Skip to main content

    กาซา: อิสราเอลต้องหยุดปฏิบัติการณ์เปื้อนเลือด

    People stand in front of a bombed out building in Rafah

    ชาวปาเลสไตน์ยืนบริเวณหน้าอาคารที่ถล่มจากการโจมตีด้วยระเบิดในราฟาห์ - ดินแดนปาเลสไตน์ 10 พฤษภาคม 2567 

    ศูนย์เยรูซาเลม ปารีส บรัสเซลส์ และบาเซโลนา วันที่ 28 พฤษภาคม

    สืบเนื่องจากการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council หรือ UNSC) ภายหลังจากที่กองทัพอิสราเอลโจมตีเต็นท์อันเป็นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งตั้งอยู่ใน พื้นที่มนุษยธรรมทางตอนใต้ของกาซา องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSFเรียกร้องให้มีการหยุดปฏิบัติการทางการทหารในเมืองราฟาห์ (Rafah) และทุกการกระทำอันโหดร้ายในพื้นที่กาซาทันที โดยแผนการโจมตีของกองทัพอิสราเอลที่มุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่นย่อมนำไปสู่การสังหารหมู่พลเมืองในท้ายที่สุด

    มันคือการสังหารหมู่พลเมือง พวกเขาถูกต้อนให้ถอยเข้าไปยังพื้นที่ที่ได้รับคำยืนยันว่าเป็นปลอดภัย ก่อนจะปรากฏว่านั่นคือจุดล็อกเป้าหมายสำหรับการโจมตีทางอากาศและการต่อสู้อย่างรุนแรง สมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ที่บางครั้งอาจมากถึง 12 ชีวิตต่างต้องเบียดเสียดกันอยู่ภายในเต็นท์ ใช้ชีวิตใต้สถานการณ์แร้นแค้นแสนยากลำบาก และเมื่อกองทัพอิสราเอลดำเนินปฏิบัติการทางการทหารในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตอนนี้มีพลเมืองมากกว่า 900,000 ชีวิตถูกบังคับให้พลัดถิ่นอีกครั้ง
    คริสโตเฟอร์ ล็อกเยียร์ เลขาธิการใหญ่

     

    ในวันนี้ หน่วยสาธารณสุขท้องถิ่นระบุว่า การที่กองทัพอิสราเอลใช้ระเบิดโจมตีเต็นท์ในค่ายผู้ลี้ภัยในอัล มาวาซี (Al-Mawasi) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของกาซานั้น มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 21 ราย และบาดเจ็บอีก 64 ราย

    เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้ป่วยในจุดประคองอาการและความบอบช้ำทางจิตใจที่องค์การฯ สนับสนุนการดำเนินการอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทัล อัล ซัลทัน (Tal Al-Sultan) ในเมืองราฟาห์นั้นถูกบังคับให้หลบหนีออกจากพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 27 พฤษภาคม จากสถานการณ์ความรุนแรงที่รุกคืบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และนั่นหมายความว่าทุกกิจกรรมทางสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งหมด การบังคับให้ผู้คนอพยพออกจากสถานพยาบาลในครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากกองทัพอิสราเอลเปิดปฏิบัติการณ์โจมตีทางอากาศบริเวณ 'พื้นที่ปลอดภัย' ในรอบ 24 ชั่วโมงก่อนหน้า ซึ่งสังหารผู้คนอย่างน้อย 49 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 250 ราย

    สำหรับตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ ณ จุดประคองอาการบันทึกจำนวนผู้เข้ารับการรักษาภายหลังจากได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยหมู่ครั้งดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต 31 ราย และได้รับบาดเจ็บ 180 ราย บางส่วนมีบาดแผลไฟไหม้อย่างรุนแรง แผลจากสะเก็ดระเบิด กระดูกหักหรือร้าว รวมถึงได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการรักษาเบื้องต้นและมีการส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหลายแห่งในเมืองอัล มาวาซี (Al-Mawasi) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ เนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สามารถรองรับผู้ป่วยจากอุบัติภัยหมู่ได้อีกแล้ว

    “เสียงปะทะ เสียงระเบิด และเสียงปล่อยจรวด นั่นคือสิ่งที่พวกเราได้ยินตลอดค่ำคืนที่ผ่านมา ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่าข้างนอกนั้นเกิดอะไรขึ้นกันแน่” ดร. ซาฟา จาเบอร์ (Dr Safa Jaber) นรีแพทย์ องค์การฯ ผู้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทัล อัล ซัลทันร่วมกับครอบครัวเอ่ย

