ข้อมูลล่าสุด
วัณโรค (Tuberculosis / TB) เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลก ในปี 2564 ผู้ติดเชื้อวัณโรคราว 4.2 ล้านรายไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสม การรักษาก็ไม่อาจดำเนินต่อไปได้
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) เรียกร้องให้บริษัทที่ดำเนินการผลิตชุดวินิจฉัยวัณโรคจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเซเฟอิด (Cepheid) และบริษัทแม่ ดานาเฮอร์ (Danaher) ให้ความสำคัญกับชีวิตของประชากรเหนือผลกำไร และปรับลงราคาชุดน้ำยาตรวจวัณโรค ชนิด GeneXpert ให้อยู่ที่ 5 ดอลล่าร์/ชุด
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นวัตกรรมการตรวจด้วยวิธีอณูชีววิทยาที่รวดเร็วอย่างชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรค ชนิด GeneXpert ของบริษัทเซเฟอิดได้ปฏิวัติการวินิจฉัยวัณโรค และกลายเป็นวิธีการวินิจฉัยที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization / WHO) ให้การแนะนำ หากในหลายประเทศกำลังเผชิญกับกำแพงด้านราคาและเงื่อนไขด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ปิดช่องทางในการเข้าถึงวิธีการวินิจฉัยชนิดนี้
โครงการ "Time for $5" จากองค์การฯ เรียกร้องให้บริษัทที่ดำเนินการผลิตชุดน้ำยาวินิจฉัยโรคจากประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเซเฟอิด (Cepheid) และบริษัทแม่ ดานาเฮอร์ (Danaher) ให้ความสำคัญกับชีวิตของประชากรเหนือผลกำไร และปรับลงราคาชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัย ชนิด GeneXpert ให้อยู่ที่ 5 ดอลล่าร์/ชุด
ชุดน้ำยาวินิจฉัยโรคของบริษัทเซเฟอิด คือทางเลือกใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความรวดเร็ว ความแม่นยำ และจุดที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลก ในกลุ่มเดียวกับโรคเอชไอวี (HIV) อีโบลา (Ebola) และไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C)
โดยองค์การฯ ได้ใช้เครื่องมือและชุดวินิจฉัยเหล่านี้สำหรับปฏิบัติงานทางการแพทย์ทั่วโลก หากราคาตั้งต้นที่สูงของชุดวินิจฉัยวัณโรค ชนิด GeneXpert ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (Low and Middle-income countries / LMICs) ไม่สามารถสั่งซื้อชุดตรวจที่เพียงพอสำหรับการรองรับการตรวจวินิจฉัยโรคได้
การศึกษาวิเคราะห์ขององค์การฯ ระบุว่า ต้นทุนในการผลิตชุดวินิจฉัยวัณโรคชนิดนี้อยู่ที่ราว 5 ดอลล่าร์ หากทางบริษัทเซเฟอิด ตั้งราคาขายสำหรับองค์การฯ และประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางสูงกว่าราว 2-4 เท่า ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่ต้องการวินิจฉัย
องค์การฯ เรียกร้องให้มีการปรับลดราคาโดยทันที
"วัณโรค" คืออะไร
วัณโรค (TB) คือ โรคติดต่อทางการหายใจที่เกิดจากแบคทีเรียชื่อ Mycobacterium เชื้อดังกล่าวจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะเกิดจากการไอ จาม หรือพูด ซึ่งละอองเสมหะเหล่านี้ สามารถมีชีวิตลอยอยู่ในอากาศหลายชั่วโมง และเมื่อมีผู้สูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด และเกิดการอักเสบได้
ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยวัณโรคจึงมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิดที่พวกเขาใช้เวลาด้วยในชีวิตประจำวัน เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมโรงเรียน เป็นต้น
ทุกคนสามารถเป็นวัณโรคได้
คุณทราบหรือไม่ วัณโรคคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 1.5 ล้านคนในแต่ละปี* นับเป็นโรคติดเชื้อที่อันตรายที่สุดในโลกก่อนที่โควิด-19 จะเกิดขึ้นเสียอีก กระทั่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากวัณโรคยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
ปี 2565: ตัวเลขประมาณการของผู้ติดเชื้อวัณโรคทั่วโลกอยู่ที่ 10.6 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชาย 5.8 ล้านราย ผู้หญิง 3.5 ล้านราย และเด็ก 1.3 ล้านราย โดยวัณโรคสามารถพบได้ในทุกประเทศทั่วโลกและทุกช่วงอายุ เด็กและผู้สูงอายุมักจะถูกมองข้ามจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และมีความซับซ้อนมากกว่าในการตรวจวินิจฉัยและรักษา
ปี 2654: ตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่ 87% มากจากประเทศที่มีภาระทางวัณโรคสูง (high TB burden countries) 30 ประเทศ การสำรวจทั่วโลกพบว่าวัณโรคนับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเป็นอันดับสองรองจากโรคโควิด 19
"วัณโรค" รักษาและป้องกันได้
การต่อสู้เพื่อยุติวัณโรคเผชิญอุปสรรคมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่า อัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นในปี 2021 หลังจากที่อัตราดังกล่าวลดลงระหว่างปี 2005 ถึง 2019 เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาน้อยลง ทั้งยังมีทรัพยากรน้อยลงสำหรับบริการที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับวัณโรค
