุบันต้องหันมาพึ่งพาศูนย์ดูแลด้านสุขภาพขององค์กรระหว่างประเทศต่างหลายแห่ง โรยา (Roya) เป็นแม่อีกรายหนึ่งที่ลูกของเธอพักรักษาตัวในโรงพยาบาลมานานกว่าสองสัปดาห์แล้ว โรยาเล่าวว่าเด็กเกือบทุกคนในหมู่บ้านของเธอกำลังเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการอันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ
บรรดาคุณแม่นั่งรออยู่บริเวณพื้นที่พักคอยของศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยนอก องค์การแพทย์ไร้พรมแดน เมืองกันดาฮาร์ - อัฟกานิสถาน ธันวาคม 2565 © Tasal Khogyani/MSF
ในเมืองกันดาฮาร์จะพบบรรดาแม่อุ้มลูกน้อยไว้บนตักนั่งอดทนรอคอยบนม้านั่งกลางเปลวแดดที่สะท้อนจากกรวดสีเทา ต่างคนต่างก็ถือเอกสารการรักษาพยาบาลในมือไว้แน่น ส่วนพ่อ พี่ น้อง ลุงและอา นั่งรออยู่ที่จุดรอที่จัดแยกไว้ห่างออกไป ผู้ป่วยตัวน้อยๆ พร้อมพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะถูกเรียกไปยังสำนักงานในตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำการประเมินสุขภาพ หากเด็กขาดสารอาหารอย่างรุนแรงโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะมีการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยนอกที่มีภาวะทุพโภชนาการ และจะได้รับอาหารบำบัดฉุกเฉิน (Ready-to-Use Therapeutic Food) ซึ่งพวกเขาสามารถนำกลับบ้านได้ และมีนัดตรวจติดตามในสัปดาห์ถัดไปกระบวนการรักษานี้จะดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์จนกว่าจะประเมินว่าหายขาดจากการขาดสารอาหารแล้ว
ตลอดปี 2566 ทั้งศูนย์บริการด้านสุขภาพที่บริหารโดยองค์การฯ และศูนย์ฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การฯ ใน เมืองเฮรัต เมืองลัชคาร์ กาฮ์ (Lashkar Gah) และ เมืองกันดาฮาร์ รับเด็กกว่า10,400 คน มีอายุไม่เกิน 5 ปีไว้ในความดูแล ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 รักษาผู้ป่วยไปแล้วถึง 2,416 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อปี 2566 เจ้าหน้าที่ใน เมืองเฮรัต และ เมืองกันดาฮาร์ ลงทะเบียนเด็กมากกว่า 6,900 คนเพื่อรักษาในศูนย์โภชนบำบัดผู้ป่วยนอก(Ambulatory Therapeutic Feeding Centres - ATFCs)
แผนกกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิภาคเมืองเฮรัต (Herat Regional Hospital) - อัฟกานิสถาน มกราคม 2567 © Mahab Azizi
ในเมืองเฮรัต ผู้ป่วยจำนวนมากที่เราเจอมีอายุต่ำกว่าหนึ่งปี ซึ่งทำให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้อาหารเสริม (อาทิ ให้คำแนะนำเรื่องอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการนอกเหนือจากนมแม่) สิ่งเหล่านี้เป็นงานที่พวกเรากำลังผลักดันผ่านกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพร่วมกับแม่และครอบครัว เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนยังเด็กเกินไปที่จะลงทะเบียนในโครงการโภชนาการหลายโครงการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับครอบครัวในการเข้าถึงการดูแลปัญหาขาดสารอาหารของเด็กในวัยนี้ และหากยังไม่มีการขยายช่วงอายุที่สามารถลงทะเบียนเข้าถึงบริการนี้ ปัญหานี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไปอลีน เพลเนอร์ ผู้ประสานงานด้านการแพทย์
หลายๆ ครั้งที่แผนกผู้ป่วยภาวะทุพโภชนาการมีผู้ป่วยล้นขนาดที่ทารกสองคนและแม่ของทั้งคู่ต้องแบ่งใช้เตียงหลังเดียวกัน สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการรักษาจากองค์การฯ แล้วจนกลับบ้านได้ และกลับมารักษาอีกครั้งในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงของภาวะทุพโภชนาการนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวก็พบอุปสรรคในการเข้าถึงโรงพยาบาลเฉพาะทางซึ่งมักอยู่ไกลบ้านและมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ในบางกรณีเช่น กรณีของโรยา ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว “สุขภาพของลูกฉันดีขึ้นมากและเธอก็กำลังฟื้นตัว ตอนนี้แข็งแรงพอที่จะกลับบ้านได้แล้ว”