    เราหวาดกลัวว่าบางสิ่งเกิดขึ้นกับตัวเอง เรากังวลว่าบรรดาลูกของเราจะเป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากความคาดหมาย หรือเรายังต้องหนีอีกครั้งอย่างนั้นเหรอ แค่ในเวลานี้ พวกเราต่างเผชิญความยากลำบากและไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งปรารถนาสำหรับการมีชีวิตอยู่
    ดร. ซาฟา จาเบอร์ นรีแพทย์

    ปฏิบัติการในราฟาห์ทวีความรุนแรง ภายหลังคำตัดสินหยุดยิงจากศาลโลก

    นับเป็นเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ออกคำตัดสินให้หยุดปฏิบัติการทางการทหารในเมืองราฟาห์ ทันที และเปิดโอกาสให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างยิ่งยวด หากความช่วยเหลือที่มีความหมายเหล่านั้นไม่สามารถเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ปิดตายได้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากกองทัพอิสราเอลได้ยกระดับความรุนแรงในการโจมตีระลอกใหม่ รวมถึงการโจมตีสถานพยาบาลอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นกัน

    ทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางการทหารของอิสราเอลในสถานการณ์ข้างต้นต้องร่วมรับผิดทั้งเชิงจริยธรรมและทางการเมือง องค์การฯ เรียกร้องให้เหล่าบรรดาประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา (United States) สหราชอาณาจักร (United Kingdom) และสมาชิกชาติยุโรป (European Union) พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อกดดันให้อิสราเอลหยุดการปิดล้อมพื้นที่กาซา และหยุดการโจมตีพลเมืองและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลเมือง

    นับเป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้วที่สงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น พื้นที่กาซาไม่มีเหลือสถานพยาบาลแม้แต่แห่งเดียวที่สามารถรองรับอุบัติภัยหมู่ดั่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้ โดยในวันเดียวกันนั้นมีการโจมตีทางอากาศบริเวณโรงพยาบาลคูเวติ (Kuwaiti) สังหารเจ้าหน้าที่ 2 รายและโรงพยาบาลจำเป็นต้องหยุดให้บริการทั้งหมด ตามมาด้วยการยุติปฏิบัติการตรงจุดประคองอาการที่องค์การฯ เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยทัล อัล ซัลทัน ผู้คนที่อยู่ภายในโรงพยาบาลของเมืองราฟาห์แทบทุกแห่งถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่ จากเหตุที่โครงสร้างไม่สามารถรองรับการทำงานได้ทั้งหมดหรือว่าสามารถทำงานได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่งผลให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องเกินเอื้อม

    พลเมืองนับแสนรายตกเป็นเป้าหมายของการลงโทษแบบเหมารวม (collective punishment) ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและทารุณ นอกจากการโจมตีด้วยระเบิด การปิดไม่ให้ความช่วยเหลือเข้ามาในพื้นที่กาซาคือการกั้นไม่ให้องค์การฯ สามารถทำงานต่อไปได้ ผู้คนต่างล้มตายเพราะเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมถูกกีดกันไม่ให้ทำหน้าที่ของตนเอง
    คาริน ฮูสเตอร์ ผู้แทนโครงการทางการแพทย์

    นอกจากนี้ กองทัพอิสราเอลยังคงทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องและยังปรากฏการต่อสู้อย่างหนักหน่วงบริเวณทางตอนเหนือของกาซา ซึ่งนั่นหมายความถึงการปิดตายเส้นทางการเข้าไปในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม โรงพยาบาลหลายแห่งทางตอนเหนือเกิดเพลิงไหม้ หรือว่าเป็นเป้าหมายของการทำลายล้างให้สิ้นซาก ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลอัล อาวดา (Al-Awda) และคามาล อัดวาน (Kamal Adwan) โดยมีรายงานว่าโรงพยาบาลคามาลนั้นถูกโจมตีด้วยระเบิดในวันนี้อีกระลอก ในส่วนของโรงพยาบาลอัล อักซอ (Al-Aqsa) ในเมืองเดียร์ อัล บาลาห์ (Deir al Balah) และนาสเซอร์ (hospital) ในเมืองข่าน ยูนิส (Khan Younis) มีรายงานว่ากำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงและอาจจะต้องปิดตัวลงในอีกไม่ช้า

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งในสงครามเคารพและให้ความคุ้มครองสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และผู้ป่วย

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้กองทัพอิสราเอลระงับปฏิบัติการณ์ทางการทหารในเมืองราฟาห์ และเปิดจุดผ่านแดนราฟาห์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์มีเพียงพอสำหรับความต้องการ

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันทีและถาวรในกาซา

     

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้