Skip to main content

    กาซา: ใต้สงครามที่ยังคงอยู่ ปัญหาสุขภาพจิตในหมู่เจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

    Palestinian MSF doctors discussing before operation for war injured inside Nasser hospital in November 2023. © MSF

    แพทย์จากองค์การฯ ประชุมก่อนเริ่มต้นการผ่าตัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลนาสเซอร์ - ดินแดนปาเลสไตน์ 29 พฤศจิกายน 2566 © MSF

    • เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ ค้นพบระดับของอาการที่พบในหมู่เจ้าหน้าที่ที่เชื่อมโยงกับระดับความตึงเครียดและความเหนื่อยล้า
    • ระดับความตึงเครียดและความบอบช้ำทางจิตใจที่ก่อตัวและยังคงสะสมอย่างต่อเนื่องกำลังกร่อนระดับความแข็งแรงด้านจิตใจของผู้คนในกาซา และรวมถึงเจ้าหน้าทีทางการแพทย์ที่พยายามท่องบอกให้รับผิดชอบการทำงานอย่างเต็มที่ และไม่คิดถึงสงคราม
    • การโจมตีทางกองทัพอิสราเอลในเมืองราฟาห์คือหายนะและจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

    ผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือนนับตั้งแต่สงครามกาซาเริ่มต้น เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่กาซาต่างได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือกับผู้คนนับหมื่นชีวิตไปพร้อมกับความพยายามรักษาสวัสดิภาพทางกายและทางใจของตัวเองเช่นกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสุขภาพจิตขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières – MSF) เปิดเผยเรื่องราวการทำงานในสถานการณ์อันยากเกินจินตนาการที่ทิ้งรอยร้าวลึกในใจ

    เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์บางส่วนในกาซา ดินแดนปาเลสไตน์ บอกว่าพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวความเครียด และความวิตกกังวล ในขณะที่สองมือของพวกเขายังคงต้องรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับผู้เสียชีวิตจำนวนมากในคราวเดียว ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดและมีอาการบาดเจ็บตามร่างกายรวมถึงแผลไฟไหม้ หรือต้องดำเนินการตัดอวัยวะอย่างแขนขาโดยไม่ได้ให้ยาชาหรือให้ในปริมาณที่น้อยกว่าข้อกำหนด พวกเขาเผชิญกับตัวเลขของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอกับการรักษาผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากเส้นทางการขนส่งเสบียงและอุปกรณ์ถูกปิดตายโดยสิ้นเชิงในช่วงหลายเดือนแรกของสงคราม นอกจากนี้ พวกเขายังต้องหนีออกจากพื้นที่โรงพยาบาลโดยทิ้งชีวิตผู้ป่วยเอาไว้เบื้องหลังเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง ภายหลังจากคำสั่งอพยพหรือการโจมตีจากกองทัพอิสราเอล

    ความรับผิดชอบแสนหนักอึ้งในภาวะสงคราม

    ดร. ออเดรย์ แม็คมาฮอน (Dr Audrey McMahon) จิตแพทย์ขององค์การฯ เล่าประสบการณ์การทำงานภายในพื้นที่ดินแดนปาเลสไตน์ว่า เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกาซาต่างทำงานใต้ความกดดันที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตตลอดเวลา

    เมื่อมีการโจมตีด้วยระเบิดหรือว่าปัจจัยเรื่องความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ถูกบังคับให้เลือกรักษาชีวิตของตัวเองแล้วทิ้งผู้ป่วยเอาไว้เบื้องหลัง เจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยตกอยู่ใต้ความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำอะไรเพื่อผู้ป่วยได้ เธอเกริ่น “หรือการตัดสินใจอาจมาในรูปแบบของการบีบให้เลือกระหว่างการปกป้องครอบครัวของตนเองหรือการเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วย”

