Skip to main content

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) ในภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดับโลก

    DTx for Diabetes

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจว่า DTx สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการดำเนินงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในปัจจุบันได้อย่างไร

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) คือ การรักษาแบบดิจิทัลผ่านซอฟต์แวร์ในแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการปรึกษาและการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ปัจจุบัน องค์การแพทย์ไร้พรมแดนกำลังศึกษาและพัฒนาการบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและวัณโรค (TB) ภายใต้ความร่วมมือกับคลินิกและชุมชนที่เกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ทั่วโลก DTx เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในบริบทที่แตกต่างกัน

    "การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx)" คืออะไร

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) คือ แพลตฟอร์มสนับสนุนผู้ป่วย ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับสภาวะเรื้อรัง เช่น ความผิดปกติของสุขภาพจิต เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง

    ในกรณีขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซอฟต์แวร์ DTx ในแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนผ่านการศึกษาข้อมูลออนไลน์ การเสนอแนวทางการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยรายบุคคล รวมถึงอำนวยความสะดวกในการนัดพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเหตุนี้จึงมีความแตกต่างจากแอปพลิเคชันด้านสุขภาพแบบอื่นๆ (เช่น แอปเตือนการใช้ยา) ในแง่ของฟีเจอร์ที่มีความครบถ้วนมากกว่า และการบูรณาการแนวทางการรักษาตั้งแต่ต้นจนจบ

    อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้ DTx อาจไม่เหมาะสมเสมอไปในการรักษาทางการแพทย์บางประเภท แต่จากการศึกษาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนใน DTx สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและวัณโรค (TB) ได้สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีดังกล่าวได้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงานสำหรับผู้ที่อาจไม่ต้องการหรือไม่สามารถใช้แพลตฟอร์ม DTx ให้ดียิ่งขึ้นได้

    MSF Digital Therapeutics Key Components

    แนวทางการประยุกต์ใช้ DTx ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน มุ่งมั่นพัฒนา DTx เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลผู้ป่วย โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้สามารถส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและวัณโรคที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรทางการแพทย์จำกัด ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างเพียงพอ DTx สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลและคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ 

    เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ เราได้มีการแบ่งปันข้อมูลและเครื่องมือดังกล่าวให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม อาทิ ผู้ป่วย แพทย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข นักพัฒนาด้านเทคนิค และบุคคลอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างมั่นใจระหว่างรอการนัดหมายครั้งถัดไป

    หลักการที่สำคัญในการดำเนินงาน

    ●      การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง - การวางแผนโครงการ การประยุกต์ใช้ และการติดตามประเมินผลโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นสำคัญ

    ●      การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ - การมุ่งมั่นที่จะสร้างเครื่องมือที่สามารถผนวกรวมเข้ากับระบบขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้เป็นอย่างดี 

    ●      ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย - การลดความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรการความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านสุขภาพดิจิทัล

    ●      การเข้าถึง - การนำเสนอแบบแผนการดำเนินงานทั้งในรูปแบบดิจิทัลและไม่ใช่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสูงสุดสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลโดยไม่ต้องใช้วิธีทางเทคนิค

    ●      ความครอบคลุม -  การรับประกันว่าผู้ที่มีความบกพร่องด้านอื่นๆ จะสามารถเข้าถึงตลอดกระบวนการ (เช่น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าองค์ประกอบเสียงพร้อมใช้งานสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา เป็นต้น)

    ●      หลักฐานและการประเมินผลกระทบ - การดำเนินการประเมินความต้องการ ความเป็นไปได้ และการศึกษานำร่องเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบ ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้ การสนับสนุน และการสื่อสาร - นอกเหนือจากองค์ประกอบของ DTx

    โครงการดังกล่าว คือ หนึ่งในโครงการใหม่ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการระยะทดลองในหลายพื้นที่ โดยแต่ละขั้นตอนของโครงการนี้ต้องการแนวทางและกระบวนการการทำงานแบบใหม่ เพื่อขยายโอกาสในการส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ไม่สามารถทำได้ผ่านแนวทางการปฏิบัติแบบดั้งเดิม

    Digital Therapeutics (DTx) for Diabetes

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    ปัจจุบัน WHO ประมาณการว่า ร้อยละ 80 ของการเสียชีวิตประจำปีที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือพบอัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวานสูงที่สุด นำโดยเลบานอน ซึ่งมีอัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวานในปี 2021 สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปีอยู่ที่ 396 ต่อประชากร 1,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 469 ต่อประชากร 1,000 คนภายในปี 2030 อ้างอิงข้อมูลจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ

    เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมประกอบเข้ากับขั้นตอนการการรักษาโรคเบาหวานที่ต้องมีความต่อเนื่อง อาทิ แม้ว่าผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่ดี หากไม่ได้รับประทานยาสม่ำเสมอก็สามารถส่งผลต่อโรคได้ ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ 2 ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความผิดปกติทางสุขภาพจิตอื่นๆ ปัจจัยที่รวมกันเหล่านี้นำไปสู่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ดี ที่จะส่งผลต่อเนื่องกับผลการรักษาและคุณภาพชีวิต

    ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจำนวนมากจึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแนวทางการรักษา ให้สอดคล้องกับความสามารถในการจัดการตนเอง เพื่อพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกโดยหน่วยงาน Sweden Innovation Unit (SIU) และ Operational Center Geneva (OCG) ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในปี 2021 ภายใต้ความร่วมมือกับแพทย์และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อในกรีซและเลบานอน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจว่า DTx สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการดำเนินงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในปัจจุบันได้อย่างไร: 

    1. ประเมินความต้องการของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน (ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2) ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาในคลินิกองค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเขต Bekaa ประเทศเลบานอน

    2. ร่วมสร้างแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งประกอบไปด้วย DTx และแดชบอร์ดการจัดการระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย และผู้เชี่ยวชาญด้านคลินิกและปฏิบัติการขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน

    3. พัฒนาระบบขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในเลบานอน เพื่อสร้างความเข้าใจของผู้ป่วยและความมั่นใจในแนวทางปฏิบัติในการจัดการตนเอง

    4. สร้างหลักฐานของคุณภาพการดูแลผู้ป่วย (QoC) และผลการรักษาของผู้ป่วย

    5. พัฒนาแนวทางสำหรับการประยุกต์ใช้ DTx ในโครงการอื่นๆ ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน และในภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดับโลก

    Digital Therapeutics (DTx) for Multi-Drug Resistant Tuberculosis (MDR-TB)

    การบำบัดแบบดิจิทัล (DTx) สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB)

    วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) เป็นปัญหาสุขภาพที่พบเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ จากรายงานวัณโรคทั่วโลกประจำปี 2021 ของ WHO ระบุว่า มุมไบ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของอินเดีย มีอัตราการป่วยด้วยวัณโรคและ MDR-TB ในระดับสูงโดยเฉพาะสลัมที่แออัด และผู้ที่ติดเชื้อ TB มักจะต้องรอเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่โอกาสการป่วยด้วยวัณโรคดื้อยา (DR-TB) และ MDR-TB ยิ่งขึ้น

    โดยทั่วไป การรักษา MDR-TB ต้องใช้เวลามากกว่า 24 เดือนในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาระยะที่สอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ลักษณะที่ท้าทายและยืดเยื้อของการรักษา MDR-TB มีส่วนทำให้ผลการรักษาแย่ลงและมีอัตราความสำเร็จประมาณร้อยละ 54

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ร่วมกับผู้ป่วยและพันธมิตร เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ

    จากการต่อยอดบทเรียนของโครงการ Video Observed TB Treatment (VOT) หน่วย Sweden Innovation Unit (SIU) และพันธมิตรขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ประจำอินเดีย และ MSF Operational Center Brussels (OCB) จึงเปิดตัว โครงการดิจิทัลแบบบำบัด (DTx) สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ในชื่อ DOST (แปลว่า “เพื่อน” ในภาษาฮินดี) ในปี 2019

    ทีมงานโครงการ DOST มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบใหม่ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์มากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนผ่านการศึกษาข้อมูลออนไลน์ การเสนอแนวทางการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยรายบุคคล รวมถึงอำนวยความสะดวกในการนัดพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และนำไปสู่ผลกระทบเชิงบวกต่อการปฏิบัติตามการรักษาและสุขภาวะทางจิตใจในช่วงท้าย

    ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 ถึงมกราคม 2022 แพลตฟอร์มการสนับสนุนผู้ป่วย DOST ได้ถูกจัดเตรียมให้กับผู้ป่วย MDR-TB จำนวน 28 รายในมุมไบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้น การประเมินนี้กำลังถูกใช้เพื่อขยายโอกาสในการสานต่อการดำเนินงาน DOST ไปยังกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นของการรักษา MDR-TB

    Categories