เวสต์แบงก์: อยู่ที่นี่คุณเจ็บป่วยไม่ได้ คุณไม่ได้รับอนุญาตให้ป่วยเด็ดขาด
เด็กวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์นั่งหลบแดด ภายหลังจากที่บ้านของเขาในเขตเวสต์แบงก์ถูกโจมตีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า - ดินแดนปาเลสไตน์ มิถุนายน 2567 © MSF
- การให้บริการทางการแพทย์และการเข้ารับการรักษาในเมืองเฮบรอนกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากนับตั้งแต่สงครามในกาซาเริ่มต้นขึ้น เนื่องจากมีการออกข้อกำหนดเรื่องการจำกัดการเดินทาง การโจมตีสถานพยาบาล และปัญหาด้านเศรษฐกิจ
- ความรุนแรง การทำร้าย และการจำกัดการเดินทางคือสิ่งที่กัดกร่อนสุขภาพทางกายและใจของประชาชน
- องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้ทางการอิสราเอลรับประกันว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และบริการขั้นพื้นฐานอื่นจะได้รับความคุ้มครอง
เฮบรอน ดินแดนปาเลสไตน์ - ส่วนหนึ่งของรายงานฉบับใหม่จากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières (MSF) อย่างชีวิตที่ถูกจองจำ การบังคับให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ในเมืองเฮบรอน ระบุว่า อาการบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจที่ได้รับผลกระทบ และการจำกัดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเมืองเฮบรอน เขตเวสต์แบงก์ อีกทั้งยังมีการระบุเพิ่มเติมว่าการล่มสลายของระบบสาธารณสุขของเมืองเฮบรอนเกิดขึ้นจากมาตรการการจำกัดการเคลื่อนไหวของกองทัพอิสราเอลและการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของผู้ตั้งถิ่นฐาน
“การจำกัดการเคลื่อนที่ การคุกคาม และความรุนแรง ที่ก่อโดยกองกำลังอิสราเอล (Israeli Forces) และ ผู้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ (Settlers) สร้างความทุกข์ทรมานเหลือคณานับและเกินทนให้กับชาวปาเลสไตน์ในเมืองเฮบรอน (Hebron) ” เฟรเดอริค แวน ดอร์เจน (Frederieke van Dongen) ผู้จัดการฝ่ายกิจการด้านมนุษยธรรม ขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนกล่าว
คลินิกของกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ทั่วเขตเฮบรอนถูกสั่งปิด ร้านขายยาขาดแคลนยา รถพยาบาลรับส่งผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บถูกขัดขวางและโจมตี และเมื่อต้องเผชิญกับการจำกัดการเดินทางและการคุกคามโดยใช้ความรุนแรง ผู้ป่วยจำนวนมากเลื่อนการไปพบแพทย์หรือหยุดการรักษา เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากนี้ ครอบครัวทั่วเฮบรอนประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงหลังสูญเสียอาชีพการงาน ส่งผลให้หลายคนต้องยกเลิกประกันสุขภาพ จำกัดอาหาร และหยุดการใช้ยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคเนื่องจากไม่มีกำลังจ่ายได้อีกต่อไป
รายงานขององค์การฯ ที่รวบรวมคำบอกเล่าจากผู้ป่วยและชุมชนชาวปาเลสไตน์ระบุถึงผลพวงของการจำกัดการเดินทางที่ทางการอิสราเอลกำหนด และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการพยายามเข้าถึงการรักษาพยาบาลของชาวปาเลสไตน์ นอกจากนี้ยังครอบคลุมข้อมูลผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาวะทางกายและใจ (Physical and Psychological Wellbeing) อีกด้วย
