Skip to main content

    ผลการวิจัยทางคลินิกชิ้นสำคัญให้ทางเลือกใหม่ในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน

    India, 29 October, 2023 © Siddhesh Gunandekar/MSF

    ผู้คนราวห้าแสนคนป่วยด้วยวัณโรคดื้อยาหรอวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และมีจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ แผนการรักษา endTB เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญสำหรับการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานในระยะสั้น และส่งเสริมแผนการรักษาที่สั้นกว่าและมีสิทธิภาพสูงอย่าง BPaLM ซึ่งไม่เหมาะกับการรักษาประชากรบ้างกลุ่ม โดยผลการทดลอง endTB จะนำเสนอในการประชุม Union World Conference ในวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2023 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส - อินเดีย 29 ตุลาคม 2566 © Siddhesh Gunandekar/MSF 

    ปารีส ประเทศฝรั่งเศส; วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 – ในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรคในปอด (The Union World Conference on Lung Health) ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยยาแบบทดลอง (Clinical trial) เป็นครั้งแรก เผยให้เห็นหลักฐานสนับสนุนการใช้สูตรยาใหม่ 4 แนวทางที่ดีกว่าเดิม สำหรับการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือวัณโรคดื้อยา (MDR/RR-TB) คณะทำงานซึ่งนำโดยองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) องค์การพันธมิตรด้านสุขภาพ (Partners In Health - PIH) และองค์การ Interactive Research and Development (IRD) โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการอำนวยความสะดวกจัดซื้อยาระหว่างประเทศ (Unitaid) ได้ร่วมจัดตั้งภาคีเครือข่าย endTB (ยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค) และได้เริ่มการทดลองช่วงที่ 3 หรือการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในปี 2560

    India, 29 October, 2023 © Siddhesh Gunandekar/MSF

    อินเดีย 29 ตุลาคม 2566 © Siddhesh Gunandekar/MSF 

    วัณโรคดื้อยาหลายขนาน/วัณโรคดื้อยา (MDR/RR-TB) เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ที่ทนต่อฤทธิ์ยาไรแฟมพิซิน (rifampicin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะลำดับต้นในบรรดายามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อสูงที่ใช้ในการรักษาวัณโรค แต่ทั้งนี้อาจมีหรือไม่มีความทนทานต่อฤทธิ์ยาไอโซไนอะซิด (isoniazid) ด้วยก็ได้ มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือวัณโรคดื้อยา ทั่วโลกเพิ่มขึ้นราวปีละ 5 แสนคน และมีอีกจำนวนมากเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ แม้ในปัจจุบันจะมีสูตรยาหลายแนวทางเพื่อรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานก็ตาม แต่ผู้ป่วยจำนวนมากก็ยังคงได้รับการรักษาด้วยแนวทางแบบเดิม ซึ่งต้องใช้เวลามาก (อาจถึง 24 เดือน) ไม่ปรากฏผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ (ในปี 2561 มีอัตราการรักษาสำเร็จเพียง ร้อยละ 59) และยังมักก่อผลข้างเคียงรุนแรงหลายประการ เช่น เป็นโรคจิตชนิดเฉียบพลัน หรือสูญเสียการได้ยินถาวร ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยสูตรยาดังกล่าว อาจต้องกินยารวมกันตลอดการรักษาเป็นจำนวนถึง 14,000 เม็ด ในขณะที่บางส่วนต้องทนกับความเจ็บปวดจากการต้องใช้ยาฉีดทุกวัน

    ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยสูตรยาดังกล่าว อาจต้องกินยารวมกันตลอดการรักษาเป็นจำนวนถึง 14,000 เม็ด ในขณะที่บางส่วนต้องทนกับความเจ็บปวดจากการต้องใช้ยาฉีดทุกวัน

