Skip to main content

    บริษัทเจแอนด์เจและเซเฟอิด ต้องปฏิญาณว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการให้มนุษย์ทุกคนได้รับการตรวจและเข้าถึงยารักษาวัณโรคอย่างเท่าเทียม

    Image of gene xpert machine. © ARIS MESSINIS/Matternet

    © ARIS MESSINIS/Matternet

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน [Médecins Sans Frontières/Doctors Without Borders (MSF)]ได้เรียกร้องอย่างจริงจังให้บริษัทในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน [Johnson & Johnson (J&J)] และ บริษัทเซเฟอิด (Cepheid) ประกาศอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนในที่ประชุมระดับสูงที่จะจัดขึ้นวันที่ 22 กันยายน ว่าทางบริษัทจะดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ยาช่วยชีวิตผู้ป่วยวัณโรคเบด้าควิลิน (bedaquiline) และการตรวจยีนเอ็กซ์เพิร์ธ (GeneXpert) เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนที่ต้องการ MSF ขอเรียกร้องให้เจแอนด์เจไม่บังคับใช้สิทธิบัตร ‘ทุติยภูมิ’ กับยาเบด้าควิลินในทุกประเทศที่เผชิญกับวัณโรคอย่างรุนแรง รวมถึงขอให้เพิกถอนการยื่นขอสิทธิบัตรทุติยภูมิทุกประเภทที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาสำหรับยาเบด้าควิลินที่มีความจำเป็นต่อการรักษาวัณโรคในทุกพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงจะไม่มีการยื่นขอสิทธิบัตรทุติยภูมิซ้ำอีกในอนาคต พร้อมกันนี้ MSF ขอเรียกร้องให้เซเฟอิดและบริษัทแม่ดานาเฮอร์ (Danaher) ปรับลดราคาการตรวจยีนเอ็กซ์เพิร์ธสำหรับวัณโรคจาก 10 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็น 5 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่าไม่นานมานี้ องค์การสตอป ทีบี พาร์ตเนอร์ชิพ (Stop TB Partnership) หรือ โกลบอล ดรัก ฟาซิลิตี้ [(Global Drug Facility (GDF)] ประกาศลดราคายาเบด้าควิลินเป็น 130 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการรักษาวัณโรคในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดการค้าและในที่สุดก็ทำให้ราคายารักษาวัณโรคใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 0.05 ดอลลาร์ต่อวันตามที่ประมาณการไว้ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาวัณโรคในทวีปยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางจะถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงยารักษาที่มีราคาถูก เนื่องจากปัญหาการผูกขาดทางสิทธิบัตรยา

    หลังจากการพัฒนามากกว่าครึ่งศตวรรษ ในที่สุดเราก็ค้นพบวิธีอันน่าทึ่งในการรักษาวัณโรคด้วยการรับประทานยาอย่างเบด้าควิลินและวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การตรวจยีนเอ็กซ์เพิร์ธ แต่ประชากรในประเทศที่มีภาระวัณโรคสูงก็ยังคงเสียชีวิตหรือทนทุกข์ทรมานต่อไป เพราะพวกเขาไม่ได้รับเครื่องมือช่วยชีวิตอันเนื่องมาจากการผูกขาดทางการค้าของบริษัท เรากำลังเรียกร้องอย่างจริงจังให้จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เซเฟอิดและบริษัทแม่ดานาเฮอร์กระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยทันที และปฏิญาณว่าจะทำให้ยาเบด้าควิลินและการตรวจยีนเอ็กซ์เพิร์ธเข้าถึงง่ายและราคาจับต้องได้ เพื่อช่วยให้ประเทศสามารถรับมือกับโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมาหลายศตวรรษ และเป็นการรักษาชีวิตประชากรทั่วโลก
    ดร. คริสโทส คริสเทา - ประธาน MSF สากล

