เมื่อโรคภัยและบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอคือ “ฆาตกรเงียบ” ในกาซา
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกาซาไม่น้อยต้องทำงานภายในสถานพยาบาลชั่วคราว และผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าคิวรอเข้ารับการรักษาเป็นเวลาหลายชั่วโมง - ดินแดนปาเลสไตน์ มีนาคม 2566 © MSF
- การเอาชีวิตรอดในกาซาเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากคุณภาพที่ลดลงของระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ย่ำแย่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ภาวะทุพโภชนาการ และผลกระทบด้านจิตใจในระยะยาว
- เจ้าหน้าที่ภาคสนามขององค์การฯ บอกเล่าความยากลำบากในการมีชีวิตอยู่ของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เพราะระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นสูญเสียเสถียรภาพในการดำเนินงาน
กาซา/เยรูซาเลม/บาร์เซโลนา วันที่ 29 เมษายน 2567 – รายงานจากองค์การระหว่างประเทศทางการแพทย์ องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders / Médecins Sans Frontières - MSF) ในหัวข้อ “ฆาตกรเงียบแห่งกาซา ระบบบริการสุขภาพที่กำลังพังทลายและการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดในเมืองราฟาห์(Rafah)” ระบุถึงระบบบริการสุขภาพของกาซา (Gaza) ที่อยู่ในขั้นวิกฤต ประชากรชายหญิง รวมถึงเด็กกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อภาวะทุพโภชนาการ รวมถึงมิติด้านสุขภาพทางกายและจิตใจย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว
หลังสงครามในกาซาลุล่วงมามากกว่าหกเดือน ความเสียหายไม่เพียงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดและการโจมตีทางอากาศจากทางกองทัพอิสราเอลเท่านั้น องค์การฯ กล่าวว่าความรุนแรงดังกล่าวยังก่อให้เกิดความยากลำบากต่อการเข้ารับการรักษาของชาวปาเลสไตน์ในกาซา และยังเตือนว่าอาจเผชิญกับตัวเลขความสูญเสียมหาศาล ที่มีสาเหตุมาจากการเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เพราะระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นสูญเสียเสถียรภาพในการดำเนินงาน
"จะต้องมีเด็กอีกกี่คนที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบ (pneumonia) ในโรงพยาบาลที่ล้นทะลักไปด้วยผู้ป่วย" มารี คาร์เมน วินอเลส (Mari-Carmen Viñoles) หัวหน้าด้านการแพทย์ฉุกเฉินขององค์การฯ ตั้งคำถาม
"จะต้องมีเด็กทารกอีกกี่คนที่ต้องเสียชีวิตทั้งที่ป่วยเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และจะต้องมีอีกกี่คนที่ต้องทรมานจากโรคเบาหวานแต่ไม่ได้เข้ารับการรักษา แล้วไหนจะเรื่องของหน่วยฟอกไตที่ถูกปิดลงเพราะเกิดการโจมตีโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้ถือเป็น ‘ฆาตกรเงียบ’ ที่เกิดจากระบบบริการสุขภาพที่ล้มเหลวในกาซาแต่ไม่ถูกกล่าวถึง”มารี คาร์เมน วินอเลส
หน่วยงานขององค์การฯ ในเขตราฟาห์ ได้รายงานว่าคุณภาพที่ลดลงของระบบบริการสุขภาพและสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ย่ำแย่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ภาวะทุพโภชนาการ และผลกระทบด้านจิตใจในระยะยาว องค์การฯ ยังได้ออกมาเตือนอีกว่าการโจมตีของกองทัพในราฟาห์บนวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่มีอยู่ไม่ต่างอะไรกับหายนะแสนเลวร้าย รวมถึงยังคงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีและถาวร
สภาพความเป็นอยู่ในราฟาห์กับผลกระทบด้านสุขภาพ
รายงานขององค์การฯ เผยว่า จากข้อมูลทางการแพทย์และการพูดคุยกับผู้ป่วยถึงความเป็นอยู่ในเมืองราฟาห์ พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อการมีชีวิตสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคและบริโภคอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีการสะสมที่หนาแน่นของขยะสิ่งปฏิกูลจำนวนมากในพื้นที่อันคับแคบนี้ ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของผู้คนนับล้านที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากทางตอนเหนือของกาซา
ภายในศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐาน (primary healthcare centre) ทั้งสองแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การฯ ในอัล ชาบูรา (Al-Shaboura) และอัล มาวาซี (Al-Mawasi) ทีมงานได้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์กว่า 5,000 รายในทุกสัปดาห์ และคนไข้หลายคนมาด้วยอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 40 ของคนไข้เหล่านี้มาด้วยอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของเคสต้องสงสัยของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A) ให้เห็น ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2566 ตัวเลขของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ป่วยจากโรคท้องร่วง (diarrhoeal) สูงมากถึง 25 เท่าของตัวเลขผู้ป่วยในปีก่อนหน้า ระหว่างเดือนมกราคมและมีนาคม 2567 ทางองค์การฯ ได้รักษาเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 216 คน ที่มีภาวะทุพโภชนาการขั้นปานกลางและรุนแรง ซึ่งแทบจะไม่มีรายงานความเจ็บป่วยดังกล่าวในช่วงก่อนเกิดความขัดแย้ง