    ผลจากการวิจัยดังกล่าวนำไปสู่สูตรยาขนานใหม่ 3 แนวทาง ที่มีประสิทธิศักย์ (efficacy) และมีความปลอดภัยใกล้เคียงแนวทางการรักษาที่มีอยู่เดิม แต่มีระยะเวลาครบกำหนดการรักษาที่สั้นลงเหลือเพียง 1 ใน 3 โดยสูตรยา endTB ใหม่นี้จะเป็นทางเลือกที่สำคัญเพื่อรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานในระยะสั้น และเพื่อเสริมสูตรยาระยะสั้นชนิด BPaLM ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน แต่ไม่เหมาะกับประชากรบางกลุ่ม หากองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้สูตรยาซึ่งเป็นการบำบัดรักษาโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเหล่านี้ ก็จะทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานในระยะเวลาที่สั้นลง โดยไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงอายุ ภาวะการตั้งครรภ์ หรือภาวะโรคร่วมที่ผู้ป่วยมีอยู่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่พบได้มากในผู้ป่วยวัณโรคชนิดนี้

    นอกจากนี้ ในการวิจัยยายังได้หลักฐานสนับสนุนสูตรยาอีกแนวทางหนึ่ง เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและผลข้างเคียงจากยาเบดาควิลีน (bedaquiline) หรือไอโซไนอะซิดได้ ซึ่งเป็นขนานยาที่มีอยู่ในสูตรยาปัจจุบันที่องค์การอนามัยโลกแนะนำในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน

    การวิจัยยา endTB ดำเนินการศึกษาร่วมกับผู้ป่วยที่มีความหลากหลายจำนวน 754 คน จาก 7 ประเทศ (ประเทศจอร์เจีย ประเทศอินเดีย ประเทศคาซัคสถาน ประเทศเลโซโท ประเทศปากีสถาน ประเทศเปรู และประเทศแอฟริกาใต้) ซึ่งรวมถึงกลุ่มประชากรที่เดิมนั้นเคยถูกคัดออกจาก เช่น วัยรุ่น และผู้มีภาวะโรคร่วมอื่น เช่นภาวะความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด และอดีตผู้เข้าร่วมวิจัยในโครงการอื่นหากถูกคัดออกเนื่องจากตั้งครรภ์ในระหว่างการวิจัย โดยในการวิจัยยานี้ได้มีการประเมินผลสูตรยาที่มีกำหนดระยะเวลา 9 เดือน เป็นจำนวน 5 แนวทาง และมีการปรับการสุ่มตามผลที่ได้ ซึ่งหมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยที่ได้รับสูตรยาที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามีจำนวนมากขึ้น

    India, 29 October, 2023 © Siddhesh Gunandekar/MSF

    อินเดีย 29 ตุลาคม 2566 © Siddhesh Gunandekar/MSF 

    "นี่คือความก้าวหน้าครั้งสําคัญที่พาเราเข้าใกล้ชัยชนะในการต่อสู้กับโรคที่ดื้อยาหลายขนาน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรที่ยากจนทั่วโลก ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นความหวังให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และจะตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบของบริษัท เอกชนที่ได้รับทุนจากภาครัฐ ในการจัดการกับโรคที่มักเกิดแก่กลุ่มที่เปราะบางที่สุ อย่างไรก็ดี ต้นทุนยาบางชนิดยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ ตัวอย่างหนึ่งคือยาดีลามานิด (delamanid) ซึ่งยังคงมีราคาสูงเป็น 12-40 เท่ามากกว่าที่ควร จากที่ได้มีการประเมินถึงต้นทุนในการผลิตยานี้" -- ดร. แคโรล มิทนิค, วท.บ.; ผู้อำนวยการงานวิจัยฝ่าย Partners In Health ของโครงการ endTB / รองหัวหน้าคณะวิจัย / ศาสตราจารย์ภาควิชาสุขภาพโลกและเวชศาสตร์สังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Carole Mitnick, ScD, Partners In Health Director of Research for the endTB project, Co-Principal Investigator of the study, and Professor of Global Health and Social Medicine at Harvard Medical School)