ในปี 2021 ผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลก 17,221 ราย เริ่มเข้ารับการรักษาครั้งแรกภายใต้การดูแลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งในจำนวนนี้ประกอบด้วยผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 2,309 ราย
เราประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ และหน่วยงานอื่นในโครงการต่างๆ เพื่อส่งมอบการรักษาวัณโรคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่ทั่วโลก
องค์การฯ ดำเนินงานเกี่ยวกับวัณโรคอย่างไร
ในแต่ละพื้นที่ที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดนส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้านวัณโรคมีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทต่างๆ ตั้งแต่ประเทศที่แออัดไปด้วยผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษาอย่างปาปัวนิวกินี หรือสลัมในฟิลิปปินส์ ไปจนถึงประเทศที่ยังคงเข้าถึงยาก เช่น อัฟกานิสถาน เป็นต้น
ฉะนั้น การดำเนินงานของแต่ละโครงการในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกันออกไป เช่น บางโครงการมุ่งเน้นที่การบูรณาการบริการด้านเอชไอวีและวัณโรค ขณะที่ในอีกพื้นที่หนึ่งจำเป็นต้องให้การรักษาแก่ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเป็นหลัก ไปจนถึงกลุ่มเปราะบางที่เผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงสถานพยาบาลและบริการทางการแพทย์
- ฟิลิปปินส์
ประชากรกว่า 650,000 คนอาศัยอยู่ใน Tondo โดยพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรที่ทอดยาวระหว่างท่าเรือและย่านธุรกิจของกรุงมะนิลาเป็นสลัมที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดส่งผลให้เกิดความแออัด เนื่องจากไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านเป็นเวลาหลายวัน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ได้เปิดตัวโครงการ "การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุก" ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กรุงมะนิลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจคัดกรอง ติดตาม และส่งต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะให้การรักษาพยาบาลแล้ว ยังเป็นการทำลายห่วงโซ่การแพร่เชื้ออีกด้วย
- ปาปัวนิวกินี
ปาปัวนิวกินี คือ หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดของวัณโรคสูงที่สุดในโลก โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 30,000 รายทุกปี ซึ่งเป็นเหตุให้ทางการปาปัวนิวกินีต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรคระบาดในหลายจังหวัด
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยวัณโรคในปาปัวนิวกินีตั้งแต่ปี 2014 ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขปาปัวนิวกินี โดยเจ้าหน้าที่ของเราให้บริการด้านการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยวัณโรคใน Port Moresby และคลินิกในโรงพยาบาล Gerehu General แลคลินิก Six Mile แห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการ ตลอดจนการดำเนินโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
นวัตกรรมเพื่อการรักษาวัณโรค
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยวัณโรค
- ยูเครน
ใน Zhytomyr ประเทศยูเครน ทีมงานของเราทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับภูมิภาคด้านการรักษาวัณโรค เพื่อรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา (DR-TB)
พวกเขาได้รับการรักษาด้วยยา DR-TB ระยะสั้น และมีความเป็นไปได้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว และประกอบอาชีพได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว
Oleksandr Oleksandr Vovkogon พยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนให้การดูแล Vitalii Gorbachov วัย 56 ปี ขณะกำลังรับประทานยา DR-TB ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในโปรแกรมนี้สามารถรักษาได้ด้วยยารับประทานทั้งหมดแทนการฉีดยา ซึ่งเคยใช้ก่อนหน้านี้และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ยูเครน มิถุนายน 2021 © OKSANA PARAFENIUK/MSF
การทำงานของทีมสนับสนุน (พยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์) ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา มีความท้าทายหลายอย่าง อย่างการทำความเข้าใจและแก้ไขอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษา ตั้งแต่เงินบำนาญที่ค้างชำระ ไปจนถึงการขาดแคลนน้ำมันหรือเครื่องทำความร้อนในบ้านของพวกเขา
