Skip to main content

    ปาเลสไตน์: กองกำลังทหารและผู้ตั้งถิ่นฐานอิสราเอลกับการยกระดับความรุนแรงในเขตเวสต์แบงก์

    Jenin

    มัสยิดในค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน (Jenin) ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม โดยมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 2 ราย - ดินแดนปาเลสไตน์  25 ตุลาคม 2566 © Faris Al-Jawad/MSF

    ชายหนุ่มคนนั้นได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนบริเวณหน้าท้องและต้นขาส่วนล่าง เขาถูกวางลงบนเปลหามอย่างรีบเร่งเข้าไปเข้าในห้องฉุกเฉินเพื่อตรวจสอบอาการและทำแผลเบื้องต้น จากนั้นก็รีบส่งต่อไปยังห้องผ่าตัด

    ผู้ป่วยส่วนใหญ่ของเราบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณหน้าท้องและขา บางคนตับและม้ามแตก ส่วนหลายคนได้รับบาดเจ็บที่หลอดเลือดอย่างรุนแรง หนึ่งในเรื่องน่าเศร้าที่เราประสบ คือชายคนหนึ่งเดินกำลังเดินออกไปด้านนอกโรงพยาบาล แต่กลับถูกพลซุ่มยิงสาดกระสุนที่ศีรษะ ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เรากำลังรักษาอยู่เข้ามาด้วยอาการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

    -- ดร.เปโดร เซอร์ราโน (Dr Pedro Serrano) แพทย์ประจำแผนกผู้ป่วยหนักขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน

    นับตั้งแต่สงครามนองเลือดในกาซาเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ความรุนแรงก็ปกคลุมไปทั่วเขตเวสต์แบงก์ แพทย์ฉุกเฉินขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières - MSF) ในเมืองเจนินถูกเรียกตัวไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลภาครัฐเกือบทุกคืน อันเนื่องมาจากการรุกคืบและโจมตีพื้นที่จากกองทัพอิสราเอลด้วยรถถังและกำลังรบภาคพื้นดิน ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เฉพาะในเมืองเจนิน* กองทัพอิสราเอลได้สังหารประชาชนไปแล้ว 30 รายและบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 162 ราย

    ผู้ช่วยแพทย์ท้องถิ่นต้องใช้รถสามล้อเครื่องหรือตุ๊กตุ๊ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการส่งต่อจากองค์การฯ ขับซอกแซกไปตามซอกซอยคับแคบภายในค่ายผู้ลี้ภัยเจนินเพื่อรับผู้บาดเจ็บ เนื่องจากทางกองทัพอิสราเอลมีการปิดกั้นทางเข้าค่ายผู้ลี้ภัยบ่อยครั้ง เป็นอุปสรรคต่อการนำรถพยาบาลเข้าไปในพื้นที่เพื่อนำตัวผู้บาดเจ็บสาหัสไปส่งยังโรงพยาบาลให้ทันเส้นตาย

    ช่วงค่ำคืนอันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ส่วนด้านนอกของโรงพยาบาล กลุ่มหน่วยแพทย์ฉุกเฉินกำลังมองรถพยาบาลที่เต็มไปด้วยรอยกระสุนเจาะด้วยสายตาว่างเปล่า เจ้าหน้าที่รายหนึ่งบอกว่าพวกเขาถูกยิงขณะที่พยายามเข้าไปหาผู้บาดเจ็บในค่ายลี้ภัย บีบให้พวกเขาต้องหนีออกจากรถพยาบาลและซ่อนตัวอยู่บนพื้นราว 20 นาที จนกระทั่งกองทัพอิสราเอลถอนกำลัง

    หลักฐานของการทำลายล้างไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ตัวเลขผู้บาดเจ็บจากกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิดในโรงพยาบาลเจนิน หากยังรวมถึงเศษซากตึกที่พังราบเป็นหน้ากลองในเมืองนี้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและตึกอารามที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์ต่างถูกทำลายด้วยรถแทรกเตอร์และรถถัง

    การบุกรุกและเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ได้เกิดเพียงแค่ในเจนินเท่านั้น ตามรายงานจากทางการปาเลสไตน์ นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ทั่วทั้งพื้นที่เวสต์แบงก์มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้ว 165 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,400 ราย

    จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานปาเลสไตน์ ชาวกาซามากกว่า 6,000 รายที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อิสราเอลก่อนเกิดสงครามและถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน ตอนนี้ต้องอาศัยอยู่ในศูนย์ผู้พลัดถิ่นทั่วเขตเวสต์แบงก์

    องค์การฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์ผู้พลัดถิ่นหลายแห่งเพื่อส่งต่อเวชภัณฑ์การแพทย์ อาทิ ยาสำหรับโรคไม่ติดต่อ  และยังมีการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ผู้ป่วยบางรายได้บอกกับองค์การฯ ว่าระหว่างที่พวกเขาถูกกองทัพอิสราเอลควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พวกเขาถูกทำร้ายร่างกาย ดูถูกดูแคลน และเหยียดหยาม

    “ระหว่างรักษาผู้ป่วยบางราย เราพบว่าบนร่างกายของพวกเขามีร่องรอยการมัดและทำร้ายร่างกาย ซึ่งพวกเขาเล่าว่าเป็นการกระทำของกองทัพอิสราเอล และเขาบอกว่าถูกทรมานหลายชั่วโมงก่อนมีการปล่อยตัวที่ชายแดนเขตเวสต์แบงก์”