    "วัณโรคดื้อยาหลายขนานเป็นอีกโรคที่อยู่กับสังคมมานานเกินไป และเป็นภัยคุกคามที่น่าหวั่นเกรง ด้วยจากทางเลือกการรักษาที่มีอย่างจํากัดและผลลัพธ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก แต่วันนี้เราได้หลักฐานสนับสนุนถึงสูตรยาชนิดใหม่ที่เป็นนวัตกรรมใช้ระยะเวลาสั้นลงอีกหลายแนวทาง ซึ่งเอื้อต่อการบำบัดรักษาแบบยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและโดยเฉพาะบุคคล สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน นับได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการต่อสู้กับโรคที่ระบาดในหมู่ประชากรกลุ่มเปราะบางทั่วโลก สิ่งที่ทําให้ผลลัพธ์เหล่านี้โดดเด่นยิ่งขึ้น คือความหลากหลายและความครอบคลุมในการนำไปใช้ ของผลการทดลองช่วงที่ 3 หรือการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ" -- ลอเรนโซ กูลยีเอลเม็ทตี, พ.บ.; ผู้อำนวยการงานวิจัยฝ่ายองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ของโครงการ endTB / รองหัวหน้าคณะวิจัย (Lorenzo Guglielmetti, MD, Médecins Sans Frontières Director for the endTB project and Co-Principal Investigator of the study)
    ลอเรนโซ กูลยีเอลเม็ทตี
    India, 29 October, 2023 © Siddhesh Gunandekar/MSF

    อินเดีย 29 ตุลาคม 2566 © Siddhesh Gunandekar/MSF 

    "ผลลัพธ์เหล่านี้ให้ความหวังอีกครั้งแก่ผู้คนทั่วโลก ซึ่งรอคอยการรักษาวัณโรคชนิดที่อันตรายและรักษาให้หายขาดได้ยากที่สุด" ดร. ฟีลีป ดูนตง กรรมการบริหารของ Unitaid (Dr. Philippe Duneton, Executive Director of Unitaid) "เรามีงานวิจัยที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนยานั้นก็มีบริการอยู่แล้วในพื้นที่ที่ต้องการ หลักฐานที่เต็มไปด้วยคุณภาพชิ้นนี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเดิมได้โดยเร็ว ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคชนิดดื้อยาทุกคน

    การวิจัยยา endTB มีประเมินผลสูตรยาต้นแบบจำนวน 5 แนวทางด้วยกัน เพื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบมาตรฐานในกลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิเคราะห์ 2 กลุ่มที่แตกต่างกัน โดยสูตรยา endTB ที่ 1 2 และ 3 ให้ผลลัพธ์ไม่ด้อยไปกว่ากลุ่มควบคุมในกลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิเคราะห์ขั้นต้นทั้ง 2 กลุ่ม สร้างความเชื่อมั่นถึงความได้ผลในการรักษาวัณโรคดื้อยา rifampicin (RR-TB) สูตรยาที่ 1 2 และ 3 มีผลการรักษาสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ คิดเป็นอัตราร้อยละ 89.0 90.4 และ 85.2 ของอาสาสมัคร ตามลำดับ และสูตรยาที่ 5 ก็มีผลการรักษาสำเร็จในระดับเดียวกัน เป็นอัตราร้อยละ 85.6 และยังได้ผลดีกว่ากลุ่มควบคุมซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 80.7 จากกลุ่มประชากรหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์ ในขณะที่ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันในประชากรทั้งสองมีความจําเป็นในการสร้างความไม่ด้อยกว่าอย่างเป็นทางการ แต่สูตร 5 ก็ถือว่าน่าจับตามองในฐานะเป็นทางเลือกสําหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับแนวทางการรักษาที่แนะนําอื่นๆ ได้

    การจะสามารถเข้าถึงตัวเลือกการรักษาใหม่เหล่านี้ได้อย่างแท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับการกำจัดอุปสรรคทั้งหมดที่ขัดขวางการได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและมีคุณภาพ ผลลัพธ์เหล่านี้จะสามารถใช้จัดการกับอุปสรรคสําคัญในการดูแลผู้ป่วยจํานวนมาก ทางภาคีเครือข่าย endTB จะยังคงผลักดันให้มีการปรับปรุงต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบการรักษาวัณโรคอย่างมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง

    หากต้องการอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการทดลองทางคลินิก สามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ endTB.org

    เกี่ยวกับ UNITAID

     

