Skip to main content

    กาซา: การโจมตีต้องยุติทันทีเพื่อหยุดการนองเลือด

    Residents search for survivors in the destruction caused by airstrikes in Gaza. Palestinian Territories, October 2023. © Mohammed ABED

    ดินแดนปาเลสไตน์ ตุลาคม 2566 © Mohammed ABED

    ท่าทีและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ของเหล่าผู้นำโลกย่อหย่อนและเต็มไปด้วยความล่าช้า มติขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในส่วนของคำสั่งหยุดยิงไม่มีผลผูกพันและไม่สามารถบังคับใช้ จนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และยุติการใช้ความรุนแรงกับคนไร้ที่พึ่ง (helpless people) ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อกดดันให้อิสราเอลหยุดการนองเลือด ในเวลานี้ ผู้คนกำลังถูกสังหารและบีบบังคับให้ต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตนเอง น้ำและเชื้อเพลิงกำลังหมดลง นี่คือความทารุณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกาซา

    “พื้นที่แห่งความตายกำลังคืบคลานปกคลุม คนไร้ที่พึ่งตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วยระเบิดอย่างรุนแรง ครอบครัวไม่มีพื้นที่หลบซ่อนหรือหนี องค์การฯ ต้องการให้หยุดยิงในทันที”

    โรงพยาบาลต่างขาดแคลนเวชภัณฑ์ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ. โมฮัมเหม็ด โอไบด์ (Dr Mohammed Obeid) ศัลยแพทย์ขององค์การฯ ในพื้นที่กาซาให้รายละเอียดว่า “ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เราไม่สามารถจัดหายาสงบประสาทที่เพียงพอสำหรับการผ่าตัดและการผ่าตัดรยางค์ (ตัดแขนหรือขา) และห้องดับจิตเต็มไปด้วยร่างผู้เสียชีวิต” ซึ่งหากไม่มีการฝังร่างผู้เสียชีวิตตามขั้นตอนที่ถูกต้อง รวมถึงไม่มีการขนย้ายร่างไร้วิญญาณออกจากกองซากปรักหักพัง ผู้คนในพื้นที่ก็ยิ่งเผชิญความเสี่ยงกับการระบาดของโรคที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

    การตัดเครือข่ายการสื่อสารทั้งหมดในวันที่ 27 ตุลาคม ยิ่งจำกัดช่องทางการประสานงานและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและทางการแพทย์ มีคนติดอยู่ใต้ซากตึกพังถล่ม คุณแม่ครรภ์แก่กำลังจะคลอดบุตร ผู้สูงอายุไม่สามารถขอความช่วยเหลือในเวลาที่เขาต้องการ และเนื่องจากขาดช่องทางในการสื่อสาร องค์การฯ ไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ของเราได้

    ระบบสาธารณสุขของกาซาสามารถรองรับผู้ป่วยได้ราว 3,500 คน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับตัวเลขผู้บาดเจ็บที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินในเวลานี้ การพุ่งทะยานของตัวเลขเหยื่อในเวลาอันสั้นเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดหมาย และไม่สามารถเทียบกับทุกการโจมตีครั้งใหญ่ในอดีตได้เลย 

    คำสั่งของกองทัพให้อพยพผู้คนออกจากโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิต ขณะนี้โรงพยาบาลยังคงทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา รวมถึง โรงพยาบาลอัล ซิฟา (Al Shifa) ในเมืองกาซา ซึ่งเพื่อนร่วมงานชาวปาเลสไตน์ขององค์การฯ ทำงานอยู่ และผู้คนอีกนับหมื่นกำลังมองหาที่พักพิงเพื่อความปลอดภัย ใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และสถานพยาบาลต้องได้รับความคุ้มครองตลอดเวลา

    “พื้นที่แห่งความตายกำลังคืบคลานปกคลุม คนไร้ที่พึ่งตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วยระเบิดอย่างรุนแรง ครอบครัวไม่มีพื้นที่หลบซ่อนหรือหนี องค์การฯ ต้องการให้หยุดยิงในทันที” ดร. คริสตอส คริสตู (Dr Christos Christou) ประธานสากลองค์การฯ กล่าว “การเข้าถึงน้ำ อาหาร เชื้อเพลิง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในพื้นที่กาซา จำเป็นต้องได้รับอนุญาตให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน”

    การลงโทษแบบเหมารวมเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายมนุษยธรรมประหว่างประเทศ หากในเวลานี้ ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายล้านคนกำลังเผชิญกับการปิดล้อมอย่างไร้มนุษยธรรม

    รัฐบาลอิสราเอลยังคงปิดกั้นการนำเชื้อเพลิงเข้าไปในพื้นที่กาซา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของโรงพยาบาลและโรงผลิตน้ำดื่มสะอาดจากน้ำทะเล จากรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 7,300 ราย ส่วนตัวเลขผู้บาดเจ็บอยู่ที่ประมาณ 19,000 ราย และตัวเลขอาจพุ่งทะยานมากกว่านั้นหลังจากการทิ้งระเบิดในช่วงกลางดึกของสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการโจมตีรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม การปิดล้อมในครั้งนี้จะนำไปสู่การเสียชีวิตของพลเมืองอีกมาก เนื่องจากแพทย์ถูกบีบให้คัดเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษา ผู้คนจะอดตายจากการขาดอาหาร น้ำ หรือยารักษาโรค

    ก่อนการโจมตีครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคม กาซาเป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รถบรรทุกขนส่งสินค้าขับข้ามเข้าไปในพื้นที่ 300-500 คันต่อวัน  หากนับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมจนถึงวันนี้ที่มีการเปิดจุดผ่านแดนราฟาห์ (Rafah) อีกครั้ง รถบรรทุกเพียง 84 คันเท่านั้นที่ได้ผ่านแดนเข้าไป ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการความช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกาซา

    การอนุญาตให้ผู้คนที่ต้องการข้ามพรมแดนเพื่อความปลอดภัยสามารถออกจากพื้นที่กาซาได้เป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยไม่กระทบต่อสิทธิในการกลับเข้าไปยังพื้นที่ในอนาคต เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศขององค์การฯ ที่ทำงานอยู่ในกาซาก่อนเกิดสงครามยังคงติดอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้และไม่สามารถปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมได้อีกต่อไป กลุ่มคนเหล่านี้ก็ต้องได้รับอนุญาตให้ข้ามออกไปยังชายแดนฝั่งอียิปต์เช่นกัน

    เจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์บางส่วนจากจำนวนทั้งหมด 300 คนขององค์การฯ ได้อพยพทั้งครอบครัวไปทางใต้ของกาซาเพื่อหลบภัยระเบิด ส่วนเพื่อนร่วมงานบางส่วนเลือกที่จะทำงานและช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บอยู่ในโรงพยาบาลทั่วทั้งฉนวนกาซา ท่ามกลางอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้ทุกเมื่อ

    “องค์การฯ พร้อมที่จะยกระดับการทำงานเพื่อช่วยเหลือ เราได้เตรียมทีมงานเพื่อส่งเวชภัณฑ์และจะเดินทางเข้าไปยังกาซาเพื่อปฏิบัติการทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีที่ได้รับคำอนุญาตให้เข้าพื้นที่” ดร. คริสตูกล่าว ”หากการช่วยเหลือทางการแพทย์ทั้งหมดจะไม่มีความหมายใด ถ้าการโจมตีอย่างรุนแรงด้วยระเบิดยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้”

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน

    บริจาควันนี้เพื่อสนับสนุนการทำงานด้านการแพทย์ในสถานกาณ์ฉุกเฉินกับองค์การฯ