    ยารักษาวัณโรคเบด้าควิลินเป็นยาที่ได้รับการพัฒนาจากบริษัทเจแอนด์เจ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ให้คำแนะนำว่ายาชนิดนี้คือหัวใจสำคัญในการต้านอาการดื้อยารักษาวัณโรคหลายขนาน (DR-TB) ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคที่มากขึ้น ใช้เวลาในการรักษาน้อยลง และมีอาการดื้อยาน้อยลง อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงยาสามัญที่ราคาจับต้องได้ยังคงถูกกีดกันเนื่องจากในปัจจุบันบริษัทเจแอนด์เจคือผู้ถือสิทธิบัตรยาปฐมภูมิที่มีผลบังคับใช้ 20 ปี และได้รับสิทธิในการจด สิทธิบัตรทุติยภูมิในหลายประเทศที่ประสบภาระวัณโรคสูง วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (TB-HIV) หรือวัณโรคดื้อยา (DR-TB) ซึ่งสิทธิบัตรประเทศนี้เป็นสิทธิที่ให้กับยาที่มีอยู่แล้วในตลาดการค้า ที่มีการปรับปรุงหรือว่าพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เจแอนด์เจใช้กลยุทธ์การจดสิทธิบัตรทุติยภูมิอันโหดร้ายนี้เพื่อขยายเวลาการผูกขาดยาดังกล่าวโดยไม่มีวันจบ การกระทำดังกล่าวไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาแล้วว่าภาครัฐได้ลงทุนในการพัฒนายาเบด้าควิลินสูงกว่าการลงทุนของบริษัทมากถึง 5 เท่า

    หลังจากสตรี 2 ท่านในประเทศอินเดียประสบความสำเร็จในการพยายามป้องกันไม่ให้เจแอนด์เจยื่นจดสิทธิบัตรทุติยภูมิกับยาเบด้าควิลินMSF ได้เรียกร้องให้เจแอนด์เจเพิกถอนสิทธิบัตรทุติยภูมิในทุกพื้นที่ทั่วโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกประเทศสามารถนำเข้ายาสามัญในการรักษาวัณโรคที่ราคาจับต้องได้จากประเทศอินเดีย นันทิดา เวนคะเทซัน  (Nandita Venkatesan) และพูเมสา ทิไซล์ (Phumeza Tisile) คือผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาที่ไม่สามารถเข้าถึงยาเบด้าควิลินได้ ทำให้พวกเธอจำเป็นต้องรักษาด้วยยาขนานเก่า ซึ่งแม้ว่าพวกเธอจะสามารถชนะโรคนี้ได้แต่ก็ต้องหูหนวกไปตลอดชีวิต ไม่นานมานี้เจแอนด์เจประกาศข้อตกลงร่วมกับ สต็อบ ทีบี พาร์ทเนอร์ชิพ (Stop TB Partnership) หรือ โกลบอล ดรัค ฟาซิลิตี้ - จีดีเอฟ [Global Drug Facility (GDF)] อนุญาตให้หลายประเทศสามารถรับยาสามัญซึ่งจำหน่ายในราคา 130 ดอลลาร์ สำหรับการรักษาต่อเนื่อง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังคงไม่รวมถึงประเทศที่ประสบภาระวัณโรคสูง

    “ไม่ควรมีใครได้รับรักษาด้วยยาสูตรเก่าอย่างที่พวกเราเคยเผชิญมาในอดีต ในเมื่อตอนนี้เรามีทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่สามารถช่วยชีวิตคนได้มากขึ้นและทำให้ประชาชนได้รับการรักษาที่เหมาะสมกว่า” ฟูเมซ่า ทิไซล์ (Phumeza Tisile) นักกิจกรรมด้านวัณโรคจากเมืองไคอะลิชา ประเทศแอฟริกาใต้ (Khayelitsha, South Africa) กล่าว “จะมีประโยชน์อะไรหากเรามีความก้าวหน้าทางการแพทย์ แต่ประชาชนที่รอคอยกลับไม่ได้รับการรักษา  เราจำเป็นต้องทำให้เจแอนด์เจและเซเฟอิดทำสิ่งที่ถูกต้องทันที”  