    หนึ่งในเจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์กว่า 300 ชีวิตคือ รูบา ซูลิมาน (Ruba Suliman) เธอทำงานอยู่ในโรงพยาบาลสนามราฟาห์ อินโดนีเซียน (Rafah Indonesian) และกลายเป็นผู้พลัดถิ่นที่อาศัยร่วมกับสามีและบุตร 2 ชีวิตในสถานที่พักพิงเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของกาซา

    เราได้ยินได้เสียงโครนตลอดเวลา และมันกระทบกับการนอนของเราเป็นอย่างมาก นอกจากความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้คนรอบตัวฉัน ฉันก็ยังต้องรับผิดชอบในชีวิตของลูกๆ ด้วยเช่นกัน เรายังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรารู้สึกปลอดภัย เราต่างเหนื่อยล้า ผู้คนที่นี่ต่างสิ้นหวัง
    ดร. รูบา ซูลิมาน

    เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกาซาต่างเผชิญกับความยากลำบากไม่ต่างกับประชาชนราว 2.2 ล้านชีวิตที่อาศัยอยู่อย่างแออัดทางตอนใต้ของกาซา แพทย์ พยาบาล และผู้ประสานงานในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างสูญเสียบ้านของพวกเขา ตอนนี้หลายรายอาศัยอยู่ในเต็นต์ และพวกเขาต่างผ่านประสบการณ์การสูญเสียคนในครอบครัวหรือว่าเพื่อนฝูง

    มันไม่ใช่แค่การสูญเสียบ้าน แต่มันคือการสูญเสียตัวตน แพทย์ชาวปาเลสไตน์ขององค์การฯ อีกรายเอ่ย “ไม่ว่าจะเป็นกาแฟแก้วโปรด รูปถ่ายของคุณแม่ หรือว่ารองเท้าคู่ประจำ”

    การแลกเปลี่ยนและความสูญเสีย

    ความเจ็บปวดและความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สุขภาพจิตของพลเมืองกาซาย้ำแย่ลงไปทุกขณะ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็เช่นกัน พวกเขาท่องบอกตัวเองว่านี่คือการทำงานและอย่าคิดถึงสงครามมากนัก แต่มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขาต่างเคยจินตนาการว่าในวันหนึ่งผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวเข้ามาในโรงพยาบาลอาจเป็นบุคคลที่พวกเขารักเช่นกัน

    “เจ้าหน้าที่ต่างทำงานแม้ว่าสภาพจิตใจจะแกว่งไหวแค่ไหน พวกเขาต่างกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว” จิเซลา ซิลวา กอนซาเลซ (Gisela Silva Gonzàlez) ผู้จัดการด้านกิจกรรมด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ เอ่ย “แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์มันตึงเครียดมากพออยู่แล้ว มันยังเพิ่มระดับขึ้นระหว่างการทำงานในทุกวินาที ยิ่งมีผู้ป่วยส่งตัวเข้ามาในโรงพยาบาลมากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ของเราอาจรับมือกับความรู้สึกที่ก่อตัวขึ้นมาไม่ได้มากเท่านั้น”

    Patients and people sheltering in Al Aqsa hospital in Middle Area, Gaza. Palestinian Territories, 29 November 2023. © MSF

    ผู้ป่วยและผู้พลัดถิ่นในโรงพยาบาลอัล อักซอ (Al Aqsa) ทางตอนกลางของกาซา - ดินแดนปาเลสไตน์ 29 พฤศจิกายน 2566 © MSF

    เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ ในกาซา เล่าว่าอาการที่ปรากฎในเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มีความเชื่อมโยงกับระดับความเหนื่อยล้าและความตึงเครียดที่ยังคงก่อตัวไม่มีวันหยุด พวกเขามีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ความคิดที่จะหลีกหนีสังคม และฝันร้าย ซึ่งสามารถวัดค่าระดับความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตได้