    Unitaid ช่วยชีวิตผู้คนด้วยการทำให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพใหม่ๆ สามารถเข้าถึงได้และมีราคาไม่แพง สําหรับผู้ที่อยู่ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง Unitaid ทํางานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อสรรหานวัตกรรมการรักษา การทดสอบ และเครื่องมือ ช่วยจัดการกับอุปสรรคทางการตลาดที่ฉุดรั้งพวกเขาไว้ และส่งมอบให้แก่ผู้ซึ่งต้องการมากที่สุด ด้วยความรวดเร็ว นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 Unitaid ได้ทำให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กว่า 100 รายการ เพื่อช่วยจัดการกับภัยด้านสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก อาทิ เอชไอวี วัณโรค และโรคมาลาเรีย รวมถึงการดูแลสุขภาพของผู้หญิงและเด็ก และการป้องกัน การเตรียมพร้อม และการรับมือโรคระบาด ในทุกปี ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ช่วยเหลือผู้คนมากกว่า 170 ล้านคน Unitaid เป็นความร่วมมือที่มีองค์การอนามัยโลกเป็นประธานจัดตั้ง

    เกี่ยวกับ Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières (MSF)

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) เป็นองค์การทางการแพทย์ด้านมนุษยธรรมซึ่งดำเนินงานอย่างเป็นอิสระในระดับระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือในเหตุฉุกเฉินแก่ผู้ประสบภัยสงคราม ภัยโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และรวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่อาจเข้าถึงการบริการสุขภาพ ปัจจุบัน องค์การฯ มีการดําเนินงานในเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก

    องค์การฯ มีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาวัณโรคมานานกว่า 30 ปี และทำโครงการแรกในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานเมื่อปี 2542 MSF ดำเนินโครงการรักษาวัณโรคอยู่ใน 30 ประเทศ โดยเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสุขภาพภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุด ที่ให้การรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยเมื่อปี 2565 มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 17,800 คนทั่วโลกที่ได้เริ่มต้นการรักษาด้วยยาลำดับแรกในโครงการขององค์การฯ โดยมีผู้ป่วยจำนวน 2,590 คนที่เป็นการเริ่มต้นรักษาวัณโรคชนิดดื้อยา สําหรับข้อมูลเพิ่มเติม: www.msf.org

    เกี่ยวกับ Partners In Health

    เป็นองค์กรด้านสุขภาพระดับโลกที่มุ่งมั่นอย่างไม่ลดละในการสร้างเสริมสุขภาพของผู้ยากไร้และคนชายขอบของสังคม PIH เพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้ปฏิบัติงานในท้องถิ่น และทํางานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนด้อยโอกาสหลายแห่งเพื่อให้ได้รับการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ในการจัดการกับต้นเหตุของการเจ็บป่วย ให้การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการแพทย์ ทำการวิจัยขั้นสูง และผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับโลก PIH เริ่มให้การรักษาวัณโรคชนิด MDR-TB เมื่อปี 2538 และได้ดําเนินโครงการรักษาในชุมชนสําหรับวัณโรคชนิด MDR-TB ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศเปรู ประเทศรัสเซีย ประเทศเฮติ ประเทศเลโซโท และประเทศคาซัคสถาน สําหรับข้อมูลเพิ่มเติม: www.pih.org

    เกี่ยวกับ IRD

    IRD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้บริการและดำเนินงานวิจัยด้านสุขภาพ โดยตั้งอยู่ในประเทศดูไบ มีการปฏิบัติภารกิจใน 15 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศที่มีอัตราภาระโรคของวัณโรคชนิด MDR-TB สูง เช่น ประเทศปากีสถาน ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศบังกลาเทศ คณะทำงานของ IRD ใช้ประโยชน์จากกระบวนการและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางการบริการสุขภาพทั่วโลก รวมถึงการใช้นวัตกรรมทางธุรกิจสุขภาพ เช่น ตัวแบบธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อดึงดูดให้ผู้ให้บริการสุขภาพภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการโรคในปอดและโรคเบาหวาน ตลอดจนการให้ค่าตอบแทนตามผลงานแก่ผู้คัดกรองในชุมชนและผู้ช่วยการรักษา ให้ผลประโยชน์จูงใจแก่ผู้ป่วยเพื่อให้มีความร่วมมือในการรักษา และการใช้พื้นที่เทคโนโลยีสารสนเทศแบบ open source เพื่อให้สามารถติดตามการดูแลผู้ป่วยและคุณภาพของการดำเนินงานได้อย่างใกล้ชิด สําหรับข้อมูลเพิ่มเติม www.ird.global

    Categories