    -- ยานิส อนาญอสโต (Yanis Anagnostou) ผู้จัดการด้านกิจกรรมภาคสุขภาพจิตขององค์การฯ ในเมืองเจนิน

    airstrike, Jenin refugee camp. Palestine, 25 October 2023 © MSF/Faris Al-Jawad

    เสื้อผ้าเปื้อนเลือดและสมุดการบ้านบางส่วนกระจายอยู่ทั่วบริเวณในค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน โดยพื้นที่นี้มีรายงานการโจมตีทางอากาศ คร่าชีวิตผู้ใหญ่ 2 ราย เด็ก 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัสราว 20 คน - ดินแดนปาเลสไตน์ 25 ตุลาคม 2566 © MSF/Faris Al-Jawad

    ความรุนแรงและการบังคับให้พลัดถิ่น  

    ในเมืองฮีบรอน (Hebron) ทางตอนใต้ของเขตเวสต์แบงก์ ปรากฏการใช้ความรุนแรงที่มีจุดเชื่อมโยงกับกองทัพและผู้ตั้งถิ่นฐานอิสราเอล เกิดการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ในเมืองต้องย้ายถิ่นฐาน รวมถึงมีการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ พลเมืองรายหนึ่งที่ทำงานอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่ปี 2544 บอกกับทีมงานขององค์การฯ ว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยแม้กระทั่งการเดินบนถนน นอกจากนี้ยังมีการจำกัดการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหรือสถานพยาบาล

    จากการรายงานของสหประชาชาติ (United Nations) นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม ครอบครัวชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 111 ครอบครัว หรือราว 905 ชีวิต ถูกบีบให้เหลือทางเลือกเดียวคือการทิ้งบ้านของตนเองในเขตเวสต์แบงก์ เนื่องจากกองทัพและผู้ตั้งถิ่นฐานอิสราเอลได้ทำการข่มขู่และใช้ความรุนแรงกับคนในพื้นที่

    ครอบครัวหลายสิบครอบครัวที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากบ้านของตัวเองปักหลักอยู่บริเวณทางตอนใต้ของเนินเขาฮีบรอน (South Hebron Hills) มีสองครอบครัวที่เผชิญกับสถานการณ์ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลจุดไฟเผาบ้าน ขโมยแผงโซลาร์เซลล์และถังเก็บนำ้ของพวกเขา ซึ่งทีมงานขององค์การฯ ได้ให้ทำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและเสบียงยังชีพสำหรับผู้พลัดถิ่น

    ทีมงานขององค์การฯ ในเมืองฮีบรอน ยังส่งต่อสิ่งของบรรเทาทุกข์พื้นฐานกับครอบครัวผู้พลัดถิ่น อาทิ ผ้าห่ม เสื่อปูรอง และเครื่องทำความร้อน รวมถึงการให้การสนับสนุนด้านบริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตกับกลุ่มคนที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงหรือถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน

    “มีผู้หญิงคนหนึ่งบอกกับฉันว่า บ้านของเธอถูกเผาราบเป็นหน้ากลอง จนตอนนี้เธอยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดกลัว และหวาดระแวงอยู่ เธอเล่าต่อไปว่า ‘ฉันไม่เคยคิดว่าจะต้องจากบ้านและแผ่นดินของฉันแบบนี้ แต่ฉันไม่สามารถปล่อยให้ครอบครัวและลูกชายของฉันตกอยู่ในความเสี่ยงได้ ฉันไม่เห็นอนาคตเลย ตอนนี้มันไร้หนทางและไร้ทางสู้’ เมื่อผู้คนต้องเผชิญกับความรุนแรงและรู้สึกไม่ปลอดภัย มันเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกไร้อนาคตและหมดทางสู้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก”

    -- มาเรียม กาบาส (Mariam Qabas) ผู้บริหารงานส่งเสริมสุขภาพขององค์กรฯ ในเมืองฮีบรอน

    องค์การฯ เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลหยุดปฏิบัติการในเขตเวสต์แบงก์ เพื่อยุติความรุนแรงและการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่น รวมถึงหยุดการประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดที่กระทบกับความสามารถในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและการรักษาพยาบาล

    การโจมตีด้วยระเบิดและการลงโทษแบบเหมารวมต่อประชาชนในกาซายังคงดำเนินต่อไป เขตเวตส์แบงก์เต็มไปด้วยการนองเลือดและการกระทำไร้ขื่อแป การยุติการโจมตีและการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นโดยทันที

    ซูฮีร์ (Zouhir) คือหนึ่งในชาวกาซาพลัดถิ่นทั่วเขตเวตส์แบงก์ที่ต้องอาศัยอยู่กลางสนามกีฬาที่แออัดไปด้วยผู้คนในเมืองเจนิน เขายังคงติดตามข่าวสารของฝั่งกาซาอย่างต่อเนื่อง

    “ความทุกข์ระทมของพวกเราทุกวันนี้คือการถูกพรากไปจากครอบครัวและลูกหลาน เราติดต่อกับลูกๆ ในกาซาแล้วต่างคนต่างร้องไห้ออกมา ฉันภาวนาว่าพวกเขาจะส่งฉันกลับไปเจอลูกหลานของฉันในกาซา มันทรมานกับการรู้ว่าเราไร้หนทางสู้และไม่สามารถทำอะไรได้เลย”

    -- ซูฮีร์ (Zouhir) ชาวกาซาในเขตเวตส์แบงก์