Skip to main content

    กาซา: ทุกอย่างมลายหายไป ไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่อนาคต

    Children take part in a play therapy session at Al-Nasser hospital in Khan Younis.

    เด็กตัวน้อยเข้าร่วมกิจกรรมเล่นบำบัดภายในโรงพยาบาลนาสเซอร์ เมืองข่าน ยูนิส หน่วยสุขภาพจิตขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนใช้กิจกรรมบำบัดดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่เด็กเหล่านี้กำลังเผชิญ และช่วยคงระดับอารมณ์ - ดินแดนปาเลสไตน์ มิถุนายน 2567 © MSF

    จากความโหดร้ายน่ากลัวที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในกาซา ดินแดนปาเลสไตน์ เจ้าหน้าที่องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF - Médecins Sans Frontières) ในเมืองราฟาห์ (Rafah) และพื้นที่ทางตอนกลางเห็นการขยายตัวของปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและผู้ใหญ่ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาองค์การฯ ได้ให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตในกาซาไปแล้วมากกว่า 8,800 ราย

    ดาวิเด้ มูซาร์โด้ (Davide Musardo) นักจิตวิทยาขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน  เพิ่งเดินทางออกจากกาซามาได้ไม่นาน ที่นั่นเขาช่วยเหลือชาวกาซาในด้านปัญหาสุขภาพจิตที่พบเจอ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายและการทิ้งระเบิดที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง เขาสะท้อนประสบการณ์จากเรื่องราวหลอกหลอนผู้คนที่ยังต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ยากจะยอมรับได้

    “ในการพูดคุยให้คำปรึกษาบางครั้ง เราต้องตะโกนเพื่อให้อีกฝ่ายได้ยิน ให้กลบเสียงอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนและเสียงระเบิด เวลาที่ด้านนอกไม่มีการต่อสู้เกิดขึ้น เสียงที่ได้ยินก็คือเสียงร้องไห้ของเด็กๆ ในโรงพยาบาล เด็กได้รับบาดเจ็บหรือพิการจากไฟไหม้และไร้ผู้ปกครอง บางคนมีอาการของโรคตื่นตระหนก (panic attacks) เนื่องมาจากความเจ็บปวดทางร่างกายที่กระตุ้นให้เกิดบางแผลทางจิตใจ ความเจ็บปวดย้ำเตือนและทำให้นึกถึงเหตุระเบิดที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล เด็กๆ ที่ไม่ตื่นตระหนกก็จะวาดรูปโดรนและเครื่องบินทหาร สงครามอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่งแม้แต่ในโรงพยาบาล กลิ่นคาวเลือดยากที่จะทานทน เหล่านี้เป็นภาพความทรงจำที่ผมได้กลับมาจากกาซา

    มันไม่มีประสบการณ์ไหนในชีวิตที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับที่สิ่งที่เจอในกาซา ในบรรดาผู้ป่วยที่นั่น ผมสังเกตเห็นว่าพวกเขามีสิ่งที่เหมือนกันคือผิวที่ไหม้จนคล้ำ ซึ่งเป็นเพราะพวกเขาอยู่ท่ามกลางแดดตลอดวัน น้ำหนักลดลงเพราะขาดแคลนอาหาร ผมหงอกที่เป็นผลมาจากความเครียดจากสงครามที่ดำเนินมาหลายเดือน ใบหน้าของพวกเขาไร้การแสดงอารมณ์ อารมณ์แห่งความสูญเสีย ความเสียใจ และความเศร้าหมอง คนที่สูญเสียทุกอย่างไป”

    “ฉันคิดถึงสิ่งเล็กๆ น้อย ๆ คิดถึงรูปภาพของแม่ที่ตายเมื่อหลายปีก่อน แก้วที่ใช้ดื่มกาแฟ ฉันคิดถึงกิจวัตรประจำวันของฉันมากกว่าบ้านที่เสียหายไปซะอีก” ผู้ป่วยคนหนึ่งบอกกับผม

    “ฉันไม่ได้ดื่มน้ำสะอาดมาหลายเดือนแล้ว นี่คือชีวิตแบบไหนกัน” ผู้ป่วยอีกคนถามผม

    ในฐานะมนุษย์ เรามักจะเล่าความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่เราต้องเจอ แต่เราจะเล่าเรื่องเศร้าได้อย่างไรให้กับคนที่เจอเรื่องเดียวกับคุณ เหตุนี้ทำให้เราเห็นความสำคัญของการให้พื้นที่การรับฟังที่ปลอดภัยกับผู้ป่วย รวมถึงหมอและพยาบาลชาวปาเลสไตน์ที่ทำงานแบบไม่ได้หยุดมาเป็นระยะเวลามากกว่าแปดเดือน

    ที่อิตาลี เราลบภาพที่ไม่ชัดและภาพที่ไม่ต้องการแล้วออกจากโทรศัพท์ แต่ในกาซาผู้คนลบรูปสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตจากระเบิด โดยหวังว่าการที่ไม่เห็นพวกเขาจะทำให้ทุกข์ทรมานน้อยลง

    ผมเคยเห็นคนสติแตกเมื่อได้ยินคำสั่งอพยพ บางคนต้องเปลี่ยนที่อยู่มากถึง 12 แห่งในระยะเวลาแปดเดือน “ฉันจะไม่ย้ายเต็นท์ไปไหนอีกแล้ว ให้ฉันตายไปเลยก็ได้” เสียงบอกเล่าอีกเสียง 

    ในกาซา แม้ว่าจะรอดชีวิตมาได้ แต่ผลกระทบจากความสูญเสียยังคงมีอยู่

    ทุกอย่างมลายหายไป ไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่อนาคต ความเจ็บปวดรวดร้าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้คนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นระเบิด การต่อสู้ และการไว้อาลัย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ต่างหาก ความหวังเรื่องสันติภาพและการฟื้นฟูมีเพียงริบหรี่ เด็กๆ ที่เจอในโรงพยาบาลเป็นสัญญาณให้เห็นถึงความถดถอยที่เกิดขึ้น

    ถึงแม้ผมจะไม่ได้อยู่ในกาซาแล้วก็ตาม แต่ผมรู้สึกราวกับว่าผมยังอยู่ที่นั่น ผมยังได้ยินเสียงกรีดร้องของเด็กที่ถูกไฟเผา เราต้องเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีและถาวร หากสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น การเยียวยาบาดแผลทางจิตใจอันยิ่งใหญ่นี้จะไม่มีทางเป็นไปได้ 

    สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา

    สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้