    องค์การฯ กำลังพยายามเป็นอย่างยิ่งในการให้บริการด้านสุขภาพจิตกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แม้ว่าการยกระดับการทำงานจะยังคงเป็นเรื่องยากลำบากในเวลานี้ ดาวิเด้ มูซาร์โด (Davide Musardo) ผู้จัดการกิจกรรมด้านสุขภาพจิตขององค์การฯ ในกาซาเสริมว่าการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในมิติของสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ยากกว่าการทำงานร่วมกับผู้ป่วย เนื่องจากพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการทำงาน

    “เราใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างออกไปสำหรับเจ้าหน้าที่ และมีการเจาะจงในเรื่องประสบการณ์การทำงานที่มากกว่ามูซาร์โดกล่าว “เราต้องใช้การแทรกแซงทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เปิดใจและเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวที่พวกเขาเผชิญอยู่ องค์การฯ จึงต้องนำบริการที่ผ่านการศึกษาด้านจิตวิทยาที่มีความเฉพาะทางมากกว่ามาปรับใช้

    ความรุนแรงในราฟาห์ยิ่งยกระดับความตึงเครียด

    ความปลอดภัยคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำเนินการรักษาและให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต และในสถานการณ์ที่ไม่มีเศษเสี้ยวพื้นที่ไหนที่มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ มันไม่มีพื้นที่ไหนหรือว่ามีประชากรคนใดใช้ชีวิตอยู่ในกาซาได้อย่างปลอดภัย จากรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกกว่า 34,000 ราย โดย 499 รายเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การฯ 5 ราย

    “เวลาที่เราพูดว่า มันไม่มีที่ปลอดภัยในกาซา เราไม่ได้หมายถึงที่พักอาศัยเท่านั้น อัมปาโร วิลลามิล (Amparo Villasmil) จิตแพทย์ขององค์การฯ ที่ทำงานในกาซาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเอ่ย

    มันรวมถึงความปลอดภัยทางด้านจิตใจเช่นกัน พวกเขาอาศัยอยู่ในภาวะที่ต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมตลอดวลา พวกเขานอนหลับไม่ได้ มันมีความคิดที่ย้ำไปมาว่าความตายสามารถก้าวเข้ามาทักทายได้ทุกขณะจิต หากพวกเขาเลือกหลับตาและนอนหลับลง มันอาจเสียโอกาสในการหลบหนีหรือปกป้องครอบครัวอย่างทันท่วงที
    อัมปาโร วิลลามิล จิตแพทย์

    วิลลามิลยังบอกต่อว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพลเมืองในเมืองราฟาห์ต่างรู้สึกว่ากำลังถูกไล่ล่าและหลอกหลอนจากการโจมตีของกองทัพอิสราเอล ภายใต้เมืองที่มีผู้คนราว 1.5 ล้านชีวิตอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นและแออัด

    “ครั้งหนึ่งผมสวนทางกับเพื่อนร่วมงานตำแหน่งจิตแพทย์ตรงบันได เพื่อนคนนั้นมันจะเป็นคนร่าเริงและเต็มไปด้วยพลังงาน แต่ในวันนั้นผมพบเขาในสภาพที่พักศีรษะอยู่บนเข่า เขาเล่าให้ผมฟังทั้งน้ำตาว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากแค่ไหนสำหรับเขา” วิลลามิลเล่าความหลังว่าภายหลังจากที่มีการยืนยันเรื่องการโจมตีในราฟาห์ ผู้ร่วมงานของเขาตกอยู่ในอาการเช่นไร “เขาถามผมกลับว่าเขาควรทำอย่างไรต่อไป เขาควรจะเดินทางไปที่ไหน และเมื่อไหร่สงครามในครั้งนี้จะจบลง และผมไม่สามารถหาคำตอบให้เขาได้เลย”

    องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันทีและถาวรในกาซา เพื่อหยุดตัวเลขผู้เสียชีวิตและคืนชีวิตให้กับพลเมืองในกาซา

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้