พื้นที่ที่ถูกจำกัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในเขตเวสต์แบงก์คือ เอชทู (H2) โดยมีจุดตรวจถาวร 21 จุด ซึ่งดำเนินการโดยกองกำลังอิสราเอล เพื่อควบคุมการเดินทางของชาวปาเลสไตน์ และก่อให้เกิดอุปสรรคสำคัญต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ พยายามเข้าถึงพื้นที่ หลังจากวันที่ 7 ตุลาคมเป็นเวลาสองเดือนแล้วที่คลินิกของกระทรวงสาธารณสุขภายในพื้นที่เอชทูถูกปิด และมีคลินิกเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่สามารถเปิดบริการได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ ไม่ได้รับอนุญาตให้ข้ามจุดตรวจของอิสราเอลไปยังพื้นที่เอชทู
“ปัจจุบันยังคงไม่มีคลินิกใดเปิดบริการในพื้นที่ปิด (เอชทู) และถึงแม้คลินิกจะเปิดชาวเมืองก็หวาดกลัวต่อการสูญเสียชีวิตของตน เพื่อยารักษาโรค” เจ้าหน้าที่องค์การฯ และชาวเมืองเขตพื้นที่เอชทู กล่าวไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 หลังกองกำลังอิสราเอลสกัดกั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดไม่ให้เข้าถึงพื้นที่และบังคับให้ปิดทำการ
“ในช่วงหลายเดือนหลังการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม การจำกัดการเคลื่อนที่และความรุนแรงในพื้นที่เอชทู เขตเมืองเฮบรอนนั้นรุนแรงมากจนผู้ป่วยต้องยอมเสี่ยงชีวิตปีน ข้ามรั้วและหลังคาเพียงเพื่อที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาล” แวน ดอร์เจน กล่าว
การคุกคามโดยใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้คน เกิดภาวะความเครียดทางจิตอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่องค์การฯ กล่าว “เมื่อทหารบุกรุกบ้านในเวลากลางคืน ลูกๆ และภรรยาของผมซ่อนตัวอยู่ข้างหลังผม แต่ผมไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้” ผู้ป่วยชาวปาเลสไตน์ในเมืองมาซาเฟอร์ ยัตตา (Masafer Yatta) บนเขาทางตอนใต้ของเมืองเฮบรอน (South Hebron Hills) ระบุว่า “ทหารพวกนั้นมีอำนาจ พวกเขาสามารถทำทุกอย่างที่ต้องการได้”
ชุมชนผู้เลี้ยงปศุสัตว์ถูกบังคับให้เลี้ยงแกะของพวกเขาภายในพื้นที่ชุมชน โดยไม่สามารถพาสัตว์เลี้ยงออกไปหาอาหารตามทุ่งหญ้าในพื้นที่ภูเขาได้ เนื่องจากการยกระดับความรุนแรงและการจำกัดการเคลื่อนไหวของกองทัพอิสราเอลและผู้ตั้งถิ่นฐาน - ดินแดนปาเลสไตน์ กุมภาพันธ์ 2567 © MSF
รายงานขององค์การฯ ยังให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการบังคับให้พลัดถิ่นในเขตบริหารเฮบรอน นโยบายและแนวปฏิบัติโดยทางการ อิสราเอลและผู้ตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินปาเลสไตน์ที่บีบบังคับ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆผลักดันให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ต้องหนีออกจากบ้านของตน เพิ่มมากขึ้น สถานการณ์นี้เปรียบได้กับการบังคับย้ายถิ่นฐาน รายงานดังกล่าวอธิบายว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 คณะเจ้าหน้าที่องค์การฯ ได้ให้การช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ชาวปาเลสไตน์ มากกว่า 1,500 คนทั่วเมืองเฮบรอน ประชาชนเหล่านี้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากหมู่บ้านของตน หรือบ้านเรือนและทรัพย์สินถูกทำลาย
“แม้จะเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้ยึดครอง แต่ทางการอิสราเอล ล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อชาวปาเลสไตน์” แวน ดอร์เจน กล่าว
นโยบายของอิสราเอลที่นำมาใช้ในเฮบรอนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสุขภาพทั้งทางกายและสุขภาพจิตของชาวปาเลสไตน์ องค์การฯ เรียกร้องให้ทางการอิสราเอลรับประกันการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการที่จำเป็นอื่นๆ อย่างไม่มีข้อจำกัด เพื่อปกป้องชาวปาเลสไตน์จากการถูกบังคับให้พลัดถิ่น และเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งผู้พลัดถิ่นกลับคืนสู่บ้านของพวกเขาอย่างปลอดภัย