Skip to main content

    โรฮิงญา: ฤๅสาแหรกจะสูญสิ้น?

    Kyssa

    ในแผนกผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ค่ายกุตุปาลอง (Kutupalong) คนไข้ตัวน้อยกับหมู่ญาติของพวกเขา รวมถึงบุคลากรขององค์การฯ ล้อมวงกันเพื่อฟัง “นิทานกิสซา” จากมุฮัมมัด เรศวาน ข่าน (Mohammed Rezuwan Khan) นักเล่าเรื่องชาวโรฮิงญา © Victor Caringal/MSF

    บนผืนดินว่างเปล่าบริเวณสถานีอนามัยของ MSF ในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยกุตุปาลอง เมืองคอกซ์เบซาร์ ประเทศบังกลาเทศ มีแผ่นกระดานไม้อัดวางอยู่ และบนนั้นก็มีเส้นตอกไม้ไผ่กำลังถูกสานขึ้นเป็นโครงรูปของต้นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่ง

    ภาพของคนที่กำลังง่วนอยู่กับต้นไม้จักสาน ตัดกับฉากหลังเป็นเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่เดินขวักไขว่ไปมาระหว่างโรงเรือนและดงกล้วย  กลุ่มคนนั้นทยอยแจกจ่ายเส้นตอกไม้ไผ่แก่กัน วางตะแคงบนสัน จับซ้อนทับกันและดัดให้เป็นเส้นโค้งมน จากนั้นก็มัดรวบเข้าไว้ด้วยเชือกเส้นบาง

    โครงรูปต้นไม้นี้เริ่มสูงใหญ่ พุ่มใบกลมโตราวก้อนเมฆ พร้อมให้ร่มเงาแก่ใครที่มานั่งหลบร้อนข้างใต้นี้  นี่คือต้นบันยัน พันธุ์ไม้ยืนต้นซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของนูรุส สะฟัร (Nurus Safar) กับนูรู สะลาม (Nuru Salam) สองช่างจักสานชาวโรฮิงญา ผู้เป็นส่วนหนึ่งในงานฝีมือชิ้นนี้

    เมื่อเวลาพักคลายร้อน นูรุส สะฟัร และนูรู สะลาม นั่งอยู่กับแท็สแมน มุนโร (Tasman Munro) นักออกแบบเพื่อสังคม (social designer) และเป็นผู้ร่วมสร้างต้นไม้นี้อีกคน

    “เมื่อก่อนนี้ พวกเราทำงานฝีมือกันอยู่ใต้ต้นบันยัน พลางพูดคุยกันไปด้วย เป็นที่ให้มาชุมนุมกัน เราก็จะถ่ายทอดความรู้แก่กัน และแชร์ทัศนคติกันได้” นูรุส สะฟัร เล่าเรื่องย้อนรำลึกถึงการทำงานจักสาน เมื่อครั้งอยู่ในประเทศเมียนมา ก่อนต้องพลัดถิ่นมาอยู่ในบังกลาเทศ  “เราอยากทำงานฝีมืออยู่ในบรรยากาศแบบนั้นอีกครั้ง”

    ทุกวันนี้ ต้นบันยันก็เป็นสถานที่สำหรับรวมกลุ่ม ให้สืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมโรฮิงญาอีกครั้ง แม้ทั้งนูรุส สะฟัร และนูรู สะลาม จะพลัดพรากมาไกลจากถิ่นเดิมในเมียนมาก็ตาม

    เมื่อได้เวลากลับไปทำงานต่อ  หมู่ช่างฝีมือเริ่มแปะแผ่นกระดาษสีสดลงบนโครงรูปต้นไม้ แต่ละแผ่นออกแบบโดยบรรดานักศิลปะเยาวชนชาวโรฮิงญา ตั้งแต่เมื่อวันก่อนหน้านี้จากที่ได้ฟังเรื่องราวใน “นิทานกิสซา” (เรื่องเล่าพื้นบ้านของโรฮิงญา)

    ในที่สุดก็ออกมาเป็นฉากเล่าเรื่องราว มีต้นบันยัน นกกาสองตัว สตรีโรฮิงญา และใบบอน  เป็นกระดานเล่านิทานกิสซา แสดงเรื่องราวให้แก่บรรดาคนไข้วัยเยาว์ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในการดูแลของ MSF

    รากเหง้าที่เริ่มเลือนราง

    “นิทานเรื่องเกี่ยวกับนกกากับต้นบันยัน ที่เรากำลังจะกล่าวขานต่อไปนี้ มันก็ช่วยให้ชุ่มชื่นหัวใจ มันทำให้เรารำลึก และสำนึกในรากเหง้าของเรา” รุฮุล กล่าว เขาเป็นสมาชิกชุมชนโรฮิงญา และเป็นเจ้าหน้าที่MSF ประจำค่ายฯ  “โดยเฉพาะกับคนรุ่นหลัง สิ่งที่ยึดโยงความเป็นเราอยู่ไว้นั้น นับวันมันก็ยิ่งเลือนรางลงไป”