คุณแม่มือใหม่กับทารกฝาแฝดของเธอที่เพิ่งลืมตาดูโลกเมื่อวันก่อน ในโรงพยาบาลผดุงครรภ์เอมิราติ เมืองราฟาห์ - ดินแดนปาเลส์ไตน์ มีนาคม 2566 © Annie Thibault/MSF
ในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่ปรากฏภาวะแทรกซ้อน รวมถึงผู้ป่วยอาการเรื้อรัง มักจะไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควรจะได้รับ ในโรงพยาบาลเอมิราติ (Emirati) องค์การฯ ได้เข้าปฏิบัติงานในหน่วยผู้ป่วยหลังคลอด ซึ่งเป็นงานที่หนักหน่วงเนื่องจากทางทีมต้องเผชิญกับการทำคลอดเกือบ 100 รายต่อวัน หรือสูงขึ้นกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนสงคราม ในขณะเดียวกันคลินิกขององค์การฯ ปรากฎผู้ป่วยจำนวนมากที่มาด้วยอาการของโรคที่หลากหลาย เช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด ลมชัก และมะเร็ง ที่ต้องการความช่วยเหลือและติดตามการรักษา อย่างไรก็ตามองค์การฯ ไม่สามารถจะรับมือกับผู้ป่วยทั้งหมดได้ เนื่องจากสถานการณ์เลวร้ายลงและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือพิเศษที่หาได้ยากมากในกาซา แม้กระทั่งการส่งต่อผู้ป่วยนั้นยังเป็นได้ยากมากหรือเป็นไปแทบไม่ได้เลย
สุขภาพจิตของประชากรรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในกาซาเองก็ไม่ดีนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาที่คลินิกขององค์การฯ ด้วยอาการหวาดกลัวและเครียด ไม่ว่าจะเป็นอาการทางจิตและภาวะซึมเศร้า ผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัวได้หันไปพึ่งการใช้ยาสงบประสาทเกินขนาดในการช่วยให้ผู้ป่วยสงบลงและป้องกันการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องจากยังขาดผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้
การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการทำงานทางการแพทย์ขององค์การฯ ร่วมกับระบบบริการสุขภาพของกาซาเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างยิ่งยวด จากความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ อีกทั้งยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับองค์การฯ ในการขนส่งอุปกรณ์สำหรับทางการแพทย์และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปยังกาซา จากข้อกำหนดของกองทัพอิสราเอลดั่งที่อธิบายไว้ในภาคผนวก
"ในฐานะองค์การระหว่างประเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน พวกเรามีความเชี่ยวชาญและพร้อมยกระดับการทำงานของเรา บุคลากรทางการแพทย์ชาวปาเลสไตน์มีทักษะที่ดีเยี่ยม เพียงแต่ต้องการวิธีในการทำงานที่เป็นที่ยอมรับและมีเกียรติในการรักษาและช่วยชีวิตผู้คน มาจนถึงวันนี้ ทุกสิ่งยังคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หากการหยุดยิงโดยทันทีและถาวรยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างจริงจัง ความสูญเสียจะยังเกิดขึ้นต่อไป"ซิลเวียน เกราลส์ ผู้ประสานงาน
องค์การฯ ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล 3 แห่งในกาซา: โรงพยาบาลอัล อักซอ (Al-Aqsa hospital) ทางตอนกลางของกาซา โรงพยาบาลสนามราฟาห์อินโดนีเชียน (Rafah Indonesian) และโรงพยาบาลผดุงครรภ์เอมิราติ ทางตอนใต้ นอกจากนี้ยังมีสถานพยาบาล 3 แห่งในอัล ชาบูรา และ อัล มาวาซี ในเมืองราฟาห์ องค์การฯ ให้การช่วยเหลือและรักษาหลังการผ่าตัด กายภาพบำบัด การดูแลหลังคลอด การดูแลขั้นพื้นฐาน การฉีดวัคซีน และสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามการปิดล้อมพื้นที่และคำสั่งอพยพที่ส่งไปยังโรงพยาบาลหลายแห่งปิดกั้นการส่งต่อการช่วยเหลือจากพวกเราให้เหลือเพียงบางพื้นที่และต้องลดขนาดของปฏิบัติการณ์ลง ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับองค์การฯ ในการช่วยเหลือผู้คนอย่างเต็มที่
องค์การฯ สนับสนุนน้ำสะอาดวันละกว่า 300 ลูกบาศก์เมตรในหลายพื้นที่ในราฟาห์ และยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการดำรงชิวิตต่อไป โดยในวันที่ 25 มีนาคม องค์การแพทย์ไร้พรมแดนได้สร้างระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในอัล มาวาซีเพิ่มเติม
สนับสนุนการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินของพวกเรา
สนับสนุนพวกเราในการส่งต่อเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยการบริจาคตอนนี้