Skip to main content

    เซาท์ซูดาน: ภาวะทุพโภชนาการกับการแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้น

    A TB/HIV patient is standing inside his house in Leer.

    ผู้ป่วยวัณโรคและเอชไอวียืนอยู่ภายในบ้านพักของเขาในเขตเลียร์ บ้านเกิดของเขาอยู่ในเขตมาเยนดิท (Mayendit) แต่ภายหลังจากเกิดน้ำท่วมซ้ำซากเมื่อสี่ปีที่แล้ว ชายคนนี้สูญเสียบ้านพักอาศัย ฝูงปศุสัตว์ และทรัพย์สินทั้งหมด เขาจึงตัดสินใจย้ายมาที่เขตเลียร์ หากในเวลานี้เขากำลังเผชิญกับอาการป่วยครั้งใหม่ ในขณะที่การหาอาหารประทังชีวิตเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เขาจึงตัดสินใจลดปริมาณยาสำหรับรักษาโรคที่มีผลข้างเคียงเป็นอาการปวดท้อง - เซาท์ซูดาน พฤษภาคม 2567 © Kristen Poels/MSF

    ไม่ควรมีใครที่จะต้องเลือกระหว่างการทานยารักษาโรคทั้งที่ท้องว่างเพื่อรักษาชีวิตหรือเลือกเส้นทางที่ไร้ความเจ็บปวดแต่ไม่ได้รับการรักษา และนี่เป็นสถานการณ์ที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคและเอชไอวีต้องเผชิญกันมากขึ้นในเขตเลียร์ (Leer) รัฐยูนิตี้ (Unity State) ระหว่างการรักษามันอาจจะหมายถึงการทานยามากถึง 8 เม็ดต่อวันไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยยังต้องรับมือกับการขาดแคลนอาหารซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและเวียนศีรษะ พวกเขาจึงต้องเลือกระหว่างกินยารักษาและต้องทรมานทุกวัน หรือหยุดกินยาแล้วพินิจสุขภาพของตัวเองที่ย่ำแย่ลง

    เจมส์ (James) ผู้ป่วยอายุ 60 ปี ยืนด้วยอาการอิดโรยอยู่หน้าบ้านของเขาในวันที่แดดแรง 40 องศา พร้อมกับไม้ที่พยุงร่างกายอันผอมแห้งของเขา ชีวิตที่นี่ยากลำบากมากเพราะพวกเราไม่มีอะไรเลย ผมป่วยจากวัณโรคและเอชไอวีเมื่อสามเดือนที่แล้ว ดังนั้นผมไม่สามารถทำงานได้และไม่มีเงินเก็บ สิ่งที่พวกเราหาได้ในบริเวณนี้มีแต่สายบัว ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เพียงพอต่อความต้องการด้านอาหาร

    เขาเปิดหน้าท้องพร้อมสีหน้าบิดเบี้ยวและพูดต่ออีกว่า นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมผมมักจะลดจำนวนเม็ดยาในแต่ละวันให้สอดคล้องกับอาหารที่กิน หากผมรู้ว่าจะได้กินอาหารเพียงหนึ่งมื้อต่อวัน ก็อาจจะกินยารักษาไปแค่ครึ่งหนึ่ง ผมรู้ดีว่ามันส่งเสียต่อสุขภาพ แต่มันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว หากผมรับการรักษาโดยไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย สิ่งที่ตามมาคืออาการเวียนหัว ตัวสั่น และปวดท้องอย่างรุนแรง

    A small bowl of waterlily (dry roots) is placed on the floor.

    ถ้วยขนาดเล็กบรรจุสายบัวตากแห้งวางอยู่บนพื้น มันเป็นวัตถุดิบที่สมาชิกครอบครัวของเจมส์ออกไปเก็บมาเป็นมื้ออาหารหลักของทั้งครอบครัว - เซาท์ซูดาน พฤษภาคม 2567 © Kristen Poels/MSF

    The medication that a TB/HIV patient has to take every day.

    แผงยาที่ผู้ป่วยวัณโรคและเอชไอวีต้องรับประทานในทุกวัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีอาหารรองท้องเลยก็ตาม - เซาท์ซูดาน พฤษภาคม 2567 © Kristen Poels/MSF

    วงจรปีศาจที่ยากจะทำลาย

    ในสถานพยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) กาโคธ (Gatkuoth) ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งเข้ารับการรักษาเมื่อสองวันก่อนหน้า ก็เผชิญกับปัญหาในรูปแบบเดียวกัน ฉันพบว่าตัวเองเป็นวัณโรคเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และในตอนนั้นการรักษาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่มาวันนี้ สถานการณ์มันแตกต่างและย่ำแย่กว่ามาก มันยากขึ้นเนื่องจากฉันไม่มีอาหาร บางครั้งก็ได้แต่คิดว่าทำไมฉันถึงทำร้ายตัวเองด้วยการเข้ารับการรักษาที่มาพร้อมความเจ็บปวด หรือในบางจังหวะฉันก็คิดว่าขอตายเพราะโรคนี้เสียยังดีกว่า

    เขตเลียร์ (Leer) ในเซาท์ซูดาน นับเป็นบริเวณที่มีแนวโน้มจะเกิดน้ำท่วมหนักและเผชิญไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตบ่อยครั้ง โดยพื้นที่นี้เป็นจุดที่ถูกตัดขาด ยากกับการอยู่อาศัย เป็นเวลาหลายปีที่ผู้คนลังเลในการเพาะปลูกในที่ดินของพวกเขาเนื่องจากกลัวว่าจะกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าทั้งหมดอีกครั้ง พวกเขาจึงดำเนินชีวิตโดยอาศัยอาหารที่มาจากตลาด ซึ่งภาวะเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อของพวกเขาลดน้อยลงอย่างมาก นอกจากนี้การสนับสนุนด้านอาหารก็ลดลงเนื่องจากการตัดงบประมาณ

    ยิ่งไปกว่านั้นการเคลื่อนย้ายประชากรจากพื้นที่ถูกทำลายล้างผ่านสงครามซูดานกำลังสร้างความตึงเครียดในมิติของการสะสมเสบียงอาหารในพื้นที่ รวมถึงเพิ่มความต้องการในการรักษาและดูแลสุขภาพ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ผู้คนมากกว่า 60,000 คน ซึ่งเป็นผู้เดินทางกลับถิ่นและผู้ลี้ภัยหน้าใหม่ได้มาพักพิงในรัฐยูนิตี้ (Unity State)

    View of the TB isolation ward inside MSF hospital in Leer, Unity State, South Sudan.

    หน่วยแยกสำหรับผู้ป่วยวัณโรค ภายในโรงพยาบาลขององค์การฯ ในเขตเลียร์ รัฐยูนิตี้ - เซาท์ซูดาน พฤษภาคม 2567 © Kristen Poels/MSF

    Samples collected in GeneXpert cartridges inside MSF hospital.

    ตัวอย่างเครื่องมือตรวจวิเคราะห์โรค GeneXpert ภายในโรงพยาบาลขององค์การฯ ที่ใช้สำหรับตรวจวิเคราะห์วัณโรค - เซาท์ซูดาน พฤษภาคม 2567 © Kristen Poels/MSF

    View of the TB isolation ward inside MSF hospital in Leer, Unity State, South Sudan.

    บรรยากาศภายในหน่วยแยกสำหรับผู้ป่วยวัณโรค ในโรงพยาบาลขององค์การฯ ในเขตเลียร์ รัฐยูนิตี้ - เซาท์ซูดาน พฤษภาคม 2567 © Kristen Poels/MSF

    ผลที่ตามมาของการขาดโภชนาการในหมู่ประชากรคือวังวนปีศาจ เหรียญด้านแรกคือปัญหานี้ส่งผลโดยตรงต่อการรักษาวัณโรค/เอชไอวี เพราะการรักษาที่หนักหน่วงในช่วงเวลาที่ไม่มีอาหารตกถึงท้องเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนเหรียญอีกด้านมันเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการเกิดโรคเนื่องจากภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างมาก

    การสนับสนุนด้านอาหารและโภชนาการสำหรับผู้ป่วยวัณโรคและเอชไอวี (นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่นการคมนาคม) ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการรักษา ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าได้ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้ป่วย กระตุ้นให้รักษาต่อเนื่องและผลลัพธ์โดยรวมให้ดีขึ้น

    กลุ่มผู้เปราะบางต้องไม่ถูกลืม

    "ความไม่มั่นคงทางอาหารกำลังกลายเป็นปัญหา" แดเนียล เมโคเนน (Daniel Mekonen) หัวหน้าทีมแพทย์ขององค์การฯ ในเขตเลียร์อธิบาย

    เรามีกลุ่มผู้ป่วยมากกว่า 600 รายที่เป็นผู้ติดเชื้อวัณโรคร่วมกับเอชไอวี และหลายคนบอกพวกเขาว่าไม่สามารถปฏิบัติตามการรักษาได้อย่างเหมาะสมเนื่องจากการขาดแคลนอาหาร พวกเขาต้องลดหรือหยุดจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และแน่นอนว่ามันมีผลกระทบตามมา พวกเรารับผู้ป่วยอาการหนักที่มีอาการร้ายแรงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากมากที่จะรักษา อีกทั้งยังผู้ป่วยที่มีภาวะดื้อต่อยาต้านจุลชีพเพิ่มขึ้น
    แดเนียล เมโคเนน หัวหน้าทีมแพทย์องค์การฯ

    จากที่พวกเราเคยรับผู้ป่วยใหม่ 8 รายต่อเดือน แต่ในขณะนี้ตัวเลขได้เพิ่มเป็นสองเท่ากลายเป็น 16 รายต่อเดือน จะเห็นได้ว่าอัตราผู้ป่วยไม่มาตามนัดก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากผู้คนไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านอาหาร โครงการของเราจะสำเร็จไปไม่ได้ องค์การฯ มีความกังวลอย่างมากกับความชุกของวัณโรคและเอชไอวีในเซาท์ซูดาน” เขาอธิบายต่อ

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้เริ่มดำเนินการในเขตเลียร์ รัฐยูนิตี้เมื่อปี 2532 และยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่ให้การรักษากับผู้คนในพื้นที่นี้ ในขณะที่ภาวะทุพโภชนการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การกระจายอาหารที่ไม่เพียงพอยังเกิดขึ้นในหมู่ประชากรที่อยู่อาศัยโดยไม่ปรากฏมาตรการเร่งด่วน องค์กรและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือด้านอาหารควรเพิ่มกำลังและพิจารณาว่าจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไรและให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เปราะบางเป็นลำดับต้น อาทิ ผู้ป่วยวัณโรค/เอชไอวี