การช่วยเหลือผู้ป่วยแบบบูรณาการ ด้วยการร่วมมือกันของแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรค นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ เป็นส่วนสำคัญของการรักษา
- เบลารุส
ท่ามกลางพัฒนาการตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่เบลารุสยังคงเป็นหนึ่งใน 30 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรค (TB) สูงที่สุดในโลก โดยกว่า 1 ใน 3 ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยา
การรักษาในระดับมาตรฐานใช้เวลาถึง 20 เดือน และประกอบไปด้วยการฉีดยาที่มีผลข้างเคียงต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ปวดเมื่อยไปจนถึงซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งสูญเสียการได้ยินอย่างไม่สามารถแก้ไขได้
เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษที่ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้ารับการรักษาที่ยาวนานและเหน็ดเหนื่อย
ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วย SMARRTT โชว์กล่องจัดกล่องยารายเดือนของเธอ เธอเลือกรับประทานยาเม็ดทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดยาที่สร้างความเจ็บปวด เบลารุส กันยายน 2022 © MSF/ALEXANDRA SADOKOVA
แต่ในปี 2017 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เริ่มการทดลองทางคลินิกแบบใหม่ที่เรียกว่า TB-PRACTECAL เพื่อทดสอบแนวทางใหม่ในการรักษาวัณโรคดื้อยาใน 3 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส แอฟริกาใต้ และอุซเบกิสถาน เราให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยยาชนิดใหม่ในระยะสั้น ซึ่งเป็นยาสำหรับรับประทานทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดยาที่สร้างความเจ็บปวด
ในปี 2022 ผลลัพธ์ของ TB-PRACTECAL ได้รับการเผยแพร่ พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นว่าสูตรการรักษาแบบใหม่ ซึ่งใช้เวลาราว 6 เดือน ประกอบด้วยยา bedaquiline, pretomanid, linezolid และ moxifloxacin หรือเรียกรวมกันว่า BPaLM นั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา DR-TB มากกว่าแนวทางการรักษาที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน นับเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การรักษาวัณโรคทั่วโลกเลยทีเดียว
- อัฟกานิสถาน
ในอัฟกานิสถาน ผู้คนมักประสบปัญหาในด้านค่าครองชีพ แม้กระทั่งค่าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาล ในขณะเดียวกัน ระบบสาธารณสุขก็ขาดซึ่งทรัพยากรบุคลากร และขาดเงินทุนในการบริหารจัดการ
โรงพยาบาลวัณโรคดื้อยา (DR-TB) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนใน Kandahar เป็นสถานพยาบาลเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการรักษาวัณโรคครบวงจรทางภาคใต้ของอัฟกานิสถาน ผู้ป่วยของเราจำนวนมากเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียง ขณะที่บางรายเดินทางมาไกลถึง 350 กิโลเมตร “เราสนับสนุนพวกเขา ผ่านทางการอุดหนุนค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหาร เพื่อแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจบางส่วน” Allieu Tommy ที่ปรึกษาทางการแพทย์ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน กล่าว พร้อมเผยว่าหากไม่มีสิ่งจูงใจดังกล่าว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถมาเข้ารับการรักษาได้
ความยากลำบากในการเข้าถึงและจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ได้เป็นเพียงอุปสรรคต่อการรักษาวัณโรคที่ผู้คนในอัฟกานิสถานต้องเผชิญ เพราะในอีกด้านหนึ่ง คือ การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ทีมงานของเราจึงดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างสม่ำเสมอในชุมชนท้องถิ่นใน Kandahar เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวัณโรค
Aziza Khushal พยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน รอเก็บตัวอย่างเสมหะจากผู้ป่วยรายใหม่ในวอร์ดผู้ป่วยหญิงของโรงพยาบาลวัณโรคดื้อยา (DR-TB) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนใน Kandahar อัฟกานิสถาน มีนาคม 2022 © LYNZY BILLING
ผู้ป่วยบางรายมีรูปแบบของอาการดื้อต่อยารักษาวัณโรคทั่วไปและต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่ 9 ถึง 12 เดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยหลายรายปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาจนจบโครงการ เนื่องจากต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและอยู่ห่างจากครอบครัวและคนใกล้ชิด แต่ในปี 2023 ผลการวิจัยล่าสุดได้ชี้ให้เห็นถึงผลสำเร็จของโปรแกรมการรักษา 6 เดือน
นอกจากนี้องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้จัดตั้งโปรแกรมรักษาวัณโรคดื้อยา ซึ่งมีการส่งผู้เชี่ยวชาญไปทำการรักษาผู้ป่วยถึงที่บ้าน