    สำหรับรุฮุลแล้ว เรื่องที่หมู่ชาติพันธุ์ของเขาต้องพลัดพรากจากถิ่นกำเนิดและภูมิลำเนาเป็นเรื่องบาดใจอยู่ทุกขณะ ยิ่งชุมชนโรฮิงญาแห่งนี้ได้มีการรำลึกครบรอบ 6 ปี ตั้งแต่ที่ถูกขับไล่อย่างโหดร้ายโดยทางการทหารเมียนมา ให้ออกจากรัฐยะไข่ (Arakan) ประเทศเมียนมา ไปอยู่ในค่ายฯ ในบังกลาเทศ

    การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ไม่ใช่เป็นครั้งแรกสำหรับชาวโรฮิงญา เพราะตั้งแต่ 2525 พวกเขาก็กลายเป็นกลุ่มชนไร้รัฐ และตกเป็นเหยื่อของการกดขี่และการใช้ความรุนแรงภายในประเทศเมียนมา ซ้ำก็ถูกเหยียดเชื้อชาติและถูกกีดกันจากประเทศที่ตนลี้ภัยไป

    รุฮุลเปรียบสถานการณ์ของชาวโรฮิงญากับสุภาษิตเรื่องหยดน้ำบนใบบอน ไม่ว่าน้ำจะหยดลงไปเพียงใดก็กลิ้งไหลออกหมดไม่ทิ้งร่องรอยไว้เลย “เราอาศัยอยู่ในเมียนมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน แล้วเมื่อเรา [ถูกขับไล่] ออกไป ก็ไม่เหลือร่องรอยใดๆ  เราเป็นกลุ่มคนที่เหมือนหยดน้ำนั้น เรื่องใบบอนนี่ทำให้เราพึงระลึกไว้อยู่”

    kyssa

    ในเดือนมิถุนายน 2566 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนจับมือกับนักออกแบบเพื่อสังคม เข้าร่วมทำงานกับกลุ่มชาวโรฮิงญา อันมีคณะนักเล่าเรื่อง นักศิลปะวัยเยาว์ และช่างจักสาน ในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยกุตุปาลอง เพื่อทำกระดานเล่านิทานกิสซา บอกเล่าเรื่องราวและเผยแพร่วัฒนธรรมโรฮิงญา แก่ทั้งชนรุ่นหลังและทั่วทั้งโลก เนื่องด้วยครบรอบ 6 ปี ที่ชนชาติโรฮิงญาต้องพลัดถิ่นออกจากเมียนมา © Victor Caringal/MSF

    ความร่วมมือเพื่อชุมชน

    ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม คนไข้รุ่นเยาว์กับครอบครัวของพวกเขา และบุคลากรขององค์การฯ ในสถานพยาบาลองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ค่ายกุตุปาลอง (Kutupalong) ล้อมวงกันเพื่อฟัง “นิทานกิสซา” กับกระดานเล่าเรื่องเป็นรอบแรก  กลุ่มเด็กๆ มุงกันอยู่ข้างหน้าใกล้ต้นบันยันและนกกา แล้วนักเล่าเรื่อง มุฮัมมัด เรศวาน ข่าน ก็เริ่มต้นขึ้น

    ขณะที่เรศวานพูดเป็นภาษาโรฮิงญา เด็กๆ ก็โต้ตอบด้วย มีทั้งความชุลมุน ความเคลื่อนไหวขวักไขว่ มีเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มมากมาย

    หลังจากนั้น อรุณ เฌกัน หัวหน้าคณะทำงาน MSF ในบังกลาเทศ ได้บอกเล่าทรรศนะของเขา “การได้เห็นเพื่อนร่วมงานชาวโรฮิงญา แบ่งปันวัฒนธรรมและนิทานกิสซาของพวกเขาเป็นเรื่องสำคัญมาก บ่อยครั้งที่ชาวโรฮิงญาถูกมองว่าเป็นผู้อ่อนแอ อย่างเป็นคนเจ็บป่วย หรือเป็นคนไร้รัฐซึ่งไม่มีสถานะบุคคลในประเทศเมียนมา หรือไม่ก็เป็นพวกผู้ลี้ภัย"

    “วันนี้ เราได้เฉลิมฉลองความเป็นชาติพันธุ์ของโรฮิงญา ผ่านวัฒนธรรมของพวกเขา  ช่วงเวลาที่สนุกสนานที่เสริมสร้างคุณค่าในตนเอง ช่วยฟื้นฟูจิตใจคนไข้ชาวโรฮิงญา ซึ่งบางคนกำลังเผชิญกับสภาวะสุขภาพจิตที่หนักหนา และเฝ้ารอคอยวันที่ 25 สิงหาคมนี้”

    สำหรับแท็สแมน มุนโร ความร่วมมือระหว่างทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ มีส่วนเปลี่ยนแปลงอคติต่อชาวโรฮิงญา “ชาวโรฮิงญาถูกตีตราด้วยวาทกรรมมากมาย แต่ด้วยกระบวนการออกแบบร่วมกันนั้น สร้างวิธีที่พวกเขาจะสามารถให้นิยามแก่ตัวเองได้”

    รุฮูลมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องราวนี้

    “แม้ว่าเราจะต้องลำบากมาห้าสิบกว่าปี แต่เราก็ยังสู้ไหวอยู่  แม้ว่าแผ่นดินของเราจะถูกลิดรอนไป แต่เราก็แกร่งพอที่จะอยู่รอดได้”

     

    *เพื่อสิทธิส่วนบุคคล จึงขอสงวนนามสกุลบางส่วน