    บริษัทในสหรัฐอเมริกาอย่างเซเฟอิด (ซึ่งมีบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของ คือ ดานาเฮอร์) พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยด้วยยีนเอ็กซ์เพิร์ธ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติการตรวจวัณโรค เทคโนโลยีนี้เริ่มเข้าสู่ตลาดในปี 2553 แต่เนื่องจากเซเฟอิดยังคงจำหน่ายยีนเอ็กซ์เพิร์ธในราคาสูง การเข้าถึงวิธีการตรวจชนิดนี้สำหรับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องเกินเอื้อมและบีบบังคับให้ผู้ให้บริการดูแลผู้ป่วยวัณโรคยังคงต้องพึ่งวิธีที่ถูกกว่าแต่ตรวจพบเชื้อโรคได้ไม่แม่นยำเท่า อย่างการใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้คิดค้นขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1800 มีการประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับเซเฟอิดในการผลิตชุดตรวจวัณโรคยีนเอ็กซ์เพิร์ธ แต่ละชุดนั้นลงทุนต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ ในขณะที่เซเฟอิดจำหน่ายชุดตรวจให้ MSF และประเทศที่ประสบภาระวัณโรคสูง ประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อยถึงปานกลาง แพงกว่า 2 เท่ามามากกว่า 10 ปีจนถึงปัจจุบัน และแพงถึงขนาด 4 เท่า สำหรับชุดตรวจโรคชนิดอื่น* ด้วยหลักฐานดังกล่าว MSF ขอเรียกร้องให้เซเฟอิดลดราคาชุดตรวจยีนเอ็กซ์เพิร์ธสำหรับทุกโรคให้เหลือ 5 ดอลลาร์ต่อ 1 ชุด

    วัณโรคเป็นโรคที่รักษาได้ หากยังคงเป็นโรคติดต่ออันดับต้นที่คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อทั่วโลก

    ขณะที่การรับมือกับวัณโรคมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ความจริงอันแสนโหดร้ายคือวัณโรคยังคงเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชาชนมากเป็นอันดับต้น โดยมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 10.6 ล้านราย และผู้เสียชีวิต 1.6 ล้านราย ในปี 2564  ผู้ป่วยดื้อยาวัณโรคเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ได้รับการรักษา โดยผู้ป่วยส่วนมากไม่ได้รับแม้กระทั่งการตรวจวินิจฉัย จึงไม่จำต้องกล่าวถึงการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น

    “แม้เราจะไม่ย่อท้อและยังคงพยายามที่จะให้การรักษาโรคที่มีความท้าทายมากที่สุดอย่างภาวะดื้อยาวัณโรค เรากลับรู้สึกท้อแท้กับยอดผู้เสียชีวิตที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชนที่เปราะบางที่สุด รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ที่อยู่ในสภาวะสงคราม และเด็กในประเทศที่ประสบภาระวัณโรคสูงดร.เคธี ฮิวไวซัน (Dr. Cathy Hewison) หัวหน้ากลุ่มงานวัณโรคแห่ง MSF กล่าว

    “ในขณะที่ความต้องการการรักษาและการตรวจโรคที่มีความทันสมัยเพิ่มสูงขึ้นเป็นรายชั่วโมง แต่บริษัทบางแห่งยังคงจำหน่ายยาและชุดตรวจราคาแพง ซึ่งนอกจากจะจำกัดจำนวนประชากรที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสุขภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยวัณโรคในภาวะวิกฤติอีกด้วย เซเฟอิดและดานาเฮอร์ต้องหยุดให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าชีวิตประชาชน และเจแอนด์เจต้องละทิ้งกลยุทธ์การจดสิทธิบัตรผ่านช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อให้เครื่องมือที่ปฏิวัติการรักษาทางการแพทย์ชิ้นนี้สามารถช่วยชีวิตของประชาชนได้มากขึ้น

    MSF เป็นองค์กรนอกภาครัฐรายใหญ่ที่สุดที่ให้การรักษาวัณโรคทั่วโลก และได้ดำเนินการเกี่ยวเนื่องกับการรักษาวัณโรคมาแล้ว 30 ปี องค์การจะทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติในการรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง สลัมในเมือง เรือนจำ ค่ายผู้ลี้ภัย และพื้นที่ชนบท ในปี 2565 MSF ได้รักษาประชากรที่เป็นวัณโรคกว่า 17,000 ราย ผู้ป่วยดื้อยาต้านวัณโรค 2,300 ราย และร่วมทำโครงการเกี่ยวกับวัณโรคกว่า 60 โครงการ ใน 41 ประเทศ

    *เซเฟอิดจำหน่ายชุดตรวจเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบและโควิด ในราคาประมาณ 15 ดอลลาร์ ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประมาณ 16-19 ดอลลาร์ อีโบลาและยาต้านการดื้อยารักษาวัณโรคแบบครอบคลุม [extensively drug-resistant (TB XDR-TB)] ประมาณ 20 ดอลลาร์